อ่านคำพิพากษาคดี ม.112 ของ “เพชร ธนกร” ในฐานะคำพิพากษาของศาลในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ศุภณัฐ บุญสด

นักวิชาการอิสระ

.

วิพากษคำพิพากษาคดีการเมืองให้ไกลกว่าระดับหลักกฎหมายและนิติวิธี

เมื่อนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ถูกคาดหวังให้มีความเห็นต่อคำพิพากษาในคดีต่างๆ ที่สาธารณชนเห็นว่าค่อนข้างมีข้อบกพร่องหรือข้อน่าสงสัยในทางกฎหมาย คำถามที่มักจะถูกตั้งขึ้นมาเป็นอันดับแรกเสมอ คือ “การตีความกฎหมายของผู้พิพากษาในคดีนี้ถูกต้องหรือไม่” คำถามเช่นนี้จะนำมาสู่การค้นหาคำตอบโดยการพิจารณาว่าการวินิจฉัยข้อเท็จจริง การตีความและให้เหตุผลทางกฎหมายของผู้พิพากษาว่าถูกต้องตามหลักกฎหมายหรือนิติวิธีหรือไม่ และมักจะได้คำตอบเหมือนกันในท้ายที่สุดว่าผู้พิพากษาในคดีดังกล่าวบกพร่องในทางหลักกฎหมายหรือนิติวิธี  

ตัวอย่างเช่น บทความวิชาการที่วิจารณ์ความบกพร่องของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562 ที่สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ เนื่องจากเสนอให้ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นบุคคลที่พรรคมีมติให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ว่าตุลาการในคดีนี้สร้างช่องว่างทางกฎหมายเทียมขึ้นมา รวมถึงสร้างองค์ประกอบของประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไม่ถูกต้องในทางนิติวิธีและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์[1] หรือบทความวิชาการที่วิจารณ์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ที่สั่งว่าการเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการใช้เสรีภาพที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ ว่ามีลักษณะเป็นการตีความรัฐธรรมนูญจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลจนเกินความได้สัดส่วน[2]

แต่ถ้าหากเราลองพิจารณาในทิศทางใหม่และตั้งสมมติฐานเบื้องต้นที่เรียบง่ายกว่านั้นมากอย่าง “ถ้าผู้พิพากษาในคดีดังกล่าวไม่ได้มีความบกพร่องทางหลักกฎหมายหรือนิติวิธีใดๆ เลย และรู้โดยสำนึกว่าการตีความกฎหมายเช่นนี้เป็นสิ่งที่ผิดจากทุกหลักกฎหมายและนิติวิธี แต่ก็ยังคงแสดงเจตนาโดยแน่วแน่ที่จะตีความกฎหมายออกมาเช่นนั้น” เราอาจจะได้คำตอบใหม่ๆ ขึ้นมา เพราะถ้าลองพิจารณาจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระดับความยากของการเรียนระดับปริญญาตรี รวมถึงเนติบัณฑิตและการสอบเข้าดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศาลยุติธรรมที่ทำให้มีนักกฎหมายสามารถผ่านด้านทดสอบดังกล่าวเข้าไปเป็นผู้พิพากษาเป็นจำนวนน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับสัดสวนของคนที่เรียนกฎหมายในแต่ละปี[3] เราจึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าคนที่สอบผ่านเป็นผู้พิพากษาจึงต้องอ่านหนังสือกฎหมายค่อนข้างหนักและลึกกว่านักเรียนกฎหมายทั่วไปเป็นอย่างมาก คำถามที่ตามมา คือ เป็นไปได้อย่างไรที่บุคคลเหล่านี้จะไม่ทราบว่านิติวิธีเบื้องต้นในการตีความกฎหมายอาญา คือ “การตีความกฎหมายอาญาจะต้องตีความอย่างเคร่งครัดและจะตีความโดยขยายออกไปเป็นโทษกับบุคคลไม่ได้”[4] ซึ่งเป็นเรื่องที่นักเรียนกฎหมายเรียนกันตั้งแต่ระดับปริญญาตรี

ผู้เขียนมีความเห็นว่าคงไม่มีทางเป็นไปได้ หรือเป็นไปได้อย่างไรที่บุคคลเหล่านี้จะไม่ทราบรัฐที่มีรูปของรัฐเป็นราชอาณาจักรและปกครองในระบอบเสรีประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์จะดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของรัฐและมีอำนาจในทางการเมืองแค่เฉพาะในทางพิธีการเท่านั้น เพราะอำนาจทางการเมืองที่แท้จริงเป็นขององค์กรของรัฐที่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนซึ่งลงนามสนองพระบรมราชโองการ อย่างคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภา โดยสะท้อนออกมาเป็นอย่างดีในรูปของมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับการใช้เป็นฐานในการตีความกฎหมายอาญาแบบขยายออกไป  เช่นเดิมผู้เขียนเห็นว่าเป็นไปไม่ได้

