กรณีของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รายล่าสุด ทำให้ประเด็นการไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องหาในข้อหานี้ กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมอีกครั้ง กระทั่งผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการส่งเสริมเสรีภาพทางความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างเสรียังออกแถลงแสดงความกังวลต่อการดำเนินคดีนี้ และเรียกร้องอีกครั้งให้ทางการไทยยุติการใช้ข้อหาหมิ่นประมาทต่อกษัตริย์ หรือ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อระงับการวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ทางกระทรวงการต่างประเทศของไทยเอง ต้องออกมาชี้แจงว่ากฎหมายมาตราดังกล่าว ไม่ได้ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และไม่ได้ขัดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
นอกจากความคิดเห็นและข้อเรียกร้องของผู้รายงานพิเศษฯ ดังกล่าว ภายใต้คณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายกลไกของสหประชาชาติ ก็ได้เคยมีการเสนอความคิดเห็นและข้อเรียกร้องในกรณีมาตรา 112 มาอย่างต่อเนื่อง โดยกลไกพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ที่สำคัญกลไกหนึ่ง คือ คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention) ที่ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ในประเด็นการควบคุมตัวโดยพลการ (Arbitrary Detention) รวมทั้งเป็นกลไกที่เปิดรับข้อร้องเรียนรายกรณี ก็ได้เคยมีการออกรายงานความคิดเห็นกรณีผู้ถูกควบคุมตัวจากมาตรา 112 มาแล้วหลายกรณีในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา
รายงานนี้ทบทวนกลไกพิเศษของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และชวนย้อนดูว่าคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการของสหประชาชาติ เคยมีความเห็นที่เป็นทางการต่อกรณีมาตรา 112 ในประเทศไทยมาแล้วในกรณีใดบ้าง และมีความคิดเห็นอย่างไร
รู้จัก “กลไกพิเศษ” ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Council) ที่เป็นกลไกระหว่างรัฐ ได้มีการจัดตั้งกลไกหลายอย่างที่ใช้ในการติดตาม-ตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยกลไกที่สำคัญประการหนึ่ง คือกลไกพิเศษ (UN Special Procedures) ที่เป็นกลไกติดตามสอดส่องและรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งในลักษณะสถานการณ์รายประเทศ (Country Situations) หรือสถานการณ์ในรายประเด็น (Thematic Issues) โดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีทั้งในรูปแบบปัจเจกบุคคล ได้แก่ ผู้รายงานพิเศษ (Special Rapporteur) ผู้เชี่ยวชาญอิสระ (Independent Expert) หรือในรูปแบบคณะทำงาน (Working Group) ซึ่งโดยมากจะประกอบด้วยสมาชิก 5 คน จากแต่ละภูมิภาค เน้นความเป็นอิสระและเป็นกลางในการดำเนินงาน
กลไกพิเศษเหล่านี้จะศึกษาติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในการดูแล จัดทำรายงาน และข้อเสนอแนะต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน รวมทั้งยังสามารถรับข้อร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นที่อยู่ในความดูแล โดยกลไกพิเศษจะกลั่นกรองข้อร้องเรียนต่างๆ หากเห็นว่ามีน้ำหนักก็จะส่งข้อร้องเรียนไปยังรัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อขอรับข้อมูลและคำชี้แจง ตลอดจนสามารถขอเยือนประเทศต่างๆ เพื่อทำการศึกษาและตรวจสอบสถานการณ์ได้ ภายใต้การอนุญาตของรัฐผู้รับ
