“ผมตกต่ำได้มากกว่านี้ แต่ผมจะไม่สยบยอม”: เบื้องหลัง “ทิวากร” ประกาศไม่ประกันตัวชั้นอุทธรณ์

12 ก.ย. 2565 ทิวากร วิถีตน โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับคดีมาตรา 112 ของเขาที่จะฟังคำพิพากษาในวันที่ 29 ก.ย. นี้ว่า “ขอแจ้งทุกท่านไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าวันที่ 29 ก.ย. 2565 นี้ ศาลตัดสินให้ผมผิด 112, 116 และ พรบ.คอมพ์  ผมจะขอยื่นอุทธรณ์โดยไม่ขอประกันตัวนะครับ และผมจะขอคืนเงินประกันตัว 150,000 บาท (ระหว่างที่ผมได้รับการประกันตัวในการต่อสู้คดีในศาลชั้นต้น) ให้กับกองทุนดาตอร์ปิโดด้วยครับ”

โพสต์ของทิวากรกระตุกความคิดให้เกิดเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ เพราะไม่ว่ารัฐธรรมนูญของไทย หรือหลักสิทธิมนุษยชนสากล ล้วนมีหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ นั่นคือ ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้วไม่ได้ อันเป็นที่มาของสิทธิในการประกันตัว และประชาชนมักเป็นฝ่ายเรียกร้องให้ศาลเคารพต่อหลักการและสิทธิดังกล่าวของประชาชนซึ่งถูกดำเนินคดีอาญา สิ่งที่ทิวากรโพสต์จึงสวนทางกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิด 

เกษตรกรวัย 46 ปี อาศัยในหมู่บ้านห่างจากตัวเมืองขอนแก่นราว 20 กม. ซึ่งช่วงหนึ่งของชีวิตที่เขาไปเรียนมหาวิทยาลัยและทำงานในกรุงเทพฯ ได้อยู่ในบริบทการเมืองไทยที่มีการรัฐประหาร 2 ครั้ง การสลายการชุมนุมที่มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก และกระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับบุคลิกส่วนตัวที่เป็นคนจริงจัง เชื่อได้ว่า การประกาศออกมาเช่นนั้นของทิวากรผ่านการคิดทบทวนมาแล้ว 

อย่างน้อยนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทิวากรคิดและทำไม่เหมือนใคร การใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และโพสต์รูปลงเฟซบุ๊ก ในวันที่การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ยังทำกันอย่างอ้อมค้อม ก็สร้างความตกตะลึง จนทำให้เขาถูกดำเนินคดี 112 คดีที่ศาลจะมีคำพิพากษานี้

>> ไทม์ไลน์คดี “หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า” สำรวจเส้นทางต่อสู้ ‘112’ ของทิวากร

>> ปากคำพยาน 4 วันในห้องพิจารณา คดี 112 “ทิวากร”: ความเข้าใจต่อการเสนอแนะของสถาบันกษัตริย์ต่อคดี 112 และเจตนาการใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว”

บทสนทนาในวันหนึ่งก่อนหน้าที่ทิวากรจะเดินทางไปฟังคำพิพากษาราว 1 สัปดาห์ จึงเกิดขึ้น เพื่อสืบค้นถึงความคิดเบื้องหลังคำประกาศไม่ประกันตัว และการเตรียมตัวต่อเหตุการณ์ที่จะเกิด   

…..

ยอมติดคุกเพื่อประจานกระบวนการยุติธรรม หากถูกตัดสินให้ผิด 

เมื่อถูกถามถึงเหตุผลของความตั้งใจที่จะไม่ยื่นประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ คำอธิบายขนาดยาวด้วยน้ำเสียงและสีหน้าที่จริงจังตามปกติของทิวากรก็ทะยอยเรียบเรียงส่งผ่านความคิดมายังผู้ตั้งคำถาม “คิดว่าคดีของผมศาลพิพากษาลงโทษแน่นอน ที่ว่าลงโทษแน่นอนไม่ใช่ว่าผมผิดแน่นอน แต่คือกระบวนการยุติธรรมไทยมีความไม่ยุติธรรม มีตัวอย่างให้เห็นเยอะไม่ใช่แค่เคสเดียว แต่มันทั้งหมดเลย เป็นการใช้กฏหมายในการกำจัดศัตรูทางการเมือง ถ้าฝ่ายเดียวกันยังไงก็รอด ถ้าเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองยังไงก็ผิด สมัยเสื้อแดงก็จะมีคำพูดว่า “คนเสื้อแดงทำอะไรก็ผิด” เพราะฉะนั้น ผมจึงมั่นใจว่าผมต้องถูกตัดสินว่าผิด 100%”