สำหรับการวิพากษ์คำพิพากษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวข้องกับความผิดอันมีลักษณะการเมือง[5] ให้พ้นจากกรอบหลักกฎหมายและนิติวิธี เราจะต้องตั้งต้นใหม่ว่าความเชื่อแบบปฏิฐานนิยม (Positivism) ที่ว่ากฎหมายมีลักษณะระบบกฎเกณฑ์ที่ปิดและปลอดจากคุณค่าทางปรัชญา การเมือง และคุณธรรมต่างๆ  ทำให้การใช้และตีความกฎหมายจึงมีความแน่นอน (Legal determinacy) เพราะอยู่ภายใต้หลักกฎหมายและนิติวิธีเฉพาะของศาสตร์ตัวเอง การตีความใดที่หลุดออกจากกรอบดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการใช้และตีความกฎหมายที่เกิดขึ้นเป็นครั้งเป็นคราวหรือเป็นความผิดส่วนบุคคล[6] ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นความเชื่อในทางกฎหมายที่สวนทางกับความเป็นจริงในคดีการเมืองทั้งหมด เพราะในคดีการเมืองเรามักจะพบเห็นการตีความกฎหมายที่มีลักษณะไม่แน่นอน (Legal indeterminacy) เป็นจำนวนมาก จนดูเหมือนว่าสิ่งนี้เป็นเนื้อแท้ของกฎหมาย ทั้งการตีความกฎหมายอาญาโดยขยายออกไปเป็นโทษกับบุคคล หรือการตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยไม่สอดคล้องกับระบบกฎหมาย หรือการไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาโดยไม่คำนึงถึงสิทธิทางรัฐธรรมนูญอย่างหลักให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นต้น จนทำให้เห็นว่ากฎหมายในคดีการเมืองมีลักษณะเป็นการตัดสินใจแสดงเจตนาหรือการใช้ดุลพินิจตามความปรารถนาของผู้พิพากษาที่มีอำนาจตัดสินในแต่ละคดีที่ไม่ขึ้นอยู่กับหลักกฎหมายหรือนิติวิธีใดๆ เสียมากกว่า[7]

ยิ่งเราพิจารณาลงไปให้ลึกในระเบียบการบริหารจัดการคดีภายในของศาลยุติธรรมของประเทศไทย เราจะพบว่าการใช้และตีความกฎหมายที่มีลักษณะไม่แน่นอนในคดีการเมืองดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นการแสดงเจตนาของศาลยุติธรรมในแง่ขององค์กรด้วย เพราะคำพิพากษาในคดีการเมืองจะอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้บริหารระดับสูงของศาลยุติธรรมอย่างใกล้ชิด[8] และด้วยการมองว่าการใช้และตีความกฎหมายเป็นแต่เพียงการตัดสินใจของศาลเช่นนี้ ส่งผลทำให้กฎหมาย คือ การเมือง (Law is Politics) อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ และทำให้การให้เหตุผลในทางกฎหมายไม่แตกต่างอะไรจากตัดสินทางการเมืองและศีลธรรมอื่นๆ ด้วยแง่มุมเช่นนี้ ผู้พิพากษาและศาลยุติธรรมที่ปฏิบัติหน้าที่ในคดีการเมืองจึงมีลักษณะเป็นผู้ปฏิบัติการทางการเมือง (Political Actor) ที่แฝงอารมณ์ คุณธรรม และอุดมการณ์ทางการเมืองส่วนตัวเอาไว้ภายใต้เหตุผลทางกฎหมายเสมอ[9]

ดังนั้น การพิจารณาผลผลิตที่เกิดขึ้นปฏิบัติการทางการเมืองของศาลยุติธรรม ซึ่งก็คือบรรดาเหตุผลทางกฎหมายในคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ของเพชร ธนกร ด้วยวิธีการเช่นนี้จะทำให้เราสามารถมองเห็นว่าศาลยุติธรรมกำลังดำเนินการงานทางการเมืองภายใต้อุดมการณ์ของระบอบใดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

.

.

เหตุผลทางกฎหมาย (การเมือง) ในคำพิพากษา ม.112 ของ ‘เพชร ธนกร’

คดีระหว่างพนักงานอัยการ โจทก์ กับธนกร หรือเพชร (สงวนนามสกุล) จำเลย มีมูลเหตุมาจากการที่จำเลยปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2563 ที่วงเวียนใหญ่ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นเกี่ยวกับการที่ประเทศไทยปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และอดีตพระมหากษัตริย์อย่างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีบทบาทในการรับรองการทำรัฐประหารของคณะทหาร

ต่อมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และลงโทษโดยการส่งจำเลยไปฝึกและอบรมยังศูนย์ฝึกและอบรมเยาวชน[10] โดยในคำพิพากษาฉบับเต็มของคดีดังกล่าวได้มีการแสดงเหตุผลทางกฎหมายที่แฝงคุณค่าทางการเมืองที่ศาลยุติธรรมไว้ในสองประเด็นที่สำคัญ คือ ประเด็นแรก สถานะและพระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ผ่านการอธิบายมาตรา 6 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และประเด็นที่สอง การตีความคำว่า “พระมหากษัตริย์” ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ขยายออกไปให้รวมถึงพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทั้งในอดีตและปัจจุบัน

.

สำหรับประเด็นแรก เริ่มจากการที่ศาลยุติธรรมได้อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไว้ด้วยข้อความที่ยืดยาว ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับเนื้อหาแห่งคดีเข้ามาไว้ในคำพิพากษาในระหว่างหน้าที่ 18 ถึงหน้าที่ 19 ด้วยข้อความว่า

“…และบทบัญญัติดังกล่าวอยู่ในลักษณะ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แสดงให้เห็นว่า แม้การกระทำผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทเพียงองค์เดียว ย่อมมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและคุ้มครององค์รัฏฐาธิปัตย์…” [11]

อย่างไรก็ตามการแสดงเหตุผลทางกฎหมายประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาแห่งคดีในจุดนี้ของคำพิพากษา กลับแสดงออกถึงความคิดทางการเมืองของศาลอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพระมหากษัตริย์ได้ เพราะหากพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่าศาลยุติธรรมมองว่ารัฐกับพระมหากษัตริย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เนื่องจากให้เหตุผลว่าการกระทำใดกระทบต่อพระมหากษัตริย์ย่อมกระทบต่อรัฐด้วย

นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมยังเจตนาอธิบายว่าพระมหากษัตริย์มีสถานะเป็นองค์รัฎฐาธิปัตย์ (sovereign) ซึ่งการอธิบายเช่นนี้ ย่อมหมายถึงศาลยุติธรรมเห็นว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของรัฐหรือประเทศไทยอีกด้วย โดยตามทฤษฎีว่าด้วยรัฐแล้วคุณสมบัติที่จะแสดงออกถึงสถานะความเป็นองค์รัฎฐาธิปัตย์ของบุคลลใด คณะบุคคลใด หรือองค์กรใดมักจะแสดงออกผ่านสองคุณสมบัติ ได้แก่ มีอำนาจในการสร้างกฎเกณฑ์และมีอำนาจบังคับให้ประชาชนปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้[12] ซึ่งศาลยุติธรรมก็ได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวคุณลักษณะความเป็นองค์รัฎฐาธิปัตย์ของพระมหากษัตริย์ต่อในคำพิพากษาว่า

“…พระบรมราชโองการถือว่าเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีลำดับศักดิ์ของกฎหมายเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ ซึ่งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดไว้เป็นพระราชอำนาจเกี่ยวกับราชการในพระองค์ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราโชวาทแต่ประการใด ดังนั้น ประกาศสถาบันกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยจึงมีฐานะเป็นกฎหมาย…”[13]

จากการแสดงเหตุผลทางกฎหมายในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาของคดีเช่นนี้ ศาลยุติธรรมได้แสดงออกทางการเมืองครั้งสำคัญให้ประจักษ์ว่าพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจสร้างกฎเกณฑ์ที่มีผลบังคับเป็นกฎหมายโดยพระองค์เพียงลำพังได้ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำและยินยอม หรือรับสนองพระบรมราชโองการขององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนอย่างคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภา โดยกฎเกณฑ์ดังกล่าวอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า “พระบรมราชโองการ” ซึ่งตามความหมายคำนี้ถูกนิยามไว้อย่างเรียบง่ายและความหมายชัดเจนโดยพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ว่าหมายถึง “คำสั่งราชการของพระมหากษัตริย์”

หากจะพูดง่ายๆ คือ ตามความเห็นทางการเมืองของศาลยุติธรรมแล้วคำสั่งของพระมหากษัตริย์ คือ กฎหมาย ซึ่งศาลยุติธรรมยินยอมพร้อมใจน้อมรับคำสั่งดังกล่าวมาเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับโทษกับธนกร หรือเพชร จำเลยในคดีนี้ โดยถือพระบรมราชโองการในประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ออกโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพวรางกูร รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายที่อธิบายขยายความหมายของมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา[14]

และเมื่อศาลยุติธรรมได้กล่าวสัจบทในคำพิพากษาถึงสถานะและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ว่ามีสถานะเป็นอันหนึ่งเดียวกับรัฐและผู้ทรงอำนาจสูงสุดของรัฐหรือองค์รัฏฐาธิปัตย์จนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลยุติธรรมก็ไม่ละเลยที่จะกล่าวถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ในเชิงศาสนาต่อ โดยถือว่าองค์พระมหากษัตริย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สูงส่งที่บุคคลต้องเคารพ ยำเกรง และจะมากล่าวหาหรือละเมิดมิได้[15] หากบุคคลใดที่อยู่ในฐานะที่ต่ำกว่าพระมหากษัตริย์กระทำการฝ่าฝืนหรือใช้เสรีภาพในการพูดตามรัฐธรรมนูญไปกระทบต่อสถานะดังกล่าว ศาลยุติธรรมได้นิยามลักษณะของบุคคลดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นบุคคลที่ “ขาดจิตสำนึกที่ดีและไม่รู้จักว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรในการแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์”[16]

จากการให้เหตุผลเช่นนี้ย่อมหมายความในทางสะท้อนกลับว่าตามความเห็นทางการเมืองของศาลยุติธรรมแล้ว บุคคลในประเทศไทยไม่ได้มีลักษณะที่เสมอภาคหรือเท่าเทียมกัน (inequality) แต่มีลำดับศักดิ์สูงต่ำไม่เท่ากันตามแต่การดำรงตำแหน่งต่างๆ ไปโดยปริยาย โดยบุคคลที่ศาลยุติธรรมมีลำดับศักดิ์สูงที่สุดในประเทศก็คือประมุขของชาติอย่างพระมหากษัตริย์

.

.

ส่วนประเด็นที่สอง ศาลยุติธรรมเริ่มจากการอธิบายว่าวาระของการดำรงตำแหน่งเป็นพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐมีระยะเวลาเท่าใด โดยศาลยุติธรรมมีความเห็นทางการเมืองโดยแบ่งพระมหากษัตริย์ออกเป็นทวิกายา คือ พระมหากษัตริย์ในฐานะส่วนพระองค์ (King) กับพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบัน (Crown) ที่ทรงเป็นประมุขของรัฐ บุคคลใดที่ได้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ในฐานะบุคคลใดก็ตามจะเป็นพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐไปตลอดกาล ไม่ว่าพระมหากษัตริย์ในฐานะบุคคลจะยังมีชีวิตหรือสวรรคตไปแล้วก็ตาม[17] ส่งผลให้อดีตพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ที่ร้อยเรียงสืบทอดราชสันติวงศ์ในราชวงศ์จักรีตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐทุกพระองค์[18]

นอกจากนี้ผลของอุดมการณ์ทางการเมืองของศาลยุติธรรมที่ถือว่าคำสั่งของพระมหากษัตริย์คือกฎหมาย  ทำให้ศาลรับเอาบรรดาเหตุผลต่างๆ ที่ปรากฎในพระบรมราชโองการในประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ให้มีสถานะเป็นกฎหมายที่ผูกพันต่อการใช้อำนาจตุลาการของศาลยุติธรรมด้วย ส่งผลให้ศาลตีความเพิ่มเติมต่อไปอีกว่าบรรดาพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ก็ดำรงตำแหน่งเป็นพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐเช่นกัน[19]

โดยสาเหตุทั้งหมดเราอาจจะกล่าวโดยสรุปอย่างเรียบง่ายได้ว่า เหตุที่ศาลยุติธรรมตีความคำว่า “พระมหากษัตริย์” ในมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ให้หมายถึงพระมหากษัตริย์ปัจจุบัน อดีตพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ ซึ่งถือว่าเป็นการตีความกฎหมายอาญาโดยขยายให้เป็นโทษกับธนกร หรือเพชร จำเลย อย่างชัดแจ้งเช่นนี้ ก็เป็นเพราะพระบรมราชโองการได้อธิบายเหตุและผลไว้เช่นนั้น ศาลยุติธรรมก็รู้สึกว่าต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพระมหากษัตริย์ที่เห็นว่ามีสถานะเป็นองค์รัฎฐาธิปัตย์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สูงส่งที่สุดของประเทศอย่างเคร่งครัด ทำให้ท้ายที่สุดแม้ว่าการกระทำตามคำฟ้องของธนกร หรือเพชร จำเลย จะเป็นกล่าวพาดพิงถึงอดีตพระมหากษัตริย์อย่างรัชกาลที่ 9 โดยตรง แต่ศาลยุติธรรมก็ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นในหลวง รัชกาลที่ 10 ด้วย[20] ทั้งนี้เพราะด้วยเหตุผลทางการเมืองของศาลยุติธรรมที่แฝงเอาไว้ในรูปเหตุผลทางกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด

.

