รู้จัก “หยก” เด็กหญิงผู้ถูกดำเนินคดี 112 ที่อายุน้อยที่สุด กับการตระหนักรู้ว่าประเทศไม่ได้เป็นอย่างในนิทานที่ถูกเล่า

ซีรี่ส์: YOUNG มีหวัง

สืบเนื่องมาจากกรณี “บังเอิญ” (นามสมมติ) ศิลปินอิสระจาก จ.ขอนแก่น พ่นสีสเปรย์เป็นข้อความไม่เอา 112 และสัญลักษณ์อนาคิสต์บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุม ควบคุมตัวไปยัง สน.พระราชวัง แล้วแจ้ง 2 ข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ได้ปรากฏว่า “หยก” เด็กหญิงวัย 15 ปีถูกจับกุมเพิ่มด้วยอีกคนหนึ่ง

การจับกุมหยกเนื่องมาจากหมายจับในคดีมาตรา 112 ของ สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งมี อานนท์ กลิ่นแก้ว สมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษเอาไว้ อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ หยกได้มอบหมายให้ทนายความทำหนังสือขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปเป็นวันที่ 9 เม.ย. 2566 เนื่องจากหยกอยู่ระหว่างเตรียมสอบจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  โดยได้ส่งหนังสือให้กับพนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2566 หากแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงไปร้องขอศาลเยาวชนฯ ออกหมายจับ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยได้สนทนากับหยกตั้งแต่ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาหลังจากทราบว่าถูกดำเนินคดี โดยหยกบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของความสนใจต่อการเมือง กระทั่งตัดสินใจออกมาร่วมทำกิจกรรมเพื่อแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองเอาไว้

.

“หยก” คือใคร?

หยก คือเด็กนักเรียนหญิง อายุ 14 ปีเศษ ๆ ศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมต้นของโรงเรียนรัฐบาลที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร และกำลังอยู่ในช่วงการเตรียมตัวเพื่อสมัครเข้าเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นอกจากนี้ เธอยังเป็นผู้ถูกหมายเรียกในคดีมาตรา 112  ที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่ทราบข้อมูล

ภาพวาดหยก จากไข่แมว

หยกได้รับหมายเรียกเมื่ออายุได้ 14 ปีเศษ จากการแจ้งความโดย อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำสมาชิกศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ต่อมาทราบว่าเหตุที่ถูกกล่าวหาเกิดจากการแสดงออกในกิจกรรมทางเมือง “13 ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องไป” ที่บริเวณเสาชิงช้า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2565 ซึ่งเป็นกิจกรรมการรณรงค์ให้ปล่อยนักโทษการเมืองและยกเลิกมาตรา 112 โดยใช้ป้ายผ้าและการเขียนข้อความ  

.

เมื่อตกผลึกได้ว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอย่างที่ผู้ใหญ่กล่าวอ้าง

จากที่ได้พูดคุยกัน หยกเล่าว่าจริงๆ แล้วเธอก็เป็นเพียงเด็กนักเรียนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจหรือคิดจะไปร่วมกิจกรรมการเมือง  ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวภายในหรือภายนอกโรงเรียน

ต่อมาหลังเริ่มมีกระแสการเคลื่อนไหวของนักเรียนในช่วงปี 2563-64 หยกเล่าว่าเธอเองได้เริ่มลองศึกษาหาข้อมูลเรื่องการเมือง การเคลื่อนไหว และการทำกิจกรรมเพื่อแสดงความคิดและแสดงออกทางการเมืองของประชาชนจากอินเทอร์เน็ต เมื่อได้รับรู้เรื่องราวมากขึ้นก็เริ่มมีความสนใจและได้ทดลองเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองที่มวลชนกลุ่มต่างๆ จัดขึ้นในช่วงปี 2565 

หยกเปิดเผยว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการอ่านและการเข้าร่วมกิจกรรมการเมืองทำให้ตกผลึกได้ว่าปัจจุบันการปกครองของประเทศไทยนั้นไม่ใช่เป็นระบอบประชาธิปไตยตามอย่างที่ผู้ใหญ่หลายคนกล่าวอ้าง นอกจากนี้ยังรับรู้ได้ว่าในปัจจุบันนี้ สังคมไทยมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่ควรได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการปิดปากประชาชนด้วยกฎหมาย และการบังคับสูญหายผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยเธอได้ยกเรื่องของทนายสมชาย นีละไพจิตร และกรณีของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง

.

