ยกฟ้อง! ม.112-116 ศาลขอนแก่นชี้ “ทิวากร” โพสต์ถึง “สถาบันกษัตริย์” ไม่ได้เจาะจงถึงกษัตริย์องค์ใด ทั้ง “สถาบันกษัตริย์” ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตาม ม.112  

29 ก.ย. 2565 ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษายกฟ้อง คดีที่ทิวากร วิถีตน ถูกพนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116(3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากการสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ถ่ายรูปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก รวมถึงโพสต์เรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อย 4 แกนนำราษฎร ในช่วงเดือน ก.พ. 2564

ทิวากรพร้อมทนายความเดินทางมาถึงศาลจังหวัดขอนแก่นก่อนเวลานัด โดยมี “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ ซึ่งมาศาลในคดีอื่นด้วยแวะมาให้กำลังใจ และมีนักกิจกรรม ผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งสื่ออิสระหลายราย มาร่วมติดตามฟังคำพิพากษาด้วย

ก่อนเดินขึ้นไปห้องพิจารณาคดีทิวากรกล่าวว่า วันนี้เขาไม่ได้ขี่รถมอเตอร์ไซค์มาจากบ้านเหมือนปกติที่เคยมาศาล เนื่องจากหากศาลตัดสินให้จำคุกจะไม่มีใครนำมอเตอร์ไซค์กลับไปที่บ้าน 

ราว 09.20 น. ในห้องพิจารณาคดี หลังจากศาลดำเนินการในคดีอื่นๆ เสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ให้บุคคลอื่นออกจากห้องพิจารณา เหลือเพียงผู้ที่เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาในคดีทิวากร จากนั้น วรวุฒิ เลาลัคนา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดขอนแก่น เจ้าของสำนวน จึงเริ่มอ่านคำพิพากษา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมกุญแจมือ ยืนประกบทิวากร เพื่อเตรียมควบคุมตัวไปห้องขัง หากศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 

คำพิพากษามีใจความว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลย ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 2 มิ.ย. 2563 ถึงวันที่ 27 ก.พ. 2564 จำเลยลงรูปภาพและข้อความให้ปรากฏทางอินเทอร์เน็ตในเฟซบุ๊กของผู้ใช้ชื่อ ทิวากร วิถีตน ซึ่งบุคคลทั่วไปเข้าไปดูและตรวจสอบได้ ภาพนั้นจำเลยสวมเสื้อคอกลมสีขาว ซึ่งมีข้อความตัวอักษรสีแดงคำว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” 

ในวันที่ 11 ก.พ. 2564 จำเลยลงข้อความในเพจเฟซบุ๊กของจำเลยว่า หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันทีก็เท่ากับทำตนเองเป็นศัตรูกับประชาชน หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชน จุดจบคือล่มสลายสถานเดียว 

วันที่ 18 ก.พ. 2564 จำเลยลงข้อความในเฟซบุ๊กของจำเลยว่า สถาบันกษัตริย์สั่งให้ปล่อยแกนนำทั้ง 4 คน ได้แล้ว จะสร้างเวรสร้างกรรมกับประชาชนไปถึงไหน รู้จักการทำดีเพื่อไถ่โทษมั๊ย ไม่อยากให้คนรักหรือศรัทธาเหรอ หรืออยากให้คนเกลียด 

พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตย์ กับพวก พบรูปภาพและข้อความดังกล่าวจึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าจำเลยกระทำความผิด จึงมอบหมายให้ พ.ต.ท.สุรัตน์ ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลย ต่อมา พ.ต.ท.สุรัตน์ กับพวกไปค้นบ้านจำเลย พบโทรศัพท์และคอมพิเตอร์ แผ่นซีดี และเสื้อยืดสีขาว เขียนว่า เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว 2 ตัว และเสื้อยืดสีดำมีข้อความแบบเดียวกันอีก 1 ตัว จึงยึดไว้เป็นของกลาง ก่อนจับกุมในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) จำเลยให้การปฏิเสธ 

หลังจากรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว พนักงานสอบสวนเห็นว่า การที่จำเลยสวมเสื้อสีขาวมีข้อความดังกล่าวและโพสต์ลงในเฟซบุ๊กพร้อมกับเชิญชวนบุคคลอื่นให้สวมเสื้อดังกล่าว อาจจะทำให้มีบุคคลมาแสดงความคิดเห็นในลักษณะดูหมิ่น อันเป็นการละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ และการที่จำเลยลงข้อความในเพจเฟซบุ๊กของจำเลยในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 อาจทำให้ประชาชนเข้าใจได้ว่า พระมหากษัตริย์ก้าวล่วงในการใช้กฎหมาย ซึ่งพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจที่จะยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และไม่มีอำนาจที่จะปล่อยตัวแกนนำได้ การปล่อยตัวแกนนำเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนหรือศาล 