“ตั้งแต่วันแรกที่ผมถูกจับ ผมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผมด้วยการอธิบายว่า ผมมีเจตนาที่ดีต่อสถาบันกษัตริย์ไม่อยากให้ใช้ 112 เพราะผมมองว่ามันสร้างความเสื่อมเสียให้กับสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากเป็นกฎหมายละเมิดสิทธิมนุษยชน และปิดหูปิดตาปิดปากประชาชน” 

“ส่วนคำว่า “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ผมก็อธิบายว่าผมหมดศรัทธาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 9 แล้วไม่ใช่เพิ่งมาหมดศรัทธาในรัชกาลที่ 10 ผมไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นรัชกาลปัจจุบัน แม้แต่คำว่าสถาบันกษัตริย์ผมก็ไม่ได้หมายถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ในการสืบพยานแม้แต่พยานโจทก์บางปากเองก็ให้การว่า คำว่าสถาบันกษัตริย์ เขาเห็นว่าหมายถึงตัวสถาบันไม่ได้หมายถึงตัวบุคคล ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับผม ในมุมมองของผมในฐานะจำเลย ถ้าศาลมีความยุติธรรมผมมั่นใจว่ายกฟ้อง 100%”  

“แต่โดยมาตรฐานของศาลไทยซึ่งอยู่ในรัฐที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ผมก็เลยมั่นใจว่า ผมจะโดนตัดสินว่าผิดแน่ๆ ไม่ว่าศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกาก็คงไม่ต่างกัน เพราะว่าผมถูกมองว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจ ถึงแม้ว่าผมจะเป็นประชาชนคนธรรมดาที่ใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดและการแสดงออกเท่านั้น การใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และต้องไม่ให้มันเป็นเยี่ยงอย่างต่อประชาชนคนอื่น ยังไงผมก็ต้องเข้าคุก ทั้งๆ ที่ผมไม่ผิด ดังนั้น การที่ผมเข้าคุกเร็วผมก็จะได้ออกเร็ว”

“ผมบอกแม่ว่า ศาลชั้นต้นน่าจะตัดสินว่าผมผิดนะ จริงๆ ผมไม่ผิดหรอก ผมก็ยกตัวอย่างคดีของสมบัติ ทองย้อย, นิว จตุพร และคดีอื่นๆ แม่ก็บอกว่า ‘ตัดสินก็ตัดสินโลด เข้าคุกก็เข้าคุกโลด’”

“ผมไม่รู้ว่ากระบวนการในการยื่นอุทธรณ์และฎีกาจะใช้เวลากี่ปี จะ 5 ปี 10 ปี ก็ไม่เป็นไร ผมอยากจะพิสูจน์และยืนยันให้เห็นว่า เขาไม่ยุติธรรมจริงๆ ทั้ง 3 ศาล และถ้าผมติดคุกเร็ว ผมก็ได้ออกเร็ว จากนั้นผมก็จะได้ไปทำตามแผนของผมคือย้ายประเทศ อันนี้เป็นเหตุผลข้อแรก”

“เหตุผลข้อที่ 2 พวกเผด็จการนี่มันดูถูก คือเขาใช้ความกลัวมาปกครองประชาชน กลัวอะไรบ้างล่ะ กลัวเสียงานเสียการ กลัวว่าสังคมจะไม่ยอมรับ เขาก็ใช้การดำเนินคดี ใช้การลงทัณฑ์ทางสังคม เมื่อเรากลัวเราก็จะได้สยบยอมเขา ไม่พูดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ไม่สนใจการเมือง อยู่เงียบๆ เซ็นเซอร์ตัวเองไป”

