หนุ่มพังงาถูกแจ้ง ม.112 ที่ สภ.เมืองกระบี่ หลังไปพบตำรวจตามหมายเรียกพยาน เหตุคอมเมนต์โพสต์เรื่องซุ้มเฉลิมพระเกียรติในกลุ่ม ‘ตลาดหลวง’

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งกรณีของ “ดลพร” (นามสมมติ) ประชาชนวัย 25 ปี ว่าได้ถูกตำรวจ สภ.เมืองกระบี่ แจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากเดินทางไปพบตำรวจตามหมายเรียกพยาน และได้ถูกนำตัวไปขอฝากขังต่อศาล ก่อนได้รับการประกันตัวออกมา

ดลพรระบุว่า ประมาณวันที่ 17 ก.พ. 2566 เขาได้รับหมายเรียกพยานครั้งที่ 1 จาก สภ.เมืองกระบี่ ส่งไปที่บ้านที่จังหวัดพังงา ระบุว่าเป็นคดีเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ โดยมี ทรงชัย เนียมหอม ซึ่งสังกัดอยู่กลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ ระบุให้เขาไปพบ พ.ต.ท.ประพันธ์ หนูชัยแก้ว พนักงานสอบสวน เพื่อสอบปากคำ

ตามหมายเรียกพยาน ได้ให้ดลพรไปพบตำรวจในวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา แต่เขาได้ติดต่อเลื่อนนัดกับตำรวจออกมาเป็นวันที่ 27 ก.พ. 2566 โดยตำรวจบอกว่าเป็นการเรียกไปสอบถามในฐานะพยาน เขาจึงไม่ได้ติดต่อทนายความไปร่วมด้วย ทั้งกังวลเรื่องการมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคดีต่างๆ จึงตัดสินใจไปพบกับตำรวจเองก่อน โดยมีแม่ของเขาเดินทางไปเป็นเพื่อน

ดลพรเล่าว่า หลังทางตำรวจได้สอบถามเขาเบื้องต้น ว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กตามเอกสารหรือไม่แล้ว ตำรวจก็แจ้งว่าจะแจ้งข้อกล่าวหาต่อเขาทันที โดยเขาไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาก่อน ตำรวจเพียงระบุว่าอนุญาตให้แม่ของเขาร่วมรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวน แต่ไม่ได้ระบุให้ติดต่อทนายความมาร่วมในกระบวนการดังกล่าว แม้จะมีการระบุในเอกสารการแจ้งข้อกล่าวหาว่ามีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความก็ตาม

ข้อกล่าวหาในคดีโดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2566 ทรงชัย เนียมหอม ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ ได้เข้าไปดูเฟซบุ๊กในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส-ตลาดหลวง” โดยแม้กลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มปิด แต่มีสมาชิกกลุ่มสูงกว่า 2 ล้านบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊ก การโพสต์เผยแพร่ข้อความใดๆ ลงในกลุ่ม จะมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นจำนวนมากได้รับการแจ้งเตือน และเข้าไปดูการอัพเดทข้อมูลของสมาชิกกลุ่ม ประกอบกับกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นที่ทราบอย่างกว้างขวางขึ้นชื่อในด้านการยุยงปลุกปั่นสังคม การเผยแพร่ข่าวบิดเบือน และการเผยแพร่ข้อมูลหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

ผู้กล่าวหาอ้างว่าได้พบผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง นำรูปภาพถ่ายซุ้มเฉลิมพระเกียรติ อันปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9, พระพันปีหลวง, รัชกาลที่ 10, พระราชินีสุทิดา ซึ่งติดตั้งตรงข้ามพระราชวังดุสิต ระบุข้อความประกอบในลักษณะตั้งคำถามต่อประโยชน์ของการติดตั้งซุ้มดังกล่าว ก่อนพบผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายหนึ่งเข้ามาแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ว่า “แขวนประจานที่ซุ้มประตู 55” ผู้กล่าวหาจึงมากล่าวโทษให้ดำเนินคดี

