สมานฉันท์ พุทธจักร
การหายตัวไปจากหน้าคอนโดมิเนียมในกรุงพนมเปญของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ทำให้มีหลายคนลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเขา จนเป็นกระแสการเคลื่อนไหวหนึ่งที่ก่อตัวรวมเป็นคลื่นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2563 ที่ผ่านมา
ทิวากร วิถีตน เกษตรกรจากจังหวัดขอนแก่น คือหนึ่งคนอยู่ในกระแสธารดังกล่าว การหายตัวของวันเฉลิม ฉุดให้ทิวากรคิดว่า ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างกับสถานการณ์ที่ชวนอึดอัดของประเทศนี้ แต่สิ่งที่เขาเลือกทำต่างออกไปจากคนอื่นๆ ด้วยการใส่เสื้อยืดสกรีนประโยคที่ว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” โพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย จนเกิดเป็นประเด็นใหญ่ในโลกออนไลน์
แม้จะยืนยันว่าตัวเองไม่ได้มีอาการป่วยทางจิตใดๆ แต่วิธีที่รัฐเลือกใช้จัดการกับคนที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ในกรณีของทิวากรนั้นแตกต่างออกไปจากกรณีของคนอื่น ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 มีแพทย์และเจ้าหน้าที่ตำรวจรวมกว่า 10 คน เข้ามาถึงบ้านของทิวากร บังคับคุมตัวเขาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์
ทิวากร ถือเป็นคนแรกๆ ที่ออกมาแสดงออกต่อสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา ก่อนจะมีปรากฏการณ์ซึ่งเรียกว่า “ทะลุเพดาน” ที่ผู้คนต่างแสดงออกในประเด็นสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผยในการชุมนุม หากนับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 ที่เป็นเหมือนหมุดหมายของความขัดแย้งทางการเมืองระลอกปัจจุบัน
กว่าประเด็นสถาบันกษัตริย์จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในพื้นที่สาธารณะได้อย่างทุกวันนี้ ต้องผ่านการต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างมากมาย เช่นเดียวกับทิวากร ชีวิตเขาต้องเดินผ่านจุดตัดทางการเมืองมาอย่างมากมายในความขัดแย้งทางการเมืองระลอกนี้ กว่าที่เขาจะกล้าลุกขึ้นพูดความในใจว่าเขาหมดศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์แล้ว
.
.
นักรบไซเบอร์ ประชาธิปไตยบนสายอินเทอร์เน็ต
“ตอนนั้นผมยังไม่ได้ประสีประสาอะไร ไม่ได้อยู่ข้างไหน” ชีวิตของทิวากรไม่ได้แตกต่างกับชนชั้นกลางคนอื่นๆ จบจากโรงเรียนชั้นนำในขอนแก่น สอบเข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จบออกมาทำงานในบริษัทด้านไอทีในกรุงเทพฯ
จนช่วงเวลาที่วิกฤตการณ์ทางการเมืองระลอกใหม่เริ่มตั้งเค้า “พอปี 48 ตอนนั้นมีรายการ ‘เมืองไทยรายสัปดาห์’ ของสนธิ ลิ้มทองกุล เห็นเพื่อนสมัยมัธยมหลายคนไม่พอใจที่รายการดีๆ ที่ทำเพื่อประเทศ ที่เอาความจริงมาเปิดเผย ถูกปิด” เขาเองแม้จะเป็นผู้ที่เข้าคูหากาบัตรเลือกให้พรรคไทยรักไทยของทักษิณ ชินวัตร เพราะเห็นถึงผลงานต่างๆ ของไทยรักไทยในการเป็นรัฐบาลสมัยแรก แต่เขาก็ไม่ได้เห็นด้วยในเรื่องการปิดรายการ จนมาถึงการเกิดขึ้น “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”