“แต่ผมอยากชนะเขา นั่นคือ ผมจะยืนยันในการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดและการแสดงออก โดยที่ผมจะยอมรับในสิ่งที่เผด็จการเขาใช้มาทำให้ผมกลัว แต่ผมเลือกที่จะไม่กลัว และยอมรับผลที่ตามมา” 

“ขั้นแรกเขาอยากให้ผมกลัวและเซ็นเซอร์ตัวเองผม แต่ผมก็ไม่เซ็นเซอร์ อันนี้ผมชนะไปแล้ว”

“ขั้นต่อมา ก่อนหน้าวันที่ศาลจะมีคำพิพากษาสิ่งที่เขาต้องการจากผมก็คือความกลัว ความร้อนรน ความประสาทแดก แต่ผมไม่มี ต่อให้เขาต้องการหรือไม่ต้องการผมก็ไม่มี เพราะฉะนั้นการที่ผมประกาศไว้ตั้งแต่ตอนแรกว่าผมไม่ขอประกันตัวเอง แสดงให้เขาเห็นว่าผมไม่กลัวคุก ซึ่งผมไม่กลัวจริงๆ ผมก็ชนะในช่วงนี้”  

“พอหลังจากศาลตัดสินให้ผมติดคุก ซึ่งเขาจะใช้การติดคุกนี้เป็นการทรมานผมทั้งทางร่างกายและจิตใจรวมถึงทรมานฝ่ายประชาธิปไตยให้หลาบจำ เขาทำมาเยอะแล้วขังจิตร ภูมิศักดิ์, เพนกวิน, บก.ลายจุด ใครต่อใคร ผมก็จะให้เขาล่วงหน้าเลย ผมจะรับการทรมานทั้งกายและใจ ทั้งที่ในมโนสำนึกผมไม่ผิดนะ เพื่อเป็นการประจานความอยุติธรรมว่าจริงๆ แล้ว ที่ผมเข้าไปอยู่ในคุกนั้นผมไม่ควรจะถูกฟ้องด้วยซ้ำไป 112, 116 หรือ พ.ร.บ.คอมฯ มันไม่เข้าอยู่แล้ว ที่ผมเข้าไปไม่ใช่เพราะว่าผมผิด แต่ผมเข้าไปเพราะว่ากระบวนการยุติธรรมมันไม่ยุติธรรม และผมไม่กลัว” 

“คำตัดสินของศาลที่จะตัดสินให้ผมผิดจะแสดงให้เห็นเนื้อหาความเป็นประชาธิปไตยของไทย ที่รัฐไทยอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่จริงๆ มันไม่ใช่ แล้วการติดคุกของผมมันก็จะยิ่งไปเพิ่มน้ำหนักของความไม่ใช่ ว่าที่คุณเรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยนั้นมันเป็นของปลอม จริงๆ แล้วคุณเป็นปีศาจ คุณเป็นเผด็จการที่สวมเสื้อประชาธิปไตย”

“ผมจะแสดงให้เห็นว่า ที่รัฐไทยต้องการจะทำลายผมนั้น ผมก็ทำให้เขาได้พอใจไปเลย แต่เขาก็ไม่ได้รับความชอบธรรมอยู่ดี”

“การที่รัฐไทยทำลายผมที่เจตนาดีกับเขาด้วยซ้ำไปเท่ากับว่าเขาจะเสื่อมเสียเอง กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์ ได้รับการยอมรับ ก็ต่อเมื่อเขาทำตามกฎหมาย แต่ถ้าเขาไม่ทำตามตัวบทกฎหมาย ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองก็เท่ากับว่าความน่าเชื่อถือของรัฐไทยลดลง ความศักดิ์สิทธิ์ ความยุติธรรมลดลง ก็คือเขาทำลายตัวเองนั่นแหละ”

“ปี 63 ก็พิสูจน์มาแล้วว่า รัฐไทยก็พยายามทำลายผมด้วยการอุ้มผมเข้าโรงพยาบาลจิตเวช แล้วก็ฉีดยาผม ซึ่งโอเคเขาทำลายผมได้ทั้งกายและใจ แต่ว่าผลที่ตามมาก็คือเขาทำลายตัวเอง”

