“หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า” สำรวจเส้นทางต่อสู้ ‘112’ ของทิวากร  

“มันไม่ใช่การต่อสู้อะไรนะ มันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดและการแสดงออก สำหรับผมสิ่งที่ผมอยากแสดงออกก็คือผมหมดศรัทธาสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว แล้วก็อยากให้สถาบันกษัตริย์ปฏิรูป เพื่อที่จะให้ผมเนี่ยกลับมาศรัทธาอีกครั้ง แค่นั้นเอง”

29 ก.ย. 2565 เป็นวันที่ ทิวากร วิถีตน เกษตรกรชาวขอนแก่น วัย 46 ปี ต้องเดินทางไปที่ศาลจังหวัดขอนแก่น เพื่อฟังคำพิพากษาในคดีที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการสวมเสื้อยืด “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ถ่ายรูปโพสต์ลงเฟซบุ๊ก รวมถึงโพสต์เรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อย 4 แกนนำราษฎร ในช่วงเดือน ก.พ. 2564

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทิวากรก็เดินทางไปศาลถึง 4 วัน เพื่อร่วมการสืบพยานในคดีนี้ ฟังพยานโจทก์เบิกความรวม 13 ปาก ใน 3 วัน ก่อนเข้าเบิกความเป็นพยานให้ตนเองเพียงปากเดียวในวันสุดท้าย

ก่อนถึงวันนัดฟังคำพิพากษา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนย้อนทบทวนดูการแสดงออกของคนธรรมดา อันนำมาซึ่งการถูกคุกคามอย่างหนัก กระทั่งถูกดำเนินคดี

.

 ใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว”: เสรีภาพการแสดงออก และการคุกคาม

  • ก่อนหน้าถูกดำเนินคดีในคดีนี้ ชื่อ “ทิวากร วิถีตน” ปรากฏเป็นที่รู้จักและสนใจในโลกโซเชียล หลังเขาใส่เสื้อยืดสกรีนข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” โพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวในชื่อ “Tiwagorn Withiton” พร้อมกับตั้งให้เป็นรูปโปรไฟล์ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2563 ซึ่งมีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากเข้าไปแสดงความเห็นอย่างหลากหลาย 
  • แม้ว่าทิวากรจะได้โพสต์อธิบายว่า “หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า” แต่คือความรู้สึกในใจในทำนองเดียวกับ “หมดรัก”, “หมดเยื่อใย” ที่มนุษย์ทุกคนสามารถแสดงออกมาได้ แต่การแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาต่อสถาบันกษัตริย์ ก็เป็นสิ่งที่ยากต่อการยอมรับของรัฐไทย 19 มิ.ย. 2563 กอ.รมน. 2 นาย จึงเข้าไปสอบถามหาทิวากรกับแม่ วันต่อมา นอกเครื่องแบบอีกเกือบ 10 นาย ไปพบและพูดคุยโน้มน้าวทิวากรนานกว่า 1 ชม. ให้เขาเลิกใส่เสื้อสกรีนข้อความดังกล่าว กอ.รมน.ยังไปพบแม่และคุยทำนองนี้อีกเกือบทุกวันหลังจากนั้น 
  • เมื่อการพูดคุยไม่สามารถทำให้ทิวากรหยุดการแสดงออกได้ ค่ำวันที่ 9 ก.ค. 2563 รัฐไทยก็ใช้วิธีบังคับทิวากรให้เป็น “ผู้ป่วยจิตเวช” โดยแพทย์และตำรวจรวมกว่า 10 คน เข้าควบคุมตัวทิวากรจากบ้านไป รพ.จิตเวชขอนแก่นฯ ค้นบ้าน ยึดโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ และเสื้อยืด ฉีดยา ให้กินยาจิตเวช ทั้งมีตำรวจเฝ้าตลอดเวลา​ ไม่ให้ใครเยี่ยมนอกจากญาติ 
  • เกิดกระแส #saveทิวากร และ “ไผ่” จตุภัทร์ ในฐานะเลขา กมธ.สิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนฯ ยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ปล่อยตัวทิวากรจากการคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ศาลจะยกคำร้อง ด้วยเหตุว่าไผ่ไม่ใช่ผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง แต่ทิวากรก็ได้ออกจาก รพ.ในค่ำวันที่ 14 ของการถูก “บังคับรักษา” โดยแพทย์วินิจฉัยว่าเขาไม่ได้มีอาการทางจิตเวช 1 ปีต่อมา ทิวากรยังพบว่า การค้นบ้าน ยึดสิ่งของในวันที่เขาถูกจับเข้า รพ.จิตเวช นั้น เจ้าหน้าที่ไม่มีหมายค้นจากศาล และไม่รู้ว่าใช้อำนาจอะไร 
  • หลังกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ทิวากรได้รับผลกระทบจากยาจิตเวชทั้งต่อร่างกายและจิตใจ แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปคือ การใช้เสรีภาพการแสดงออกในแบบของเขา เกษตรกรที่มีภาระประจำวันในการดูแลวัว ด้วยการโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นประชาธิปไตย, มาตรา 112 หรือสถาบันกษัตริย์ รวมถึงการใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” อีกครั้ง หลัง 4 แกนนำราษฎรไม่ได้รับประกันตัวในคดี 112 เมื่อเดือน ก.พ. 2564 กระทั่ง “ยืน หยุด ขัง” คนเดียวหน้าบ้านหรือที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่นในบางโอกาส ครั้งหนึ่งทิวากรยังใส่เสื้อดังกล่าวออกเดินรณรงค์ในเมืองขอนแก่นชักชวนคนทำประชามติ

อ่านเรื่องราวของทิวากรเพิ่มเติม>> กว่าจะ ‘หมดศรัทธาฯ’: เรื่องราวของ ‘ทิวากร วิถีตน’ กับวิถีการต่อสู้ที่ตนเลือกเอง

.

เส้นทางต่อสู้คดี พิสูจน์ “หมดศรัทธา” ไม่ได้ผิดกฎหมาย

  • 7 โมงเช้า 4 มี.ค. 64 ตำรวจ 20 นาย เข้าจับกุมทิวากรตามหมายจับศาลจังหวัดขอนแก่น ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พร้อมยึดอุปกรณ์สื่อสารและเสื้อยืด “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” 
  • หลังควบคุมตัวทิวากรไป สภ.ท่าพระ ตำรวจให้ทิวากรบอกรหัสเข้าโทรศัพท์แลกกับการได้ใช้โทรศัพท์ติดต่อทนาย ทิวากรยอมบอกรหัสเปิดโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ 
  • ตำรวจแจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาจากโพสต์ในเฟซบุ๊กของทิวากรรวม 3 โพสต์ 
  1. 11 ก.พ. 64 โพสต์ข้อความ “หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที ก็เท่ากับทำตัวเองเป็นศัตรูกับประชาชน หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชนจุดจบคือล่มสลายสถานเดียว” 
  2. 18 ก.พ. 64 โพสต์ข้อความ “สถาบันกษัตริย์ สั่งให้ปล่อยแกนนำทั้ง 4 คนได้แล้ว จะสร้างเวรกรรมกับประชาชนไปถึงไหน รู้จักการทำดีเพื่อไถ่โทษมั๊ย ไม่อยากให้คนรักคนศรัทธาเหรอ หรือว่าอยากให้คนเกลียด” 
  3. 27 ก.พ. 64 โพสต์ภาพเสื้อสกรีนข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” พร้อมข้อความชักชวนคนซื้อเสื้อไปใส่ 
  • ทิวากรปฏิเสธข้อกล่าวหา ยืนยันว่า เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ไม่ได้ดูหมิ่น ด่าหยาบคาย และไม่ได้กล่าวถึงบุคคลใด อีกทั้งเป็นเจตนาดีไม่อยากให้ใช้มาตรา 112 กับประชาชน เพราะจะทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย 
  • ตำรวจปฏิเสธให้สำเนาบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาซึ่งระบุถึงข้อความในโพสต์ที่กล่าวหา 
  • ตำรวจขออำนาจศาลฝากขัง แต่กลับควบคุมตัวทิวากรไปเรือนจำเลย อ้างการระบาดของโควิด ทิวากรถูกตรวจร่างกายเข้าเรือนจำ ก่อนศาลให้ประกันด้วยเงินสด 1.5 แสนบาท ไม่กำหนดเงื่อนไขประกัน    
  • 16 เม.ย. 64 ตำรวจมีหนังสือถึงทิวากรแจ้งคำสั่ง ผกก.สภ.ท่าพระ และมติ คกก.ข้อมูลข่าวสาร ภ.จว.ขอนแก่น ไม่อนุญาตให้คัดสำเนาบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาตามที่ทิวากรยื่นคำร้อง อ้างว่าเป็นเอกสารปกปิด 
  • 26 เม.ย. 64 ตำรวจเตือนไม่ให้แสดงข้อความที่ถูกดำเนินคดี หลังทิวากร “ยืน หยุด ขัง” 112 นาที ที่หน้าบ้าน พร้อมติดป้าย “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สิแล้วเราจะหันกลับมาศรัทธา” ทิวากรยอมใช้เทปสีดำปิดคำว่า “สถาบันกษัตริย์” บนป้าย แต่ภายหลังเขาตัดสินใจยืนยันเสรีภาพในการแสดงออกตามเดิม 
  • 25 พ.ค. 64 อัยการยื่นฟ้องทิวากรต่อศาลจังหวัดขอนแก่นใน 3 ข้อกล่าวหา แต่ระบุการกระทำที่กล่าวหาต่างออกไปจากชั้นสอบสวน