ก่อนถึงจุดที่เริ่มไม่เห็นด้วยกับหลายสิ่งที่กลุ่มพันธมิตรฯ นำเสนอ อย่างการพยายามนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาพูด การให้ข้อมูลที่ดูจะไม่น่าเชื่อถือ การอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่บ่อยครั้ง “สุดท้ายไปๆ มาๆ ผมก็ไม่เห็นด้วยกับสนธิ ลิ้มทองกุล เพราะหลายเรื่อง อย่างมันมีการขอมาตรา 7 ขออะไรต่างๆ ซึ่ง อ้าว นี่หมายความว่าประชาชนไม่สามารถที่จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช่ไหม” แม้จะเห็นข้อเสียหลายอย่างของทักษิณ แต่ยังเห็นว่าเสียงของประชาชนที่เลือกไทยรักไทยเข้ามามีความสำคัญ
จนเกิดการรัฐประหารปี 2549 จุดเริ่มต้นของคลื่นความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งต่อมาถึงปัจจุบัน “กลายเป็นว่าผมสนับสนุน เอ้าก็ลองดู ถ้าคิดว่ารัฐประหารแล้วมันจะดี ก็ลองดู ถ้าทำให้ประเทศเจริญกว่าทักษิณได้ก็โอเค ก็ทำไปเลย” ด้วยความคิดที่ว่าการรัฐประหารอาจนำมาสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม ช่วงนั้นทิวากรยอมรับว่ายังสับสนกับตัวเอง เรื่องจุดยืนทางการเมือง
เข้าสู่ปี 2550 หลายสิ่งในใจก็ชัดเจนขึ้นมาว่า การรัฐประหารไม่ได้ทำให้อะไรต่ออะไรในประเทศดีขึ้น ยังทำให้เห็นถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร เป็นจุดเริ่มของการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยการร่วมกิจกรรมเล็กๆ ของกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร
“ตอนนั้นมันไม่มีเสื้อแดง ผมไปปล่อยลูกโป่งประชาธิปไตยที่สนามหลวง คนจัดคือสุชาติ นาคบางไทร” ทำให้เริ่มรู้จักกับหลายคนที่ออกมาเคลื่อนไหว อย่างกลุ่ม “คนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ”
เป็นช่วงเวลาที่ฟากฝั่งของคนที่คัดค้านรัฐประหารเริ่มก่อตัว และขยับพื้นที่เข้าไปยังโลกไซเบอร์ เว็บบอร์ดพูดคุยการเมืองเกิดขึ้นมากมาย ทิวากรเข้าไปจับจองพื้นที่ของโปรแกรม Camfrog ที่ใช้สนทนาโต้ตอบโดยมีทั้งภาพและเสียง ซึ่งเป็นที่นิยมในเวลานั้น “แคมฟรอกราชดำเนิน อันนี้เป็นแหล่งที่คอการเมืองเลยเขาอยู่ในนั้น”
เนื่องจากการถกเถียงเรื่องการเมืองผ่านตัวอักษรตามเว็บบอร์ด สำหรับหลายคนเริ่มไม่เพียงพอ “ตอนนั้นเริ่มจะมีสามเกลอ จตุพร ณัฐวุฒิ เค้าก็จะเอาคลิปพวกนี้มาเปิด แล้วก็จะเอาคลิปทางฝั่งสนธิมาเปิดเปรียบเทียบกันด้วย เค้าก็ฟังแล้วก็พิมพ์วิจารณ์กัน บางทีก็จับไมค์คุยกัน” เป็นบรรยากาศที่ทิวากรชื่นชอบมาก จนใช้ชีวิตการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่อยู่บนหน้าจอ
ผ่านเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 เหตุการณ์ล้อมปราบคนเสื้อแดงกลางเมือง ซึ่งทิวากรเข้าไปอยู่ในหลายเหตุการณ์ แม้ไม่ใช่แนวหน้า แต่ก็ถูกแก๊สน้ำตาเข้าไปหลายครั้ง จากนั้นยังคงทำกิจกรรมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง “นัดทางอินเตอร์เน็ต ไปกับกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงที่มี บก. ลายจุด ไปแบบไม่มีแกนนำ เอานกพิราบไปปล่อย ไปผูกผ้าแดงตรงราชประสงค์ แล้วการแสดงออกวันนั้นเป็นไงรู้มั้ย โอ้โห มีชูป้ายเยอะ ป้ายแบบ ‘กูตาสว่างมึงเสื่อม’ พอเข้าใจใช่ไหมว่าคนเขาตื่นขนาดนั้น”
ทิวากรยังลงทุนใช้เงินส่วนตัวเปิดห้องแคมฟรอก เป็นพื้นที่ให้คนเห็นต่างเข้าพูดคุยถกเกียงกัน โดยช่วงแรกเปิดห้องแคมฟรอกเสื้อแดงชื่อ “RedTalk”
.