และแล้วจึงออกมาร่วมกิจกรรมและเคลื่อนไหวในทางการเมือง

เมื่อถามถึงเรื่องการออกมาร่วมกิจกรรม หยกก็เล่าว่าเธอกิจกรรมการเมืองงานแรกที่เข้าร่วมคืองานรำลึกถึงการจากไปของนักเขียนผู้ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจนวาระสุดท้าย ได้แก่ ‘วัฒน์ วรรลยางกูร เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2565 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว ทั้งมีโอกาสได้เข้าร่วมงานอื่นๆ ที่จัดขึ้นในช่วงปี 2565 อีกด้วย เช่น งาน “ราษฎรไล่ตู่” และ งาน “13 ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องไป” 

หยกเปิดเผยว่างานรำลึกถึง วัฒน์ วรรลยางกูร เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หันมาสนใจที่จะออกมาเป็นผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองเอง นอกเหนือจากการเป็นเพียงมวลชนผู้เข้าร่วมเพียงอย่างเดียว เธอเล่าว่าประสบการณ์และสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเจอและเรียนรู้จากงานกิจกรรมนี้ทำให้มีความสนใจในเรื่องการเมืองและความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม 

หยกบอกว่าเธอได้เริ่มต้นจากการเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงภายในโรงเรียนก่อน โดยเธอและเพื่อนจำนวนหนึ่งได้ตั้งกลุ่มทำกิจกรรมในโรงเรียน ซึ่งเน้นการวิพากษ์ วิจารณ์ ตีแผ่สภาพปัญหา ตลอดจนเสนอข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขในเรื่องพิธีกรรม พิธีการ อันละเมิดสิทธิต่าง ๆ ในโรงเรียน โดยที่เธอและเพื่อนๆ จะใช้วิธีการสื่อสารผ่านทางสื่อออนไลน์ อันได้แก่ ทวิตเตอร์ เป็นสำคัญ

ต่อมา ในช่วง ก.ค. 2565 หยกได้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม “นักเรียนล้มฯ” ขึ้น เพื่อให้เป็นกลุ่มสำหรับเคลื่อนไหวภายนอกรั้วโรงเรียน โดยมีข้อเรียกร้องหลักๆ 3 ข้อ ได้แก่ ข้อ 3 ไฟเย็น, ปลดแอกกัญชาเสรี, ประชาชนอายุ 15 ปีมีสิทธิเลือกตั้ง  

นอกจากนี้แล้ว หยกบอกว่ากลุ่มของเธอยังจะผลักดันประเด็นเรื่องปัญหาการบังคับสูญหายผู้เห็นต่างทางการเมืองด้วย

หยกระบุว่า เธอเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวประชาไทว่าการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของเธอนั้น มาจากจิตสำนึก ประกอบกับความรู้สึกว่าอยากที่จะทำ โดยเป็นความรู้สึกของตัวเธอเอง ไม่ใช่เป็นเพราะอิทธิพลหรือการบังคับจากคนอื่นคนใด 

