เปิดคำเบิกความพยานคดี 112 “สิรภพ” การช่วงชิงความหมายของภาพและข้อความ สื่อว่า ร.9 ก่อความวุ่นวาย-อยู่เบื้องหลังรัฐประหารหรือไม่

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2563 รัฐหันกลับมาใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับประชาชน นักศึกษา ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพียงเวลาแค่ 2 เดือนมีผู้ถูกดำเนินคดีในมาตรานี้แล้วอย่างน้อย 55 รายใน 42 คดี ซึ่งมีจำนวนเกือบเท่ากับคดีมาตรา 112 ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในช่วง 5 ปีของยุค คสช. (22 พ.ค. 2557 – 16 ก.ค. 2562) 

หลัง คสช.ทำรัฐประหารในปี 2557 ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว ข้อหาตามมาตรา 112 หรือข้อหาอื่นๆ ต้องเผชิญกับมาตรการที่ละเมิดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เช่น ถูกควบคุมตัวไปซักถามในค่ายทหาร พิจารณาคดีในศาลทหาร ซึ่งมีกระบวนการที่ล่าช้า กินเวลาหลายปีถึงจะเสร็จสิ้น ทำให้ปัจจุบันแม้สิ้นสุดยุค คสช.แล้ว แต่คดีความหลายคดีภายใต้ยุค คสช.ยังไม่สิ้นสุด 

นอกจากนี้สำหรับผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 มักไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวให้ออกมาสู้คดี บีบบังคับให้หลายคนต้องรับสารภาพเพื่อให้ถูกจองจำน้อยที่สุด และสำหรับผู้ที่ยืนยันให้การปฏิเสธ ต้องเผชิญกับการพิจารณาคดีอันยืดเยื้อ ซึ่งส่วนมากใช้เวลากว่า 4-5 ปีกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ขณะที่ต้องต่อสู้คดีอยู่ในเรือนจำเพราะศาลไม่ให้ประกันตัว

ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา “สิรภพ” หรือที่รู้จักในนามปากกาบนโลกออนไลน์ว่า “รุ่งศิลา” เป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ยืนยันให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี แม้จะต้องแลกกับอิสรภาพในชีวิตไปเกือบ 5 ปีให้กับเรือนจำ จากการถูกกล่าวหาว่าบทกลอนและบทความ 3 ข้อความ ที่เผยแพร่บนเว็บบอร์ดประชาไทและเว็บส่วนตัวในปี 2552, 2556 และ 2557 มีเจตนาสื่อถึงกษัตริย์รัชกาลที่ 9 ชี้ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความวุ่นวายทางการเมือง และการรัฐประหาร 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทบทวนเส้นทางการต่อสู้ในกระบวนการ “ยุติธรรม” อันยืดเยื้อยาวนานของสิรภพ ประเด็นการต่อสู้คดีของโจทก์-จำเลย ที่ต่างช่วงชิงการให้ความหมายและตีความข้อความ-รูปภาพ และคำเบิกความของจำเลยที่รอเวลาถึง 6 ปีกว่าจะได้อธิบายเจตจำนงของตน

สิรภพในวันปล่อยตัว หลังถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีถึง 4 ปี 11 เดือน

.

การดำเนินคดีอันยืดเยื้อ-ยาวนานกว่า 6 ปีในศาลทหาร-พลเรือน และการจองจำระหว่างพิจารณาที่ยาวนานที่สุดในยุค คสช.

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2557 ไม่ถึง 2 เดือนหลัง คสช. เข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน สิรภพถูกเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าจับกุมในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” และมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หลังถูกควบคุมตัวไปในค่ายทหารเป็นเวลา 7 วัน ถูกนำตัวไปดำเนินคดีฐานฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. และได้รับการประกันตัวในคดีดังกล่าว

สิรภพให้การปฏิเสธ และยืนยันต่อสู้คดี แม้คดีของเขาต้องถูกพิจารณาในศาลทหาร ในช่วงเวลาที่ประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พ.ค. 2557 มีผลบังคับใช้ และแม้ทนายความจะคัดค้านเขตอำนาจศาลว่า คดีของพลเรือนควรพิจารณาที่ศาลพลเรือนเท่านั้น แต่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลมีคำสั่งให้คดีนี้อยู่ภายใต้การพิจารณาของศาลทหาร ซึ่งระหว่างการวินิจฉัยเขตอำนาจศาลต้องงดการสืบพยานเป็นเวลาเกือบ 1 ปี ก่อนมีคำสั่งชี้ขาด

ในระยะเวลา 5 ปีของการพิจารณาคดีในศาลทหาร  ศาลทหารสืบพยานโจทก์ไปได้เพียง 4 ปาก และยังมีคำสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ แม้แต่ครอบครัวของสิรภพก็ไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ 

ที่สำคัญคือ การสืบพยาน 1 ปากอาจใช้ระยะเวลาสืบยาวนานหลายเดือน บางปากก็ใช้เวลาถึง 1 ปี นื่องจากศาลทหารใช้นโยบายนัดคดีแบบ “นัดต่อนัด” ไม่ได้นัดสืบพยานต่อเนื่องเหมือนศาลยุติธรรม ถ้าหากในนัดนั้นพยานโจทก์ไม่สามารถมาศาล เนื่องจากติดภารกิจ ก็ต้องเลื่อนนัดสืบพยานออกไปเป็นเดือน นอกจากนี้ ศาลทหารยังนัดสืบพยานเพียงแค่ช่วงเช้าเท่านั้น หากฝั่งโจทก์-จำเลยต้องการสืบประเด็นใดเพิ่ม มักยกไปสืบในนัดถัดไป จากสถิติที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนบันทึกไว้ ศาลทหารนัดสืบพยานคดีนี้ทั้งหมด 22 นัด มีการเลื่อนนัด 8 ครั้ง โดยทั้งหมดเกิดจากพยานโจทก์ซึ่งเป็นพลเรือนไม่มาศาล

เช่น การสืบพยานโจทก์ปากที่ 1 พ.ต.ท.โอฬาร สุขเกษม ผู้กล่าวหาร้องทุกข์ในคดี ใช้เวลาถึง 3 นัดกินเวลากว่า 4 เดือน ขณะที่พยานโจทก์ปากที่ 2 และปากที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลทั่วไปที่พนักงานสอบสวน บก.ปอท.นำข้อความตามฟ้องให้อ่านเพื่อถามความเห็นต่อข้อความ ใช้เวลาถึง 1 ปี กว่าจะสืบพยานแต่ละปากเสร็จ เพราะมีบางนัดที่ต้องเลื่อนออกไป เหตุพยานติดภารกิจหรือเจ็บป่วย 

และระหว่างเส้นทางอันยาวไกลในกระบวนการยุติธรรมบนศาลทหาร พยานบุคคล 1 ปากที่จำเลยระบุว่าจะนำเข้าเบิกความเป็นพยาน คือ รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้เสียชีวิตในปี 2560 ก่อนที่จะมีโอกาสเข้าเบิกความ 

นอกจากนี้ สิรภพยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวออกมาต่อสู้คดีหลังยื่นประกันตัวต่อศาลทหารถึง 7 ครั้ง ในวงเงินสูงสุด 500,000 บาท เขาใช้ชีวิตในเรือนจำเป็นเวลาทั้งหมด 4 ปี 11 เดือน นับเป็นจำเลยคดี ม.112 ในยุค คสช.ที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาที่ยาวนานที่สุด  ก่อนศาลทหารให้ประกันในวงเงิน 500,000 บาท หลังคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) กลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ลงความเห็นว่ากรณีการคุมขังสิรภพเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวสิรภพโดยทันที

อ่านข้อสังเกตการพิจารณาคดีบนศาลทหาร>> ความล่าช้าในศาลทหาร: คดีพลเรือนยังดำเนินอยู่ แม้ไร้เงา คสช.

>> ความคิดเห็นของคณะทำงานของสหประชาชาติต่อการคุมขังเกือบ 5 ปีของสิรภพ

.

จนในเวลาต่อมา มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 ลงวันที่ 9 ก.ค. 2562 ให้โอนย้ายคดีพลเรือนที่ยังพิจารณาอยู่ในศาลทหารไปให้ศาลยุติธรรมพิจารณาคดีต่อ รวมไปถึงคดีของสิรภพ ซึ่งศาลอาญานัดสืบพยานต่อจากศาลทหารในวันที่ 24-26 พ.ย. 2563 โดยไม่ได้นำคดีมาพิจารณาใหม่ว่าควรจะรับฟ้องหรือไม่แต่อย่างใด และแม้ในการสืบพยานต่อจากศาลทหาร ศาลอาญาไม่ได้มีคำสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ แต่ก็กล่าวกับประชาชนที่จะเข้าฟังการพิจารณาคดีว่า ไม่อยากให้เข้ามาฟัง เนื่องจากเป็นคดี 112 มีถ้อยคำที่ละเอียดอ่อน 

.

การช่วงชิงความหมายของบทกลอน-ข้อความ-รูปภาพ ระหว่างโจทก์-จำเลย

คดีนี้โจทก์และจำเลยนำพยานบุคคลเข้าสืบทั้งหมด 9 ปาก โดยเป็นการสืบพยานโจทก์ในศาลทหารกรุงเทพรวม 4 ปาก ได้แก่  พ.ต.ท.โอฬาร สุขเกษม ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี, ภรภัทร อธิเกษมสุข และทรงวุฒิ รมยะพันธุ์ พยานความเห็น บุคคลทั่วไปที่พนักงานสอบสวนให้อ่านบทความของรุ่งศิลา, พงศธร วรรณสุคนธ์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ บก.ปอท. ซึ่งได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบการใช้เว็บประชาไท-เฟซบุ๊ก-บล็อคของสิรภพ 

พยานอีก 5 ปาก ที่สืบในศาลอาญา เป็นพยานโจทก์ 4 ปาก ได้แก่ ภัทรมาศ ชำนิบริบาล พยานความเห็น บุคคลทั่วไป, พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ผู้รับแจ้งความจาก พ.ต.ท.โอฬาร, ร.ต.อ.อนุชิต ทวีพร้อม พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ผู้รับสำนวนต่อจาก พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร, พล.ต.ต.ชนะชัย ลิ้มประเสริฐ ผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และพยานจำเลย 1 ปาก คือ สิรภพ

พฤติการณ์ที่สิรภพถูกดำเนินคดี ปรากฎตามเอกสารคำฟ้องของอัยการศาลทหารกรุงเทพ ลงวันที่ 24 ก.ย. 2557 ดังนี้ 

ก. เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2552 สิรภพได้เขียนและโพสต์บทกลอนในเว็บบอร์ดของเว็บไซต์ “ประชาไท” โดยใช้นามแฝงว่า “รุ่งศิลา” ซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ยังคงปรากฏอยู่ในเว็บบอร์ดดังกล่าวจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2557 ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว อันเป็นวันและเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และเมื่ออ่านบทกลอนทั้งหมดย่อมทำให้ประชาชนทั่วไปรับรู้หรือเข้าใจในทำนองที่ไม่ต้องให้ความเคารพเทิดทูนในรัชกาลที่ 9 อีกต่อไป อันเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท และดูหมิ่นกษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม

ข. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2556 สิรภพได้โพสต์าพการ์ตูนล้อเลียนรูปชายแก่ใส่แว่นตา สวมชฎา แต่งเครื่องแบบทหาร มือซ้ายกำแผนที่ประเทศไทย และข้อความที่กล่าวถึงเทวดาเดินดิน  ในเฟซบุ๊กชื่อบัญชี “Sira Rungsira” โดยใช้นามแฝงว่า “รุ่งศิลา”  ข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนดังกล่าวซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ยังคงปรากฏอยู่จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2557 ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว เมื่อดูภาพและข้อความย่อมต้องเข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ 9 และความหมายของข้อความเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท และดูหมิ่นกษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม

ค. เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2557 สิรภพได้โพสต์ภาพการ์ตูนล้อเลียนในฟ้องข้อ ข พร้อมกับภาพของพระองค์เจ้าบวรเดช, ดิ่น ท่าราบ, สุรยุทธ์ จุลานนท์, สุเทพ เทือกสุบรรณ และสนธิ ลิ้มทองกุล มีสองมือชักใยอยู่ด้านบน และข้อความบรรยายภาพที่กล่าวถึงเทวดา ประกอบบทความหัวข้อ “เชื้อไขรากเหง้า “กบฏบวรเดช” ที่ยังไม่ตาย ของเหล่าทาสที่ปล่อยไม่ไป” ลงในเว็บไซต์ Blogspot โดยใช้นามแฝงว่า “รุ่งศิลา” ข้อความและภาพการ์ตูนล้อเลียนดังกล่าวซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ยังคงปรากฏอยู่จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2557 ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว เมื่อดูภาพการ์ตูนล้อเลียนรูปชายแก่ใส่แว่นตา สวมชฎา และอ่านข้อความ ย่อมต้องเข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ 9 และความหมายของข้อความเป็นการสื่อให้บุคคลทั่วไปไม่ต้องให้ความเคารพศรัทธารัชกาลที่ 9 อีกต่อไป อันเป็นการใส่ความ หมิ่นประมาท และดูหมิ่นกษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม

.

พยานโจทก์ชี้ภาพ-ข้อความสื่อถึงรัชกาลที่ 9 ตั้งใจให้ประชาชนไม่เคารพเทิดทูนกษัตริย์ 

ประเด็นหลักในการนำสืบพยานของโจทก์ คือ การสอบถามพยานโจทก์ถึงความเห็นต่อบทความ-บทกลอนว่าพยานตีความว่าอย่างไร เจตนาของจำเลยต้องการล้อเลียนกษัตริย์รัชกาลที่ 9 และสื่อว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เบื้องหลังความวุ่นวายทางการเมืองหรือไม่ 

บทกลอนบนเว็บบอร์ดประชาไทปี 52 ยุให้ประชาชนไม่เคารพรัชกาลที่ 9 ซึ่งขณะนั้นกำลังประชวรหนัก

พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชรและพยานความเห็น เช่น ทรงวุฒิ เบิกความว่าคำว่า “บอด” นั้นต้องการสื่อถีงรัชกาลที่ 9 เนื่องจากรัชกาลที่ 9 เคยประสบอุบัติเหตุทำให้ตาสูญเสียการมองเห็น 1 ข้าง และพยานความเห็นทั้ง 3 คน เบิกความถึงข้อความที่จำเลยเขียนว่า หมายถึง ไม่ต้องสนใจรัชกาลที่ 9 ที่กำลังประชวรหนักอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช 

ส่วนคำว่า “บอร์ดใหม่” นั้น พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชรไม่เข้าใจว่า สื่อถึงอะไร เนื่องจาก พ.ต.ท.โอฬาร ผู้แจ้งความไม่ได้อธิบายไว้ ส่วน ร.ต.อ.อนุชิต รวมไปถึงภัทรมาศก็ไม่เข้าใจความหมายของคำและข้อความที่มีคำดังกล่าวเช่นกัน 

ทรงวุฒิและภรภัทร ประชาชนที่เป็นพยานความเห็นเบิกความสอดคล้องกันในศาลทหารถึงความหมายของคำว่า “พยัคฆา” ว่าน่าจะหมายถึงรัชกาลที่ 9 ส่วน “สุกร” และ “กระบือ” หมายถึงประชาชนที่สวดมนต์ขอให้รัชกาลที่ 9 หายพระประชวร และเห็นว่าคำว่า “คนเชือด” หมายถีงรัชกาลที่ 9 โดยผู้เขียนต้องการสื่อให้คนอ่านเข้าใจว่า รัชกาล 9 ทำร้ายประชาชน เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเข่นฆ่าผู้ชุมนุมในปี 2552-2553 

พยานความเห็นทั้งสามยังเบิกความด้วยว่า ในชีวิตของพยานเห็นรัชกาลที่ 9 ทรงงานหนักมาโดยตลอด สำหรับทรงวุฒิซึ่งเป็นชาวเพชรบุรีจึงเห็นรัชกาลที่ 9 ทำโครงการพระราชดำริที่หุบกระพง ทรงปรับปรุงที่ดินให้มีราคาแพงได้ จึงเห็นว่า บทกลอนนี้จึงตั้งใจใส่ร้ายและใส่ความกษัตริย์

ส่วนพยานที่เบิกความในศาลอาญา หลังอัยการขอให้แสดงความเห็นว่า เมื่ออ่านบทกลอนแล้วเข้าใจว่าสื่อถึงหรือเกี่ยวโยงกับสถาบันกษัตริย์หรือไม่ ภัทรมาศไม่ขอให้ความเห็น แม้จะเข้าใจว่าจำเลยต้องการสื่ออะไร แต่ไม่ต้องการพูดถึงเนื่องจากพยานรักและเทิดทูนรัชกาลที่ 9 ก่อนที่ศาลจะให้พยานอธิบายตามที่เข้าใจ ภัทรมาศจึงเบิกความว่า จำเลยสื่อว่า รัชกาลที่ 9 ต้องการให้มีแต่เว็บบอร์ดที่ปิดหูปิดตา ปิดข่าวผู้คน เป็นคนไม่ดี พูดจากลับกลอกปลิ้นปล้อน แต่พยานไม่คิดว่าเป็นความจริง เพราะพยานรัก ร.9 และทราบดีว่า ร.9 ไม่ได้เป็นเช่นนั้น 

อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์เหล่านี้ไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่า บทกลอนบางตอนมีความหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์อย่างไร เช่น ร.ต.อ.อนุชิต ที่เบิกความว่า บทกลอนท่อน “จําหนึ่งดาหน้า กล้าเป็นร้อย ฆ่าร้อยคอยพบ รบเป็นแสน” สื่อว่ารัชกาลที่ 9 คุกคามขู่เข็ญประชาชน แต่ไม่สามารถอธิบายได้ว่า การคุกคาม ขู่ประชาชนนี้หมายถึงอย่างไรหรือส่งผลต่ออะไร และพยายามโยงกับรูปมือชักใยตามคำฟ้องข้อ ค แต่ศาลแย้งว่าข้อความนั้นเกิดกันคนละบริบทเวลา เนื่องจากกลอนนี้เผยแพร่ปี 52 ก่อนหน้ารูปตามคำฟ้องข้อ ค สุดท้าย พยานโจทก์จึงตอบว่าไม่ทราบความหมายของกลอนบทดังกล่าว ส่วนทรงวุฒิชี้ว่าการขู่ฆ่าครั้งนี้ตรงกับสถานการณ์การเมืองของประเทศไทยที่มีการฆ่าคนเสื้อแดง 99 ศพในปี 2553 ทั้งที่จำเลยโพสต์บทกลอนในปี 52

รูปชายแก่สวมมงกุฎ ใส่แว่นตาประกอบข้อความ “เทวดาเดินดิน” สื่อถีงรัชกาลที่ 9 ในเชิงล้อเลียน

พยานโจทก์ เช่น พล.ต.ต.ชนะชัย และ ร.ต.อ.อนุชิต เบิกความว่า คำว่า “เทวดา” จำเลยต้องการสื่อถึงรัชกาลที่ 9 เพราะในภาพการ์ตูนเป็นชายแก่สวมแว่นตา มงกุฎ ในมือกำแผนที่ประเทศไทยไว้ ทั้งมีเหรียญและยศประดับที่เสื้อ แม้จะยอมรับว่า รูปภาพไม่ได้ระบุชัดเจนว่าสื่อถึงใคร แต่พยานยังคาดว่า จำเลยอาจนำภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 9 มาโพสต์เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำผิด 

ส่วน พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร อธิบายว่า เนื่องจากประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งกษัตริย์คือสมมุติเทพ ที่ไม่ได้อยู่บนท้องฟ้า แต่อยู่บนพื้นดินเหมือนประชาชน จึงคิดว่า “เทวดาเดินดิน” หมายถึงรัชกาลที่ 9

รูปภาพและข้อความประกอบบทความ “เชื้อเหง้ารากไข “กบฏบวรเดช”…” สื่อว่ารัชกาลที่ 9 อยู่เบื้องหลังความวุ่นวาย-รัฐประหาร

พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร เบิกความถึงความเข้าใจของภาพและข้อความว่า จากคำว่า “กบฏ”​ ทำให้คิดว่าผู้โพสต์ต้องการสื่อว่า กษัตริย์อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร นอกจากนี้ ภาพนี้ยังมีบุคคลที่อยู่ต่างยุคต่างสมัยอยู่ด้วยกัน ซึ่งหมายความว่าการก่อกบฏนั้นยังเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยผู้โพสต์ต้องการเผยว่า รัชกาลที่ 9 อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร ผ่านภาพมือที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง

ด้าน ร.ต.อ.อนุชิต เบิกความว่า รู้จักบุคคลในภาพแค่สุเทพ, สุรยุทธ์, และสนธิ เมื่ออ่านประกอบกับสถานการณ์ปี 57 อาจทำให้สื่อได้ว่า มีผู้อยู่เบื้องหลังสุเทพผู้นำขบวนเรียกร้องให้เปลี่ยนนายกรัฐมนตรีช่วงปลายปี 56 ซึ่งคนเหล่านี้คือกบฏ และผู้อยู่เบื้องหลังน่าจะหมายถึงรัชกาลที่ 9 

.

พยานโจทก์รับ ภาพและข้อความอาจไม่ได้หมายถึงกษัตริย์โดยตรง ทนายจำเลยชี้การตีความควรคำนึงถึงบริบทของงานเขียน

อย่างไรก็ตาม ในการตอบคำถามค้านทนายจำเลย หรือแม้แต่การเบิกความตอบอัยการ พยานโจทก์ก็ยอมรับว่า บทกลอน รูปภาพ และข้อความตามที่โจทก์ฟ้อง อาจสื่อถึงความหมายอื่น ที่ไม่ได้สื่อความถึงกษัตริย์

ต่อกรณีการตีความบทกลอนตามคำฟ้องข้อ ก. พยานโจทก์ที่เบิกความในศาลอาญารับว่า คำว่า “บอร์ด” อาจหมายถึง “กระดานข่าว” หรือเว็บบอร์ดประชาไท ส่วนคำว่า “บอด” อาจหมายความในเชิงอุปมาอุปไมย หรือหมายถึงความโง่เขลาในเชิงนามธรรม หรือ “พยัคฆา” อาจหมายถึงสายทหารบูรพาพยัคฆ์ ซึ่งเป็นต้นสังกัดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไปถึงคำว่า “นายว่าขี้ข้าพลอย” ก็อาจไม่ได้หมายถึงกษัตริย์เสมอไป และการตีความบทกลอนทั้งหมดผู้อ่านแต่ละคนอาจตีความได้แตกต่างกัน

ขณะที่เมื่อทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ว่าเคยทราบหรือไม่ว่าข้อความในคำฟ้องข้อ ข. เป็นท่อนหนึ่งในบทเพลง “เทวดาเดินดิน” ขับร้องโดย “แจ้” ดนุพล แก้วกาญจน์ ประพันธ์โดย ชาลี อินทรจิตร ศิลปินแห่งชาติ พยานความเห็น เช่น ทรงวุฒิรับว่าเพลงนี้เคยโด่งดังเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ด้านภัทรมาศระบุว่าญาติของตนรู้จักแจ้เป็นการส่วนตัว แต่ไม่เคยได้ยินเพลงดังกล่าว และเมื่ออ่านเนื้อหาแล้วสรุปได้ว่าผู้โพสต์ข้อความน่าจะน้อยใจในโชคชะตาของตนเอง ส่วน พล.ต.ต.ชนะชัย ไม่รู้จักเพลงเทวดาเดินดินมาก่อน และรับว่าไม่เคยมีการร้องทุกข์หรือแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับแจ้หรือชาลี กรณีร้องและแต่งเพลง “เทวดาเดินดิน” เช่นเดียวกับ พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร

พยานโจทก์บางคนเบิกความต่อคำถามของทนายจำเลยเมื่อดูภาพมงกุฎที่รัชกาลที่ 9 ใส่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ว่า แตกต่างกับมงกุฎในภาพการ์ตูนที่ชายแก่สวมใส่ อีกทั้งเสื้อผ้าของตัวการ์ตูนเป็นเครื่องแบบทหาร รองเท้าบู๊ต พร้อมตราสวัสดิกะของนาซี ซึ่งแตกต่างจากเครื่องทรงที่รัชกาลที่ 9 สวมใส่ขณะทรงงาน กระบี่ที่การ์ตูนห้อยก็แตกต่างจากพระแสงขรรค์ชัยศรีของกษัตริย์ 

ร.ต.อ.อนุชิตเบิกความว่าไม่เคยเห็นรัชกาลที่ 9 สวมเครื่องแบบทหารแบบตัวการ์ตูนมาก่อน เช่นเดียวกับภัทรมาศที่เห็นว่า เนื่องจากสัญลักษณ์นาซีสื่อถึงเผด็จการ อาจสื่อถึงคนที่เป็นเผด็จการ อาจไม่ได้สื่อถึงรัชกาลที่ 9 ซึ่งปกครองประชาชนด้วยทศพิธราชธรรม 

สำหรับภาพตามฟ้องข้อ ค. พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร พนักงานสอบสวน ตอบทนายจำเลยที่ถามค้านไม่ได้ว่า แต่ละบุคคลในภาพคือใครและมีส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไร ไม่รู้ว่าภาพของ ดิ่น ท่าราบ และพระองค์เจ้าบวรเดช คือภาพใด รวมทั้งไม่ทราบว่าดิ่นเป็นตาของ พล.อ.สุรยุทธ์ พร้อมทั้งระบุว่า ตนเองไม่มีความรู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับทรงวุฒิและภรภัทร ประชาชนทั่วไปที่มาให้ความเห็น โดยภรภัทรระบุว่า เคยได้ยินเรื่องกบฏบวรเดช แต่ไม่ทราบรายละเอียด

ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร ยอมรับกับทนายจำเลยว่า ผู้เขียนบทความ “เชื้อไขรากเหง้า “กบฏบวรเดช” ที่ยังไม่ตาย ของเหล่าทาสที่ปล่อยไม่ไป” อาจมีเจตนาไม่อยากให้มีการแบ่งแยกดินแดน ต้องการเตือนถึงสถานการณ์บ้านเมืองอันไม่พึงประสงค์ เช่นเดียวกับภัทรมาศ พยานความเห็น 

ที่สำคัญ ร.ต.อ.อนุชิต พนักงานสอบสวนคดีนี้เบิกความว่า พยานนำข้อความและภาพตามฟ้องทั้ง 3 ข้อ มาแสดงในคราวเดียวกันเพื่อให้พยานบุคคลให้ความเห็น โดยทนายจำเลยได้ถามค้านพยานโจทก์โดยชี้ว่า ข้อความทั้ง 3 ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกัน ทั้งยังถูกเขียนขึ้นในบริบทเวลาและเหตุการณ์ที่ต่างกัน การอ่านและตีความต้องคำนึงถึงบริบทดังกล่าวด้วย หากพยานโจทก์ตีความข้อความและภาพนอกเหนือไปจากบริบทของงาน อาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนได้

.

คำเบิกความจำเลย: มูลเหตุคดีเกิดจากรัฐประหาร และมีแต่ผู้เขียนเท่านั้นที่สามารถระบุเจตนาของบทความ-รูปภาพได้ 

เช้าของวันที่ 26 พ.ย. 2563 สิรภพเข้าเบิกความโดยอ้างตัวเองเป็นพยานจำเลย ระบุว่าประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง งานอดิเรกคือเขียนบทความทางการเมือง การทหาร และมีความสามารถด้านการเขียนกลอน กาพย์ กวี คำประพันธ์

จากนั้นสิรภพเบิกความถึงมูลเหตุของการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เริ่มตั้งแต่ คสช.มีคำสั่งที่ 44/2557 เรียกให้เขาและบุคคลอื่นอีกหลายคนไปรายงานตัว แต่เขากระทำอารยะขัดขืน เนื่องจากเห็นว่าคณะรัฐประหารเป็นกบฏ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 จึงปฏิเสธคำสั่งคณะกบฏดังกล่าว โดยใช้สิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งระบุไว้ว่า บุคคลมีสิทธิที่จะต่อต้านอำนาจที่ไม่ถูกต้องโดยสันติ 

สิรภพเบิกความต่อว่า ที่ผ่านมาไม่เคยปรากฎตัวแสดงความเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ หรือเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มเสื้อสีใดๆ หรือพรรคการเมืองใดๆ จึงคาดว่าเหตุผลที่ถูกเรียกรายงานตัวเป็นเพราะการแสดงความเห็นการเมืองผ่านร้อยแก้วและร้อยกรองบนสื่อสาธารณะทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเริ่มเขียนตั้งแต่ปี 48 มีผลงานนับเป็นพันชิ้น โดยเขาได้จัดทำเป็นสารบัญยื่นเป็นหลักฐานต่อศาลแล้ว 

ขณะที่เขาเดินทางไปติดต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เนื่องจากต้องการลี้ภัยไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก็ถูกทหารชุดปฏิบัติการพิเศษเข้าควบคุมตัวที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ในเวลา 23.00 น.ของวันที่ 25 มิ.ย. 2557 โดยอ้างกฎอัยการศึก ไม่แจ้งข้อกล่าวหา จากนั้นถูกนำตัวไปสถานที่ลับแห่งหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์ ทหารร่วมกับพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่ปกครองทำการค้นตัวเขา ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ปฏิเสธให้เขาติดต่อญาติหรือทนายความ

จากนั้น เขาถูกนำตัวมาที่ค่ายสีหราชเดโชชัย จ.ขอนแก่น เป็นเวลา 1 คืน ทหารยศพันเอก และเจ้าหน้าที่การข่าวจากส่วนกลาง 6 นาย มาสอบสวน จากนั้นก็ส่งตัวเขาไปที่สโมสรทหารบก เทเวศน์ กทม. ในวันรุ่งขึ้นเพื่อรายงานตัวต่อ คสช.

ที่ห้องประชุมสโมสรทหารบก มีเจ้าหน้าที่กว่า 40 นายร่วมการซักถาม ได้แก่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของ คสช.,  ฝ่ายข่าว กอ.รมน., เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), อัยการจากสำนักงานอัยการสูงสุด, เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกองทัพภาค 1 เจ้าหน้าที่ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ บก.ปอท. รวมถึง พ.ต.ท. โอฬาร สุขเกษม มีการบันทึกภาพและเสียงตลอดเวลาการซักถาม

สำหรับประเด็นการซักถาม เจ้าหน้าที่ถามว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนเสื้อแดง หรือกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง หรือกลุ่มต่อต้านรัฐประหารทั้งในและต่างประเทศหรือไม่ รวมทั้งความรู้ด้านการทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ปรากฏในบทความที่เขาเขียน เจ้าหน้าที่ไม่เชื่อว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร หน่วยข่าวระบุด้วยว่า ติดตามพฤติกรรมของเขามาตั้งแต่ปี 2552 

หลังการซักถามเขาถูกควบคุมตัวอยู่ที่ห้องรับรอง จนกระทั่งวันที่ 7 นับตั้งแต่เขาถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ชุดเดิมมาซักถามเขาอีกครั้ง โดยมีนายพลใน คสช.มาเป็นประธาน ในช่วงแรกเจ้าหน้าที่ยังคงซักถามเขาถึงเรื่องความรู้ด้านการทหาร ซึ่งเขาระบุว่า ได้จากสื่อโซเชียลในต่างประเทศ  ในช่วงหลังเจ้าหน้าที่จึงสอบถามความเห็นของเขาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเขาได้ตอบว่า มีความจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ผลงานของเขาไม่เคยจาบจ้วง ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันฯ และมั่นใจว่าสถาบันฯ ดำรงอยู่เหนือการเมืองและความขัดแย้งทางการเมืองใดๆ ไม่เคยมีความคิดว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงสถาบันกษัตริย์ จนถึงปัจจุบันก็ยังคงมีทัศนคติเช่นเดิม โดยเห็นว่า สถาบันฯ ต้องค่อยๆ ปรับบทบาทให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นประมุขของประเทศเพียงอย่างเดียว เพื่อให้อยู่ในสถานะที่ประชาชนไม่ต้องข้องใจ 

ในการซักถามทั้งสองครั้ง เจ้าหน้าที่ได้จัดทำบันทึกการให้ถ้อยคำของเขาไว้ โดยที่ตลอดเวลาเขาไม่มีโอกาสได้ติดต่อทนายความหรือผู้ไว้วางใจ

หลังจากการซักถามครั้งหลัง ตำรวจกองปราบได้มารับตัวเขาไปควบคุมที่กองบังคับการปราบปราม 1 คืน วันต่อมานำตัวไปฝากขังต่อศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดฝ่าฝืนไม่รายงานตัวตามคำสั่ง คสช. โดยศาลทหารให้ประกันในวงเงิน 40,000 บาท เขาถูกนำตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเพื่อปล่อยตัว เวลาประมาณ 18.30 น. เมื่อเขาก้าวพ้นจากเรือนจำ ตำรวจ ปอท. ได้เข้าควบคุมตัวมาดำเนินคดีในคดีนี้ และนำตัวไปสอบสวนที่ ปอท. หลังเสร็จการสอบสวนในเวลาประมาณ 23.00 น. ตำรวจได้ควบคุมตัวเขาไปขังที่ สน.ทุ่งสองห้อง

วันรุ่งขึ้น เขาถูกนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาฝากขัง โดยศาลอนุญาตฝากขังและไม่ให้ประกันตัว แต่หลังจากครบ 7 ฝาก เขาถูกนำตัวไปฟ้องที่ศาลทหารกรุงเทพ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เขาให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดีเนื่องจากรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตั้งแต่ปี 52 ถูกตั้งข้อหาโดยใช้ทัศนคติส่วนตัวของเจ้าหน้าที่ ทั้งยังถูกฟ้องคดีต่อศาลทหาร ซึ่งไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ พิจารณาคดีเป็นการลับ การยื่นเอกสารก็ยุ่งยาก เขาเองอยากขอให้ศาลยุติธรรมสืบพยานใหม่ทั้งหมดด้วย

นอกจากนี้ เขายังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี หลังยื่นขอประกันตัวถึง 7 ครั้ง ทำให้ถูกคุมขังไว้ในเรือนจำเกือบ 5 ปี ขาดอีกแค่ 12 วัน 

สิรภพยอมรับว่า เขาเป็นผู้เขียนกลอน รวมทั้งลงภาพและข้อความในเว็บไซต์ประชาไท เฟซบุ๊ก และเว็บส่วนตัวตามที่โจทก์ฟ้อง

บทกลอน “บอร์ดใหม่” ชี้ถึงการปิดเว็บบอร์ดประชาไทปี 52 ไม่ได้สื่อถึงรัชกาลที่ 9

สิรภพเบิกความอธิบายความหมายของบทกลอนตามคำฟ้องข้อ ก ซึ่งเขียนลงเว็บบอร์ดประชาไทเมื่อต้นปี 2552 ว่า ขณะนั้นเว็บบอร์ดประชาไทเป็นเว็บบอร์ดทางการเมืองอันดับ 1 ที่ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยไม่มีการปิดกั้น ไม่ต้องยืนยันตัวตนด้วยเลขบัตรประชาชน ทำให้เป็นที่นิยม  มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นและอ่านเป็นจำนวนมาก

ในช่วงเวลานั้น มีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อเหลืองหรือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล นำสู่การบุกยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งในเว็บบอร์ดประชาไทมีการวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐ มีการกล่าวหา จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บบอร์ดประชาไท ในข้อหามาตรา 112 จึงนำไปสู่การพิจารณาของผู้บริหารเว็บไซต์ประชาไทลงความเห็นว่า จะปิดเว็บบอร์ด

สิรภพยืนยันว่า การเขียนกลอนนี้เกิดขึ้นในบริบทดังกล่าว ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์การปิดเว็บบอร์ดนี้ทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายเสื้อเหลือง ผู้ใช้เว็บบอร์ดกังวลว่าจะไม่มีพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่เขาและผู้ใช้เว็บบอร์ดบางส่วนรู้ข้อมูลว่า มีการเตรียมเปิดเว็บบอร์ด “ประชาทอล์ค” ซึ่งมีหน้าตาเหมือนเว็บบอร์ดประชาไททุกอย่าง เขาจึงแต่งกลอนเพื่อไม่ให้ผู้ใช้เว็บบอร์ดประชาไทออกมาร้องไห้ฟูมฟาย โดยเบิกความอธิบายความหมายของบทกลอนแต่ละท่อนไว้ด้วย 

สิรภพยังได้เขียนข้อความปิดท้ายบทกลอนว่า “บทนี้ ผมเขียนไว้ช่วงที่บอร์ดปิดปรับปรุงข้อมูล หรือปิดเพราะถูกอายัดข้อมูล? พ้องกับข่าวจับนักโพสต์ 2-3 ราย และจะเอาผิดผู้จัดการเวปบอร์ดประชาไท กับWMฟ้าเดียวกัน แต่เผอิญขัดข้องทางเทคนิค พึ่งจะล็อกอินเข้าบอร์ดได้วันนี้เอง ขออนุญาตท่านท่าน ลงย้อนหลังซะหน่อย เดี๋ยวมันบูด”

สิรภพย้ำว่า ข้อความของตนในเว็บบอร์ดประชาไทดังกล่าวไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เป็นเพียงการโพสต์ข้อมูลเรื่องเว็บบอร์ดประชาไทจะถูกปิดเท่านั้น

การ์ตูนรูปลิงสวมชุดทหารนาซีสื่อถึง “เผด็จการอำนาจนิยม” ส่วน “เทวดาเดินดิน” เป็นเนื้อเพลงแทน “กลุ่มคนที่แสวงหาอำนาจ” ไม่ได้สื่อถึง ร.9

สำหรับรูปภาพและข้อความตามฟ้องข้อ ข. สิรภพเบิกความอธิบายว่า โพสต์ในช่วงปลายปี 2556 ขณะนั้นมีการชุมนุมของ กปปส. นำโดยสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อล้มล้างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเขาเห็นว่า การชุมนุมของฝ่ายนั้นมักเรียกร้องให้ทหารออกมารัฐประหาร เช่นเดียวกับที่สนธิ ลิ้มทองกุลเรียกร้องให้ทหารมารัฐประหารในปี 2549 

ภาพการ์ตูนล้อเลียนนั้นเขาตัดต่อภาพกราฟฟิคจากแมกกาซีนต่างประเทศ เป็นรูปลิงสวมแว่นตา และเครื่องแบบทหารเยอรมันยุคสงครามโลกพร้อมสัญลักษณ์สวัสดิกะ สื่อความหมายถึงเผด็จการอำนาจนิยม มือถือแผนที่ประเทศไทย เป็นการเสียดสีว่า เหตุการณ์วุ่นวายในขณะนั้นมาจากกลุ่มนายทหารที่มีแนวคิดต้องการยึดอำนาจประเทศอีกครั้ง ช่วงนั้นมีข่าวลือรัฐประหารอย่างหนาหู ซึ่งเกิดขึ้นจริงในปี 2557 

สิรภพยืนยันว่า ภาพนี้ไม่ได้สื่อถึงกษัตริย์ การตกแต่งรูปลิงสวมเครื่องแบบทหารนาซีด้วยมงกุฎแบบไทยๆ และถือแผนที่ประเทศไทยก็เพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องลิขสิทธิ์ นอกจากนี้มงกฎน้ำเต้าบนหัวลิงก็ไม่ใช่เครื่องประดับของกษัตริย์ เป็นมงกุฎที่สืบเนื่องมาจากประเพณีของพราหมณ์ เคยมีการนำไปใช้ในการแสดงโขน อีกทั้งรัชกาลที่ 9 ก็ไม่เคยสวมชุดทหารเวลาออกพิธี ส่วนกระบี่เป็นอาวุธประจำกายของทหารสมัยนั้น ปัจจุบันทหารสัญญาบัตรที่รับเสด็จก็ห้อยกระบี่ การห้อยกระบี่จึงไม่จำเป็นต้องหมายถึง ร.9

ส่วนข้อความที่อยู่ข้างรูปภาพเป็นเพลง “เทวดาเดินดิน” ที่ร้องโดยแจ้ หรือดนุพล แก้วกาญจน์ สังกัดค่ายเพลงนิธิทัศ ประพันธ์โดยชาลี อินทรวิจิตร เป็นบทเพลงที่แพร่หลายทั่วประเทศไทย ซึ่งเขาไม่ได้จะสื่อถึงสถาบันกษัตริย์ เห็นได้จากบทความที่เขาเคยเขียนลงเฟซบุ๊กเมื่อปี 2544 อธิบายคำ “เทวดา” ว่าไม่ได้หมายถึงกษัตริย์ ในการโพสต์คำว่า “เทวดา” คู่กับรูปภาพนี้ เขาต้องการสื่อถึงกลุ่มบุคคลที่พยายามแสวงหาอำนาจที่เป็นนามธรรม มีความต้องการยึดครองสังคมไทย และเป็นผู้ที่มีศักยภาพสูงกว่าบุคคลทั่วไป มีกำลังทหารภายใต้การบังคับบัญชาและมีอาวุธยุทโธปกรณ์พร้อมที่จะบังคับข่มขืนใจ ยึดครองอำนาจรัฐไว้ในมือ ดังเช่นตัวการ์ตูนที่มือซ้ายกำประเทศไทยไว้

ข้อความและภาพ “เชื้อไขรากเหง้า “กบฏบวรเดช”” ชี้ผลร้ายการรัฐประหาร ไม่ได้ต้องการหมิ่นกษัตริย์

สำหรับรูปภาพและข้อความตามคำฟ้องข้อ ค. สิรภพระบุว่า เป็นการนำการ์ตูนตัวเดิมมาใช้สื่อความหมายเดิม ประกอบบทความ “เชื้อไขรากเหง้า “กบฏบวรเดช” ที่ยังไม่ตาย ของเหล่าทาสที่ปล่อยไม่ไป” ซึ่งโพสต์ก่อน คสช.ทำรัฐประหารประมาณ 3 เดือน มีเนื้อหาเตือนสังคมให้เตรียมรับสถานการณ์รัฐประหารหรือออกมาคัดค้านความพยายามทำรัฐประหาร ซึ่งก่อนหน้านี้มีความพยายามทำรัฐประหารมาแล้วถึง 3 ครั้ง 

สิรภพอธิบายความหมายภาพและข้อความใต้ภาพว่า “เชื้อไข” หมายถึง ผู้สืบสันดานทางสายเลือด ส่วนรูปพระองค์เจ้าบวรเดชสอดคล้องกับคำว่า “รากเหง้ากบฏบวรเดช” เนื่องจากพระองค์เจ้าบวรเดชเป็นผู้พยายามทำรัฐประหารรัฐบาลของคณะราษฎรในปี 2476 โดยโน้มน้าวใจทหารตามหัวเมือง แต่รัฐประหารไม่สำเร็จ จึงถูกเรียกว่ากบฏ และเป็นเหมือนเชื้อของการก่อกบฏในยุคต่อๆ มา  กบฏบวรเดชจึงถือเป็น “รากเหง้า” ของการทำรัฐประหารในประเทศไทยตั้งแต่มีการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย

ผู้คุมทหารในการก่อกบฏครั้งนั้นคือ “ดิ่น ท่าราบ” หรือพระยาศรีสิทธิสงคราม ซึ่งเป็นตาของ “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์”นายกฯ ที่มาจากการรัฐประหาร รูปที่โพสต์จึงชี้ให้เห็นว่า มีการสืบทอดการรัฐประหารทางสายเลือดด้ว

ส่วน “สนธิ ลิ้มทองกุล” เป็นผู้นำกลุ่มคนเสื้อเหลืองออกมาประท้วงรัฐบาลในขณะนั้น และเรียกร้องให้ทหารทำรัฐประหารในปี 2549 เช่นเดียวกับ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้นำ กปปส. ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็นนกหวีดและธงชาติ นำประชาชนออกมาปิดถนน ยึดศูนย์ราชการ ยึดสนามบินทั้ง 2 แห่ง ทั้งยังเรียกร้องให้ทหารออกมาทำรัฐประหารจนก่อให้เกิดการรัฐประหารปี 2557

ภาพการ์ตูนตรงกลางคนเหล่านั้นมีความหมายเหมือนกับที่เบิกความไปแล้ว และต้องการสื่อถึงเผด็จการอำนาจนิยมที่มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะยึดอำนาจการปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 2476 สืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน มีทั้งที่ทำสำเร็จ เป็นรัฏฐาธิปัตย์ และที่ไม่สำเร็จเป็นกบฏ เฉลี่ยแล้วประเทศไทยมีการทำรัฐประหาร 3 ปี 1 ครั้ง

ข้อความใต้ภาพตามคำฟ้องข้อ ค สื่อถึงผลร้ายของการรัฐประหารซึ่งจะทำให้เกิดความแตกแยกของสังคม การยึดอำนาจโดยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์จะทำให้เกิดการกระทำต่อฝั่งตรงข้ามเท่านั้น เช่น การจับกุม คุมขัง อุ้มหาย ซึ่งในเวลานั้นเขาไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น จึงเผยแพร่บทความนี้เพื่อบอกกล่าวให้คนในสังคมช่วยกันหาทางแก้ไข

ในภาพที่มีมือสีแดงชักใย เขาต้องการสื่อว่าทุกเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง มีการชักใยอยู่เบื้องหลัง เส้นเชือกนั้นสื่อถึงผู้มีอำนาจที่มีความต้องการที่จะครอบงำและยึดอำนาจรัฐมาไว้ในมือตัวเอง เหมือนกับรูปการ์ตูนที่ใช้มือซ้ายกำประเทศไทยไว้ ที่เขาโพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อต่อต้านรัฐประหาร การที่พยานโจทก์เบิกความว่า ดูภาพแล้วเข้าใจได้ว่า รัชกาลที่ 9 เป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังให้บุคคลต่างๆ ในภาพก่อความไม่สงบหรือการรัฐประหาร เป็นความคิดส่วนตัวของพยาน ไม่ตรงกับที่เขาต้องการจะสื่อ

สิรภพยังเบิกความอีกว่า การที่พนักงานสอบสวน บก.ปอท.นำบทความทั้ง 3 ชิ้นมาให้พยานอ่านพร้อมกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงบริบท ถือเป็นการเอาสิ่งละอันพันละน้อยมาผสมกัน ทั้งที่ไม่เกี่ยวกัน นำมาซึ่งการกล่าวหาให้ร้าย แสดงเจตนาที่ไม่สุจริต 

การที่เขาซึ่งเป็นนักเขียนถูกจับกุมดำเนินคดี เพราะ คสช.ต้องการจำกัดความคิดเหล่านี้ไม่ให้เผยแพร่ออกไป จนเกิดการชี้นำและต่อต้าน คสช.ไม่ต้องการให้ประชาชนถูกกระตุ้นจิตสำนึกจนออกมาต่อต้านรัฐประหาร ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ 

สิรภพยืนยันว่า ผู้เขียน ผู้รจนาบทกวี เท่านั้นที่สามารถระบุได้ว่า ข้อความหรือบทกวีต้องการสื่อถึงอะไร อย่างไรก็ตาม ศาลไม่ได้จดข้อความนี้ลงไปในบันทึกคำเบิกความ

เมื่อทนายจำเลยถามสิรภพว่า คิดอย่างไรที่รูปดังกล่าวถูกฟ้องว่า กระทบต่อความมั่นคง สิรภพยืนยันว่า การเผยแพร่ข้อความนี้ต้องการเตือนสังคมถึงสัญญาณรัฐประหาร ไม่ได้ต้องการสื่อถึง ร.9 หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คาดว่าบทความคงไม่กระทบกับความมั่นคงของชาติ แต่กระทบกับความมั่นคงของ คสช. 

