6 พ.ย. 2566 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ของ “เพชร” ธนกร (สงวนนามสกุล) เยาวชนนักกิจกรรมผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) อายุ 20 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา บริเวณลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 โดยขณะเกิดเหตุธนกรมีอายุ 17 ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี แต่ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ 2 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยไปตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวที่ศูนย์ให้คำปรึกษา 2 เดือนต่อครั้ง และห้ามจำเลยกระทำผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก
.
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาในคดีนี้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้คำปราศรัยของจำเลยจะไม่ได้มีการกล่าวถึงพระนามของกษัตริย์พระองค์ใด แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี ไม่รอลงอาญา และอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 142 (1) เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นคุมประพฤติ นำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ขั้นสูงไม่เกิน 3 ปี
วันนี้ (6 พ.ย. 2566) ที่ห้องพิจารณา 10 เวลาประมาณ 10.00 น. ธนกร, บิดาของธนกร, ผู้รับมอบฉันทะของทนายความ, ผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ผู้สังเกตการณ์จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และเพื่อนของธนกร ทยอยเดินทางมาศาลเพื่อร่วมสังเกตการณ์และให้กำลังใจ
เวลา 12.10 น. หลังจากผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาในคดีอื่นเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ได้ออกมาเรียกธนกร ผู้ปกครอง และผู้รับมอบฉันทะของทนายความ โดยระบุว่ามีเพียงบุคคล 3 คนนี้เท่านั้นที่เข้าห้องพิจารณาได้ ทำให้ผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนและเพื่อนของธนกรต้องรออยู่หน้าห้องพิจารณา
ผู้พิพากษา สุเทพ ภักดิกมล อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี
พิเคราะห์รายงานของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนแล้วเห็นว่า ปัจจุบันจำเลยกำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ และพักอาศัยอยู่กับผู้ปกครอง เชื่อได้ว่าผู้ปกครองสามารถดูแลจำเลยได้ ที่อยู่อาศัยปัจจุบันของจำเลยและผู้ปกครองไม่มีเหตุของการมั่วสุม โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยไปตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวที่ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำและประสานการประชุมเพื่อแก้ไข บำบัด ฟื้นฟู เด็ก เยาวชนและครอบครัวของศาลชั้นต้น ปรึกษาและรับคำแนะนำที่เหมาะสมจากนักจิตวิทยา 2 เดือนต่อครั้ง และห้ามจำเลยกระทำผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
.
.
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง:
อ่านคำพิพากษาคดี ม.112 ของ “เพชร ธนกร” ในฐานะคำพิพากษาของศาลในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
อ่านฐานข้อมูล (DataBase) คดี: