ศาลเยาวชนฯ พิพากษาจำคุก 2 ปี “เพชร” อ้าง ม.112 คุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ แต่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งเข้าศูนย์ฝึกอบรมฯ

22 พ.ย. 2565 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “เพชร” ธนกร (สงวนนามสกุล) เยาวชนนักกิจกรรมผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) อายุ 19 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ”  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา บริเวณลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 โดยขณะเกิดเหตุธนกรมีอายุ 17 ปี 

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 ธนกรถูกพนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม แจ้งข้อกล่าวหา พร้อมกับชูเกียรติ แสงวงค์ และ วรรณวลี ธรรมสัตยา โดยคดีนี้มี จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้แจ้งความเอาไว้

ต่อมา วันที่ 9 เม.ย. 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 2 ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ทั้งนี้ธนกรถูกฟ้องโดยกล่าวหาจากเนื้อหาคำปราศรัยเกี่ยวกับการปกครองของไทยที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์ รวมทั้งกล่าวถึงการรัฐประหาร และเรียกร้องให้ปฏิรูปประเทศ

.

ศาลไม่อนุญาตให้องค์กรสิทธิเข้าร่วมสังเกตการณ์ ระบุเป็นคดีเยาวชน ด้าน “เพชร” แถลงต่อศาลประสงค์อยากได้บุคคลหรือองค์กรที่ไว้วางใจเข้าฟังการพิจารณาด้วย เพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอยภัย 

ที่ห้องพิจารณา 9 เวลาประมาณ 09.30 น. ธนกร, บิดาของธนกร, ผู้รับมอบฉันทะของทนายความ และผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร และผู้มาให้กำลังใจธนกรอีกส่วนหนึ่ง ทยอยเดินทางมาศาล 

เวลา 11.00 น. ก่อนเริ่มการพิจารณาคดี องค์คณะผู้พิพากษาศาลเยาวชนได้ชี้แจงว่า คดีนี้เป็นคดีเยาวชน จึงไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอก หรือผู้ที่ไม่ใช่คู่ความเข้าฟังคำพิพากษาในคดีนี้ 

ธนกรได้แถลงต่อศาลว่า เนื่องจากคดีที่ตนถูกกล่าวหานี้เป็นคดีเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ตนจึงต้องการให้มีบุคคลผู้ไว้วางใจ หรือองค์กรต่างๆ ร่วมเข้าฟังการพิจารณาคดี รวมถึงเน้นย้ำว่าตลอดการพิจารณาคดีที่ผ่านมา ธนกรแสดงความประสงค์ให้ผู้ไว้วางใจ และตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชน หรือตัวแทนสถานทูตต่างๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์  แต่ได้รับการปฎิเสธทุกครั้ง ทั้งที่ๆ เป็นความต้องการของตน ซึ่งเป็นเยาวชนคนหนึ่ง 

ศาลชี้แจงว่า หากองค์กรภายนอกต้องการเข้าฟังการพิจารณาคดีนี้ จะต้องทำหนังสือขออนุญาตศาลก่อน เพราะนี่เป็นคดีอาญาที่เกิดขึ้นในศาลเยาวชน ไม่ใช่ศาลผู้ใหญ่ ศาลจึงไม่อนุญาตให้เข้าฟัง หากไม่พอใจให้ทางจำเลยอุทธรณ์

ด้านเจ้าหน้าที่จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้แจ้งต่อศาลว่า ได้ทำหนังสือขออนุญาตต่อศาลมาแล้ว พร้อมกับยื่นส่งหนังสือให้องค์คณะผู้พิพากษาหน้าบัลลังก์ตรวจดูอีกรอบ 

อย่างไรก็ตาม ศาลตอบกลับมาเพียงสั้นๆ ว่า “ไม่อนุญาต” พร้อมอ้างว่าคดีนี้เป็นคดีชั้นความลับ หากจะเข้าฟังคำพิพากษาก็ต้องยื่นคำร้องต่อศาลใหม่ เพื่อดูว่ามีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือไม่ 

นอกจากนี้ ศาลยังชี้แจงอีกว่า หลังเสร็จคำพิพากษาแล้ว จำเลยจะคัดถ่ายคำพิพากษาเพื่อไปเผยแพร่ให้ใครอ่าน ย่อมเป็นสิทธิของจำเลย แต่การจะเอาบุคคลภายนอกมานั่งฟังคำพิพากษาในห้องพิจารณานี้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ศาลได้ใช้ดุลยพินิจของตนแล้ว “เห็นว่าไม่อนุญาต”   

เวลา 11.10 น. ธนกรได้ออกจากห้องพิจารณาคดี และเขียนคำร้องยื่นต่อศาลด้วยตนเอง ระบุโดยสรุปว่า มีความประสงค์จะให้เจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมฟังคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดีนี้ เนื่องจากเป็นบุคคลและองค์กรที่ตนไว้ใจ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความรู้สึกปลอดภัย และสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ตามกระบวนการพิจารณาคดีเด็กและศาลเยาวชน ตามมาตรา 108 (7) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนฯ และเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทยเป็นภาคี

ต่อมา 11.40 น. ศาลได้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปในช่วงบ่าย โดยขอหารือกับอธิบดีผู้พิพากษาของศาลเยาวชนฯ ก่อน 

เวลาประมาณ 14.50 น. ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ที่จำเลยร้องขอเข้าร่วมฟังการพิจารณา โดยเห็นว่าไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาทันที

คำพิพากษาโดยสรุปเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้คำปราศรัยของจำเลยจะไม่ได้มีการกล่าวถึงพระนามของกษัตริย์พระองค์ใด แต่เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองแค่กษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่คุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี ไม่รอลงอาญา 

ศาลเห็นว่าจากรายงานของสถานพินิจ จำเลยควรได้รับการฝึกอบรมเพื่อขัดเกลานิสัยความประพฤติสักระยะหนึ่ง อาจจะเป็นประโยชน์กับจำเลยมากกว่าโทษจำคุก อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นคุมประพฤติ นำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ขั้นสูงไม่เกิน 3 ปี ทั้งนี้ไม่เกินกว่าจำเลยมีอายุ ครบ 24 ปีบริบูรณ์

ส่วนคำขอของโจทก์ให้นับโทษจำคุก หรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยในคดีนี้เรียงต่อจากโทษจำคุก หรือระยะการฝึกอบรมของจำเลยในอีกคดีของศาลนี้ และในคดีปราศรัย #คนนนท์ไม่ทนเผด็จการ ของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี เนื่องจากยังไม่มีคำพิพากษาในคดีทั้งสอง ศาลจึงให้ยกคำขอในส่วนนี้

.

หลังฟังคำพิพากษา ที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างการอุทธรณ์คดี 

เวลา 16.35 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวธนกรระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักทรัพย์ ประกันตัว 30,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

อนึ่ง คดีของ “ธนกร” นี้ นับเป็นคดีของเยาวชนที่ถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 และต่อสู้คดีแล้ว ก่อนศาลมีคำพิพากษาออกมาเป็นคดีแรก 

X