.
หวนกลับคืนถิ่นฐาน และประกาศว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว”
ปลายปี 2553 ความคิดของทิวากรเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง เขาบอกกับเพื่อนเสื้อแดง หนึ่งในนั้นคือ “เปิ้ล” กริชสุดา คุณะเสน หรือ “เปิ้ล สหายสุดซอย” ว่าจะออกจากเสื้อแดง เพราะความที่เริ่มไม่เห็นด้วยกับแนวทางของคนเสื้อแดงในช่วงหลังๆ มองไม่เห็นว่าจะสามารถนำมาสู่ประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง ส่วนหนึ่งเพราะหลายอย่างที่ยังยึดติดกับตัวบุคคลมากเกิน และเหตุผลอื่นๆ
หลังจากที่หันหลังออกมาจากกลุ่มคนเสื้อแดง ทิวากรยังคงเคลื่อนไหว แต่ไม่ใช่ในนามของคนเสื้อแดง ห้องแคมฟรอก “RedTalk” เขาก็เปลี่ยนชื่อเป็น “FreedomTalk” อย่างไรก็ตาม ความรู้สึก “เลื่อนลอยไร้เป้าหมาย” ก็เกิดขึ้นกับเขา การออกมาจากขบวนการเสื้อแดงซึ่งผ่านการสูญเสียมาด้วยกัน ทำให้เขาไม่มีเป้าหมายในชีวิตหลงเหลืออยู่ ช่วงเวลานั้นทิวากรลาออกจากงานประจำ มาทำธุรกิจของตัวเอง และได้สร้างสนามตระกร้อในพื้นที่สาธารณะใต้สะพานพระราม 7 เพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ โดยใช้ทุนตัวเอง คิดเพียงว่า อยากทำสนามตะกร้อดี ๆ ให้ทุกคนได้มาเล่นตะกร้อ
“หลังรัฐประหารผมสิ้นหวังเลยนะ สิ้นหวังกับการเมืองไทย สิ้นหวังกับคนไทย” รัฐประหารปี 2557 ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกของทิวากร ที่เห็นคนทั่วไปยังคงยินดีกับการยึดอำนาจ สร้างความเจ็บปวดให้เขา จนเกิดความคิดที่จะย้ายออกจากประเทศไทย “ยึดอำนาจใหม่ๆ ผมเอากล้องวิดีโอไปสัมภาษณ์คนที่เข้ามาเล่นตะกร้อ ว่าเห็นด้วยกับทหารไหม ส่วนใหญ่เห็นด้วย มีคนหนึ่งบอกชอบมากเลยทหาร อยากจะให้เอาคนเสื้อแดงออกไปด้วย เขาไม่รู้ไงผมเป็นเสื้อแดง”
ปลายปีรัฐประหารนั้น ทิวากรจึงตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่ที่บ้านขอนแก่น เพื่อจะรอย้ายตัวเองไปใช้ชีวิตทำงานในต่างประเทศ โดยกลับมาทำอาชีพเกษตรกรในที่ดินของครอบครัว เหตุผลที่ไม่ย้ายไปต่างประเทศในทันทีเพราะต้องการได้ใช้ชีวิตร่วมกับแม่ซึ่งสูงอายุมากแล้ว เมื่อถึงเวลาที่แม่ไม่อยู่ เขาจึงจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศตามที่ตั้งใจไว้
.