“สุดท้ายถ้าผมเข้าไปอยู่ในคุกแล้วผมอยู่จนถึงคดีสิ้นสุดหรือครบโทษตามคำพิพากษาผมก็ชนะ ชนะในที่นี้หมายถึงในระดับปัจเจก นั่นคือการยืนยันสิทธิเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก ต่อให้มีกฎหมายเผด็จการที่จะมาเอาผิดผม ผมก็ไม่กลัว” 

“สำหรับผมแล้วมันต้องแลก ระหว่างความทรมานทั้งกายและใจในการเข้าไปอยู่ในคุก กับการได้ทำอะไรมากมายที่เผด็จการมองว่าผมผิดและศาลตัดสินให้ผมผิด ก่อนที่ผมจะติดคุกผมก็ยืนยันในสิทธิเสรีภาพของผม แล้วผมก็ทำมาได้หลายอย่าง ก็คือใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ได้ “ยืน หยุด ขัง” ผมได้ใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ไปยืนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขอนแก่น ไปเดินชูป้ายรอบเมืองขอนแก่น” 

“ผมจะถือว่าคำตัดสินให้ผมถูกจำคุกนั้นเป็นการเพิ่มคุณค่าของสิทธิเสรีภาพที่ผมต้องแลกมา โดยฝ่ายเผด็จการเป็นคนให้คุณค่าผมเอง”

“ไคนที่สูญเสียไปเยอะๆ อย่างเอกชัย หงส์กังวาน โดนเผารถ โดนทำร้ายแขนหัก แต่เขาไม่หยุดสู้ แปลว่าสิ่งที่เขาทำมีคุณค่ามาก หรืออย่างเนลสัน แมนเดล่า เขาก็ติดคุก 27 ปี นั่นหมายความว่าสิ่งที่เขายอมแลกกับการติดคุก 27 ปี ก็คือสิทธิเสรีภาพนั้นมีคุณค่าสูงมาก”  

“ในความคิดของคนอื่นมันอาจจะไม่เมคเซนส์ แต่การต่อสู้ในระดับปัจเจกของผมมันเป็นแบบนี้ เขามาเหยียบย่ำผม ผมตกต่ำได้มากกว่านี้เพื่อให้เขาพอใจแต่ผมจะไม่สยบยอมพวกเขาหรอก”

“ก็เหมือนในปี 63 ตอนที่ผมใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ผมโดนหนักมากเลยนะ ทั้งโดนข่มขู่ คุกคามแม่ แม่ผมก็กลัว เขาใช้ทุกวิถีทางในการกดดันผม แต่ผมให้เขาได้มากกว่านั้น ผมสามารถที่จะออกจากบ้าน ออกจากตระกูล เขียนจดหมายตัดแม่ตัดลูก เพื่อที่จะยืนยันสิทธิเสรีภาพ เท่ากับว่า ผมให้คุณค่ากับสิทธิเสรีภาพถึงขั้นต้องตัดแม่ตัดลูก หรือถ้าถูกอุ้มหายอุ้มฆ่าผมก็ยอม ผมเป็นของผมแบบนี้” 

.

ย้ำแนวทางแสดงออก สื่อสารโดยตรงถึงสถาบันกษัตริย์เพื่อเสนอทางออก

เกษตรกรที่ย้ำเสมอว่า ตนเองเป็นประชาชนธรรมดาที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการพูดและการแสดงออกเท่านั้นเอง ย้อนเล่าถึงเบื้องหลังที่ลุกขึ้นมาใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” รวมถึงแนวทางในการแสดงออกต่อสถาบันกษัตริย์ของเขาว่า 

“ผมอยากเสนอทางออกให้ทุกฝ่าย ถ้าจะมีการแสดงออกว่าไม่โอเคกับสถาบันกษัตริย์มันแสดงออกได้หลากหลายมาก บางคนก็ใช้วิธีด่าแบบเสียๆ หายๆ บางคนก็เผาป้ายตามข้างถนน ตามสถานที่ราชการ แต่การใส่เสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” ไม่ได้มีความรู้สึกเชิงลบอยู่ในนั้น มันแค่บอกให้ทราบว่าตอนนี้เราหมดศรัทธานะ ผมคิดว่ามันไม่เป็นพิษเป็นภัย มันก็เลยเป็นข้อเสนอว่า ถ้าจะแสดงออกต่อสถาบันกษัตริย์ ขอให้แสดงออกเพียงแค่ว่าหมดศรัทธาก็พอ ไม่ได้ต่อต้าน ไม่ได้เปลี่ยนแปลง เป็นการแสดงจุดยืนเท่านั้นเอง วิถีทางของการแสดงออกของผมก็มีเพียงเท่านี้เอง”