การรับคุณค่าทางการเมืองของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้ามาในระบบกฎหมายสมัยใหม่โดยศาลยุติธรรม

หากพิเคราะห์ตามระบอบการเมืองที่ประเทศไทยประกาศอย่างเป็นทางการเอาไว้ในรัฐธรรมนูญว่าคือระบอบเสรีประชาธิปไตย[21] ที่สาระสำคัญของระบอบคืออำนาจสูงสุดของรัฐเป็นของประชาชน[22] มีความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย และได้รับการประกันสิทธิเสรีภาพและยอมให้มีส่วนร่วมในการแสดงเจตจำนงทางการเมือง[23] โดยพระมหากษัตริย์ในรัฐที่มีระบอบการปกครองเช่นนี้ ย่อมมีสถานะเป็นแต่เพียงองค์กรทางรัฐธรรมนูญที่ปฏิบัติหน้าที่ประมุขรัฐและมีอำนาจเฉพาะที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น[24]

การใช้และตีความรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยเหตุผลทางการเมืองของศาลยุติธรรมที่อยู่ในรูปแบบของคำพิพากษาข้างต้นว่า “พระมหากษัตริย์คือรัฐ พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดภายในรัฐ คำสั่งของพระมหากษัตริย์คือกฎหมาย ศาลยุติธรรมในฐานะองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวอย่างเคร่งครัด บุคคลในชาติไม่มีความเท่าเทียมหรือเสมอภาคกัน พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของชาติและสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของชาติมีฐานะเหนือกว่าบุคคลอื่น ประชาชนทั่วไปต้องเคารพยำเกรงและจะกระทำการใดๆ อันเป็นการล่วงละเมิดต่อพระมหากษัตริย์ไม่ได้ หากบุคคลใดฝ่าฝืนกระทำการดังกล่าวย่อมเป็นพวกขาดจิตสำนึกที่ดีและไม่รู้จักว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรในการแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์”

ย่อมแสดงได้ประจักษ์ชัดแจ้งว่าอุดมการณ์ที่ศาลยุติธรรมแฝงเอาไว้ในคำพิพากษา มิใช่อุดมการณ์ทางการเมืองแบบเสรีประชาธิปไตยอย่างแน่แท้ เพราะแม้แต่ประเทศที่เป็นต้นแบบของรัฐที่มีรูปของรัฐเป็นราชอาณาจักรและปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างสหราชอาณาจักรที่ในทางรัฐธรรมนูญถึงจะกำหนดให้ตราพระราชบัญญัติ ออกคำพิพากษาคดีต่างๆ กระทำในนามและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์หรือพระราชินีที่ดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของรัฐ และกำหนดพระองค์ยังมีพระราชอำนาจอีกมากมายทั้งการแต่งตั้งถอดถอนรัฐมนตรี เปิดประชุมและยุบสภาสามัญชน รวมถึงแต่งตั้งถอดถอนฐานันดรศักดิ์และเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ทั้งหมด แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าการใช้พระราชอำนาจดังกล่าวทั้งหมดพระมหากษัตริย์หรือพระราชินีไม่อาจใช้โดยลำพังได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำและยินยอมขององค์อื่นที่เชื่อมโยงกับประชาชนทั้งหมด ระบบรัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักรจึงถือว่าประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศหรือรัฎฐาธิปัตย์ ไม่ใช่พระมหากษัตริย์หรือพระราชินีแต่อย่างใด[25]

.

.

ด้วยเหตุนี้คำถามที่ต้องพิจารณาต่อมาคืออุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดที่ศาลยุติธรรมใช้ในการปฏิบัติการทางการเมืองผ่านคำพิพากษานี้ รวมถึงเป้าประสงค์ของปฏิบัติการทางการเมืองครั้งนี้คืออะไร และการค้นหาคำตอบต่อปัญหานี้เราอาจจะพิจารณาได้ผ่านสองวิธีการ คือ ศึกษาเปรียบเทียบสภาพปัญหาทางรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสถานะของพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศที่มีสภาพปัญหาคล้ายคลึงกับประเทศไทย ซึ่งคือ ญี่ปุ่น กับการพิจารณาโดยย้อนหลังกลับไปดูภูมิปัญญาในกฎหมายเก่าๆ ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 ว่าระบบกฎหมายไทยในยุคเก่ามีความคิดสอดคล้องอุดมการณ์ทางการเมืองของศาลยุติธรรมในปัจจุบันหรือไม่

