เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2567 ที่ศาลจังหวัดกระบี่ พนักงานอัยการจังหวัดกระบี่ได้ยื่นฟ้องคดีของ “ดลพร” (นามสมมติ) ประชาชนจากจังหวัดพังงาวัย 26 ปี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีถูกแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันกล่าวหาจากการไปคอมเมนต์ใต้โพสต์เรื่องซุ้มเฉลิมพระเกียรติในกลุ่ม ‘ตลาดหลวง’ เมื่อช่วงต้นปี 2566 โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณา แม้อัยการขอคัดค้านประกัน
.
ไปตาม “หมายเรียกพยาน” แต่กลับถูกตำรวจแจ้งข้อหาทันที โดยไม่มีทนายความร่วมด้วย
สำหรับคดีนี้มี ทรงชัย เนียมหอม จากกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้กล่าวหา ไว้ที่ สภ.เมืองกระบี่ โดยในตอนแรกตำรวจได้ออก “หมายเรียกพยาน” ให้ดลพรไปให้ปากคำในฐานะพยาน เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2566 เนื่องจากเข้าใจว่าไม่ได้มีการแจ้งข้อหาใด ดลพรจึงไม่ได้ติดต่อทนายความไปร่วมการให้ปากคำด้วย โดยมีแม่ของเขาเดินทางจากจังหวัดพังงาไปเป็นเพื่อน
แต่ปรากฏว่าในวันดังกล่าว พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อดลพรตามมาตรา 112 ทันทีหลังสอบถามเบื้องต้น โดยไม่มีทนายความร่วมด้วยและไม่ได้แจ้งให้ติดต่อทนายความได้ แต่กลับระบุในเอกสารการแจ้งข้อกล่าวหาว่ามีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ
หลังจากสอบปากคำ ตำรวจยังแจ้งว่าจะนำตัวเขาไปขอฝากขังที่ศาลจังหวัดกระบี่ ให้เตรียมเรื่องประกันตัว เขาจึงได้ประสานงานมาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเพื่อขอความช่วยเหลือ และต่อมาศาลอนุญาตให้ฝากขัง ก่อนจะให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน โดยให้วางหลักทรัพย์เป็นเงิน 150,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
ต่อมาพนักงานสอบสวนได้นัดหมายส่งสำนวนให้กับอัยการเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2566 แต่ในวันดังกล่าว แม้ดลพรเดินทางไปตามนัด สำนวนคดีกลับไม่เรียบร้อย ทางอัยการได้ให้ตำรวจแก้ไขสำนวนใหม่ หลังจากนั้นตำรวจจึงได้นัดส่งสำนวนให้อัยการใหม่อีกครั้ง เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2567 และอัยการได้นัดหมายฟังคำสั่งอีกเดือนละครั้ง รวมจำนวน 5 ครั้ง จึงได้มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลในที่สุด
.
อัยการโจทก์กล่าวหาคอมเมนต์จาบจ้วงล่วงเกิน ร.9-ร.10-พระราชินี ก่อนศาลให้ประกันตัว
สำหรับคำฟ้องคดีมี วีระ หนูคง พนักงานอัยการจังหวัดกระบี่เป็นผู้เรียงฟ้อง โดยสรุปกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2566 ทรงชัย เนียมหอม ซึ่งเป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้ ได้เข้าไปดูเฟซบุ๊กในกลุ่ม “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส-ตลาดหลวง” มีสมาชิกในกลุ่มกว่า 2,300,000 บัญชี และตามวันเวลาดังกล่าว พบผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ภาพถ่ายซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ ที่ติดตั้งไว้บริเวณถนนอู่ทองใน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9, พระพันปีหลวง, รัชกาลที่ 10, พระราชินีสุทิดา ซึ่งสมาชิกทั่วไปในกลุ่มสามารถเข้าถึงและมองเห็นได้ พร้อมกับพิมพ์ข้อความประกอบภาพดังกล่าว ในลักษณะตั้งคำถามต่อประโยชน์ของการติดตั้งซุ้มดังกล่าว
จากนั้นพบผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายหนึ่ง ซึ่งอ้างว่าเป็นของจำเลย เข้ามาแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์ และอัยการบรรยายว่าเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 9, รัชกาลที่ 10 และพระราชินีสุทิดา เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาอาฆาตมาดร้าย และทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย และทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์และพระราชินี ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้
อัยการยังระบุว่าจำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2566 ทั้งที่ไม่ใช่การเข้ามอบตัวแต่อย่างใด เป็นการเดินทางไปตามหมายเรียกพยาน
อัยการยังคัดค้านการประกันตัวจำเลยในระหว่างพิจารณา อ้างว่าเนื่องจากเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนี
ต่อมาหลังศาลรับฟ้องไว้ ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลย โดยให้วางหลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดวันนัดคุ้มครองสิทธิในคดีต่อไปวันที่ 15 ก.ค. 2567
สำหรับดลพร แม้บ้านของเขาจะอยู่ที่จังหวัดพังงา แต่เขาต้องเดินทางไปทำงานที่จังหวัดภูเก็ตเป็นหลัก ทำให้ยังมีภาระต้องเดินทางมาต่อสู้คดีที่จังหวัดกระบี่ และเหตุที่เกิดขึ้น ยังทำให้เขากังวลต่อผลทางคดี เกรงจะกระทบต่อการงานของเขา เพราะเขายังเป็นกำลังหลักในการหารายได้ให้ครอบครัวด้วย
ในส่วนของแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันดังกล่าว จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าได้ดำเนินการแจ้งความคดีมาตรา 112 จำนวนมากไว้ในพื้นที่จังหวัดทางภาคใต้ โดยใช้วิธีการกล่าวหากระจายไปในหลายสถานีตำรวจ เบื้องต้นพบว่ามีผู้ถูกแจ้งข้อหาแล้วไม่น้อยกว่า 10 คดี อาทิที่ สภ.ตะโหมด จ.พัทลุง, สภ.ทะเลน้อย จ.พัทลุง, สภ.เมืองพัทลุง, สภ.ควนขนุน จ.พัทลุง, สภ.คอหงส์ จ.สงขลา รวมทั้ง สภ.เมืองกระบี่ ในคดีนี้ และ สน.บางนา ในกรุงเทพฯ ด้วย โดยส่วนใหญ่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นประชาชนทั่วไป ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ถูกแจ้งความ ทำให้แต่ละคนมีภาระและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่อสู้คดี และขณะนี้อัยการได้ทยอยสั่งฟ้องคดีสู่ศาล
.