.
“ผมก็พยายามที่จะรื้อฟื้นความทรงจำวัยเด็กกลับมา ไปตกปลา เอาแพไปลงน้ำ กางเต็นท์ ก็จะใช้ชีวิตอยู่ยังงั้นแหละ คืออยู่ไปเรื่อยๆ จนกว่าแม่จะไม่อยู่แล้ว ผมถึงจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศ” ชีวิตหวนสู่มาตุภูมิที่คุ้นเคย ได้อยู่ใกล้สิ่งแวดล้อมอันเต็มไปด้วยความทรงจำวัยเยาว์ หล่อเลี้ยงชีวิตให้เขามีความสุขอีกครั้ง
เมื่อผ่านมากว่า 6 ปี ทิวากรยังไม่ได้ย้ายออกจากประเทศ แม่ของเขายังแข็งแรงดี แม้จะติดตามวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอยู่บ้างผ่านโซเชียล แต่ก็ไม่ได้ร่วมเคลื่อนไหวกับขบวนการใด จนเมื่อมีข่าวการหายไปตัวไปของวันเฉลิม เป็นจุดตัดที่ทำให้ย้อนกลับมาคิดกับตัวเองว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ไม่ควรปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปอย่างไร้จุดหมาย ขณะที่มีคนตกเป็นอันตรายเพียงแค่มีแนวคิดต่างไปจากรัฐ “ผมก็เฮ้ยอะไรวะ ทำอย่างนี้ไม่ไหว แล้วคือถ้าอุ้มวันเฉลิมได้ ก็อุ้มผมได้สิ เพราะว่าผมมองว่าวันเฉลิมเขาก็คล้ายๆ ผม ความคิดมันคล้ายๆ กันเลย ก็ดูเป็นคนที่ไม่มีพิษมีภัย แค่มีความคิดทางการเมืองอะไร ธรรมดา”
จากที่เห็นการถกเถียงในกลุ่มเฟซบุ๊กรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส (Royalists Market Place) กับหัวข้อที่ว่าจะสามารถเคลื่อนไหวอย่างไรได้บ้างนอกโลกออนไลน์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทิวากรจึงเสนอให้นำประโยค “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่อยู่ในใจของเขามาตลอดนี้ ออกมาใช้
“มันก็แค่หมดศรัทธา” มุมของเขามันเหมือนกับการ “หมดรัก” ที่เป็นอารมณ์ปกติของมนุษย์ ไม่ใช่การอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันฯ หรือเป็นการทำร้ายจิตใจคนที่ยังมีศรัทธาในสถาบันฯ
เป็นความหวังดีที่อยากส่งสารไปถึงสถาบันกษัตริย์ให้ปรับตัวปฏิรูปตัวเอง เพื่อให้ประชาชนกลับมาศรัทธาอีกครั้ง อย่างที่ทิวากรและหลายคนเคยศรัทธา
แต่กลับไม่มีใครเห็นด้วยกับไอเดียนี้ เขาจึงตัดสินใจนำข้อความ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” สกรีนลงเสื้อยืดใส่ถ่ายรูปลงเฟซบุ๊กของเขาเอง เกิดเป็นกระแสที่พูดถึงในการโลกออนไลน์อย่างมากมาย “เขาอนุญาตให้เราศรัทธาได้อย่างเดียว คนที่หมดศรัทธาหรือยังศรัทธาควรจะแสดงออกได้เท่ากัน”
.
.