ในระหว่างที่เล่าเรื่องนี้ หยกบอกว่าเธออยากบอกหลายๆ คนที่เอาแต่คิดว่าเด็กหรือคนรุ่นใหม่ที่สนใจหรือออกมาทำกิจกรรมการเมืองเพราะถูกชักจูง ถูกชี้นำ เพราะว่าจริงๆ แล้ว มันเป็นเรื่องยากมากเลยที่คนรุ่นใหม่จะปล่อยให้คนอื่นมามีอิทธิพลเหนือ หรือมาควบคุมคนรุ่นใหม่ได้ง่ายๆ โดยเธอได้ยกตัวอย่างลุงคนหนึ่งที่พูดเรื่องเดิมๆ ติดต่อกันมานานเป็นเวลากว่า 8-9 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถชักจูงหรือควบคุมคนรุ่นใหม่เช่นเธอได้

หยกบอกว่าเธออยากจะพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง หรืออีกหลายๆ ครั้งก็ได้ เพราะเธอต้องการให้ใครก็ตามที่ใคร่รู้เหลือเกินว่าเพราะอะไรทำไมเด็กรุ่นใหม่อย่างเธอ จึงเลือกออกมาเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมทางการเมือง แทนที่จะใช้ชีวิตแบบเรียนๆ เล่นๆ ไปในแต่ละวันตามอย่างที่ผู้ใหญ่คิดว่าควรจะเป็น 

.

เผชิญหน้าการถูกติดตามคุกคามอย่างน้อย 3 ครั้ง: ราคาเริ่มต้นหลังออกไปร่วมกิจกรรมการเมือง

การพูดคุยดำเนินไปจนถึงประเด็นในช่วงหลังจากออกไปร่วมกิจกรรมและเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งหยกก็ได้เปิดเผยว่าสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น ที่ถือได้ว่าเป็นราคาเริ่มต้นที่เธอต้องจ่ายหลังออกไปร่วมกิจกรรมและเคลื่อนไหวทางการเมืองคือ การถูกติดตามคุกคาม ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและจากประชาชนด้วยกันเอง

หยกเล่าว่าไม่นานหลังจากไปร่วมกิจกรรม 13 ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องไป ได้มีบุคคลอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจคุกคามถึง 3 ครั้ง ทั้งที่บ้านและโรงเรียน

ในครั้งแรก มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทราบสังกัดหลายคน ทั้งผู้หญิงและผู้ชายพากันมาตามหาตัวเธอถึงที่บ้าน แต่ไม่ได้พบกันเพราะในเวลานั้นหยกออกไปทำธุระข้างนอก เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจึงบอกแก่สมาชิกในครอบครัวว่าลูกสาวมีพฤติกรรมผิดปกติ สมควรที่จะพาไปพบจิตแพทย์ ก่อนจะพากันกลับไปโดยไม่แสดงบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานแต่อย่างใด 

ครั้งที่สอง เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ทราบสังกัดมาตามหาตัวหยกถึงที่บ้านอีกครั้ง และในครั้งนี้ก็ไม่พบกับหยกอีกเช่นเคย พบเพียงแต่สมาชิกในครอบครัว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้บอกทำนองว่าลูกสาวกำลังจะถูกดำเนินคดี มีหมายฟ้องมาแล้ว แต่ทั้งนี้ เจ้าหน้าตำรวจกลับไม่ได้นำเอกสารใดๆ มาแสดงให้ดู เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่พูดนั้นเป็นเรื่องจริง 

นอกจากนี้ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะกลับออกไป ยังมีการพูดจาเชิงข่มขู่ทำนองว่า “เดี๋ยวได้เห็นดี” และ “มีลูกแบบนี้ฆ่าตัวตายดีกว่า” อีกด้วย

ในครั้งที่สาม เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ไปตามหาตัวหยกที่บ้าน หากแต่พากันไปถึงที่โรงเรียน โดยพยายามบังคับให้ทางโรงเรียนและครูพาตัวหยกมาพบ  แต่ก็ถูกปฏิเสธ เนื่องจากทางโรงเรียนและครูไม่ให้ความร่วมมือ ด้วยเหตุผลว่าหยกยังเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปี การที่จะดำเนินการใดๆ กับเธอได้ ทั้งทางโรงเรียนและเจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครองก่อน 

