วันที่ 24 พ.ย. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ของปณิธาน (นามสมมติ) พ่อลูกอ่อนวัย 26 ปี จากการใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว คอมเมนต์ข้อความใต้โพสต์ของ “Pavin Chachavalpongpun” ในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ซึ่งโพสต์ดังกล่าวแนบภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2564
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ปณิธานทำงานอยู่ในจังหวัดสระแก้ว ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 5 – 10 นาย เข้ามาแสดงหมายจับของศาลอาญาถึงที่ทำงาน โดยสอบถามว่าเขาเป็นผู้คอมเมนต์ข้อความดังกล่าว และเป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กและโทรศัพท์แต่เพียงผู้เดียวใช่หรือไม่ เมื่อปณิธานตอบว่าใช่ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ให้ปณิธานลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุมซึ่งมีข้อความ ‘ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา’ จากนั้นจึงถูกนำตัวไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำ
ในชั้นสอบสวน ปณิธานให้การรับสารภาพ เพราะตำรวจเกลี้ยกล่อมว่าจะช่วยตัดข้อความบางส่วนออกไปเพื่อให้คดีดูไม่ร้ายแรงเกินไป จะได้มีโอกาสรอการลงโทษ โดยในขณะสอบสวนมิได้มีทนายความอยู่ด้วย ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังต่อศาล และศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยครอบครัวกู้ยืมหลักทรัพย์จำนวน 90,000 บาท มาวาง
ก่อนการส่งฟ้องคดีในศาลชั้นต้น ครอบครัวของปณิธานได้ติดต่อขอความเหลือมาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และได้รับความช่วยเหลือในหลักทรัพย์การประกันตัวจากกองทุนราษฎรประสงค์ ในตอนแรกปณิธานประสงค์จะกลับคำให้การเป็นปฏิเสธข้อกล่าวหา เพื่อรอดูพยานหลักฐานของโจทก์ และอยากรอดูหน้าลูกเนื่องจากภรรยากำลังตั้งครรภ์
อย่างไรก็ตามในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน ปณิธานแถลงขอกลับคำให้การจากปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเป็นรับสารภาพตามคำฟ้อง ศาลจึงมีคำสั่งให้สืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลย และนัดฟังคำพิพากษาในเวลาต่อมา
.
ศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา แม้จำเลยให้การรับสารภาพ
ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 806 ปณิธานเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับภรรยา เขาฝากลูกที่พึ่งคลอดเมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ไว้กับครอบครัว เดินทางออกจากบ้านที่จังหวัดสระแก้วตอน 3.00 น. และมาถึงศาลอาญาตั้งแต่เวลา 6.00 น. ก่อนนั่งรอให้ถึงเวลานัดอยู่หน้าห้องพิจารณาคดี
ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดี ปณิธานเปิดเผยว่าเหตุที่เขาตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ เนื่องจากเขาประกอบอาชีพสุจริต ไม่เคยกระทำความผิดใดมาก่อน จึงคาดหวังว่าจะได้รับโอกาสให้รอลงอาญา เพื่อกลับไปทำมาหากิน ดูแลภรรยาและลูก
เวลา 9.35 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี กล่าวว่าพนักงานคุมประพฤติส่งรายงานการสืบเสาะมาให้ศาลพิจารณาทั้งในเรื่องครอบครัว อาชีพ การศึกษา ความประพฤติ และประวัติการกระทำความผิด และสอบถามจำเลยว่ามีเรื่องหรือประเด็นใดจะคัดค้านหรือไม่ จำเลยแถลงว่าไม่ค้าน
ศาลจึงอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า จำเลยรับสารภาพตามคำฟ้อง ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ม.14 (3) การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในตัวบทกฎหมายที่หนักที่สุดคือมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 2 ปี
จากรายงานการสืบเสาะ จำเลยประกอบอาชีพสุจริต ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ต้องเลี้ยงดูครอบครัว แต่การกระทำของจำเลย ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง เป็นการกระทำความผิดร้ายแรง จึงไม่สมควรรอการลงโทษ
หลังจากฟังคำพิพากษา ปณิธานถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้ามาบอกให้ถอดสิ่งของติดตัวส่งให้ภรรยา ในขณะนั้นทั้งคู่มีดวงตาแดงก่ำและมิได้มีคำพูดอะไรระหว่างกัน จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็เข้ามาใส่กุญแจมือ และปณิธานก็ถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่ห้องขังใต้ถุนศาลอาญาทันที
ภรรยาของปณิธานเปิดเผยว่าแม้ตนจะเผื่อใจมาบ้าง แต่ก็ไม่ได้คาดคิดว่าคำพิพากษาจะออกมาเป็นเช่นนี้ เพราะเป็นการกระทำความผิดครั้งแรก และปณิธานก็รับสารภาพทุกอย่าง
“เรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมเท่าไหร่ ศาลกล่าวว่าเป็นการกระทำความผิดที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อสถาบันฯ แต่ตอนนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือคนที่โดนคดี”
ต่อมาหลังยื่นขอประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์คดี ในเวลา 15.34 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวปณิธาน ด้วยหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 100,000 บาท ทำให้ต้องวางหลักทรัพย์เพิ่มอีก 10,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม