ลำดับเหตุการณ์คดีของ “หยก” เด็กหญิงผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 จับตาครบกำหนดควบคุมตัวครั้งแรก 27 เม.ย. นี้

สืบเนื่องมาจากกรณีการจับกุมศิลปินอิสระที่พ่นสีข้อความ 112 พร้อมขีดทับ และสัญลักษณ์อนาคิสต์บนกำแพงวัดพระแก้วเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ซึ่งได้ปรากฏว่ามีการจับกุม “หยก” เด็กหญิงวัย (เพิ่งจะ) 15 ปี โดยในภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างหมายจับจากคดี 112 ที่มีอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำ ศปปส. เป็นผู้แจ้งความไว้ที่ สน.สำราญราษฎร์ 

ผลของการจับกุมนำไปสู่เหตุการณ์ในวันที่ 29 มี.ค. 2566 ซึ่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้ออกหมายควบคุมตัวหยกเป็นระยะเวลา30 วัน หลังจากนั้นได้มีการพาตัวไปควบคุมไว้ที่บ้านปรานี หรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การดูแลของสถานพินิจฯ เมื่อนับจากวันแรกที่ถูกควบคุมถึงปัจจุบัน (25 เม.ย. 2566) หยกได้ถูกควบคุมตัวไว้เป็นเวลากว่า 28 วันแล้ว

27 เม.ย. 2566 นี้ จะครบกำหนดการควบคุมตัวยังต้องติดตามว่าจะมีการผัดฟ้องและขอควบคุมตัวหยกต่อไปหรือไม่ รายงานต่อไปนี้สรุปลำดับเหตุการณ์คดีของหยก เด็กอายุน้อยที่สุดเท่าที่ทราบข้อมูลว่าถูกดำเนินคดีมาตรา 112

.

11 ลำดับเหตุการณ์คดีของ “หยก”

1. ปลายเดือน ม.ค.-ก.พ. 2566 

หยกได้รับหมายเรียกคดี 112 จาก สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งมีอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำ ศปปส. เป็นผู้แจ้งความ โดยได้รับหมายเรียกสองครั้ง ครั้งแรกลงวันที่ 23 ม.ค. 2566 และครั้งที่สองลงวันที่ 6 ก.พ. 2566

2. 15 ก.พ. 2566 

เป็นวันที่หมายเรียกระบุให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา หยกให้ทนายความทำหนังสือเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหา โดยระบุว่าเนื่องด้วยภารกิจทางการศึกษาจึงจะขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวไปเป็นวันที่ 9 เม.ย. 2566 จากนั้นได้ส่งหนังสือไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ทั้งนี้ มี ร.ต.อ.โยธี เสริมสุขต่อ พนักงานสอบสวน ลงนามรับหนังสือเป็นที่เรียบร้อย

3. 28 ก.พ. 2566

พนักงานสอบสวน ร.ต.อ.เลิศชาย ผือลองชัย ยื่นคำร้องให้ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางออกหมายจับหยก อ้างว่า “กรณีมีหลักฐานสมควรว่าได้หรือน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 3 ปี 

4. 28 มี.ค. 2566 

หยกติดตามสถานการณ์การจับกุมตัว “บังเอิญ” ศิลปะที่พ่นสีกำแพงวัดพระแก้วไปถึง สน.พระราชวัง แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดังกล่าวจับกุมตัว โดยตอนแรกยังไม่มีระบุสาเหตุการจับกุม แต่ต่อมามีการอ้างหมายจับในคดี 112 ที่ออกโดยศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ลงวันที่ 28 ก.พ. 2566 โดยต่อมาทราบว่าข้อกล่าวหาเป็นพฤติการณ์เกี่ยวกับการแสดงออกระหว่างกิจกรรมที่ชื่อว่า #13ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องลอยไป บริเวณลานเสาชิงช้า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2565 โดยขณะเกิดเหตุเธออายุ 14 ปี 7 เดือนเศษ

จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมคือ “ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 เนื่องจากหยกปฏิเสธการลงนามในเอกสารและการพิมพ์ลายนิ้วมือ

ในการจับกุมได้ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่มีการใช้ความรุนแรงและมีการกระทำในลักษณะคุกคามทางเพศ คือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นชายใช้มือล้วงเข้าไปภายในเสื้อเพื่อที่จะยึดเอาไอแพดของหยกออกมาตรวจสอบ ทั้งนี้ หยกได้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายและแจ้งความดำเนินคดีกลับในกรณีหลังนี้