ปัจจุบัน มีกลไกพิเศษที่ทำงานติดตามสถานการณ์รายประเทศจำนวน 14 ประเทศ เช่น ผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือ หรือในพม่า ส่วนกลไกพิเศษที่ติดตามรายประเด็นเฉพาะ มีจำนวนทั้งหมด 41 ประเด็น อาทิเช่น ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างเสรี, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยความมีอิสระของตุลาการและทนายความ, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยเสรีภาพทางศาสนาและความเชื่อ, ผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิของชนพื้นเมือง, ผู้เชี่ยวชาญอิสระว่าด้วยประเด็นชนกลุ่มน้อย, คณะทำงานว่าด้วยการบังคับให้สูญหาย เป็นต้น
คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (Working Group on Arbitrary Detention – WGAD) ก็เป็นหนึ่งในกลไกพิเศษรายประเด็นเฉพาะดังกล่าว คณะทำงานฯ นี้ก่อตั้งตามมติที่ 1991/42 ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ภายหลังมีการยกระดับคณะกรรมาธิการฯ ดังกล่าวเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน เมื่อปี 2006 ก็มีการขยายขอบเขตงานของคณะทำงานฯ และมีการกำหนดระยะเวลาดำรงตำแหน่งคณะทำงานฯ รายละ 3 ปี โดยที่คณะทำงานฯ ชุดปัจจุบันมีสมาชิก 5 คน มาจากแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ประเทศเบนิน, ออสเตรเลีย, เม็กซิโก, เกาหลีใต้ และลัตเวีย โดยทั้งหมดเป็นนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหรือสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
หน้าเว็บไซต์ของ คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ
ว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ และกลไกการร้องเรียน
การควบคุมตัวโดยพลการนั้น ถูกพิจารณาให้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญประการหนึ่ง ที่กระทบต่อทั้งสิทธิในชีวิตและเสรีภาพของบุคคล ตามข้อ 9 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights- UDHR) ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “บุคคลใดจะถูกจับกุม กักขัง หรือเนรเทศตามอำเภอใจไม่ได้” หรือในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ข้อ 9 (1) ก็ระบุว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนมิได้ ยกเว้นโดยเหตุและโดยเป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”รวมถึงการจับกุม การคุมขังก่อนพิจารณาคดี และการควบคุมตัว
คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ยังได้จัดแบ่งลักษณะการลิดรอนอิสรภาพที่มีลักษณะเข้าข่ายเป็นการกระทำโดยพลการไว้ 5 ประเภท ได้แก่
- เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อกฎหมายพื้นฐานใดๆ รองรับอย่างชัดเจน ให้กับการจำกัดอิสรภาพนั้น เช่น กรณีที่บุคคลถูกควบคุมตัวไว้ทั้งที่ได้รับโทษจนครบแล้ว หรือทั้งที่มีกฎหมายอภัยโทษต่อบุคคลนั้นๆ แล้ว
- เมื่อการจำกัดอิสรภาพนั้น เกิดมาจากการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ ตามที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อ 7, 13, 14, 18, 19, 20 และ 21 ของ UDHR และตามข้อ 12, 18, 19, 21, 22, 25, 26 และ 27 ของ ICCPR อันได้แก่ สิทธิที่จะมีความเสมอภาคกันตามกฎหมายและได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน สิทธิที่จะมีเสรีภาพและอิสรภาพในการเคลื่อนไหวสิทธิที่จะมีอิสรภาพทางความคิด จิตสำนึก และศาสนาสิทธิที่จะมีอิสรภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกสิทธิที่จะมีอิสรภาพในการรวมกลุ่มอย่างสงบสิทธิที่จะมีอิสรภาพในการเข้าสมาคมสิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะ การลงคะแนนเสียง การได้รับเลือก และการเข้าถึงบริการสาธารณะสิทธิของคนส่วนน้อยในการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของตน
- เมื่อเป็นกรณีการไม่ปฏิบัติตามทั้งหมด หรือแม้เพียงบางส่วน ต่อบรรทัดฐานระหว่างประเทศเรื่องสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (fair trial) ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกติการะหว่างประเทศอื่นที่ประเทศนั้นๆ ลงนามเป็นภาคี โดยการไม่ปฏิบัติตามเช่นนั้นมีลักษณะรุนแรง จนทำให้การจำกัดอิสรภาพมีลักษณะเป็นการกระทำโดยพลการ
