ศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งฝากขัง “ไผ่ ดาวดิน” ครั้งที่ 3 เหตุเพราะเป็นคดีความมั่นคงและต้องรอตรวจสอบระวัติอาชญากร เผยคำร้องคัดค้านการฝากขังเพื่อขอไปอ่านหนังสือสอบของผู้ต้องหาฟังไม่ขึ้น ด้านทนายผู้ต้องหาร้องกระบวนการขอฝากขังไม่ชอบด้วยกฎหมายเหตุเพราะไม่สอบถามผู้ต้องหาว่าจะคัดค้านการฝากขังหรือไม่
28 ธ.ค.59 ทนายความนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ‘ไผ่ ดาวดิน’ ผู้ต้องหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีแชร์ข่าวพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ข่าว BBC ไทย เข้ายื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดขอนแก่นขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ หลังทนายความขอตรวจสำนวนแล้วพบว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่นได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.ที่ผ่านมา และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.59 โดยระบุว่า
ศาลพิจารณาคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาในลักษณะการประชุมทางจอภาพโดยมีผู้ร้อง ผู้ต้องหา และสักขีพยานอยู่พร้อมกัน สอบถามสักขีพยานแล้ว ไม่มีเหตุอาจกระทบสิทธิผู้ต้องหา สอบถามผู้ต้องหา แถลงว่า ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว และไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ฝากขังมีกำหนด 12 วัน ขณะที่ในการเข้าเยี่ยมจตุภัทร์ที่เรือนจำ จตุภัทร์ยืนยันว่า ศาลไม่ได้แจ้งให้ทราบว่ามีการฝากขัง และไม่ได้อ่านคำร้องขอฝากขังให้ฟัง รวมทั้งไม่ได้แถลงว่า ไม่คัดค้านการฝากขังตามที่ศาลบันทึก เนื่องจากจตุภัทร์มีความประสงค์จะคัดค้านการฝากขังในครั้งนี้อยู่แล้ว ทำให้เกรงว่าการสั่งอนุญาตให้ฝากขังเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.นั้น จะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เนื่องจากจตุภัทร์ไม่ได้รับทราบคำร้องฝากขัง และไม่ได้แถลงไม่คัดค้านตามที่ศาลบันทึก
ทั้งนี้ คำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ระบุว่า ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องนี้ และมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งฝากขังลงวันที่ 27 ธ.ค. 59 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหามีสิทธิตามกฎหมายในการยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังครั้งที่ 3 และหากมีการฝากขังในครั้งถัดไป ขอศาลมีคำสั่งให้อ่านคำร้องฝากขังให้กับผู้ต้องหา ทนายความผู้ต้องหา และสักขีพยานฟังในห้องพิจารณา แทนการประชุมทางจอภาพด้วย
ต่อมา เวลาประมาณ 17.30 น. น.ส.ปิยะธิดา อุปพงษ์ ผู้พิพากษาผู้ลงชื่อในคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังนายจตุภัทร์ครั้งที่ 3 ได้ทำการประชุมทางจอภาพกับนายจตุภัทร์ ที่อยู่ในเรือนจำโดยไม่อนุญาตให้ทนายความเข้าร่วมการไต่สวน จากนั้น เจ้าหน้าที่ศาลจึงนำเอกสารคำสั่งศาลต่อคำร้องเพิกถอนกระบวนพิจารณาฯ ให้ทนายความซึ่งรอฟังอยู่ที่ศาลจังหวัดขอนแก่น โดยศาลมีคำสั่งว่า
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 3 ของพนักงานสอบสวน เป็นการยื่นคำร้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นการยื่นคำร้องขอฝากขังที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพียงแต่ศาลไม่ได้สอบถามผู้ต้องหาเสียก่อนว่าจะคัดค้านคำร้องฝากขังนั้นหรือไม่เท่านั้น หาทำให้การสั่งอนุญาตให้ฝากขังดังกล่าวเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดกฎหมายไม่ ให้ยกคำร้อง ดังนั้น จึงให้เบิกตัวผู้ต้องหามาสอบถามในลักษณะการประชุมผ่านจอภาพในวันนี้ เวลา 16.30 น.
พร้อมกันนี้ ผู้พิพากษาได้บันทึกการประชุมทางจอภาพกับนายจตุภัทร์ ดังนี้
ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีนี้เวลา 16.30 น.
เบิกตัวผู้ต้องหามาสอบถามในลักษณะการประชุมทางจอภาพ โดยมีผู้ต้องหาและนายธนกฤต สีลาดหา สักขีพยานอยู่พร้อมกันตามที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอหมายขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน ลงวันที่ 26 ธ.ค.59 สำเนาให้ผู้ต้องหารับไปแล้ว
สอบผู้ต้องหาแถลงคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจขอฝากขังระหว่างสอบสวน เพราะไม่มีเหตุจำเป็นที่ต้องคุมขังผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวน เพราะพยานบุคคลที่ผู้ร้องอ้างว่าต้องสอบเพิ่มเติมนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา และที่ผู้ร้องอ้างว่าต้องรอผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษจากกองทะเบียนประวัติอาชญากรนั้น ผู้ร้องสามารถตรวจสอบได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องคุมขังผู้ต้องหาไว้ ประกอบกับผู้ต้องหาต้องการที่จะไปสอบวิชาคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในวันที่ 17 และ 18 มกราคม 2559 ผู้ต้องหาต้องการออกไปอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบวิชาดังกล่าว ขอให้ศาลยกคำร้องขอฝากขังของผู้ร้อง
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำคัดค้านของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น เมื่อผู้ร้องมีเหตุจำเป็นที่ต้องสอบปากคำพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก และรอผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงและมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลที่มีการแสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีจึงมีเหตุจำเป็นที่จะควบคุมผู้ต้องหาต่อไป ในชั้นนี้จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเป็นเวลา 12 วัน นับตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.59 – 8 ม.ค.60
ต่อกรณีดังกล่าวนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า ตามมาตรา 87 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญากำหนดให้ศาลพิจารณาฝากขังทุก 12 วันเพื่อให้ศาลได้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเพื่อไม่ให้ควบคุมบุคคลไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกควบคุมตัวคัดค้านเหตุของพนักงานสอบสวนได้ การดำเนินกระบวนการฝากขังโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาคัดค้านจึงเป็นกระบวนการที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีการสอบถามผู้ต้องหาแต่คำสั่งอนุญาตคำร้องฝากขังลงวันที่ 27 ธ.ค.59 กลับระบุว่ามีการสอบถามผู้ต้องหาแล้วและผู้ต้องหาไม่คัดค้าน คำสั่งอนุญาตดังกล่าวจึงพิจารณาบนฐานข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงและก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ต้องหา แม้จะมีการไต่สวนเพื่อสอบถามผู้ต้องหาอีกครั้งในวันที่ 28 ธ.ค.59 ก็ไม่ทำให้สิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วชอบกฎหมายขึ้นมาในภายหลังได้