ศาลกระบี่ให้รอการลงโทษจำคุก “ดลพร” คดี ม.112 กรณีคอมเมนต์ใต้โพสต์เรื่องซุ้มเฉลิมพระเกียรติในกลุ่ม “ตลาดหลวง”

24 มี.ค. 2568 ศาลจังหวัดกระบี่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ดลพร” (นามสมมติ) ประชาชนจากจังหวัดพังงาวัย 27 ปี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีถูกแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันกล่าวหาจากการไปคอมเมนต์ใต้โพสต์เรื่องซุ้มเฉลิมพระเกียรติในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” เมื่อช่วงต้นปี 2566 

ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน และโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ พร้อมให้คุมประพฤติ และทำงานสาธารณะประโยชน์

.

ไปตาม “หมายเรียกพยาน” แต่กลับถูกตำรวจแจ้งข้อหาทันที โดยไม่มีทนายความร่วมด้วย

สำหรับคดีนี้มี ทรงชัย เนียมหอม จากกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้กล่าวหา ไว้ที่ สภ.เมืองกระบี่ โดยในตอนแรกตำรวจได้ออก “หมายเรียกพยาน” ให้ดลพรไปให้ปากคำในฐานะพยาน เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2566 เนื่องจากเข้าใจว่าไม่ได้มีการแจ้งข้อหาใด ดลพรจึงไม่ได้ติดต่อทนายความไปร่วมการให้ปากคำด้วย โดยมีแม่ของเขาเดินทางจากจังหวัดพังงาไปเป็นเพื่อน 

แต่ปรากฏว่าในวันดังกล่าว พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อดลพรตามมาตรา 112 ทันทีหลังสอบถามเบื้องต้น โดยไม่มีทนายความร่วมด้วยและไม่ได้แจ้งให้ติดต่อทนายความได้ แต่กลับระบุในเอกสารการแจ้งข้อกล่าวหาว่ามีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ 

หลังจากสอบปากคำ ตำรวจยังแจ้งว่าจะนำตัวเขาไปขอฝากขังที่ศาลจังหวัดกระบี่ ให้เตรียมเรื่องประกันตัว เขาจึงได้ประสานงานมาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อขอความช่วยเหลือ และต่อมาศาลอนุญาตให้ฝากขัง ก่อนจะให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน

จนเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2567 พนักงานอัยการจังหวัดกระบี่ได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้ โดยกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2566 ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ได้เข้าไปดูเฟซบุ๊กในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” พบผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพถ่ายซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ที่ติดตั้งไว้บริเวณถนนอู่ทองใน เขตดุสิต พร้อมกับพิมพ์ข้อความประกอบภาพดังกล่าว ในลักษณะตั้งคำถามต่อประโยชน์ของการติดตั้งซุ้มดังกล่าว 

จากนั้นพบผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายหนึ่ง ซึ่งอ้างว่าเป็นของจำเลย เข้ามาแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ และอัยการบรรยายว่าเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 9, รัชกาลที่ 10 และพระราชินีสุทิดา

อัยการยังระบุว่าจำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2566 ทั้งที่ไม่ใช่การเข้ามอบตัวแต่อย่างใด เป็นการเดินทางไปตามหมายเรียกพยาน

ดลพรได้รับการประกันตัวในชั้นศาล จากนั้น ก่อนการสืบพยานเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2568 จำเลยได้ตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติสืบเสาะและพินิจพฤติการณ์ของจำเลยเพิ่มเติม ก่อนนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

.

ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี รับสารภาพลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน โดยให้รอการลงโทษไว้

เวลา 9.00 น. ดลพร พร้อมทนายความเดินทางมาฟังคำพิพากษา ศาลเริ่มจากอ่านรายงานการสืบเสาะและพินิจของเจ้าพนักงานคุมประพฤติ ซึ่งโดยสรุปมีความเห็นว่า การกระทำในคดีนี้ของจำเลยอาจถูกเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ วิธีการคุมประพฤติอาจไม่เหมาะสมกับจำเลย 

จากนั้นศาลได้เริ่มอ่านคำพิพากษา โดยเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุการบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน  

พิเคราะห์จากรายงานการสืบเสาะและพินิจ และคำแถลงประกอบคำรับสารภาพ เห็นว่า หลังเกิดเหตุจำเลยได้ยื่นหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษ นับว่าจำเลยรู้สึกสำนึกผิดในการกระทำ ประกอบกับจำเลยไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดมาก่อน ก่อนและหลังการกระทำครั้งนี้ จำเลยไม่เคยมีพฤติการณ์การในลักษณะเช่นนี้

จึงเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้ เพราะความคึกคะนองหลงผิด เห็นควรให้โอกาสจำเลยในการกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้กำหนด 1 ปี  แต่ให้คุมความประพฤติของจำเลย มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และให้ทำการบริการสังคมเพื่อสาธารณะประโยชน์เป็นเวลา 12 ชั่วโมง

.

สำหรับดลพร แม้บ้านของเขาจะอยู่ที่จังหวัดพังงา แต่ต้องเดินทางไปทำงานที่จังหวัดภูเก็ตเป็นหลัก ทำให้ยังมีภาระต้องเดินทางมาต่อสู้คดีที่จังหวัดกระบี่ และเหตุที่เกิดขึ้น ยังทำให้เขากังวลต่อผลทางคดี เกรงจะกระทบต่อการงานของเขา เพราะเขายังเป็นกำลังหลักในการหารายได้ให้ครอบครัวด้วย

ในส่วนของแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันดังกล่าว จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าได้ดำเนินการแจ้งความคดีมาตรา 112 จำนวนมากไว้ในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ โดยใช้วิธีการกล่าวหากระจายไปในหลายสถานีตำรวจ เบื้องต้นพบว่ามีผู้ถูกแจ้งข้อหาแล้วไม่น้อยกว่า 15 คดี อาทิที่ สภ.ตะโหมด จ.พัทลุง, สภ.ทะเลน้อย จ.พัทลุง, สภ.เมืองพัทลุง, สภ.ควนขนุน จ.พัทลุง, สภ.เขาชัยสน จ.พัทลุง, สภ.คอหงส์ จ.สงขลา รวมทั้ง สภ.เมืองกระบี่ ในคดีนี้ และ สน.บางนา ในกรุงเทพฯ ด้วย โดยส่วนใหญ่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นประชาชนทั่วไป ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกแจ้งความ ทำให้แต่ละคนมีภาระและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่อสู้คดี 

รวมทั้งยังมีแจ้งความในคดีมาตรา 116 ของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการและศิลปินแห่งชาติผู้ถูกถอดถอน ไว้ที่ สภ.ศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ด้วย

.

X