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

โจทก์มี วิไลวรรณ สมโสภณ อาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านภาษาไทย เบิกความว่า ข้อความที่จำเลยโพสต์ลงในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ เมื่อพยานอ่านข้อความดังกล่าวแล้วเห็นว่า จำเลยมุ่งถึงองค์พระมหากษัตริย์

พ.อ.เชาวลิต แสงคํา กอ.รมน.จ.ขอนแก่น เบิกความว่า ข้อความที่จำเลยลงในเฟซบุ๊กในวันที่ 11 และ 18 ก.พ. 2564 นั้น กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ พยานอ่านแล้วเห็นว่า จำเลยมุ่งถึงองค์พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 โดยข้อความหลังเป็นการลดความเชื่อถือของกษัตริย์ รัชกาลที่ 10  และอำนาจปล่อยตัวแกนนํานั้นไม่ใช่อํานาจของพระมหากษัตริย์ แต่เป็นอำนาจของกระบวนการยุติธรรม

มีดุลยภพ แสงลุน ปลัดอําเภอเมืองขอนแก่น, นาวี แสงฤทธิ์ เจ้าหน้าที่สํานักงานวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น และอรทัยรัตน์ พรมศรี กำนันตำบลดอนช้าง เบิกความทำนองเดียวกันว่า อำนาจที่จะสั่งปล่อยตัวแกนนำและระงับใช้มาตรา 112 ไม่ใช่อำนาจของพระมหากษัตริย์

มีศิริพงษ์ ทองศรี นายก อบต.ดอนช้าง และ สุรสิทธิ์ ทุมทา ประธานสภาทนายความจังหวัดขอนแก่น เบิกความทำนองเดียวกันว่า ข้อความดังกล่าวกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ เมื่อพยานอ่านแล้วเห็นว่า จำเลยมุ่งถึงพระมหากษัตริย์ และอำนาจในการยกเลิกมาตรา 112 และอำนาจให้ประกันตัวแกนนำไม่ใช่อำนาจของพระมหากษัตริย์

และมีอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เบิกความว่า คำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน อดีตพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทํางานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งเป็นไปตามพระบรมราชโองการประกาศสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ

พนักงานสอบสวนได้เรียกอานนท์มาถามความเห็น และนำรูปภาพของจำเลยที่สวมเสื้อและข้อความที่จำเลยโพสต์ให้พยานดู  พยานดูภาพจำเลยใส่เสื้อมีข้อความว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” มีความเห็นว่า คําว่า “สถาบันกษัตริย์” มีความหมาย 2 อย่าง คือหมายถึงพระมหากษัตริย์ในฐานะตัวบุคคลองค์ปัจจุบัน และอีกความหมายหนึ่งหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในปัจจุบันและในอดีต ซึ่งรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย 

คําว่า “หมดศรัทธา” หมายถึง ไม่ใช่สิ่งที่ดีงาม การบอกว่าไม่ศรัทธา แสดงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่แย่มาก ซึ่งการโพสต์รูปภาพดังกล่าวเป็นการกระทําที่ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะเคารพสักการะสูงสุด ผู้ใดจะละเมิดมิได้ การสวมเสื้อดังกล่าวแสดงต่อสาธารณะและโพสต์ในเฟซบุ๊กนั้นเป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์หรือหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ข้อความ “หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที ก็เท่ากับทำตัวเองเป็นศัตรูกับประชาชน หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชนจุดจบคือล่มสลายสถานเดียว” พยานเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 เนื่องจากรัชกาลที่ 10 ไม่สามารถที่จะระงับใช้กฎหมายโดยพระองค์เองได้ เพราะไม่ใช่พระราชอํานาจ 

นอกจากนี้ข้อความว่า พระมหากษัตริย์ทําตัวเป็นศัตรูกับประชาชน เป็นข้อความดูหมิ่น และเป็นความเท็จโดยไม่มีหลักฐานใด และข้อความว่า สถาบันกษัตริย์จะล่มสลายสถานเดียว นั้น เป็นการขู่อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ 

ข้อความ “สถาบันกษัตริย์ สั่งให้ปล่อยแกนนำทั้ง 4 คนได้แล้ว จะสร้างเวรกรรมกับประชาชนไปถึงไหน รู้จักการทำดีเพื่อไถ่โทษมั๊ย ไม่อยากให้คนรักคนศรัทธาเหรอ หรือว่าอยากให้คนเกลียด” พยานดูแล้วมีความเห็นว่า คําว่า “สถาบันกษัตริย์” นั้นหมายถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีอํานาจในการปล่อยตัวผู้กระทําความผิดได้ 