หยกระบุว่าในครั้งแรกที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตามหาที่บ้าน เธอค่อนข้างมีความกังวล โดยกังวลว่าจะถูกดำเนินคดี พร้อมกับเป็นห่วงความรู้สึกของคนในครอบครัว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ในครั้งที่ 2 ก็เริ่มรู้สึกชิน ทำให้เชื่อได้ว่าเพียงแค่มีความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ควรจะเป็นเรื่องผิดในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย รวมทั้งทำให้คิดได้ว่าฝ่ายที่มาติดตามคุกคามต่างหากคือฝ่ายผิด แต่ถึงอย่างนั้นก็หยกก็ยังคงเป็นห่วงความรู้สึกของครอบครัวอยู่

นอกเหนือจากการถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว หยกยังเล่าให้ฟังด้วยว่า หลังจากที่ไปร่วมงาน 13 ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องไป ภาพของเธอถูกนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของประชาชนคนหนึ่ง โดยมีระบุข้อความเชิงข่มขู่คุกคามเอาไว้ด้วย

ภาพการโพสต์ประจาน-ข่มขู่หยกโดยประชาชนคนหนึ่ง

.

ความในใจและข้อความที่อยากฝากไว้ (ให้คิด) ของผู้ถูกหมายเรียกข้อหา ม.112 วัย 14 ปี

ในตอนท้ายของการพูดคุย หยกเปิดเผยถึงความรู้สึกที่มีต่อการถูกหมายเรียกในคดีมาตรา 112 ว่าที่จริงแล้ว เธอเคยคิดกับตัวเองเล่นๆ ไว้เหมือนกันว่าวันหนึ่งอาจจะต้องเจอกับเหตุการณ์เช่นนี้ เพียงแต่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ว่าเหตุการณ์จะเดินทางมาถึงในเวลาอันรวดเร็ว 

หยกยังพูดถึงปัญหาของกฎหมายมาตรา 112 ว่าเป็นกฎหมายที่มีโทษสูงเกินไป ไม่ควรมีใครต้องติดคุกด้วยข้อกฎหมายนี้ เมื่อเธอกลายเป็น “ผู้ต้องหา” คนหนึ่งในข้อหานี้ เธอจึงหวังเรื่องราวของเธอ เรื่องราวของเด็กอายุ 14 ปี ที่ได้รับหมายเรียกในคดี 112 นี้ อาจจะทำให้สังคมตระหนักได้ถึงปัญหาของการบังคับกฎหมายได้ไม่มากก็น้อย

ในช่วงกระแสการเลือกตั้ง หยกยังฝากข้อความถึงพรรคการเมืองทั้งหลายว่าข้อกฎหมายต่างๆ ที่เป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนควรจะถูกยกเลิกไป พรรคการเมืองไม่ควรรวมตัวกันเพื่อให้ได้เป็นรัฐบาลเพื่อแสวงหาผลประโยชน์แก่ตัวเองและพรรคพวก นอกจากนี้แล้ว เธอยังอยากขอให้ทุกพรรคร่วมกันผลักดันประเด็นเรื่องการบังคับสูญหายด้วย

.

หมายเหตุ: การพูดคุยกับหยกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2566 ขณะที่หยกมีอายุได้ 14 ปีเศษๆ 

ณ ปัจจุบัน หยกซึ่งมีอายุได้ 15 ปี กับอีก 3 อาทิตย์กว่าๆ ถูกควบคุมตัวอยู่ที่บ้านปรานี จ.นครปฐม เนื่องจากภายหลังการจับกุม เธอได้ปฏิเสธกระบวนการทุกขั้นตอน นับตั้งแต่ชั้นตำรวจจนถึงชั้นศาล ตลอดจนปฏิเสธการยื่นขอประกันตัว

.

X