วันที่ 27 เม.ย. 2566 ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งว่ามีการขอยื่นฝากขังอีก 15 วันกับ “หยก” เยาวชนวัย 15 ปี ที่ถูกจับตามหมายจับในคดีตามมาตรา 112 ซึ่งมีอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำ ศปปส.เป็นผู้แจ้งความที่ สน.สำราญราษฎร์
ในคดีนี้ หยกถูกจับกุมจากกรณีที่เข้าไปไลฟ์สดในบริเวณที่เกิดเหตุศิลปินอิสระพ่นสีข้อความขีดทับเลข 112 บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระราชวัง ได้ทำการควบคุมตัวหยกไปพร้อมกับศิลปินคนดังกล่าวด้วย ก่อนที่จะค้นประวัติของเธอและพบว่าเธอมีหมายจับจาก สน.สำราญราษฎร์ ในคดีมาตรา 112 อยู่
ตำรวจ สน.พระราชวัง จึงได้ควบคุมตัวหยกไปยัง สน.สำราญราษฎร์ เพื่อให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ โดยหยกปฏิเสธกระบวนการที่เกิดขึ้น จนกระทั่งในวันถัดมา (29 มี.ค. 2566) เธอถูกควบคุมตัวเพื่อไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยเธอได้ปฏิเสธกระบวนการ และไม่ขอมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย ตลอดจนไม่ขอเซ็นเอกสารใดๆ และไม่ยื่นขอประกันตัว ทำให้ศาลมีคำสั่งให้ออกหมายควบคุมตัวหยกไว้ในความดูแลของสถานพินิจฯ หรือบ้านปรานี เป็นระยะเวลา 1 ผัด หรือ 30 วัน
.
ศาลอนุญาตให้ผัดฟ้องต่ออีก 15 วัน แต่ไม่อนุญาตให้เบิกตัวหยกมาศาล ชี้ผู้ต้องหายังมีที่ปรึกษากฎหมาย แม้หยกยืนยันว่าไม่เคยแต่งตั้งใครมาก่อน พร้อมปรากฏชื่อปริศนาในรายงานกระบวน เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ในช่องที่ปรึกษากฎหมาย
ในวันนี้ (27 เม.ย. 2566) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งว่ามีการดำเนินการยื่นขอผัดฟ้องคดีของหยกอีก 15 วัน ซึ่งศาลได้มีคำสั่งอนุญาต
ทั้งนี้ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งได้รับมอบให้เป็นผู้ไว้วางใจ ได้เข้ายื่นคำร้องขอเบิกตัวหยกมาศาล แต่ศาลเยาวชนฯ ได้ปฏิเสธคำร้องดังกล่าว โดยระบุคำสั่งว่า โสภณไม่ใช่ผู้ปกครอง และศาลยังไมไ่ด้แต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองชั่วคราว จึงไม่มีสถานะที่จะมายื่นคำร้องแทนหยกได้ ผู้ต้องหายังมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย ในวันที่ 29 มี.ค. 2566 และมีผู้ปกครองคือมารดาด้วย ประกอบกับศาลมีคำสั่งให้เบิกตัวทางไกลผ่านจอภาพแล้ว เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 จึงไม่อนุญาต
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 29 มี.ค. 2566 ศาลได้บันทึกไว้ว่าผู้ต้องหาปฏิเสธไม่ขอลงลายมือชื่อในใบแต่งที่ปรึกษากฎหมายดังกล่าว และหยกได้มีความประสงค์ให้มีผู้ไว้วางใจเข้ามาฟังในห้องพิจารณาคดีด้วยเท่านั้น ไม่ได้มีที่ปรึกษาทางกฎหมายตามที่ศาลได้ระบุในคำสั่งผัดฟ้องดังกล่าว
ทั้งนี้ จึงมีเพียงเก็ท โสภณที่ภายหลังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ไว้วางใจของหยก และได้แถลงต่อศาลว่าตนมาทำหน้าที่ผู้ปกครองชั่วคราว เนื่องจากมารดาของผู้ต้องหาไม่สามารถมาศาลในวันดังกล่าวได้จากอาการเจ็บป่วย
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แถลงต่อศาลว่า ในการจับกุมหยกเป็นการปฏิบัติโดยชอบทางกฎหมายแล้ว และหากมีการผัดฟ้องต่อ จะขออนุญาตให้ไต่สวนคำร้องผ่านจอภาพ และหากศาลจะควบคุมหรือคุมขังก็ไม่มีข้อคัดค้าน
นอกจากนี้ ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าว หยกได้ปฏิเสธที่จะลงลายมือชื่อในฐานะผู้ต้องหา แต่ได้ปรากฏลายมือชื่อของบุคคลลงนามในช่องที่ปรึกษาทางกฎหมาย ซึ่งจนถึงวันนี้หยกก็ได้ยืนยันว่าเธอไม่เคยแต่งตั้งที่ปรึกษาทางกฎหมายในคดีนี้ และในรายงานกระบวนพิจารณาก็ไม่ได้ระบุว่ามีการแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายเป็นผู้ใด
ผลของคำสั่งศาลเยาวชนฯ ในวันนี้ ทำให้ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. 2566 – 27 เม.ย. 2566 “หยก” เด็กหญิงที่ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 จากเหตุขณะอายุ 14 ปี ได้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จังหวัดนครปฐม เป็นระยะเวลารวม 30 วันแล้ว และจะยังคงถูกควบคุมตัวต่อไปอีก 15 วันนับจากนี้
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
ย้อนดูลำดับเหตุการณ์คดีของหยก >>> ลำดับเหตุการณ์คดีของ “หยก” เด็กหญิงผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 จับตาครบกำหนดควบคุมตัวครั้งแรก 27 เม.ย. นี้ |
ย้อนทำความรู้จักหยก >>> รู้จัก “หยก” เด็กหญิงผู้ถูกดำเนินคดี 112 ที่อายุน้อยที่สุด กับการตระหนักรู้ว่าประเทศไม่ได้เป็นอย่างในนิทานที่ถูกเล่า |