คนบุรีรัมย์ถูกแจ้งข้อหา ม.112 ถึงพัทลุง หลังกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ไปกล่าวหา เหตุโพสต์ตั้งคำถามถึงกรณีประหาร “ชิต บุศย์ เฉลียว”

10 พ.ค. 2567 เวลา 10.00 น. ที่ สภ.ควนขนุน จังหวัดพัทลุง พิพัฒน์ วิเศษชุมพล ประชาชนวัย 32 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของตำรวจ ในคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หลังจากถูกกลุ่มสมาชิกประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน ไปแจ้งความกล่าวหาเอาไว้ เหตุจากการโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับกรณีการประหาร “ชิต บุศย์ เฉลียว”

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2567 พิพัฒน์ได้รับหมายเรียกซึ่งออกโดย ร.ต.อ.อธิปัตย์ ไหมสุข รองสารวัตรสอบสวน สภ.ควนขนุน ให้ไปรับทราบข้อหามาตรา 112 ในวันที่ 22 เม.ย. 2567 โดยหมายระบุว่ามี ทรงชัย เนียมหอม แกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้กล่าวหา 

พิพัฒน์ได้ติดต่อทนายความ พร้อมแจ้งขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อหาออกไป เนื่องจากเวลาในหมายกระชั้นชิด ก่อนนัดหมายตำรวจเข้ารับทราบข้อหาวันนี้ 

พิพัฒน์ต้องเดินทางโดยนั่งรถจากบุรีรัมย์เข้ามาในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค. ก่อนเดินทางโดยเครื่องบินจากดอนเมืองไปยังหาดใหญ่ และค้างคืนที่หาดใหญ่ แล้วจึงเดินทางไปที่ สภ.ควนขนุน ในช่วงเช้าวันนี้ เพื่อเข้ารับทราบข้อหา โดยมีทนายความและผู้ช่วยทนายความเดินทางไปร่วมด้วย

พ.ต.ท.แสนชัย เกษรินทร์ รองผู้กำกับสอบสวน พร้อมด้วย ร.ต.อ.อธิปัตย์ พนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ต่อพิพัฒน์ 

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2566 เวลาประมาณ 17.30 น. ขณะที่ ทรงชัย เนียมหอม เดินทางจากบ้านพักไปเก็บค่าอินเทอร์เน็ตกับผู้ค้า ในเขตเทศบาลตำบลควนขนุน ได้ใช้โทรศัพท์มือถือเข้าใช้งานเฟซบุ๊ก และช่วงที่ดูการอัปเดตโพสต์จากบัญชีผู้ใช้รายอื่นอยู่นั้น นึกขึ้นได้ว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ผู้กล่าวหาเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหว เนื่องจากบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวมีการโพสต์เผยแพร่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ วิจารณ์การเมืองในมุมมองต่าง ๆ

ผู้กล่าวหาได้เข้าไปดูบัญชีผู้ใช้ดังกล่าว และได้พบข้อความแสร้งตั้งคำถามเพื่อโจมตี ดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 โดยข้อความดังกล่าวเป็นภาพถ่ายจากกรณี “บังเอิญ” พ่นสีสเปรย์ข้อความที่กำแพงวัดพระแก้วเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังวิ่งเข้ามาห้ามปราม แต่ภาพดังกล่าวมีการตัดต่อข้อความที่พ่นบนกำแพงให้ต่างไปจากเดิม และผู้โพสต์ข้อความได้เขียนข้อความประกอบ โดยตั้งคำถามเรื่องการฆ่าตัวตายและอุบัติเหตุ พร้อมถามว่า “แล้วประหาร ชิต บุศย์ เฉลียว ทำไมครับ” และกล่าวถึงว่าผู้กระทำดังกล่าวไม่ใช่คนดี 

ผู้กล่าวหาเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น ใส่ร้ายป้ายสีให้รัชกาลที่ 9 เสื่อมเสียพระเกียรติยศอย่างร้ายแรง จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว ซึ่งข้อกล่าวหาระบุว่าคือผู้ต้องหาในคดีนี้

พิพัฒน์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ และลงบันทึกประจำวันไว้ ก่อนปล่อยตัวไปโดยไม่ได้มีการควบคุมตัวไว้ โดยจะนัดหมายมาส่งตัวให้อัยการต่อไป

.

พิพัฒน์ระบุว่าตนจบการศึกษาด้านวิศวกรรม แต่กลับไปประกอบอาชีพค้าขายผลผลิตทางการเกษตรในจังหวัดบุรีรัมย์ ก่อนหน้านี้เคยไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองในวันสำคัญอยู่บ้าง

เขาระบุว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยเดินทางไปที่จังหวัดพัทลุงมาก่อน การมาครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่กลายเป็นว่าต้องมาถูกดำเนินคดี โดยที่เขาเองก็ไม่รู้จักผู้ที่กล่าวหามาก่อน การเดินทางมายังต้องใช้เวลา และต้องเดินทางหลายต่อ 

ในการเดินทางวันนี้ เดิมคิดว่าจะกลับในช่วงเย็นเลย แต่ก็ต้องเผื่อว่ากระบวนการจะไม่เสร็จสิ้น ทำให้ต้องจองตั๋วเครื่องบินกลับจากหาดใหญ่ไว้ในวันพรุ่งนี้แทน จึงต้องเสียค่าที่พักเพิ่มเติมอีกในคืนนี้ โดยรวมจึงมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมากในการมาต่อสู้คดี ทั้งยังน่าจะต้องเดินทางมาอีกหลายครั้ง แต่ในเมื่อมันถูกกล่าวหาแล้ว ก็ต้องเตรียมต่อสู้คดีต่อไป โดยจะปรึกษาแนวทางคดีกับทนายอีกครั้ง

เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบข้อมูล พิพัฒน์นับเป็นผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รายที่ 10 แล้ว ที่ถูกแจ้งข้อหาโดยมีแกนนำของกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันเป็นผู้กล่าวหา ก่อนหน้านี้มีคดีที่ถูกกล่าวหากระจายไปในหลายสถานีตำรวจในภาคใต้ อาทิที่ สภ.ตะโหมด จ.พัทลุง, สภ.เมืองกระบี่, สภ.ทะเลน้อย จ.พัทลุง, สภ.คอหงส์ จ.สงขลา, สภ.เมืองพัทลุง โดยส่วนใหญ่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางภาคใต้แต่อย่างใด ทำให้แต่ละคนมีภาระและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่อสู้คดี

รวมถึงยังมีคดีที่ สน.บางนา ในกรุงเทพฯ ที่แกนนำกลุ่มดังกล่าวไปกล่าวหาไว้ ได้แก่ คดีของ “เจ๊จวง-เจ๊เทียม” สองแม่ค้าขายบะหมี่หมูกรอบ ที่ถูกกล่าวหาจากการติดป้ายข้อความทางการเมืองบริเวณหน้าร้าน

ขณะที่สถิติคดีโดยภาพรวม นับตั้งแต่เริ่มมีการกลับมาใช้ข้อหาตามมาตรา 112 ตามแถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือน พ.ย. 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 272 คน ใน 303 คดี

.

X