ส่องปฏิกิริยาเรียกร้องปล่อยตัว “หยก” คดี ม.112 ก่อนครบกำหนดผัดฟ้องอีกครั้ง นักกิจกรรมกังวลพ้นสภาพนักเรียนหากถูกขังต่อ

วันที่ 12 พ.ค. 2566 นี้ จะครบกำหนด 15 วัน ที่มีการขอผัดฟ้อง “หยก” เยาวชนวัย 15 ปี ผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และต่อสู้โดยการปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมเรื่อยมา โดยตำรวจหรืออัยการยังสามารถยื่นขอผัดฟ้องและควบคุมตัวหยกต่อไปได้อีก 15 วัน ทำให้อาทิตย์นี้ต้องจับตาว่าจะมีการยื่นขอผัดฟ้องต่อไปหรือไม่

หยกถูกคุมขังที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี อ.สามพราน จ.นครปฐม มาตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. 2566 โดยเธอถูกตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ เจ้าของคดี ยื่นขอศาลเยาวชนและครอบครัวกลางให้ออกหมายควบคุมตัวและขอผัดฟ้องมาแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 29 มี.ค. เป็นระยะเวลา 30 วัน และวันที่ 27 เม.ย. 2566 เป็นระยะเวลา 15 วัน

ขณะเดียวกัน “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ผู้ไว้วางใจของหยก ยังเปิดเผยว่าหากในครั้งนี้ หยกยังถูกคุมขังต่อไปอีก 15 วัน คือจนถึงวันที่ 27 พ.ค. นี้ จะทำให้เธอต้องสูญเสียสิทธิในการศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เนื่องจากทางโรงเรียนกำหนดให้มีการมอบตัวนักเรียนภายในวันที่ 23 พ.ค. 2566 นี้ ซึ่งหากขาดการมอบตัว จะทำให้หยกพ้นจากสภาพนักเรียนไปด้วย การดำเนินการขอผัดฟ้องและควบคุมตัวต่อไปในครั้งนี้ จึงสำคัญต่อสถานการณ์ทางการศึกษาของเยาวชนรายนี้เป็นอย่างยิ่ง

ตั้งแต่หยกถูกคุมขัง ยังมีการแถลงการณ์เรียกร้องหรือออกจดหมายเปิดผนึกจากทั้งองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และองค์กรในประเทศไทยเรียกร้องให้ปล่อยตัวหยก เพราะเห็นว่าการจับกุมและการคุมขังครั้งนี้เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อไปนี้เป็นสรุปปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในรอบเดือนที่ผ่านมา

.

Human Rights Watch แถลงเรียกร้องปล่อยตัว “หยก” และยุติการดำเนินคดีทันที

วันที่ 28 เม.ย. 2566  Human Rights Watch ได้ออกแถลงเรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัว “หยก” และยุติการดำเนินคดีทันที

เอเลน เพียร์สัน (Elaine Pearson) ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียของ Human Rights Watch ระบุว่าด้วยการจับกุมเยาวชนวัย 15 ปี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นี้ รัฐบาลไทยกำลังส่งสารอันเย็นยะเยือก ว่าแม้แต่เด็กและเยาวชนก็ไม่ปลอดภัยจากการถูกลงโทษอย่างรุนแรงได้สำหรับการแสดงความคิดเห็นของพวกเขา

HRW สรุปสถานการณ์ที่คดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนับจากเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา ภายใต้การสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้ง HRW และหน่วยงานที่ติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหลายแห่ง รวมทั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน และคณะทำงานว่าด้วยการคุมขังโดยพลการ ต่างได้แสดงความกังวลหลายครั้งเกี่ยวกับการที่รัฐบาลไทยใช้การจับกุมและการควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดี เพื่อลงโทษผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์จากมุมมองของพวกเขา

HRW ยืนยันว่า การควบคุมตัวผู้ต้องขังในข้อหามาตรา 112 ระหว่างการพิจารณา เป็นการละเมิดสิทธิภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ ทั้งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ซึ่งประเทศไทยก็ให้สัตยาบันไว้ระบุว่า การจับกุม คุมขัง หรือจำคุกเด็ก “จะใช้เป็นมาตรการสุดท้ายและในช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สั้นที่สุดเท่านั้น

“รัฐบาลไทยควรอนุญาตให้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสันติ รวมถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ทางการไทยควรทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติและองค์กรอื่นๆ ในการแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” เพียร์สันระบุ

.

.

ผู้ประสานงาน UN ในไทย ทวีต “เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการรับฟัง” หลังฟังปัญหาเยาวชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมือง

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2566 กีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UN Resident Coordinator in Thailand) ได้ทวีตข้อความหลังได้พูดคุยกับกลุ่มเยาวชนและทนายความ ในเรื่องปัญหาการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการแสดงออกทางการเมือง ว่า “เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการรับฟัง ที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่จะส่งผลกระทบกับพวกเขาในปัจจุบันหรืออนาคต”

.

