เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2565 เวลาประมาณ 12.37 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งกรณีของสุรีมาศ (สงวนนามสกุล) ประชาชนในจังหวัดกระบี่วัย 52 ปี ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมตามหมายจับในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อนถูกนำตัวไปสอบสวนที่ สภ.เมืองกระบี่
การจับกุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้แสดงหมายจับออกโดยศาลจังหวัดกระบี่ ลงวันที่ 7 ต.ค. 2564 โดยมี พ.ต.ท.โสภณ คงทอง พนักงานสอบสวน สภ.เมืองกระบี่ เป็นผู้ร้องขอออกหมาย ในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)
ทั้งนี้ สุรีมาศไม่เคยได้รับหมายเรียกในคดีมาตรา 112 นี้มาก่อน แต่กลับถูกออกหมายจับในทันที เธอเคยถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยเธอเดินทางไปพบตำรวจ สภ.เมืองกระบี่ และอัยการโดยตลอดในช่วงที่ผ่านมา และเพิ่งถูกสั่งฟ้องคดีต่อศาลแขวงกระบี่เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 โดยเธอไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีใดๆ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับมีการขอออกหมายจับในคดีนี้ และเพิ่งมีการจับกุมโดยหมายจับที่ออกตั้งแต่ 6 เดือนก่อนหน้านี้
เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ได้พาตัวสุรีมาศไปทำบันทึกจับกุมที่ สภ.เหนือคลอง ก่อนพาตัวไปยัง สภ.เมืองกระบี่ โดยมีญาติและทนายความอาสาติดตามไปที่สถานีตำรวจ โดยต้องรอพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีเดินทางมาสอบปากคำในเวลาประมาณ 20.00 น.
พ.ต.ท.ชาติชาย นาคปักษี พนักงานสอบสวน สภ.เมืองกระบี่ ได้เป็นผู้แจ้งข้อหาทั้งสองข้อหาต่อสุรีมาศ กล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 14.30 น. น.ส.พรลภัส ศรีช่วย ได้เข้าดูเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อเดียวกันกับสุรีมาศ และได้พบโพสต์ข้อความว่า “หนทางเดียวของกูละ ไอ่เปรตนี่..เด๋วกูจัด!!” พร้อมกับแนบลิงก์ไปยังกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส-ตลาดหลวง ซึ่งผู้กล่าวหาอ้างว่าเมื่อกดลิงก์เข้าไปดู เป็นภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 กำลังเล่นสไลเดอร์อยู่ จึงเห็นว่าเป็นการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน
พนักงานสอบสวนอ้างว่าจากการตรวจสอบเฟซบุ๊กที่แชร์โพสต์ดังกล่าว ยืนยันว่าเป็นบุคคลเดียวกับสุรีมาศ จึงได้ยื่นคำร้องขอออกหมายจับผู้ต้องหาต่อศาลจังหวัดกระบี่
หลังทราบข้อกล่าวหา สุรีมาศได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังการสอบสวนและพิมพ์ลายนิ้วมือ คืนที่ผ่านมา เธอถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภ.เมืองกระบี่
ในช่วงเช้าวันนี้ (8 เม.ย. 2565) พนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังสุรีมาศต่อศาลจังหวัดกระบี่ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยอ้างว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ยังต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจสอบประวัติผู้ต้องหา จึงขอฝากขังเป็นระยะเวลา 12 วัน นอกจากนั้นตำรวจยังคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา โดยอ้างเหตุว่าเกรงว่าจะหลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
ต่อมาเวลา 14.05 น. ศาลจังหวัดกระบี่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหา แต่อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดนัดรายงานตัวครั้งต่อไปในวันที่ 20 เม.ย. 2565 ทำให้สุรีมาศได้รับการปล่อยตัวในที่สุด
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับจากรัฐบาลมีแนวทางเริ่มกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 7 เม.ย. 2565 มีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหานี้ไปแล้วไม่น้อยกว่า 185 ราย ในจำนวน 196 คดี โดยมีคดีที่ “ประชาชน” เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์เองจำนวนไม่น้อยกว่า 91 คดี
>>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65
.