เริ่มจากการเทียบเคียงปัญหากับกรณีของประเทศญี่ปุ่นซึ่งต้องย้อนกลับในช่วงที่รัฐธรรมนูญเมจิ (ค.ศ. 1889 – 1947) ยังมีผลบังคับใช้ ปัญหาใจกลางสำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ สถานะของจักรพรรดิในทางรัฐธรรมนูญคืออะไรและระหว่างจักรพรรดิกับประชาชน ใครเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดภายในรัฐ ซึ่งจะนำมาสู่การชี้ขาดว่าในท้ายที่สุดระบอบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญเมจิคือระบอบอะไร เดิมทีรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นในยุคสมัยที่เรียกว่าการปฏิรูปเมจิ (Meiji Restoration) โดยนำต้นแบบมาจากรัฐธรรมนูญปรัสเซีย ค.ศ. 1950 ทั้งนี้เพื่อต้องการปฏิรูประบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของญี่ปุ่นให้ทันสมัยขึ้น โดยมีการนำหลักการเสรีนิยมใหม่ๆ ของปรัสเซียเข้ามา เช่น ระบบรัฐสภา สิทธิทางรัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐ โดยที่จัดวางตำแหน่งแห่งที่ในทางรัฐธรรมนูญของหลักการใหม่ๆ เหล่านี้ ให้มีลำดับศักดิ์ที่ต่ำกว่าหลักอำนาจสูงสุดของรัฐเป็นของจักรพรรดิ[26]

ภายใต้การประสานสองหลักการที่ขัดแย้งระหว่างหลักสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับหลักการเสรีนิยมเช่นนี้ จึงนำมาสู่การตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญที่แตกต่างอย่างสุดขั้วออกไป 2 แนวทาง คือ แนวทางแรก ตีความรัฐธรรมนูญเมจิตามแนวคิดจารีตกฎหมายเก่าของญี่ปุ่นที่เรียกว่า “โคคุไท” (Kokutai) ซึ่งอธิบายว่าอำนาจทั้งหมดภายในรัฐเป็นของจักรพรรดิแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นสถาบันที่ดำรงอยู่คู่กับญี่ปุ่นมาโดยตลอด การสถาปนารัฐธรรมนูญเมจิขึ้นมาไม่กระทบต่อจารีตกฎหมายเก่านี้ เพราะเชื่อว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกสร้างขึ้นจักรพรรดิองค์แรกที่เป็นตัวแทนของสุริยเทพซึ่งสืบสายตระกูลมาแบบไม่ขาดสายจนถึงปัจจุบัน ด้วยความคิดเช่นนี้จึงทำให้ระบอบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญเมจิ คือ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ในขณะที่แนวทางสอง ตีความรัฐธรรมนูญโดยได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของนักกฎหมายชาวเยอรมันอย่าง Georg Jellinek ซึ่งอธิบายว่าอำนาจทั้งหมดภายในรัฐเป็นของนิติบุคคลมหาชนที่สำคัญที่สุด ซึ่งคือ“รัฐ” ในขณะที่พระจักรพรรดิมีสถานะเป็นเพียงองค์กรของรัฐ ซึ่งจะมีอำนาจเท่าที่กฎหมายอันออกโดยรัฐกำหนดไว้เท่านั้น ด้วยแนวคิดเช่นนี้จึงทำให้ระบอบการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญเมจิ จึงเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างแน่แท้[27]

โดยการเทียบเคียงภาพตัวอย่างประเทศที่ใกล้กับประเทศไทยเช่นนี้ จะทำให้เราเห็นภาพว่าอุดมการณ์ทางการเมืองที่ถูกบัญญัติไว้เป็นตัวอักษรในรัฐธรรมนูญของประเทศ น่าจะมีความขัดแย้งโดยตรงกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่ศาลยุติธรรมแสดงออกมาในคำพิพากษาเป็นแน่แท้ ดังนั้น หากอุดมการณ์ประชาธิปไตย อำนาจรัฐเป็นของประชาชน ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพที่ถูกเขียนเป็นตัวอักษรเอาไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2475  อุดมการณ์การเมืองที่มีลักษณะเป็นขั้วตรงข้ามจึงควรถูกตั้งข้อสันนิษฐานว่าเป็นจารีตทางกฎหมายเก่าที่เกิดขึ้นก่อนช่วงเวลาดังกล่าวอย่างมากและกฎหมายเก่าแก่ที่สุดในระบบกฎหมายไทยก็คือ “กฎหมายตราสามดวง” ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในราชอาณาจักรอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงก่อนการปฏิรูปการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5  

เมื่อพิจารณาจากจารีตทางกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับสังคมและสถาบันการเมืองที่แสดงออกมาในกฎหมายตราสามดวง เราจะพบว่าได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ ฮินดู และอารยะธรรมขอมอย่างมาก โดยสถานะของกฎหมายตราสามดวงถือว่ามีลักษณะเชื่อมโยงกับศาสนาสูง จึงเป็นเหตุให้กฎหมายตราสามดวงเป็นกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ (Scared law) ซึ่งมีที่มาจากสิ่งเหนือธรรมชาติ โดยวัตถุประสงค์ของกฎหมายตราสามดวงคือสร้างยุติธรรมให้เกิดขึ้นในโลกมนุษย์ นอกจากนี้โครงสร้างอำนาจทางการเมืองทั้งหมดก็มาจากกฎหมายตราสามดวงด้วย โดยบุคคลสำคัญที่จะนำกฎหมายตราสามดวงไปสร้างความยุติธรรมให้กับโลกมนุษย์ก็คือ พระมหากษัตริย์ ทำให้สถานะของพระมหากษัตริย์จึงมีความศักดิ์สิทธิ์และกลายเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดภายในรัฐตามขึ้นมาด้วย กฎหมายตราสามดวงจึงให้ความสำคัญกับพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์อย่างมากโดยกำหนดขั้นตอนและพิธีการที่บุคคลอื่นจะต้องปฏิบัติกับพระมหากษัตริย์ให้มีลักษณะพิเศษและสูงเด่นขึ้นมา  รวมถึงกำหนดโทษของบุคคลที่กระทำการล่วงละเมิดพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ไว้อย่างรุนแรง นอกจากนี้กฎหมายตราสามดวงยังสร้างสิ่งที่เรียกว่า “ศักดินา” ขึ้นมาเพื่ออธิบายว่าบุคคลในสังคมไทยมีลักษณะที่สูงต่ำไม่เท่ากัน และจัดวางให้พระมหากษัตริย์อยู่ในตำแหน่งยอดสูงสุดของสังคมศักดินา[28]

เมื่ออธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายตราสามดวงซึ่งเป็นกฎหมายที่สำคัญอย่างยิ่งของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในช่วงก่อนการปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ 5 เราจะพบว่าจารีตกฎหมายเก่าตามกฎหมายฉบับนี้สอดคล้องกับการแสดงเหตุผลทางการเมืองที่แฝงอยู่ในคำพิพากษาของศาลยุติธรรมในคดีมาตรา 112 ของ ธนกร หรือเพชร แบบเนื้อเดียวกัน

เมื่อมาถึงจุดนี้เราจึงวินิจฉัยได้อย่างเรียบง่ายได้ว่า การปฏิบัติการทางการเมืองของศาลยุติธรรมในการพิจารณาคดีนี้ด้วยอุดมการณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และในการปฏิบัติการครั้งนี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวว่าศาลยุติธรรมเป็นศาลในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่แฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญที่เต็มไปด้วยบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับเสรีประชาธิปไตย

.

บทส่งท้าย: แม้ลงโทษจำเลย แต่กลับเป็นการยืนยันความจริงและความบริสุทธิ์ของจำเลย

แม้ว่าคำปราศรัยตามคำฟ้องของธนกร หรือเพชร จำเลยในคดีนี้ที่กล่าวว่าประเทศไทยปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์[29] จะถูกตัดสินในทางคำพิพากษาโดยศาลยุติธรรมว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำมาสู่การพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นการฝึกอบรมในศูนย์ฝึกอบรมเยาวชนในท้ายที่สุด[30]

แต่สิ่งนี้ที่เป็นผลสะท้อนกลับจากปฏิบัติการทางการเมืองของศาลยุติธรรมในคดีนี้ ผ่านการแสดงเหตุผลทางการเมืองนอกประเด็นแห่งคดีที่ยืดยาวเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมืองของศาลยุติธรรมทั้งหมดข้างต้น กลับเป็นการยืนยันกับสังคมว่า แม้จำเลยจะถูกพิพากษาลงโทษตามกฎหมาย แต่คำพูดของจำเลยนั้นเป็นความจริงทุกประการ และธนกร หรือเพชร จำเลย ที่นำสืบในชั้นพิจารณาคดีว่าตัวคือบุคคลที่ต้องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย[31] คือผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกดปราบด้วยกลไกทางกฎหมายที่ยึดติดกับอุดมการณ์ของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเอง

.


       

อ้างอิงท้ายบทความ

[1] อนุชา อชิรเสนา, “สิทธิของพระบรมวงศานุวงศ์ในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง : ศึกษากรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2562” วารสารกฎหมาย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปีที่ 40, ฉบับที่ 1 (2564), 143-172.