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่าการจับกุม “หยก” เป็นไปโดยมิชอบ เรียกร้องปล่อยตัว

ส่วนองค์กรสิทธิมนุษยชนภายในประเทศไทยนั้นก็มีการแถลงเรียกร้องต่อกรณีหยกเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2566 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้ดำเนินการให้ปล่อยตัวหยก โดยทางมูลนิธิแสดงความกังวลต่อการปฏิบัติกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องปฏิบัติในรูปแบบที่พิเศษแตกต่างจากการดำเนินการต่อกลุ่มคนทั่วไป และคำนึงถึงผลประโยชน์ของเด็กและเยาวชนเป็นหลักการสำคัญ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กพึงได้รับ

ทางมูลนิธิเห็นว่าการจับกุมของตำรวจในกรณีของหยก เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยการจับกุมมิได้มีการแสดงหมายจับ แต่ต่อมาจึงอ้างว่าจับกุมตามหมายจับ ทั้งยังมีการยึดทรัพย์สินของเธอไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย มีการใช้ความรุนแรงในการจับกุม กระทั่งล่วงละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายด้วย จดหมายยังแสดงความห่วงใยต่อสภาพจิตใจของเด็กซึ่งถูกคุมขัง จึงเรียกร้องให้ตำรวจดำเนินการให้ปล่อยตัวหยกด้วย

.

.

แอมเนสตี้ประเทศไทยฯ ทำหนังสือถึง กสม.- อธิบดีกรมกิจการเด็ก เรียกร้องตรวจสอบกรณีการควบคุมตัวหยกอย่างเร่งด่วน

ส่วน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ก็ได้จัดทำหนังสือลงวันที่ 24 เม.ย. 2566 ส่งถึงประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน แสดงความกังวลและเรียกร้องให้มีการตรวจสอบกรณีการใช้ความรุนแรงและการจับกุมโดยพลการในกรณีของหยก 

ทางแอมเนสตี้เห็นว่าการจับกุมและคุมขังกรณีของหยก ไม่สอดคล้องกับทั้ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 67 และ 69 ทั้งในเรื่องการออกหมายจับไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายและการจับกุมโดยพลการ และไม่สอดคล้องกับทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC)

แอมเนสตี้ ได้เรียกร้องต่อกรมกิจการเด็กและเยาวชน ให้ประสานให้คณะกรรมการคุ้มครองเด็กกรุงเทพมหานครและคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด ตามมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 สอบสวนการใช้ความรุนแรงและการจับกุมโดยพลการต่อกรณีที่เกิดขึ้นทั้งในกรณีของหยกและกรณีของเด็กเยาวชนอื่นๆ รวมทั้งมีข้อเรียกร้องต่อภาพรวมสถานการณ์การละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมืองในปัจจุบัน

รวมทั้งยังเรียกร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ตรวจสอบต่อกรณีการใช้ความรุนแรงและการจับกุมโดยพลการในกรณีของหย รวมทั้งติดต่อศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิง บ้านปรานี เพื่อเข้าเยี่ยมและรับรองว่าศูนย์ฝึกดังกล่าวได้คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของเด็กที่ถูกควบคุมตัว โดยเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำและข้อบทที่ 40 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และเรียกร้อให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อประกันว่ารัฐไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการทบทวนกฎหมายเเละเเนวปฏิบัติที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิในเสรีภาพแห่งการเเสดงออกเเละการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และพิจารณายุติการดำเนินคดีต่อเด็กเเละเยาวชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายข้างต้นอย่างเร่งด่วน

.

พรรคสามัญชนเรียกร้องตรวจสอบตำรวจ-ศาลที่เกี่ยวข้องกรณีหยก พร้อมยืนยันให้ปล่อยตัวทันที

ขณะเดียวกันพรรคสามัญชน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีนโยบายยกเลิกมาตรา 112 นั้น ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2566 ประณามกระบวนการยุติธรรมที่ควบคุมตัวหยกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีการระบุข้อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และตรวจสอบผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการจับกุม พร้อมขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางตรวจสอบกระบวนการจับกุมใหม่ และปล่อยตัวเยาวชนทันที 

ขณะเดียวกันพรรคสามัญชนยังเรียกร้องให้ศาล ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะต้องหยุดเป็นฟันเฟืองที่ผลิตซ้ำความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชน ด้วยการศึกษาการใช้กระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตรกับเยาวชน (Child Friendly Justice) เพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างสังคม และเยียวยาเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของกลุ่มนักกิจกรรมเอง นอกจากการแสดงออกและรณรงค์เรียกร้องในกรณีของหยกแล้ว ยังมีการล่ารายชื่อเรียกร้องให้ศาลคืนอิสรภาพให้หยก ผ่านเว็บไซต์ Change.org โดยหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ถึงวันที่ 9 พ.ค. 2566 มีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 26,871 ราย

.

ย้อนอ่านข้อมูลกรณีของหยก

รู้จัก “หยก” เด็กหญิงผู้ถูกดำเนินคดี 112 ที่อายุน้อยที่สุด กับการตระหนักรู้ว่าประเทศไม่ได้เป็นอย่างในนิทานที่ถูกเล่า

ลำดับเหตุการณ์คดีของ “หยก” เด็กหญิงผู้ถูกดำเนินคดี ม.112

“หยก” ถูกควบคุมตัวคดี ม.112 ต่ออีก 15 วัน แม้ผู้ไว้วางใจขอเบิกตัวมาศาล แต่ศาลไม่อนุญาต ระบุไม่ใช่ผู้ปกครอง และ ผตห.ยังมีที่ปรึกษากฎหมาย แม้หยกยืนยันว่าเธอไม่เคยเซ็นแต่งตั้งใคร

ผอ.สถานพินิจฯ กทม. สั่งไม่อนุญาตให้ทนายเข้าเยี่ยม “หยก” ระบุไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้ง แม้ระบุชัดว่าเป็นทนายในคดีอื่น ขณะ ผอ.บ้านปรานี สั่งงดเยี่ยมญาติต่อเนื่อง 5 วัน หลังมีกิจกรรม

.

X