หลังวานนี้ (21 ก.ค. 63) จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เข้ายื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นขอให้ปล่อยตัวนายทิวากรจากการคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ศาลได้ไต่สวนพยานบุคคล และนัดฟังคำสั่งในวันนี้ (22 ก.ค. 2563) ในเวลา 14.00 น. นั้น
เวลา 15.00 น. ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง เนื่องจากจตุภัทร์เป็นเพียงเพื่อนทางเฟซบุ๊กและได้พบกับทิวากรขังเพียงครั้งเดียว จึงไม่ถือเป็นบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของทิวากรผู้ถูกคุมขัง
จากคำสั่งยกคำร้องนี้ มีข้อสังเกตเบื้องต้นว่า การตีความผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยตัวบุคคลจากการควบคุมตัวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90(5) “บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง” ทำได้แคบลง กล่าวคือ บุคคลดังกล่าวนั้นต้องมีความสัมพันธ์ เฉกเช่นเดียวกับ สามี ภรรยาหรือญาติ ซึ่งความจริงแล้วการบัญญัติ “บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง” ดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้เพิ่มโอกาสในการตรวจสอบการควบคุมตัวโดยมิชอบมากขึ้น กรณีนี้จึงยังมิใช่การเข้าไปตรวจสอบในทางเนื้อหาว่าการควบคุมตัวทิวากรนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ทั่งนี้ ก่อนอ่านคำสั่งดังกล่าว ศาลได้มีคำสั่งห้ามทุกคนในห้องพิจารณาอัดเสียงหรือจดบันทึกคำสั่งแล้วนำไปเผยแพร่ ก่อนได้รับอนุญาตจากศาล รวมทั้งทนายความด้วย โดยให้รอคัดถ่ายคำสั่งตัวจริงก่อนในวันพรุ่งนี้
นอกจากนี้ ก่อนที่ศาลจะออกนั่งพิจารณาได้มีตำรวจศาล 6 นาย ระบุว่า มาจากสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 4 ขอให้ทุกคนในห้องพิจารณาออกจากห้องก่อน โดยแจ้งว่าคดีมีความละเอียดอ่อน เป็นที่สนใจของประชาชน ขอตรวจเช็คห้องก่อนค่อยเข้ามาใหม่ และหลังจากตรวจเช็คห้องแล้ว ตำรวจศาลยังได้ขอตรวจกระเป๋าของผู้ที่จะเข้าห้องพิจารณาทุกคน
คำร้องขอให้ปล่อยตัวทิวากรที่ยื่นต่อศาลนั้น มีเนื้อหาสอดคล้องกับคำเบิกความพยานทััง 2 โดยระบุว่า การควบคุมตัวนายทิวากร วิถีตน เป็นการคุมขังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
- กรณีปัญหาที่เจ้าหน้าที่ติดตามนายทิวากรเป็นกรณีเรื่องใส่เสื้อยืด “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ไม่ใช่เพราะเหตุความเจ็บป่วยทางจิต ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาในภายหลัง ทั้งนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏอย่างชัดแจ้งว่า ข้อความบนเสื้อยืดนั้นไม่ใช่ข้อความที่ผิดต่อกฎหมาย เพราะความศรัทธาต่อบุคคลหรือสถาบันใดนั้น ไม่ใช่ดินแดนที่กฎหมายจะเข้าไปบังคับได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่อาจดำเนินคดีนายทิวากร และใช้ช่องทางทางการแพทย์เพื่อควบคุมเขาแทน ทำให้ทิวากรปราศจากเสรีภาพในการแสดงออกอีกต่อไป การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 21 ระบุหลักการว่า การบำบัดรักษาจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย เว้นแต่เป็นกรณีมีภาวะอันตราย หรือมีความจำเป็นในการบำบัดรักษา หรือผู้ป่วยขาดความสามารถในการตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่กรณีนายทิวากรซึ่งสามารถสื่อสารพูดคุยอย่างมีสติสัมปชัญญะ และมีความสามารถในการตัดสินใจเองได้ ไม่ได้มีลักษณะที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น หรือมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา จึงต้องอาศัย “ความยินยอมของบุคคลดังกล่าวเอง” ไม่ใช่ความยินยอมของญาติหรือบุคคลอื่น อีกทั้งเมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวนายทิวากรมายังโรงพยาบาล ได้มีตำรวจสับเปลี่ยนกำลังมาเฝ้าตลอดเวลา จึงไม่อาจเชื่อได้ว่าเป็นกระบวนการรักษาปกติโดยอาศัยความยินยอมของนายทิวากร
นอกจากนี้หากกระบวนการดังกล่าวเป็นไปเพื่อการบำบัดรักษาจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่เหตุจำเป็นต้องยึดโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ของนายทิวากรไป เพราะไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับการบำบัดรักษา การเข้าไปค้นและยึดสิ่งของโดยปราศจากหมาย รวมถึงการควบคุมตัวโดยการอ้างเหตุความยินยอมของญาติเป็นการใช้ พ.ร.บ.สุขภาพจิตฯ อย่างบิดเบือน และถือเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำร้องระบุอีกว่า เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและการใช้อำนาจเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ก่อให้เกิดการนำเหตุทางการแพทย์มาใช้เพื่อควบคุมตัวบุคคลที่มีความเห็นต่างทางการเมือง ศาลมีอำนาจที่จะตรวจสอบการใช้ดุลพินิจในควบคุมตัวบุคคลไปบำบัดรักษาว่ามีความจำเป็นอย่างไร เป็นไปตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ.2551 หรือไม่
คำร้องยังอ้างอิงด้วยว่า การร้องขอให้ปล่อยตัวบุคคลจากการคุมขังอันมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 นั้น มีที่มาจากหลัก Habeas Corpus ที่เป็นหลักกฎหมายสำคัญที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อประกันว่าบุคคลจะไม่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยให้ศาลมีอำนาจออกหมายเรียกผู้คุมขังให้นำตัวบุคคลที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาปรากฎต่อหน้าศาล หากเห็นว่าเป็นการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ศาลก็จะมีคำสั่งให้ปล่อยตัวไป หลักดังกล่าวได้ถูกกำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งรัฐไทยก็ได้เข้าเป็นภาคี จึงมีพันธกรณีต้องปฎิบัติตาม โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองหลักการดังกล่าวไว้เรื่อยมา จนกระทั่งฉบับปัจจุบัน
ท้ายคำร้องระบุว่า องค์กรตุลาการมีหน้าที่จะต้องผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม พิพักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน อีกทั้งโดยเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจจากเจ้าหน้าที่รัฐและคุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดกับบุคคลที่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมายซึ่งอาจทำให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย และจิตใจจนไม่อาจจะเยียวยาได้ ผู้ร้องจึงขอให้ศาลเรียกเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัว คือ ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ และหรือตัวแทนคณะแพทย์เจ้าของไข้นายทิวากร วิถีตน, นักจิตวิทยาซึ่งร่วมวินิจฉัยอาการ, ผู้กำกับการ สภ.เมืองขอนแก่น และผู้กำกับการ สภ.ท่าพระ รวมทั้งให้นำตัวนายทิวากรมาปรากฏตัวต่อศาล และให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวทันที เพื่อเป็นการวางบรรทัดฐานในการผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกคุมขังในคดีอาญา หรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกคุมขังเอง พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขังมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อยตัว ซึ่งเมื่อศาลได้รับคำร้อง ศาลต้องดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที |
ข้อมูลเพิ่มเติม:
ร้องศาลปล่อยตัว “ทิวากร” จาก รพ. จิตเวชฯ เหตุถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ
กรณีทิวากร กับปัญหาการบังคับใช้ “พ.ร.บ.สุขภาพจิต” และการบังคับให้กลายเป็น “ผู้ป่วย”
แถลงการณ์เรียกร้องให้ตรวจสอบและยุติการควบคุมตัวทิวากร กรณีสวมเสื้อเราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว