ศาลอุทธณ์พิพากษายืนคดี ‘สิรภพ’ จำคุก 4 ปี 6 เดือน ระบุกษัตริย์เปรียบเสมือนสมมติเทพ เจ้าตัวยัน ม.112 เป็นเครื่องมือปิดปากของเผด็จการ คสช.

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ที่ศาลอาญา รัชดา มีนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของ สิรภพ กวีเจ้าของนามปากกา “รุ่งศิลา” ที่ถูกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีกล่าวหาเป็นผู้โพสต์บทความ บทกลอนและภาพล้อเลียนบนเฟซบุ๊กส่วนตัว, เว็บบอร์ด-ของสำนักข่าวประชาไทและเว็บไซต์ส่วนตัว จำนวนรวม 3 ข้อความ ในปี 2552, 2556 และ 2557 หลังต่อสู้คดีมา 8 ปี

คดีนี้เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 หลังสิรภพต่อสู้คดีในศาลทหารและได้โอนย้ายคดีมายังศาลพลเรือนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าสิรภพมีความผิดตามมาตรา 112 สองกรรม ยกฟ้องหนึ่งกรรม โดยให้ลงโทษจำคุก กรรมละ 3 ปี แต่เนื่องจากการให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้หนึ่งในสี่ เหลือกรรมละ 2 ปี 3 เดือน รวมแล้วจำเลยต้องรับโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยจำคุกมาเกินกว่าโทษจึงไม่ต้องขังอีก 

ด้วยความยีดมั่นในเจตนารมย์ว่าจะต่อสู้เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงและต้องการแสดงให้เห็นว่ามีการใช้กฎหมายมาตรา 112 เป็นเครื่องมือในการปิดปากผู้เห็นต่างทางการเมือง หลังจากฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น สิรภพได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่รอคอยทำข่าวและยืนยันว่าตนจะอุทธรณ์คดีต่อไปอย่างแน่นอน

ผ่านมาหนึ่งปีครึ่งนับจากวันที่ได้ให้คำสัมภาษณ์ไว้ สิรภพเดินทางมาถึงศาลอาญา ตั้งแต่ก่อน 10.00 น. เพื่อฟังคำพิพากษาศาลอุทธณ์ตามนัดในห้องพิจารณาคดี 802 

ด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยของศาลมีตำรวจศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประมาณ 4-5 คน คอยยืนเฝ้าระวังทั้งภายในและภายนอกห้องพิจารณา ศาลขึ้นบัลลังก์เพื่อพิจารณาคดีอื่นก่อนแล้วในช่วงเช้าวันนี้ 

หลังจากนั้นราวเวลา 11.30 น. ศาลจึงเริ่มอ่านคำพิพากษาศาลอุทธณ์ในคดีของสิรภพ โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น มีเนื้้อหาหักล้างและโต้แย้งว่าข้ออุทธรณ์ของจำเลยนั้นยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอและยังฟังไม่ขึ้น รวมถึงไม่มีการปรับแก้ไขโทษแต่อย่างใด 

หลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น สิรภพและทนายความได้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษาตามระเบียบ และจึงเดินทางออกจากศาล ก่อนจะเดินไปขึ้นรถ สิรภพได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลการพิพากษาดังกล่าวไว้เล็กน้อยว่าการใช้มาตรา 112 นั้น เป็นผลมาจากความพยายามในการจัดการผู้เห็นต่างทางการเมืองของ คสช.

“มันมีการสอบสวนจากทหารที่เอาผมไปควบคุมตัวไว้ 7 วันช่วงรัฐประหารปี 57” สิรภพเล่าถึงเหตุการณ์ช่วงที่ตนถูกจับกุมตัว

“ในระหว่างสอบสวน ผมไม่ได้รับสิทธิ์ได้พบทนายหรือที่ปรึกษาทางกฎหมายใดๆ เป็นการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่จำนวนกว่าสิบคน เหมือนรุมกันเข้ามา คุณนึกภาพออกไหม และก็ถามเรื่อยเปื่อย บันทึกตรงไหนเราก็ไม่ทราบ คุยไปเรื่อยหลอกเราไปเรื่อย” 

สิรภพยังคาดการณ์ถึงแรงจูงใจเบื้องหลังการดำเนินคดี “ตอนนั้นผมยังไม่รู้ด้วยว่าจะเอามาตรา 112 มาฟ้อง เพราะตอนแรกผมถูกจับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ซึ่งตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะไปแล้ว 

“มาตรา 112 จึงเป็นเหมือนล็อกที่เอาไว้จัดการกับคนที่มีพฤติกรรมขัดขืนเขา และผมถูกมองว่าน่าจะมีส่วนรู้ส่วนเห็นในเรื่องอาวุธ เพราะผมเขียนบทความเกี่ยวกับอาวุธและการทหารในช่วงนั้นแรงบ่อย แรงในที่นี้หมายถึงบทความและเนื้อหาที่เขาไม่อยากให้เผยแพร่ ฝ่ายทหารเขาเพ่งมองผมตรงนี้” 

.

พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ระบุว่าพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนสมมติเทพ ภาพล้อเลียน “เทวดา” จึงเข้าใจได้ว่าหมายถึงในหลวงรัชกาลที่ 9  

สำหรับคำพิพากษาศาลอุทธณ์ ซึ่งลงนามโดยทวีศักดิ์ จันทร์วีระเสถียร, มณฑิรา ศิลปศร เชื้ออินทร์ และสุริยนตร์ โสตถิทัต มีใจความว่า เบื้องต้นจำเลยยอมรับว่าเป็นผู้เขียนภาพการ์ตูนล้อเลียนและข้อความในเว็บไซต์เฟซบุ๊กและเว็บไซต์ส่วนตัวของจำเลยตามฟ้องจริง คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่

ประเด็นแรก จากบันทึกบทสนทนาทางเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลยกับคู่สนทนาที่ใช้นามแฝงว่า “พลังงาน เฉียบขาด” แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 การที่จำเลยจะมีเจตนาหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นหรือไม่ จะถือตามความเข้าใจของจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำไม่ได้ จะต้องพิจารณาจากภาพการ์ตูนล้อเลียนและข้อความที่จำเลยเป็นผู้เขียน ตลอดจนบทเพลงที่จำเลยคัดลอกมาใส่ไว้ในภาพการ์ตูนล้อเลียนประกอบกัน นอกจากนี้เมื่อเป็นภาพการ์ตูนล้อเลียน จึงไม่จำเป็นต้องมีหน้าตาและการแต่งกายให้เหมือนจริงเสียทีเดียว แต่หากจะเป็นการสื่อถึงบุคคลตามฟ้องก็เป็นความผิดแล้ว

ประเด็นที่สอง การที่จำเลยเขียนภาพการ์ตูนล้อเลียนสวมแว่นตาดำโดยที่มือข้างซ้ายกำด้ามขวาน ซึ่งมีสีธงชาติไทยอันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังสวมชฎาและมีกระบี่อยู่ด้านซ้ายคล้ายกับเครื่องทรงในงานพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์และจำเลยยังใช้ชื่อภาพการ์ตูนล้อเลียนว่า “เทวดา” ซึ่งเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าสถาบันของพระมหากษัตริย์กับสังคมไทยมีความผูกพันกันมาอย่างยาวนาน ฐานะของพระมหากษัตริย์จึงถูกยกให้เป็นดังสมมติเทพ เป็นที่เคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้เหนือเกล้าฯ ตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล 

ดังนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะทำให้บุคคลผู้พบเห็นภาพการ์ตูนล้อเลียนดังกล่าวว่าเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างว่าภาพการ์ตูนล้อเลียนนั้นเป็นตัวแทนของอำนาจนิยมเผด็จการ ไม่ใช่หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่จำเลยก็ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยต้องการสื่อถึงบุคคลใด จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง แม้การกระทำของจำเลยจะไม่เกิดผลเพราะไม่มีใครเชื่อก็ตาม ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 14 (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่สาม ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ในทำนองว่า ตามที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องในบางกระทงนั้น มิใช่กรณีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 คดีนี้โจกท์มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น 

ดังนั้น ข้อกล่าวหาในกระทงนั้นจึงเป็นที่สุดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นอ้างดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย พิพากษายืน

.

.