  1. 2 มิ.ย. 63 – 27 ก.พ. 64 ทิวากรโพสต์รูปตนเองสวมเสื้อสกรีนข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และชวนประชาชนมาสวมเสื้อลักษณะเดียวกัน 
  2. 11 ก.พ. 64 โพสต์ข้อความ “หากสถาบันกษัตริย์ไม่ระงับใช้ 112 โดยทันที ก็เท่ากับทำตัวเองเป็นศัตรูกับประชาชน หากสถาบันกษัตริย์เป็นศัตรูกับประชาชนจุดจบคือล่มสลายสถานเดียว”
  3. 18 ก.พ. 2564 โพสต์ข้อความ “สถาบันกษัตริย์ สั่งให้ปล่อยแกนนำทั้ง 4 คนได้แล้ว จะสร้างเวรกรรมกับประชาชนไปถึงไหน รู้จักการทำดีเพื่อไถ่โทษมั๊ย ไม่อยากให้คนรักคนศรัทธาเหรอ หรือว่าอยากให้คนเกลียด”
  • 15 มิ.ย. 64 อัยการยื่นคําร้องขอให้ศาลเพิ่มเงื่อนไขประกัน ให้ทิวากรงดการกระทําที่ทําให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย อ้างรายงานสืบสวนของตำรวจที่มีข้อมูลการโพสต์เฟซบุ๊กของทิวากร รวมถึงกิจกรรม “ยืน หยุด ขัง”  
  • 6 ต.ค. 64 หลังศาลไต่สวนคำร้องขอเพิ่มเงื่อนไขประกัน ซึ่งทิวากรแถลงว่า ตนเจตนาดี ต้องการสร้างพื้นที่การพูดคุยของคนเห็นต่าง ศาลยกคําร้องอัยการ ชี้ทิวากรโพสต์ด้วยถ้อยคําสุภาพ ไม่มีเจตนาให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย 
  • 22 พ.ย. 64 นัดตรวจพยานหลักฐาน ศาลยกคดี “ไผ่” แชร์ข่าว BBC ซึ่งไผ่เลือกรับสารภาพและศาลลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง มาให้ทิวากรทบทวนคำให้การ แต่เขาแถลงว่า ถ้ารับสารภาพก็เท่ากับโกหกต่อมโนสำนึกของตัวเอง
  • 27 เม.ย. 65 อัยการยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิ่มเงื่อนไขประกันอีกครั้ง ระบุถึงหนังสือแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่า ทิวากรยังคงโพสต์ให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์ 
  • 24 พ.ค. 65 นัดสืบพยานวันแรก ศาลสอบถามทิวากร ก่อนยกคำร้องอัยการ ชี้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย หรือหลบหนี จึงไม่มีเหตุเพิ่มเงื่อนไขประกัน 
  • 25 พ.ค. 65 นัดสืบพยานวันที่สอง ศาลเรียกทนายจำเลยไปสั่งห้ามผู้ร่วมสังเกตการณ์จดบันทึกในระหว่างการสืบพยาน โดยไม่แจ้งเหตุผล 
  • 26 พ.ค. 65 ขณะอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เบิกความเป็นพยานโจทก์ ศาลให้ทิวากรใส่เสื้อคลุมทับเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” เนื่องจากมีข้อความที่ยังถูกดำเนินคดี โดยที่ทิวากรใส่เสื้อดังกล่าวมาศาลเป็นวันที่ 3 
  • 29 ก.ย. 65 ศาลนัดฟังคำพิพากษา
ทิวากรมองในแง่ดีว่า การถูกดำเนินคดีเป็นโอกาสที่จะได้ใช้คำพิพากษาพิสูจน์ว่า คำว่า “หมดศรัทธาฯ” ไม่ได้ผิดกฎหมาย “คนเขาไม่กล้าแสดงออกว่าเราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว เพราะว่าเค้าคิดว่ามันผิดกฎหมาย แล้วก็มีตำรวจจะมาจับ ถ้าศาลตัดสินออกมาว่าผมไม่ผิด แสดงว่าเราสามารถบอกว่าหมดศรัทธาได้” 

.

ดูข้อมูลคดีโดยละเอียด>> คดี 112, 116 ทิวากร สวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์” – โพสต์ยุติการใช้ 112

.

X