[2] ยศสุดา หร่ายเจริญ, “การใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข: สะท้อนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ผ่านแนวทางปฏิบัติทางกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ”, วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ฉบับที่ 4 (2564), 664-678.

[3] สมชาย ปรีชาศิลปะกุล, “อำมาตย์ตุลาการอำพราง”, เว็บไซต์ The 101. World, สืบค้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566, จาก https://www.the101.world/path-for-judgeship/

[4] หยุด แสงอุทัย, กฎหมายอาญา ภาค 1, กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2556, 47.

[5] จิตติ ติงศภัทิย์ อธิบายในคำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1 ว่าความผิดอันมีลักษณะทางการเมืองสามารถแบ่งแยกประเภทได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ความผิดทางการเมืองในแง่เจตนา โดยท่านได้จัดให้บรรดาความผิดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107 ถึง มาตรา 135/4 และความผิดทางการเมืองที่เป็นอาชญากรรมธรรมดาซึ่งผู้กระทำได้กระทำโดยมีจุดประสงค์ทางการเมือง โปรดดู จิตติ ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา (ภาค 1), กรุงเทพมหานคร: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2546, น.29-31

[6] Lars Vinx and Garrett Zeitlin, “introduction: Carl Schmitt and the problem of realization of law” in Carl Schmitt’s early legal-theoretical writings, Cambridge, UK: Cambridge University Press, 2021, 3.

[7] ปิยบุตร แสงกนกกุล, “ทฤษฎีรัฐธรรมนูญ” ของ Carl Schmitt, รัฐศาสตร์สาร, ปีที 3, ฉบับที่ 3 (2557), 93-125.

[8] ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ. 2562 กำหนดให้ร่างคำพิพากษาในคดีเกี่ยวกับความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐซึ่งเป็นความผิดลักษณะการเมืองในแง่เจตนาอยู่ภายใต้การตรวจและรับทราบของผู้บริหารระดับสูงของศาลยุติธรรมอย่างอธิบดีผู้พิพากษาภาคกับประธานศาลฎีกา โปรดดู https://opsc.coj.go.th/th/content/category/detail/id/8/cid/1142/iid/132413

[9] จรัญ โฆษณานันท์, นิติปรัชญาแนววิพากษ์, กรุงเทพ : นิติธรรม, 2555, 31-35.

[10] ศาลเยาวชนฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี “เพชร” อ้าง ม.112 คุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ แต่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งเข้าศูนย์ฝึกอบรมฯ, เว็บไซด์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, สืบค้นจาก : https://tlhr2014.com/archives/50825

[11] คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง หมายเลขแดงที่ ยชอ345/2565, น.18-19.

[12] Hans Kelsen, General theory of law and state, (Massachusetts, Harvard university press, 1949), pp.255-258.

[13] คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง หมายเลขแดงที่ ยชอ345/2565, น.17-18.

[14] คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง หมายเลขแดงที่ ยชอ345/2565, น.8.

[15] คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง หมายเลขแดงที่ ยชอ345/2565, น.16.

[16] คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง หมายเลขแดงที่ ยชอ345/2565, น.20.

[17] คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง หมายเลขแดงที่ ยชอ345/2565, น.16.

[18] คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง หมายเลขแดงที่ ยชอ345/2565, น.18.

[19] คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง หมายเลขแดงที่ ยชอ345/2565, น.16-18.

[20] คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง หมายเลขแดงที่ ยชอ345/2565, น.19-20.

[21] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 2 และมาตรา 3

[22] วรเจตน์ ภาคีรัตน์, คำสอนว่าด้วยรัฐและหลักกฎหมายมหาชน, กรุงเทพมหานคร, สำนักพิมพ์อ่านกฎหมาย, 2564, 327.

[23] อ้างแล้ว, 31-32.

[24] วรเจตน์ ภาคีรัตน์, องค์กรอิสระตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, (กรุงเทพมหานคร : คณะกรรมการวิจัยและสัมมนา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550), 4-5.

[25] Martin Loughlin, Foundations of public law, New York : Oxford university press, 2010, 223-224.

[26] Frank O. Miller, Minobe Tatsukichi : Interpreter of Constitutionalism in Japan, Los Angeles: University of California Press, 1965, 5.

[27] ibid, 65-67.

[28] Eugenie Merieau, Constitutional bricolage: Thailand’s scared monarchy v.s. The Rule of law, New York: Hart Publishing, 2022. 33-41.

[29] คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง หมายเลขแดงที่ ยชอ 345/2565, น.2.

[30] คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง หมายเลขแดงที่ ยชอ 345/2565, น.19-21.

[31] คำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง หมายเลขแดงที่ ยชอ 345/2565, น.7-8.

.

X