- เมื่อผู้แสวงหาที่พักพิง ผู้อพยพ หรือผู้ลี้ภัย อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของรัฐเป็นระยะเวลานาน โดยไม่สามารถร้องขอให้หน่วยงานฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายตุลาการเข้าตรวจสอบ หรือร้องขอการเยียวยาได้
- เมื่อการละเมิดอิสรภาพนั้น มีลักษณะเป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ บนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติต่อชาติกำเนิด สัญชาติ ชาติพันธุ์ ภาษา ศาสนา สภาพทางเศรษฐกิจ ความคิดเห็นทางการเมือง เพศสภาพ รสนิยมทางเพศ ความพิการหรือสถานะอื่นๆ ที่มีจุดมุ่งหมายต่อหรืออาจส่งผลกระทบเป็นการเพิกเฉยต่อความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์
ภายใต้กรอบดังกล่าว กลไกสำคัญหนึ่งของคณะทำงานฯ คือการเปิดรับข้อร้องเรียนรายกรณี (Individual complaints and Urgent Appeals) ซึ่งผู้ร้องเรียนสามารถเป็นทั้งผู้ถูกควบคุมตัวโดยตรง เป็นครอบครัว ตัวแทนของผู้ถูกควบคุมตัว หรือองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาลในประเทศต่างๆ โดยหลังจากคณะทำงานฯ ได้รับข้อร้องเรียนและพิจารณาข้อมูล จะมีการส่งข้อร้องเรียนดังกล่าวสอบถามไปยังรัฐบาลต่างๆ ที่ถูกร้องเรียน โดยไม่มีการเปิดเผยชื่อผู้ร้องเรียนให้ทราบ หลังจากเปิดโอกาสให้รัฐบาลชี้แจงกลับมาเป็นเวลา 60 วัน จะมีการส่งคำชี้แจงดังกล่าวไปยังผู้ร้องเรียนสำหรับให้ความเห็นกลับมาอีกครั้ง
หลังจากนั้นคณะทำงานฯ จะพิจารณาข้อมูลและคำชี้แจง ถ้าหากกรณีดังกล่าวถูกพิจารณาว่าเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ คณะทำงานฯ จะทำความเห็น (Opinion) และข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล และหลังจากนั้นภายใน 48 ชั่วโมง จะมีการส่งความเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวไปยังผู้ร้องเรียนด้วย ทั้งยังมีการเผยแพร่ในรายงานประจำปีที่คณะทำงานฯ ส่งถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)
แม้ความเห็นของคณะทำงานฯ ตามกลไกดังกล่าว จะไม่ได้มีผลผูกพันทางตรงให้รัฐบาลต้องปล่อยตัวหรือเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติในกรณีที่ร้องเรียนว่าเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ แต่ก็มีผลทางอ้อมในฐานะเป็นความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากคณะทำงานฯ ผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ ที่เห็นว่าการควบคุมตัวในแต่ละกรณีขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนของนานาชาติ รวมทั้งความคิดเห็นดังกล่าวก็สามารถถูกนำไปใช้รณรงค์ในกรณีนั้นๆ ในแต่ละประเทศได้
จากสมยศถึงพงษ์ศักดิ์: การควบคุมตัวโดยพลการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในการยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะทำงานฯ บุคคลภายนอกจะไม่สามารถทราบได้ว่ามีกรณีใดบ้างที่มีการร้องเรียนไปบ้าง จนกว่าจะมีการเผยแพร่ความเห็นที่เป็นทางการของคณะทำงานฯ แล้ว ในกรณีของประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน (ก.พ.2560) คณะทำงานฯ เคยมีความเห็นที่เป็นทางการว่าด้วยความการควบคุมตัวโดยพลการมาแล้ว 6 กรณี
ในจำนวน 6 กรณีนี้ มีถึง 4 กรณี ที่เป็นกรณีบุคคลที่ถูกควบคุมตัวจากข้อหาตามมาตรา 112 และคณะทำงานฯ มีความเห็นว่าทั้ง 4 คนถูกควบคุมตัวโดยพลการ ได้แก่ กรณีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข (ความเห็นอันดับที่ 35/2012 รับรองเมื่อวันที่ 30 ส.ค.2555) นักเคลื่อนไหวด้านแรงงานและประชาธิปไตย ที่ถูกดำเนินคดีจากการเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin และถูกกล่าวหาว่าตีพิมพ์บทความที่เข้าข่ายมาตรา 112 และศาลฎีกาเพิ่งมีคำพิพากษาจำคุกรวม 6 ปี
กรณีของปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (ความคิดเห็นอันดับที่ 41/2014 รับรองเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2557) และภรณ์ทิพย์ มั่นคง (ความคิดเห็นอันดับที่ 43/2015 รับรองเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2558) สองนักกิจกรรมกลุ่มประกายไฟ ถูกดำเนินจากการคดีแสดงละครเวทีชื่อ “เจ้าสาวหมาป่า” โดยทั้งคู่ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 5 ปี ให้การรับสารภาพเหลือจำคุกรายละ 2 ปี 6 เดือน ปัจจุบันทั้งสองคนได้รับการปล่อยตัวแล้ว
ล่าสุดคือกรณีของพงษ์ศักดิ์ ศรีบุญเพ็ง (ความคิดเห็นอันดับที่ 44/2016 รับรองเมื่อวันที่ 21 พ.ย.2559) อดีตมัคคุเทศก์ ผู้ถูกจับกุมในเดือนธ.ค.2557 หลังการรัฐประหาร ก่อนถูกศาลทหารพิพากษาจำคุก 60 ปี จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กรวม 6 กรรม แต่ลดโทษเหลือจำคุก 30 ปี เนื่องจากให้การรับสารภาพ ซึ่งนับเป็นคดีมาตรา 112 ที่มีการลงโทษจำคุกสูงที่สุด โดยเขาไม่สามารถอุทธรณ์หรือฎีกาได้ เนื่องจากคดีเกิดขึ้นภายใต้กฎอัยการศึก
นอกจากนั้น คณะทำงานฯ ยังเคยมีความเห็นที่เป็นทางการอีก 2 กรณี ที่ไม่ใช่กรณีผู้ต้องหามาตรา 112 ได้แก่ กรณีของนายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ หรือ “อันวาร์” นักกิจกรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และถูกดำเนินคดีในหลายข้อหา (ความคิดเห็นอันดับที่ 19/2014 รับรองเมื่อวันที่ 1 พ.ค.2558) และกรณีของนายยงยุทธ บุญดี หรือ “แดง ชินจัง” แรงงานก่อสร้างที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวภายหลังการรัฐประหาร และถูกดำเนินคดีในข้อหาเกี่ยวเนื่องกับการใช้อาวุธสงคราม (ความคิดเห็นอันดับที่ 15/2015 รับรองเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2559) โดยคณะทำงานฯ เห็นว่าทั้งสองกรณีเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวโดยพลการเช่นเดียวกัน
ย้อนดูคำชี้แจงของรัฐบาลไทย
ในกรณีการควบคุมตัวบุคคลตามมาตรา 112 ทั้ง 4 กรณี ที่คณะทำงานฯ มีการเผยแพร่ความเห็นต่อสาธารณะ ปรากฏว่าทางรัฐบาลไทยได้ตอบข้อร้องเรียนกลับไปยังคณะทำงานฯ 3 กรณี โดยมีกรณีของปติวัฒน์ ที่รัฐบาลไทยไม่ได้มีการตอบกลับข้อร้องเรียนที่คณะทำงานฯ สอบถามไป
ในกรณีของสมยศ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรในขณะนั้น ได้ตอบข้อร้องเรียนของคณะทำงานฯ โดยปฏิเสธว่าการจับกุมดำเนินคดีสมยศไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่เขาเคลื่อนไหวรณรงค์ให้แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 รัฐบาลยังอธิบายว่าการหมิ่นประมาทต่อกษัตริย์ในประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นความผิดที่รุนแรงกว่าการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป เพราะไม่เพียงเป็นการคุกคามบุคคลที่ถูกหมิ่น แต่ยังกระทบต่อทั้งสังคม เป็นการคุกคามต่อเอกภาพและเสถียรภาพของชาติ กระทั่งการดำรงอยู่ของรัฐ กฎหมายนี้จึงมีความชอบธรรมและจำเป็นสำหรับความมั่นคงของชาติ กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ยังดำรงอยู่โดยเป็นผลลัพธ์มาจากฉันทามติร่วมกันในสังคม หรือเป็นการแสดงออกของเจตจำนงของประชาชน ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าคนไทยต้องการปกป้องสถาบันจากการคุกคามหรืออันตราย รัฐบาลจึงเห็นว่ามาตรา 112 มีความจำเป็นต้องมีโทษที่สูง อีกทั้งเมื่อประชาชนไทยส่วนใหญ่ไม่ต้องการแก้ไขเปลี่ยนแปลง มาตรา 112 รัฐบาลก็มีความชัดเจนที่จะไม่ริเริ่มการแก้ไขหรือทบทวนกฎหมายนี้ สำหรับประชาชนไทย กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์มีประโยชน์อย่างยิ่งเพราะมุ่งปกป้องพระมหากษัตริย์ผู้เป็นสัญลักษณ์การดำรงอยู่ของรัฐ ด้วยเหตุผลดังกล่าว รัฐบาลจึงสรุปว่ากฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์นั้นสอดคล้องกับข้อ 19 ของ ICCPR เนื่องจากการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นไปตามหลักความแน่นอน โปร่งใส ชอบธรรม จำเป็น และได้สัดส่วน
สมยศ ขณะถูกนำตัวมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อวันที่ 23 ก.พ.60 (ภาพจาก Banrasdr Photo)
ส่วนกรณีของภรณ์ทิพย์ รัฐบาลทหารตอบข้อร้องเรียนกลับเพียงสั้นๆ ในเดือนตุลาคม 2558 ว่าภรณ์ทิพย์ถูกจับกุมตามมาตรา 112 จากการมีส่วนร่วมแสดงละครเวทีเรื่อง ‘เจ้าสาวหมาป่า’ ที่มีการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่จากการทำกิจกรรมทางการเมืองและงานด้านสิทธิมนุษยชน รัฐบาลทหารตอบยืนยันด้วยว่า การดำเนินการทางกฎหมายกับภรณ์ทิพย์นั้นสอดคล้องกับบรรทัดฐานของนานาชาติ ผู้ต้องหาได้รับการคุ้มครองตามกระบวนการพิจารณาคดีอันควรแห่งกฎหมาย (due process of law) รวมทั้งสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม สิทธิในการต่อสู้คดี สิทธิในการได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมาย และสิทธิในการอุทธรณ์คดี รวมทั้งสามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้
ในกรณีของพงษ์ศักดิ์ รัฐบาลทหารอธิบายต่อคณะทำงานฯ ว่าสถาบันกษัตริย์ถือได้ว่าเป็นเสาหลักของสังคมไทย และกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์มีไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือชื่อเสียงของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เช่นเดียวกันกับกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา
รัฐบาลยังอธิบายว่าภายใต้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หลักกระบวนการพิจารณาคดีอันควรแห่งกฎหมาย ในคดีมาตรา 112 นี้ยังคงได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับข้อหาอื่นๆ ทางอาญา โดยจำเลยมีสิทธิในการต่อสู้คดี และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม เช่นเดียวกันกับการได้รับการช่วยเหลือจากที่ปรึกษาทางกฎหมาย รวมทั้งบุคคลยังมีสิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลระดับที่สูงกว่า และเมื่อคดีสิ้นสุดลง จำเลยยังสามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้
ความคิดเห็นของคณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ
ภายใต้คำตอบต่อข้อร้องเรียนของรัฐบาลไทยดังกล่าว ในแต่ละกรณี คณะทำงานฯ ได้พิจารณาข้อมูลและจัดทำความเห็น โดยทั้ง 4 กรณี คณะทำงานฯ ได้ลงมติว่าเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการ (arbitrary detention)
ในรายงานกรณีมาตรา 112 ทุกฉบับ คณะทำงานฯ ได้อ้างอิงไปถึงความเห็นของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างเสรี ที่มีความเห็นมาตั้งแต่ปี 2554 ว่าการใช้มาตรา 112 ในประเทศไทยมีผลทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตนเอง ปราบปรามการสนทนาที่สำคัญเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ และเป็นอันตรายต่อเสรีภาพในการแสดงออก ทางผู้รายงานพิเศษฯ ยังได้มีข้อเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเรื่อยมา
ขณะเดียวกันในรายงานทุกฉบับ คณะทำงานฯ ได้ยืนยันหลักการว่าการมีและแสดงออกซึ่งความเห็น รวมทั้งความคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ เป็นสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการคุ้มครอง ตามข้อ 19 ของ UDHR และข้อ 19 (2) ของ ICCPR