“สิ่งที่คุณหมอทำในวันนี้มันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์”
หลังจากโพสต์ของเขาโด่งดัง วันต่อๆ มาก็เริ่มมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าวนเวียนมาละแวกบ้านอยู่หลายครั้ง จนถึงกลับมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาบอกให้เลิกใส่เสื้อ แม้จะเตรียมใจไว้แล้วว่าจะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย ก่อนจะได้ไปอยู่ต่างประเทศ แต่สิ่งทิวากรถูกกระทำจากการที่เขาหมดศรัทธานั้น มากไปกว่าที่เขาคาดคิด
เช้าวันที่ 9 กรกฎาคม 2563 แพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจรวมแล้วมากกว่า 10 คน มายังบ้านของทิวากร พยายามโน้มน้าวให้เข้ารักษาที่โรงพยาบาลจิตเวช “ผมเป็นห่วงคุณ ผมอยากพาคุณไปรักษา” เป็นคำพูดของแพทย์ในวันนั้น ขณะทิวากรยืนยันว่าตัวเองไม่ได้ป่วย จนเกิดการโต้เถียงกันพักใหญ่ๆ “หมอพูดในสิ่งที่คุณหมอคิดตามความจริงได้ไหม” ทิวากรตอบกลับ เนื่องจากรู้วัตถุประสงค์ที่แท้จริง ซึ่งไม่ใช่การรักษา แต่ต้องการจะหยุดการเคลื่อนไหวของเขา
จนรับรู้ได้ถึงความรู้สึกโกรธของแพทย์ที่หน้าแดงขึ้นมา “วันใดวันหนึ่งที่เปลี่ยนขั้วมาคุณหมอจะเดือดร้อน ผมก็พูดอย่างนี้” เป็นความพยายามที่จะพูดจี้เข้าไปยังจิตสำนึกของนายแพทย์ แต่สุดท้ายก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาประกบล็อคตัวลากขึ้นไปบนรถตู้ แล้วฉีดยาที่เขาไม่ทราบว่าคือยาอะไร “สิ่งที่คุณหมอทำในวันนี้มันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์” ทิวากรประกาศกับหมอก่อนถูกบังคับขึ้นรถ
“ผมพูดไปไม่ได้คิดหรอกว่ามันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์จริงๆ” เขากล่าวจากปัจจุบันเมื่อมองย้อนกลับถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเขาในวันนั้น
ช่วงเวลาแรกๆ ในโรงพยาบาลเต็มไปด้วยความทรงจำอันไม่ปะติดปะต่อ ฤทธิ์ของยาเข็มนั้นทำให้มีอาการปวดหัวใจกระหายน้ำ จำความได้เพียงว่าต้องนอนอยู่บนเตียงตลอด 1-2 คืนแรก แม้หลังจากนั้นจะรู้สึกอาการดีขึ้น แต่ยังต้องกินยาที่หมอบอกว่าเป็นยานอนหลับ
.
.
จนผ่านไปราว 3-4 วัน จึงมีนักจิตวิทยานำแบบทดสอบต่างๆ ทั้งแบบทดสอบทางอารมณ์ แบบทดสอบทางสติปัญญา รวมหลายชุดมาให้ทิวากรทำ ผ่านมาอีก 1-2 วัน แพทย์นำผลทดสอบมาให้ดู ซึ่งออกมาดีในทุกด้าน “ไอคิวผมก็ได้ 117 หมอก็บอกว่าสูงมาก สูงกว่าคนทั่วๆ ไป เรียนแพทย์ได้เลย คือถ้าเป็นสภาพปกติ ผมควรจะได้คะแนนมากกว่านั้นด้วยซ้ำ” ทิวากรพยายามพิสูจน์ว่าเขาไม่ได้ป่วยอะไร ทั้ง 1-2 ปี ก่อนหน้านี้เขาเคยมาตรวจสุขภาพจิต มีประวัติการตรวจอยู่ที่โรงพยาบาลว่าไม่ได้ป่วยทางจิต