หยกถูกย้ายไปควบคุมตัวกลางดึกที่ สน.สำราญราษฏร์ เพื่อแจ้งข้อกล่าวหา

5. 29 มี.ค. 2566

หยกถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนกว่า 7 คนใช้กำลังบังคับอุ้มขึ้นรถเพื่อนำตัวไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลางเพื่อตรวจสอบการจับกุม ซึ่งเมื่อไปถึงเธอได้เลือกนั่งหันหลังให้บัลลังก์ของคณะผู้พิพากษาเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าต้องการปฏิเสธอำนาจและกระบวนการยุติธรรม โดยเธอปฏิเสธกระบวนการทั้งหมด และไม่แต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายในคดีที่ถูกกล่าวหาข้อหามาตรา 112 นี้

ในวันเดียวกัน ศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งอนุญาตออกหมายควบคุมตัว ซึ่งมีผลทำให้หยกถูกส่งตัวไปควบคุมไว้ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี อ.สามพราน จ.นครปฐม ทันที

6. 30 มี.ค. 2566

เก็ท โสภณ นักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ไว้วางใจของหยกตั้งแต่ต้น ได้เดินทางไปยังบ้านปรานีเพื่อเข้าเยี่ยมหยก และได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่บ้านปรานีให้สามารถเข้าเยี่ยมได้ โดยในการเยี่ยมครั้งนี้หยกได้ฝากข้อความออกมา ตอนหนึ่งระบุว่าการถูกอุ้มและบังคับพาตัวมาที่บ้านปรานีโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้หยกต้องการให้มีการพูดถึง พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและการทำให้สูญหาย

7. 31 มี.ค. 2566

ทนายความเดินทางไปที่บ้านปรานีและยื่นคำร้องขอเข้าเยี่ยม โดยได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยม แต่ไม่ได้พูดคุยกับหยกมากเนื่องจากเธอมีอาการเป็นไข้ อ่อนเพลีย และเหนื่อยล้าอย่างมาก 

8. ช่วงระหว่างวันที่ 3 – 7 เม.ย. 2566 

ทนายความ และที่ปรึกษากฎหมายในคดีที่หยกแจ้งความกลับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระราชวัง พยายามดำเนินการเรื่องเอกสารเพื่อขอเข้าเยี่ยมหยก แต่ไม่ได้รับความสะดวก โดยทางบ้านปรานีอ้างเหตุผลเรื่องการที่ทนายความและที่ปรึกษากฎหมายไม่ได้รับการแต่งตั้ง ประกอบด้วยเหตุผลเรื่องมาตรการโควิด และไม่ชี้แจงใดๆ เพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในวันที่ 7 เม.ย. 2566 ที่ปรึกษากฎหมายของหยกได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่บ้านปรานีว่าสามารถเข้าเยี่ยมได้ โดยเป็นการเข้าเยี่ยมในฐานะที่ปรึกษากฎหมายในคดีที่หยกเป็นผู้แจ้งความ โดยต่อมาทราบว่าปัญหาการเยี่ยมดังกล่าว เกิดจากหยกติดเชื้อโควิด-19 โดยทางบ้านปรานีไม่ได้มีการแจ้งต่อญาติหรือที่ปรึกษากฎหมายของหยกทันที

9. 8 เม.ย. 2566

ที่ปรึกษากฎหมายของหยกเดินทางไปยังบ้านปรานีและได้รับอนุญาตให้เข้าเยี่ยม โดยในการเยี่ยมครั้งนี้หยกฝากข้อความออกมาด้วยว่าเธออยากได้สมุดคัดลายมือภาษาจีนและแบบเรียนวิชาเลขตั้งแต่ชั้นประถม เนื่องจากเป็นวิชาที่ไม่ค่อยถนัดจึงอยากจะใช้ช่วงเวลาที่ถูกควบคุมตัวนี้ในการทบทวน

10. 13 เม.ย. 2566

ผู้ไว้วางใจจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำได้เดินทางไปเยี่ยมหยกที่บ้านปรานี และการเยี่ยมครั้งนี้เป็นการเยี่ยมโดยสามารถได้เข้าพบหยกด้วยตนเอง (มีแผ่นพลาสติกใสกั้นตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19) ซึ่งหยกได้ฝากความขอบคุณออกมายังทุกคนที่ฝากสิ่งของ อาทิ หนังสือ ปากกา ตลอดจนอาหารเข้าไปให้ เธอระบุว่ารู้สึกเกรงใจเป็นอย่างมากเพราะรู้ว่าสถานเศรษฐกิจนั้นไม่ค่อยดี และการที่ส่งของให้เธออาจทำให้คนอื่น ๆ ลำบาก 

ขณะเดียวกันหยกยังได้ฝากความขอบคุณไปยังเพื่อน ๆ นักกิจกรรมที่ได้จัดกิจกรรมยืนถือป้ายบอกเล่าเรื่องราวของเธอในงานหนังสือแห่งชาติที่ศูนย์ประชุมสิริกิต์ และได้ฝากข้อความถึงพรรคการเมืองที่ต่างเร่งหาเสียงในช่วงก่อนการเลือกตั้งนี้ว่า 

“การที่หนูมาอยู่ในสถานพินิจ ถูกดำเนินคดีตั้งแต่อายุ 14 ด้วย ม.112 ถูกหมายจับและส่งเข้ามาสถานพินิจตอนอายุ 15 แบบนี้ยังไม่เห็นปัญหาของ ม.112 อีกหรือ?”

ในตอนท้าย หยกยังได้ฝากความขอบคุณมายังมวลชนที่ยังไม่ลืมกัน และขอบคุณที่สู้มาด้วยกันตลอด โดยระบุด้วยว่า “คิดถึงทุกคนนะ”

11. 17 เม.ย. 2566

มีการบอกเล่าเรื่องราวการใช้ชีวิตในบ้านปรานีผ่านบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวหยก ซึ่งระบุว่าหยกอยากให้มีการส่งหนังสือที่เกี่ยวกับสิทธิเด็กเข้าไปให้ โดยระบุเพิ่มเติมว่าอยากให้ส่งผ่านทางทนายหรือที่ปรึกษากฎหมาย เนื่องจากเกรงว่าหนังสือจะมาไม่ถึงมือ โดยเหตุที่ต้องการหนังสือสิทธิเด็กก็เนื่องจากทุกวันนี้เธอถูกละเมิดสิทธิโดยการรื้อค้นสิ่งของส่วนตัวจนทำให้กระดาษหายไปจำนวนหนึ่ง 

.

ข้อกฎหมายน่ารู้: พ.ร.บ.ศาลแยาวชนฯ พ.ศ. 2553 ระบุพนักงานสอบสวนต้องรีบสอบสวนและส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปให้พนักงานอัยการ เพื่อให้อัยการยื่นฟ้องให้ทันภายใน 30 วันนับแต่วันที่ถูกจับ  จากนั้นหากยังฟ้องไม่ทัน พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการสามารถขอผัดฟ้องได้ สำหรับคดีโทษอย่างสูงให้จำคุกเกิน 6 เดือนแต่ไม่เกิน 5 ปี ขอผัดฟ้องได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 วัน สำหรับคดีโทษอย่างสูงให้จำคุกเกิน 5 ปี เมื่อผัดฟ้องครบ 2 ครั้งแล้ว หากพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแสดงเหตุผลจำเป็น ศาลอาจให้ผัดฟ้องได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 วัน 

ในทางกฎหมายตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 หมวด 6 มาตรา 78 ระบุเกี่ยวกับการควบคุมตัวเด็กและเยาวชนไว้ระหว่างสอบสวน โดยมีใจความสรุปได้ว่า เมื่อควบคุมตัวไว้จนครบกำหนด 30 วัน หากอัยการไม่ได้ฟ้องและไม่มีการขอผัดฟ้อง สถานพินิจฯ ซึ่งสำหรับกรณีนี้คือ บ้านปรานี จำต้องปล่อยตัวเด็กและเยาวชน

สำหรับกรณีที่อัยการขอผัดฟ้อง ตามกฎหมายระบุไว้ว่าสามารถทำการผัดฟ้องได้ 2 ครั้ง สำหรับคดีที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนแต่ไม่เกิน 5 ปี หรือ 4 ครั้ง สำหรับคดีที่มีโทษจำคุกเกิน 5 ปี โดยในการผัดฟ้องแต่ละครั้งเด็กหรือเยาวชนจะถูกควบคุมตัวไว้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน ต่อ 1 ครั้ง ทั้งนี้การขอผัดฟ้องจะกระทำได้โดยไม่เกิน 2 หรือ 4 ครั้ง ซึ่งต้องดูจากโทษตามกฎหมายที่ถูกกล่าวหา

สำหรับในกรณีของหยก กำลังจะครบกำหนการถูกควบคุมตัวตามที่ศาลมีคำสั่งในวันที่ 27 เม.ย. 2566 นี้ และโทษตามกฎหมาย 112 กำหนดโทษจำคุกอย่างสูงถึง 15 ปี ที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการสามารถขอผัดฟ้องได้ถึง 4 ครั้ง ต้องติดตามว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะขอผัดฟ้องต่อไปหรือไม่ 

.

X