ทั้งนี้ในข้อกล่าวหาไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าข้อความแสดงความคิดเห็นดังกล่าวนั้นเข้าข่ายมาตรา 112 อย่างไร

ดลพรระบุว่าตำรวจพูดกับเขาในลักษณะที่ทำให้รู้สึกกลัว และทำให้รู้สึกถูกบีบบังคับ โดยพยายามสอบถามว่าเป็นเจ้าของเฟซบุ๊กไหม, URL นี้ใช่ไหม, ไปโพสต์ในวันไหนเวลาไหน และที่ไหน เขาจึงได้ให้การว่าตนเองได้ไปคอมเมนต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหาจริง แต่ไม่ใช่ผู้โพสต์ข้อความต้นโพสต์ดังกล่าว

ดลพรยังระบุว่าเขาไม่เคยรู้จักผู้กล่าวหามาก่อน และยังไม่ทราบว่าผู้กล่าวหาหรือตำรวจมีการดำเนินคดีต่อผู้โพสต์ข้อความต้นโพสต์ หรือผู้แสดงความคิดเห็นรายอื่นๆ หรือไม่

“ตอนนั้น รู้สึกงงๆ กลัวๆ เราไม่ได้มีความรู้เรื่องกระบวนการทางกฎหมายพวกนี้เลย แล้วไม่ได้เตรียมเตรียมใจมาว่าจะโดนแจ้งข้อกล่าวหาแบบนี้ ตำรวจบอกว่าแค่ว่าให้มาสอบเป็นพยาน” ดลพรบอกถึงความรู้สึกในขณะนั้น

หลังจากสอบปากคำ ตำรวจยังแจ้งว่าจะนำตัวเขาไปขอฝากขังที่ศาลจังหวัดกระบี่ ให้เตรียมเรื่องประกันตัว เขาจึงได้ประสานงานมาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ต่อมาหลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง ก็ได้อนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 150,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ จากนั้นเขาจึงได้ปรึกษากับทนายความในภายหลังกระบวนการต่างๆ ดำเนินไปแล้ว

“รู้สึกว่ามันถูกดำเนินคดีแบบนี้กันง่ายเกินไป เราไปแสดงความคิดเห็นในเรื่องการเมืองนิดเดียว กลายมาเป็นโดนคดี 112 พอโดนแจ้งแบบไม่ได้เตรียมตัวเลยแบบนี้ และมีการขอฝากขังต่อศาลอีก ทำให้ยิ่งรู้สึกว่ามันง่ายเกินไปมาก”

ทั้งนี้ ดลพรระบุว่าแม้บ้านเขาจะอยู่ที่จังหวัดพังงา แต่เขาเดินทางไปทำงานด้านธุรกิจและอาศัยอยู่ที่จังหวัดภูเก็ตเป็นหลัก ทำให้ยังมีภาระต้องเดินทางมาต่อสู้คดีอยู่ และเหตุที่เกิดขึ้น ยังทำให้เขากังวลต่อผลทางคดี เกรงจะกระทบต่อการงานของเขา เพราะเขายังเป็นกำลังหลักในการหารายได้ให้ครอบครัวด้วย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขณะนี้พบว่ามีประชาชนไม่น้อยกว่า 3 ราย (รวมกรณีของดลพร) แล้ว ที่ได้รับหมายเรียกในคดีตามมาตรา 112 ซึ่งมี ทรงชัย เนียมหอม เป็นผู้กล่าวหา โดยเป็นคดีที่กระจายไปตามสถานีตำรวจในพื้นที่ทางภาคใต้ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างประสานงานการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีอื่นๆ ต่อไป

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้สถิติการดำเนินคดีมาตรา 112 นับแต่ปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 254 คดี ผู้ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 233 คนแล้ว ในจำนวนนี้เป็นคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหากันเองจำนวน 119 คดี พบว่าโดยส่วนมากเป็นสมาชิกของกลุ่มที่เคลื่อนไหวในลักษณะปกป้องสถาบันฯ เป็นหลัก

.

X