ทั้งนี้ ทนายจำเลยได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อศาล คือ ความเห็นของคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitary Detention) กลไกพิเศษภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่มีมติว่า การควบคุมตัวของสิรภพถือเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ก่อนจะเสร็จสิ้นการสืบพยานของทนายจำเลย

อัยการนำ “แชท” ส่วนตัวมาถามจำเลย พยายามชี้จำเลยว่ามีทัศนคติต่อสถาบันกษัตริย์​ในแง่ลบ

ในการถามค้านพยานจำเลย อัยการได้นำข้อความในแชทส่วนตัวระหว่างจำเลยและผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “พลังเงียบ” ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่นำมาให้สิรภพเซ็นรับรองขณะถูกทหารควบคุมตัว มาสอบถามว่า เป็นบทสนทนาถึงสถาบันกษัตริย์ใช่หรือไม่ มีความหมายอย่างไร และต้องการสื่อถึงสถาบันกษัตริย์ในแง่ลบหรือไม่ โดยบทสนทนานี้ไม่ได้ระบุไว้ในคำฟ้อง แต่อัยการทหารยื่นเป็นบัญชีพยานหลักฐานไว้ ซึ่งสิรภพเบิกความโดยสรุปว่า ได้สนทนากับผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “พลังเงียบ”จริง แต่ไม่รู้จักว่าเป็นใคร และได้กล่าวถึงสถาบันกษัตริย์จริง แต่ไม่ได้กล่าวถึงในแง่ลบ เช่น การบอกกับ “พลังเงียบ” ว่าเบื่อข่าว 2 ทุ่ม ซึ่งเป็นข่าวในพระราชสำนัก ไม่ได้ต้องการสื่อว่าเบื่อสถาบันกษัตริย์ แต่เบื่อรูปแบบการนำเสนอแบบเดิม สิรภพย้ำว่า ต้องดูบริบทของบทสนทนาก่อนหน้าประกอบด้วย เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้พูดถึงสถาบันฯ แต่แค่ตอบ “รับทราบ” ไม่ได้ต้องหมายความว่า “เห็นด้วย” กับข้อความที่พลังเงียบส่งมาเสมอไป 

หลังการสืบพยานจำเลยเสร็จสิ้น อัยการโจทก์ยกมือไหว้ขอโทษจำเลย ซึ่งสิรภพตอบกลับว่า “ไม่เป็นไร ผมติดคุกมาเกือบ 5 ปีแล้ว ถ้าผมยอมรับสารภาพตั้งแต่ปี 58 คงได้ออกจากคุกมาแล้ว แต่ที่ไม่รับสารภาพ เพราะมีเจตจำนงต่อสู้คดีเท่านั้น” 

อ่านเหตุผลที่สิรภพตัดสินใจสู้คดีม.112 แม้ต้องแลกอิสรภาพในชีวิตให้กับเรือนจำเกือบ 5 ปี

.

วันฟังคำพิพากษาคดีสิรภพ เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 64

.

ทั้งนี้ สิรภพได้กล่าวกับศาลว่า ขอให้ศาลตัดสินบนข้อเท็จจริง ตนร้องขอความยุติธรรม มิใช่ความเมตตา ก่อนที่ต่อมา ศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี 6 เดือน โดยศาลพิเคราะห์ว่า  เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานกับข้อความตามฟ้อง 2 ข้อความซึ่งเผยแพร่ในปีพ.ศ. 2556-2557 ชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีทัศนคติในแง่ลบกับสถาบันกษัตริย์ ส่วนข้อความตามฟ้องที่จำเลยเผยแพร่ในเว็บบอร์ดประชาไทเมื่อปี 2552 นั้น ศาลเห็นว่าอาจแปลความตามที่จำเลยเบิกความก็ได้ว่า บทกลอนนี้เผยแพร่ขณะที่เว็บบอร์ดประชาไทกำลังปิดตัวลง ดังนั้น จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยในการกระทำครั้งนี้ (อ่านรายละเอียดคำพิพากษา: “จำคุก 4 ปี 6 เดือน “สิรภพ” ม.112 ชี้ข้อความทำให้เข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์ อยู่เบื้องหลังความวุ่นวายทางการเมือง”)

อย่างไรก็ตาม คำพิพากษาตอนหนึ่งระบุว่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์ที่ได้ดูภาพล้อเลียนและข้อความตามฟ้องข้อ ข และ ค ทำให้เข้าใจได้ว่า จำเลยพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 สอดคล้องไปกับบทสนทนาของจำเลยกับ “พลังเงียบ” ว่าสถาบันกษัตริย์มีส่วนก่อให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ ประกอบถ้อยคำจำเลยตามบันทึกการซักถามขณะถูกทหารควบคุมตัวและคำเบิกความของจำเลยต่อศาล ที่แสดงทัศนคติว่า สถาบันกษัตริย์ควรปรับบทบาท โดยดำรงสถานะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและเหนือความขัดแย้งทางการเมือง การกระทำของจำเลยตามฟ้องข้อ ข และ ค จึงเป็นความผิดตามฟ้อง 

เห็นได้ว่า ศาลได้นำพยานหลักฐานจากชั้นจับกุม ได้แก่ บันทึกการซักถามและแชทของจำเลยกับ “พลังเงียบ” มาพิจารณาประกอบการพิพากษาลงโทษจำเลย โดยศาลระบุเองว่า “แม้บันทึกดังกล่าวไม่อาจนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานรับฟังว่าจำเลยยอมรับว่ากระทำความผิดในคดี เพราะเป็นการยอมรับก่อนมีการแจ้งข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน ทำนองเดียวกับห้ามมิให้รับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคสี่ แต่ตามบทบัญญัติดังกล่าวหาได้ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงประการอื่น”

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคสี่ ระบุว่า ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับแล้วว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ ซึ่งไม่ปรากฏว่าขณะถูกทหารควบคุมตัวและซักถาม สิรภพได้รับการแจ้งสิทธิดังกล่าว รวมทั้งไม่มีโอกาสได้ปรึกษาทนายความด้วย

.

X