สุดท้ายทีมแพทย์สรุปว่า ทิวากรไม่ได้มีอาการป่วยทางจิต หรือเป็นโรคทางจิตเวชใด ๆ “ผมก็บอกกับหมอว่า ผมไม่ได้เป็นไร งั้นหมอก็ไม่ต้องให้ยาผมสิ ปรากฏว่าหมอบอกว่าก็จริง งั้นหมอไม่ให้ยาคุณ ผ่านไปน่าจะวันเดียว ก็มาบอกผมใหม่ว่า คุณไม่ได้ออก คุณต้องอยู่ต่อ ต้องกินยา”
หลายวันที่เขาต้องอยู่ข้างในโรงพยาบาลจิตเวช แทบจะไม่มีใครในโลกภายนอกรับรู้ ทิวากรเริ่มจะทำใจกับชะตากรรมที่เขาต้องเผชิญแม้จะเจ็บปวด จนมีนักข่าวจากประชาไทมาสอบถามกับทางครอบครัว หลังจากสังเกตเห็นว่าเฟซบุ๊กของเขาไม่มีการเคลื่อนไหวมาหลายวัน เมื่อทราบเรื่องจึงติดตามไปยังโรงพยาบาล การเข้าเยี่ยมตัวทิวากรนั้นมีความเข้มงวดกว่าปกติ มีการตรวจบัตรประชาชนคนที่มาเยี่ยม และให้เข้าเยี่ยมได้เฉพาะญาติเท่านั้น ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่คอยสังเกตการณ์ตลอดเวลา
เรื่องของทิวากรเริ่มจะเป็นที่รับรู้เป็นกระแสสังคม แฮชแท็ก #saveทิวากร ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทย ยอดทวิตกว่า 2 แสนครั้ง มีนักกิจกรรมทางการเมืองหลายคนอย่าง สมยศ พฤกษาเกษมสุข พยายามขอเยี่ยมที่โรงพยาบาล และมีการจัดกิจกรรมมากมายเรียกร้องให้ปล่อยตัวทิวากร
.
.
เขาเริ่มรับรู้การเคลื่อนไหวของคนด้านนอกจากการพูดถึงของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ทำให้พอจะมีกำลังใจมากยิ่งขึ้น และตลอดการใช้ชีวิตในรั้วโรงพยาบาล จะมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย สลับกันมาเฝ้าอยู่ใต้ตึกที่เขาพักอยู่โดยตลอด จึงรู้ได้ว่ากรณีของเขานั้นถูกจับตาเป็นพิเศษจากรัฐ ทำให้แนวปฏิบัติที่มีต่อเขาผิดเพี้ยนไปจากปกติ
.
การเดิมพันในคำพิพากษา ให้ทุกคนมีสิทธิหมดศรัทธาอย่างเท่าเทียม
จากการที่ต้องอยู่ในโรงพยาบาลถึง 14 วัน หลังถูกปล่อยตัวออกมา ทิวากรรู้สึกไม่ต่างกับที่อยู่ข้างใน เหมือนมีบางอย่างที่เขาไม่สามารถนำออกมาด้วย “ผมโดนบั่นทอนทั้งร่างกายและจิตใจ จิตวิญญาณผมไม่อยู่ในสภาพที่สู้ได้เลย”
ในสัปดาห์แรกที่ออกมาจากโรงพยาบาลเขามีอาการใจสั่น หวาดกลัว นอนไม่หลับ หลังจากหยุดกินยาจิตเวช แม้อาการเหล่านั้นจะหายไปราวสัปดาห์ แต่ความรู้สึกที่เขาเรียกว่า “ไร้ซึ่งตัวตน” กัดกินอยู่นานหลายเดือนกว่าจะกลับปกติ “เหมือนตัวตนผมหายไป หลายคนก็บอกว่าผมไม่ใช่คนเดิม มันเบาๆ โหวงๆ บอกไม่ถูก” เขาพยายามอธิบายเป็นคำพูด ทิวากรเริ่มลังเลว่าตัวเองอาจจะป่วยจริงๆ ก็ตอนที่ออกมาจากโรงพยาบาลแล้วนี้ละ
ขณะเดียวกันในช่วงกลางปียาวไปถึงปลายปี 2563 กระแสการเมืองเริ่มร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดการชุมนุมขึ้นมากมายทั่วประเทศ ประเด็นสถาบันกษัตริย์ถูกยกมาพูดคุยในพื้นที่สาธารณะอย่างไม่เคยมีมาก่อน แม้จะเห็นด้วยกับข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ของคณะราษฎร แต่ไม่เคยได้เข้าร่วมกับการชุมนุม เพราะแนวทางการชุมนุมไม่ใช่วิถีการต่อสู้ของเขา สำหรับเขา ต้องการต่อสู้ในระดับปัจเจกของตัว แสดงออกในชีวิตประจำวันตามเสรีภาพที่ทุกคนพึงมี และกระตุ้นให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นของตัวอย่างอิสระ
การลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์ต่อสถาบันกษัตริย์อย่างแพร่หลาย ตามมาด้วยการฟ้องคดีมาตรา 112 ที่มีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ภายในเวลาในไม่ถึง 1 ปี “ผมเคยบอกว่าจะไม่ใส่เสื้อตัวนี้ แต่พอทนายอานนท์กับอีก 3 แกนนำ โดนจับเข้าคุก ในช่วงเดือนกุมภา ผมก็เลยกลับมาใส่เสื้อวันที่ 15 กุมภา ยังไม่พอ ผมจะขายเสื้อด้วย” จากที่ก่อนหน้านี้เขาเคยประกาศจะไม่สวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” เนื่องจากกลัวจะเกิดความขัดแย้งในสังคม ทิวากรกลับมาใส่อีกครั้ง และโพสต์ในเฟซบุ๊กเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ปล่อยตัวแกนนำคณะราษฎร
ทำให้วันที่ 4 มีนาคม 2564 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมทิวากรถึงบ้านในข้อหาตามมาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พร้อมตรวจค้นแล้วยึดคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และเสื้อยืด “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ไปเป็นของกลาง ทิวากรต้องเข้าไปอยู่ในทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นราว 2 ชั่วโมง ก่อนจะได้รับประกันตัวออกมา โดยให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมจะต่อสู้ในชั้นศาล
.
.
ทิวากรมองในแง่ดีว่า การถูกดำเนินคดีเป็นโอกาสที่จะได้ใช้คำพิพากษาพิสูจน์ว่า คำว่า “หมดศรัทธาฯ” ไม่ได้ผิดกฎหมาย “คนเขาไม่กล้าแสดงออกว่าเราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว เพราะว่าเค้าคิดว่ามันผิดกฎหมาย แล้วก็มีตำรวจจะมาจับ ถ้าศาลตัดสินออกมาว่าผมไม่ผิด แสดงว่าเราสามารถบอกว่าหมดศรัทธาได้” ทิวากรอธิบาย เขามองว่าการกระทำของเขาไม่ได้เข้าองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 และไม่ได้สร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคม เป็นการส่งข้อความไปยังสถาบันกษัตริย์โดยตรง แม้คนที่ยังศรัทธาในสถาบันฯ ก็สามารถใส่เสื้อหรือแสดงออกว่าตัวเองยังศรัทธาในสถาบันกษัตริย์อยู่ได้ เพื่อจะให้สังคมได้รู้ความต้องการของกันและกัน จากที่ก่อนหน้านี้ความคิดเห็นเหล่านั้นถูกกดทับด้วยอำนาจ กฎหมายต่างๆ
“มันไม่ใช่การต่อสู้อะไรนะ มันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดและการแสดงออก สำหรับผมสิ่งที่ผมอยากแสดงออกก็คือผมหมดศรัทธาสถาบันพระมหากษัตริย์แล้ว แล้วก็อยากให้สถาบันกษัตริย์ปฏิรูป เพื่อที่จะให้ผมเนี่ยกลับมาศรัทธาอีกครั้ง แค่นั้นเอง”
**หมายเหตุ มีการแก้ไขเนื้อหาในเวลา 13.30 น. วันที่ 24 มิถุนายน 2564
.