“คณะราษฎร 63 เขาทำลายเพดาน ทะลุฟ้า ทะลุวัง แต่แนวทางของผม ผมเรียกว่า “เหนือเมฆ” คือผมจะสื่อสารไปถึงสถาบันกษัตริย์โดยตรง บางทีผมก็เขียนจดหมายไปหารัชกาลที่ 10 ไปหาพระเทพ บางทีผมก็คุยกับคุณจุลเจิม ซึ่งจะทำแบบนี้ได้ ถ้าเป็นนกก็ต้องบินตัวเดียวแบบนกอินทรี ไม่บินเป็นฝูงเพราะมันจะบินสูงไม่ได้” 

“ผมอยากชี้ทางว่า การปกครองที่เป็นเผด็จการ ละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบนี้มันไปต่อไม่ได้กำลังจะลงเหว จะต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย มีความเป็นประชาธิปไตย แต่ผมสื่อสารมา 2 ปีแล้ว เขาทำตรงข้ามหมดเลย” 

“มีรอยัลลิสต์ที่ไหนที่จะกล้าทำแบบผม กล้าเตือนเมื่อเห็นความไม่ชอบมาพากล ความไม่ชอบธรรม เห็นว่าสถาบันกษัตริย์อยู่ในจุดที่เป็นวิกฤตศรัทธา หมดความน่าเชื่อถือ”

ภาพจากเฟซบุ๊ก ทิวากร วิถีตน

เลื่อนแผนย้ายประเทศหากติดคุก

ทิวากรพูดถึงการย้ายประเทศหลายครั้ง ทั้งในการให้สัมภาษณ์และโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว รวมทั้งการตัดสินใจไม่ประกันตัวครั้งนี้ก็เพื่อจะได้ออกจากคุกเร็ว และย้ายออกจากประเทศไป “จุดมุ่งหมายในชีวิตของผมคือผมต้องการย้ายประเทศ ต่อให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ผมก็คิดที่จะย้ายประเทศ เพราะว่าผมรู้สึกว่าผมเจ็บปวดกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น อย่าง 6 ตุลาคม 2519 การยิงคนเสื้อแดงปี 2553 มันเป็นบาดแผลที่อยู่ในใจ มันสร้างความเจ็บปวดให้เราแล้ว เราคงจะอยู่ตรงนี้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว” 

“ความจริงผมรู้สึกตั้งแต่ปี 54 แล้วว่า ผมอยากจะเป็นพลเมืองโลกมากกว่าที่จะเป็นแค่พลเมืองไทย เพราะว่าผมไม่มีคุณสมบัติของพลเมืองไทยตามที่รัฐไทยเขาต้องการ แต่ตอนนั้นผมไม่ได้ตัดสินใจย้ายประเทศอย่างจริงจัง เพิ่งมาตัดสินใจเมื่อหลังรัฐประหารปี 2557” 

“เป้าหมายของผมคือการย้ายประเทศ ถ้าผมเข้าเรือนจำ แผนที่ผมตั้งเอาไว้มันก็ต้องขยับไป”

.

การเตรียมตัวสำหรับภารกิจภาคบังคับ

ทิวากรคาดว่าตัวเองจะถูกขังไม่ต่ำกว่า 3 ปี เขาเล่าถึงการเตรียมตัวที่จะเดินเข้าสู่สถานที่จองจำว่า “ผมแจ้งระงับสัญญาณโทรศัพท์มือถือตั้งแต่วันที่ 29 ก.ย. ไปแล้ว โดยจ่ายเงินไว้ล่วงหน้าในการรักษาเลขหมาย แต่ถ้าผมถูกขังนานกว่าที่คาด เลขหมายนี้ก็จะถูกระงับไป และต่ออายุใบขับขี่ไปอีก 5 ปีแล้ว” 