มูลเหตุแห่งคดี 8 ปีนับถูกจับกุม จากฝ่าฝืน คสช. สู่ข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ 

สำหรับมูลเหตุแห่งคดีนี้ต้องย้อนกลับไป 8 ปี วันที่ 25 มิ.ย. 2557 สิรภพถูกจับกุมตัวในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งไม่รายงานตัวกับ คสช. ระหว่างที่กำลังเดินทางจากจังหวัดกาฬสินธุ์ไปยังอุดรธานี และควบคุมตัวไว้ที่ห้องขังของกองปราบปราม ต่อมาจึงถูกควบคุมตัวไปศาลทหารเพื่อขออำนาจฝากขัง ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัว 

แต่ต่อมาสิรภพถูกเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญกรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) อายัดตัวเขาไปสอบสวนต่อในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯกรณีที่เขาโพสต์บทความ บทกลอน และภาพล้อเลียนลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เว็บบอร์ดประชาไท และเว็บไซต์ส่วนตัว ซึ่งสำนวนการสอบสวนและการพิจารณาคดีแบ่งแยกการกระทำความผิดฐานดังกล่าวออกเป็นสามกระทง 

กระทงที่หนึ่ง บทกลอนหัวข้อ “ปิดข่าวบอดเขลากระบือร่ำไห้ ด้วยว่าพยัคฆาจักวาย” 

กระทงที่สอง ข้อความว่า “เป็นเทวดา แล้วใยต้องมาเดินดิน ลืมเพดานดิน ถึงกินข้าวแกง ทุกมื้อ เจียมตัวตน เพราะเราเป็นคน ซื่อๆ สองมือ นี่สร้างตัวเอง” และภาพการ์ตูนล้อเลียนเป็นชายแก่ใส่แว่นตา สวมชฎา ใส่ชุดเครื่องแบบทหารเต็มยศ พกซองปืนและห้อยกระบี่ มือขวาชี้นิ้วขึ้นด้านบน มือซ้ายกำแผนที่ประเทศไทยและที่แขนเสื้อติดเครื่องหมายสวัสดิกะ (นาซี) 

และกระทงที่สาม ข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนในหัวข้อ “เชื้อไขรากเหง้า ‘กบฎบวรเดช’ ที่ยังไม่ตายของเหล่าทาสที่ปล่อยไม่ไป” โดยลงภาพล้อเลียนเหมือนกระทงที่สองแต่มีมือสองข้างชักใยอยู่ด้านบน มีภาพถ่ายและข้อความประกอบว่า พระองค์เจ้าบวรเดชฯ หัวหน้ากบฎ, ดิ่น ท่าราบ แม่ทับกบฎ, สุรยุทธ จุลานนท์ หลานตากบฎ, เทวดา ประมุขกบฎ, สุเทพ เทือก สุบรรณ โจรใต้กบฎ, สนธิ ลิ้มทองกุล เจ๊กกบฎ

คดีนี้ถูกสอบสวนและดำเนินคดีในศาลทหารมาโดยตลอด โดยศาลทหารสั่งพิจารณาเป็นการลับ และยังสิรภพไม่ได้รับการประกันตัวเป็นระยะเวลารวม 4 ปี 11 เดือน 22 วัน ทั้งเขายืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ขอต่อสู้คดีเรื่อยมา ก่อนศาลทหารจะอนุญาตให้ประกันตัวด้วยวางเงิน 500,000 บาท เมื่อเดือน มิ.ย. 2562

เมื่อมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2565 ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่หมดความจำเป็น คดีนี้จึงถูกโอนย้ายมายังศาลพลเรือน และดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีต่อ จนศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 โดยยกฟ้องในกระทงที่หนึ่ง แต่ลงโทษในอีกสองกระทงหลัง 

“จะต้องขอคุยปรึกษากับจำเลยก่อนว่าจะมีแนวทางต่อสู้คดีหรือฎีกาอย่างไรต่อไปได้บ้าง” ทนายความที่รับผิดชอบคดีของสิรภพกล่าวทิ้งท้ายเมื่อถามถึงว่าจะมีการฎีกาคดีต่อไปหรือไม่

.

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สนทนากับ “รุ่งศิลา” กวีที่แลกอิสรภาพเกือบ 5 ปี สู้คดี 112 ในวันที่สังคมยังหวาดกลัว

การเติบโตภาคบังคับของลูกสาวพ่อ : 4 ปี กับชีวิตและความเป็นไปของครอบครัว “สิรภพ” ผู้ต้องขังคดีม.112

เปิดคำเบิกความพยานคดี 112 “สิรภพ” การช่วงชิงความหมายของภาพและข้อความ สื่อว่า ร.9 ก่อความวุ่นวาย-อยู่เบื้องหลังรัฐประหารหรือไม่

5 ปีการคุมขัง: คณะทำงานฯ UN เรียกร้องปล่อยตัว “สิรภพ” คดี 112 ชี้เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ

ดูข้อมูลคดีของสิรภพ 

.

X