เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 เวลาประมาณ 17.50 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นายได้จับกุม “บังเอิญ” (นามสมมติ) ศิลปินอิสระอายุ 25 ปี ถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุพ่นสีข้อความบนกำแพงพระบรมมหาราชวัง และถูกควบคุมตัวไป สน.พระราชวัง ก่อนถูกแจ้ง 2 ข้อกล่าวหา ตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันถัดมา ด้วยหลักทรัพย์ 50,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามกระทำการใดในลักษณะเดียวกันนี้อีก
จากกรณีบังเอิญถูกจับกุมและถูกควบคุมตัวไป สน.พระราชวัง ยังมี “หยก” เด็กหญิง วัย 15 ปี ติดตามไปที่ สน. และถูกจับกุมตามหมายจับในคดีมาตรา 112 ของ สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งเธอยังไม่ได้เดินทางเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา แต่ได้ส่งหนังสือขอเลื่อนนัดหมายไว้แล้ว สุดท้ายในวันถัดมาเธอถูกออกหมายควบคุมตัวและส่งไปบ้านปรานี จ.นครปฐม เนื่องจากเธอยืนยันที่จะปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมทุกอย่าง รวมถึงการยื่นขอประกันตัวด้วย
ศิลปินอิสระถูกแจ้ง 2 ข้อหา แต่ไร้ ม.112 กรณีพ่นสีกำแพงพระบรมมหาราชวัง ก่อนได้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 50,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามทำการลักษณะเดียวกันนี้อีก
วันที่ 28 มี.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า เวลาประมาณ 17.50 น. บังเอิญถูกตำรวจ สน.พระราชวัง 2 นายเข้าจับกุม โดยถูกกล่าวหาว่าพ่นสีสเปรย์เป็นข้อความ 112 พร้อมขีดทับ และเครื่องหมายสัญลักษณ์ “อนาคิสต์” ใส่กำแพงพระบรมมหาราชวัง โดยตำรวจผู้จับกุมได้เข้าควบคุมตัวด้วยการใช้เข่ากดศีรษะเพื่อให้นอนคว่ำราบกับพื้นและใส่กุญแจมือ ก่อนจะควบคุมตัวไป สน.พระราชวัง
ต่อมาเวลาประมาณ 19.00 น. ตำรวจได้ย้ายบังเอิญไปควบคุมตัวที่ กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 (บก.น.6) โดยไม่ยินยอมให้ทนายความเข้าพบ แม้ทนายความจะแจ้งว่า การสามารถพบและพูดคุยกับทนายความได้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมายของผู้ถูกจับกุมทุกคน แต่ตำรวจยังคงปฏิเสธและไม่ให้ทนายความเข้าพบ นอกจากนี้ตำรวจยังได้วางกำลังและวางแนวรั้วปิดกั้นทางเข้าและออก บก.น.6 อีกด้วย
กระทั่งเวลาประมาณ 21.20 น. ทนายความจึงสามารถเข้าถึงตัวบังเอิญและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายได้ ก่อนจะพบว่าบังเอิญได้รับบาดเจ็บและมีอาการปวดบริเวณใบหน้าและศีรษะ อันเนื่องมาจากการถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมด้วยการใช้เข่ากดศีรษะให้นอนคว่ำลงไปกับพื้นเพื่อใส่กุญแจมือ
ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดทำบันทึกจับกุมแล้วเสร็จ พบว่าบังเอิญถูกแจ้งข้อกล่าวหาใน 2 ข้อหาด้วยกัน ได้แก่ “ร่วมกันทำให้โบราณสถานเสียหาย ทำลาย หรือทำให้เสื่อมค่า” ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 และ “ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ ที่กำแพงที่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ” ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12
ทั้งนี้ ความผิดตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32 ระวางโทษจำคุกสูงถึง 7 ปี และปรับไม่เกิน 700,000 บาท ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 12 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท เท่านั้น
เวลาประมาณ 00.05 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวบังเอิญไปตรวจร่างกายและร่องรอยการบาดเจ็บจากการถูกจับกุมที่โรงพยาบาลตำรวจ ก่อนจะถูกควบคุมตัวกลับมายัง บก.น.6 อีกครั้ง
กระทั่งเวลาเช้าของอีกวัน (29 มี.ค. 2566) ในเวลาประมาณ 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวบังเอิญไปขอฝากขังต่อศาลอาญา รัชดาฯ ซึ่งต่อมาศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน
ทนายความจึงได้ยื่นขอประกันตัวบังเอิญต่อทันที ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างสอบสวนไปจนถึงชั้นพิจารณา เว้นแต่โจทก์ฟ้องผู้ต้องหาในข้อหาที่หนักกว่า ให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสด 50,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ นอกจากนี้ ศาลยังกำหนดเงื่อนไข ‘ห้ามกระทำการใดในลักษณะเดียวกันนี้อีก’ เนื่องจากศาลเห็นว่าผู้ต้องหาเคยมีประวัติการกระทำในลักษณะเดียวกันมาก่อน บังเอิญจึงได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวและเดินทางกลับในทันที
สำหรับ ‘บังเอิญ’ คือศิลปินอิสระชาวขอนแก่น ปัจจุบันอายุ 25 ปี ชอบใช้ชีวิตสันโดษ ทำงานศิลปะเพียงคนเดียว สนใจเรื่องการเมืองตั้งแต่เด็กราวๆ 10 ขวบ สมัยการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยติดตามพ่อไปในที่ชุมนุม ก่อนเริ่มศึกษาและทำงานศิลปะทางการเมืองประเภท ‘Dark Art’ เกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์มาตรา 112 โดยตรง เคยแสดงงานร่วมกับกลุ่มศิลปะปลดแอก ตั้งแต่ปี 2563-2564 และเข้าร่วมชุมนุมทั้งที่กรุงเทพฯ และที่ขอนแก่นอยู่หลายครั้ง
เมื่อต้นปี 2565 บังเอิญเคยถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยถูกตำรวจกว่า 10 นายบุกมาหาถึงห้องพักและควบคุมตัวไปที่ สภ.เมืองขอนแก่น โดยไม่มีการแสดงหมายจับ หมายเรียก หรือแจ้งสิทธิใดๆ กับบังเอิญ ในวันนั้นเขาถูกให้บังคับให้ลบภาพผลงานตัวเองออกจากเฟซบุ๊กด้วยราว 12-13 ภาพ โดยตำรวจอ้างว่า งานศิลปะที่บังเอิญทำอยู่นั้นเข้าองค์ประกอบความผิดมาตรา ‘112’ และจะถูกแจ้งจับตอนไหนก็ได้ บังเอิญยังถูกข่มขู่ไม่ให้ทำงานศิลปะในลักษณะพาดพิงสถาบันกษัตริย์ต่อไปในอนาคตอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม: ไร้หมายเรียก-หมายจับ: ตร.บุกบ้านศิลปินขอนแก่น อ้างผลงานศิลปะเข้าข่ายผิด ‘112’ ก่อนให้ลบ-ขู่ให้หยุดพาดพิง
เด็กหญิง 15 ปี ถูกจับกุมด้วยอีกรายหลังตามบังเอิญไป สน. ก่อนพบว่ามีหมายจับคดี ม.112 ที่ยังไม่ไปรับทราบข้อหา เพราะติดสอบ ม.3 แม้ทำหนังสือขอเลื่อนนัดแล้ว เจ้าตัวปฏิเสธกระบวนการ ทำให้ถูกศาลเยาวชนฯ สั่งควบคุมตัวไป ‘บ้านปรานี’
จากกรณีที่บังเอิญถูกควบคุมไป สน.พระราชวัง ในเวลาประมาณ 17.50 น. ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งติดตามไปที่ สน.ด้วย หนึ่งในนั้นคือ “หยก” เด็กหญิง อายุ 15 ปี ซึ่งเมื่อไปถึง สน.พระราชวังแล้ว เธอได้ทำการไลฟ์ผ่านบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ประชาชนและผู้ติดตามได้รับทราบ
เวลาประมาณ 18.30 น. ระหว่างที่เธอไลฟ์สดอยู่นั้น ตำรวจ สน.พระราชวัง คนหนึ่งได้ถามว่า เธอคือใครและกล่าวหาว่าเธอเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดก่อเหตุพ่นสีดังกล่าว จากนั้นตำรวจจึงได้ยึดไอแพด (iPad) ของเธอไปและเข้าควบคุมตัวทันที ก่อนเฟซบุ๊กไลฟ์ดังกล่าวจะถูกตัดสัญญาณการถ่ายทอดไป
หยกได้เปิดเผยในภายหลังว่า ระหว่างการถูกจับกุมข้างต้น เธอถูกคุกคามทางเพศจากเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย โดยเธอเล่าว่าตำรวจผู้จับกุมซึ่งเป็นชายหลายรายได้นั่งทับตัวเธอ ล้วงจับขา และล้วงเข้าไปบริเวณหน้าอก เพื่อพยายามยึดเอาไอแพดที่เธอเหน็บไว้ในเสื้อด้านในออกไป จากนั้นตำรวจได้จับกุมและลากตัวเธอเข้าไปยังห้องสืบสวน ระหว่างนั้นเด็กหญิงได้กรีดร้องเสียงดังอยู่นานหลายวินาที เพื่อต้องการขอความช่วยเหลือและต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหยุดการกระทำดังกล่าว
จากเหตุการณ์ดังกล่าว เด็กหญิงจึงได้ขอให้ทนายความแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.พระราชวัง เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้ร่วมกันจับกุมเธอ รวมทั้งสิ้น 8 นาย ซึ่งได้แก่ พ.ต.ท.เสกสรรค์ ชุ่มแจ่ม, พ.ต.ต.พลาวัส คนกล้า, ร.ต.ท.อนุวัฒน์ แก้วเชื้อ, ร.ต.ท.ธนัท ผดุงสิน, ร.ต.ท.สุเมธ นาคสีหมอก, ส.ต.ท.ชนนันต์ พาทุมโสม, ส.ต.ท.ณัฐพงศ์ สมปันวัง และ ส.ต.ต.ดนัย ศรีสมโภชน์ กับพวกฯ ในความผิดฐานลักทรัพย์ฯ, ข่มขืนใจฯ และทำร้ายร่างกาย
ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการอ้างการจับกุมตามหมายจับของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ลงวันที่ 28 ก.พ. 2566 ในคดีมาตรา 112 ที่มีนายอานนท์ กลิ่นแก้ว สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้ร้องทุกข์ไว้ที่ สน.สำราญราษฎร์
อย่างไรก็ตาม ในคดีดังกล่าวนี้ หยกเคยได้รับหมายเรียกแล้วเมื่อช่วงเดือนมกราคม แต่เด็กหญิงอยู่ระหว่างการเตรียมและสอบวัดผลปลายภาคในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต่อเนื่องไปถึงการต้องเข้ารายงานตัวเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ทำให้ยังไม่สามารถเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนตามนัดหมายได้ ทนายความได้ทำหนังสือขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาไปเป็นวันที่ 9 เม.ย. 2566 เวลา 10.00 น. และได้ส่งให้กับพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2566 แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไปร้องขอศาลออกหมายจับ
ในเวลาประมาณ 22.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระราชวัง ได้ควบคุมตัวเด็กหญิงไปยัง สน.สำราญราษฎร์ เพื่อให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำต่อไป โดยหยกปฏิเสธกระบวนการที่เกิดขึ้น ทำให้มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงเข้ามาอุ้มตัวเธอเดินทางไป
เวลาประมาณ 02.00 น. พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับหยกใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ โดยทราบว่าเป็นเหตุพฤติการณ์การแสดงออกจากกิจกรรมชุมนุมที่ชื่อว่า #13ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องลอยไป บริเวณลานเสาชิงช้า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2565 และยังถูกแจ้งข้อหา “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เพิ่มเติม เนื่องจากเด็กหญิงปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือในบันทึกจับกุมและรับทราบข้อหา
ทั้งนี้ ตำรวจได้จัดหานักสหวิชาชีพและที่ปรึกษามาร่วมกระบวนการสอบสวนคดีเด็กด้วย แต่ไม่มีผู้ปกครองของหยกเดินทางมาร่วม
หยกถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.สำราญราษฎร์ จนกระทั่งรุ่งเช้าของอีกวัน (29 มี.ค.) ในเวลาประมาณ 11.30 น. เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงประมาณ 7 คน อุ้มตัวขึ้นรถไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ รวมถึงขอให้ศาลออกหมายควบคุมตัวด้วย
เมื่อเดินทางถึงศาลเยาวชนฯ หยกก็ยังคงยืนยันที่จะปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะทางใดก็ตาม ปฏิเสธที่จะมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย (ทนายความ) และไม่ขอเซ็นเอกสารใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงจะไม่ขอยื่นประกันตัว โดยระหว่างที่เธอนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีของศาล หยกยังได้นั่งหันหลังให้กับบัลลังก์และผู้พิพากษาอีกด้วย
ต่อมา ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ออกหมายควบคุมตัวหยกไว้ในความดูแลของสถานพินิจฯ เป็นเวลา 1 ผัด ระยะเวลา 30 วันจนกว่าพนักงานอัยการจะมีคำสั่งฟ้องในคดีนี้ จากนั้นได้ส่งตัวเด็กหญิงไปควบคุมตัวไว้ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิง ‘บ้านปรานี’ จังหวัดนครปฐม ซึ่งอยู่ภายใต้ความดูแลของสถานพินิจฯ
จดหมายแถลงการณ์ปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมและอำนาจศาลของหยก
ซึ่งถูกเขียนขึ้นขณะถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.สำราญราษฎร์
สำหรับ เด็กหญิงวัย 15 ปีคนนี้ ปัจจุบันเด็กหญิงศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เธอเป็นเยาวชนที่อายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดีในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยขณะเกิดเหตุนั้นเธอมีอายุเพียง 14 ปี 7 เดือน เศษ
เด็กนักเรียน ม.3 วัย 14 ปี ได้หมายเรียกคดี ม.112 พบอายุน้อยสุดที่ถูกดำเนินคดีข้อหานี้