“นอกจากนี้ก็คือเตรียมไปศาลตัวเปล่าไม่ต้องมีอะไรติดตัวไป จะได้ไม่ต้องฝากใครกลับมาบ้าน รถมอเตอร์ไซค์ก็ไม่เอาไป ผมจะนั่งรถโดยสารประจำทางเที่ยวแรกซึ่งผ่านบ้านผมไม่เกิน 6 โมงครึ่ง ไปถึงศาลไม่เกิน 8 โมง” 

“วัว 8 ตัวที่เลี้ยงอยู่ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ของผม พ่อกับแม่เป็นคนซื้อมาซึ่งเขาจะขายเมื่อไหร่ก็แล้วแต่เขา เขาอาจจะให้หลานมาช่วยดูแล แปลงหญ้าเนเปียร์สำหรับเลี้ยงวัวก็อาจจะมีญาติมารับช่วงดูแล” 

ภาพจากเฟซบุ๊ก ทิวากร วิถีตน

“ส่วนแม่ผมเขาก็อยู่ได้ถ้าไม่มีผม ยังมีพี่น้องของผมอีก 4 คนที่จะดูแลแม่ หลังรัฐประหารปี 57 ที่ผมตัดสินใจย้ายประเทศแน่ๆ แต่ยังไม่ไปทันทีและย้ายกลับมาอยู่กับแม่ เพราะผมอยู่กับแม่แล้วผมมีความสุข ผมก็เลยอยากจะอยู่กับแม่ให้นานที่สุด” 

“ตั้งแต่กลางปี 58 จนถึงตอนนี้ ผมถือว่าผมได้อยู่กับแม่พอแล้ว รวมถึงได้มารำลึกความหลังสมัยวัยเด็กของผมที่หมู่บ้านดอนช้าง ซึ่งเป็นชีวิตที่ผมมีความสุขมาก ก็ถือว่าผมได้ทำอะไรทุกอย่างหมดแล้วที่ผมจะได้ทำในประเทศไทยและได้อยู่กับแม่แล้ว เพราะฉะนั้นผมถือว่าผมสามารถที่จะย้ายประเทศได้เลยโดยที่ไม่ต้องคาใจอะไรแล้ว รวมถึงเข้าคุก รวมถึงตายวันนี้เลยก็ได้ ผมก็ไม่เสียใจอะไรแล้ว ต่อให้เป้าหมายในชีวิตของผมมันอาจจะไม่สำเร็จเลยผมก็ไม่เสียใจ คือมันเหมือนเป็นความจำเป็น เป็นภารกิจบังคับที่แทรกเข้ามาในช่วงเวลานี้ว่า ผมต้องทำแบบนี้แหละ คือต้องยืนยันในตรงนี้ก่อน ใช้การไม่ขอประกันตัวเพื่อที่จะยืนยันในสิ่งที่ผมอธิบายไปแล้ว” 

“ความเป็นตัวตนของผมและสถานการณ์ที่ผมเจอ รวมทั้งแนวคิดแนวอุดมการณ์ของผมมันก็เลยต้องตัดสินใจแบบนี้ คนอื่นอาจจะไม่ตัดสินใจแบบนี้”

.

“ถ้าผมเข้าคุกก็ไม่ต้องจำผม ไม่ต้องสนใจผมเลยก็ได้ ทั้งคนใกล้ชิด ทั้งครอบครัว ทั้งเพื่อน ผมเลือกของผมแบบนี้ ผมพอใจแล้ว”

“แม่คงไปเยี่ยมผมอยู่แล้ว ผมก็คงบอกแม่ว่าไม่ต้องไป ไม่ต้องสนใจ แต่ผมเดาได้ว่าแม่ผมก็คงต้องคิดถึง ก็คงต้องไปเยี่ยม ถ้าใครจะไปเยี่ยมผมคงห้ามไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีใครไปเยี่ยมผมก็จะเฉยๆ ไม่เสียใจ ถ้าไปก็ขอบคุณ ก็ซาบซึ้งในน้ำใจ”

“ต่อให้รัฐไทยหรือฝ่ายเผด็จการจะมองว่าผมทำตัวเองผมก็ไม่สนใจ หรือแม้แต่ประชาชนเขาไม่ต้องมาเข้าใจหรือเห็นใจแนวทางปัจเจกของผมเลยก็ได้แม้แต่คนเดียว แค่ผมเข้าใจตัวของผมเองเท่านั้น”

.

X