เห็นว่า โจทก์มีพยานเพียง อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เบิกความว่า ที่จำเลยโพสต์ว่า สถาบันกษัตริย์จะล่มสลาย เป็นการขู่อาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์ เท่านั้น แต่ไม่มีพยานโจทก์ปากอื่นใดที่เบิกความว่า ข้อความดังกล่าว รวมทั้งภาพและข้อความที่จำเลยโพสต์ตามฟ้อง เป็นการชักชวนให้คนเกิดความรู้สึกเกลียดชังหรือดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งเมื่อพิจารณาข้อความที่จำเลยลงทั้งหมดแล้วก็ไม่ปรากฏให้เห็นเป็นเช่นนั้น

ส่วนรูปภาพและข้อความดังกล่าวจะเป็นข้อความที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์หรือไม่นั้น หมิ่นประมาท คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่ 3 โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ดูหมิ่น คือการด่า ดูถูก เหยียดหยาม และจะต้องได้ความว่า การใส่ความหรือการดูหมิ่นดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความหรือผู้ถูกดูหมิ่น เป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความหรือผู้ที่ถูกดูหมิ่นโดยตรง การใส่ความหรือการดูหมิ่นนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ

เมื่อข้อความและรูปภาพที่จำเลยลงในเฟซบุ๊กดังกล่าว กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้กล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ หากจำเลยต้องการลงข้อความในเพจเฟซบุ๊กกล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยตรง จำเลยจะระบุไว้โดยชัดเจนตามที่ พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตย์ และ พ.ต.ต.สุริยัน ภูนบทอง พนักงานสอบสวนเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยไว้

และ ผศ.อานนท์ ก็เบิกความยืนยันว่า สถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน อดีตพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ทํางานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ซึ่งเป็นไปตามพระบรมราชโองการประกาศสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหลายพระองค์ 

การที่จำเลยโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวจึงไม่ได้ระบุถึงบุคคลที่ถูกดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นองค์พระมหากษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ การเข้าใจข้อความดังกล่าวขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล ข้อความดังกล่าวจึงมิใช่การยืนยันข้อเท็จจริง

ทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การที่จำเลยลงข้อความและรูปภาพดังกล่าวในเพจเฟซบุ๊กจึงไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และไม่ใช่กระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่พอรับฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวได้ 

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 การที่จำเลยลงข้อความและรูปภาพดังกล่าวในเฟซบุ๊กจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ตามฟ้องโจทก์

และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง เสื้อยืดของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่ริบ ให้คืนแก่เจ้าของ

พิพากษายกฟ้องและให้คืนของกลางแก่เจ้าของ

.

.

หลังฟังคำพิพากษา ทิวากรเปิดเผยความรู้สึกว่า “รู้สึกประหลาดใจและผิดไปจากความคาดหมายมาก ผมไม่คิดว่าศาลจะยกฟ้อง แม้ว่าในคดีนี้ ผมไม่ควรถูกฟ้องตั้งแต่แรก และหากศาลพิพากษาตามพยานหลักฐานในการสืบพยานแล้ว โดยไม่มีอะไรมาแทรกแซง ศาลน่ายกฟ้อง” 

“แต่ก็อย่างที่ผมเคยบอก บรรทัดฐานของกระบวนการยุติธรรมไทยที่ผมเห็นมา ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ แม้แต่ศาล มีการตีความกฎหมายที่บิดเบือนไปมาก ก่อนหน้านี้ก็มีคำตัดสินคดีสมบัติ ทองย้อย, นิว จตุพร ทำให้เห็นว่า มีการใช้กฎหมายกำจัดศัตรูทางการเมือง รวมทั้งประชาชนที่เห็นต่าง ทำให้ผมคิดว่า กรณีผมเขาจะลงโทษให้หลาบจำ หรือเชือดไก่ให้ลิงดู ให้คนอื่นกลัว และจะไม่พูดแบบผม ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายในการใช้มาตรา 112 อยู่แล้ว ยิ่งคนที่ถูกตัดสินจำคุกก่อนผม อย่างนิวแค่ใส่ชุดไทย ไม่ได้พูดอะไร ทำไมผมถึงจะไม่โดน” 

“ตอนนี้ผมยังงง และยังหาคำตอบไม่ได้ว่า รัฐไทยเขามองคดีผมยังไง” ทิวากรทิ้งท้าย

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

“หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า” สำรวจเส้นทางต่อสู้ ‘112’ ของทิวากร

4 วันในห้องพิจารณา คดี 112 “ทิวากร”: ความเข้าใจต่อการเสนอแนะของสถาบันกษัตริย์ต่อคดี 112 และเจตนาการใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว”

“ผมตกต่ำได้มากกว่านี้ แต่ผมจะไม่สยบยอม”: เบื้องหลัง “ทิวากร” ประกาศไม่ประกันตัวชั้นอุทธรณ์

คดี 112, 116 ทิวากร สวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์” – โพสต์ยุติการใช้ 112

กว่าจะ ‘หมดศรัทธาฯ’: เรื่องราวของ ‘ทิวากร วิถีตน’ กับวิถีการต่อสู้ที่ตนเลือกเอง

X