คณะทำงานฯ ยังได้อ้างอิงถึงความคิดเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 34 (2554) เกี่ยวกับเสรีภาพด้านการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ซึ่งเน้นว่ารูปแบบในการแสดงออกในลักษณะที่ถูกพิจารณาว่าเป็นการดูหมิ่นบุคคลสาธารณะ ยังไม่เป็นเหตุผลที่ชอบธรรมมากเพียงพอ ให้ต้องกำหนดบทลงโทษทางอาญา แม้ว่าบุคคลสาธารณะก็ย่อมอาจได้รับประโยชน์จากข้อบทในกติกา นอกจากนั้น เป็นสิ่งที่ชอบธรรมที่บุคคลสาธารณะทุกคน รวมทั้งผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดอย่างเช่น ประมุขของรัฐและรัฐบาล จะสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในทิศทางตรงกันข้าม
ในกรณีของสมยศ คณะทำงานฯ เห็นว่าการถูกคุมขังไม่ว่าจะด้วยเหตุจากการเป็นบรรณาธิการที่อนุญาตให้มีการตีพิมพ์บทความที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ หรือด้วยเหตุที่รณรงค์ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ของสมยศก็ตาม ล้วนอยู่ภายใต้ขอบเขตของการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นที่ได้รับการคุ้มครอง ตามข้อ 19 ของทั้งใน UDHR และ ICCPR โดยคณะทำงานฯ เห็นว่าสมยศถูกควบคุมตัวจากการใช้สิทธิในการแสดงออกโดยสันติภายใต้กรอบของกติกาดังกล่าวด้วย จึงเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ ในประเภทที่ 2
กรณีของปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์ คณะทำงานฯ ได้ระบุเช่นกันว่าทั้งสองคนถูกควบคุมตัวจากการใช้สิทธิในการแสดงออกโดยสันติภายใต้กรอบกติกาของข้อ 19 ใน UDHR และ ICCPR คณะทำงานฯ ยังพิจารณาว่าการควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดี โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ซึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศควรจะเป็นมาตรการยกเว้นและเป็นไปโดยสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งโดยหลักการ บุคคลย่อมได้รับอิสรภาพเป็นหลัก ส่วนการควบคุมตัวให้เป็นข้อยกเว้นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเท่านั้น ตามหลัก ICCPR ข้อ 9 (3) ส่วนท้ายที่บัญญัติว่า ‘มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลระหว่างการพิจารณาคดี แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดการประกันว่าบุคคลจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดี ในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการศาล และเมื่อมีคำพิพากษา’ ดังนั้น การควบคุมตัวในกรณีปติวัฒน์และภรณ์ทิพย์จึงเข้าข่ายเป็นการละเมิดต่อข้อ 9 (3) ของ ICCPR และละเมิดต่อมาตรา 87 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยเองด้วย และการควบคุมตัวทั้งสองคนเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ ในประเภทที่ 2
นอกจากนั้นในกรณีของภรณ์ทิพย์ คณะทำงานฯ ยังเห็นว่าการที่ศาลปฏิเสธการประกันตัวผู้ต้องหาอย่างต่อเนื่องและอย่างเป็นระบบนั้น กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา ทั้งสิทธิในการมีอิสรภาพพื้นฐาน และสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (fair trial) การจะลิดรอนอิสรภาพของบุคคลด้วยมาตรการใดๆ นั้นต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัดในเรื่องความชอบด้วยกฎหมาย ความจำเป็น และความได้สัดส่วน คณะทำงานฯ จึงเห็นว่ากรณีภรณ์ทิพย์ยังเข้าข่ายเป็นการควบคุมตัวโดยพลการในประเภทที่ 3 ไปพร้อมกันด้วย
สองผู้ต้องหาคดี “เจ้าสาวหมาป่า” ขณะถูกควบคุมตัวมาที่ศาล (ภาพจากสำนักข่าวประชาไท)
ข้อคิดเห็นในกรณีพงษ์ศักดิ์ และการดำเนินคดี 112 ในศาลทหาร
ข้อวินิจฉัยของคณะทำงานฯ ที่สำคัญ คือในกรณีพงษ์ศักดิ์ ซึ่งเป็นกรณีที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารภายใต้บริบทของคสช.และถูกพิพากษาด้วยโทษที่รุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อนด้วย คณะทำงานฯ เห็นว่าคำตอบของรัฐบาลไทยดังกล่าวข้างต้น มีลักษณะเป็นการบรรยายถึงเรื่องทั่วๆ ไป เกี่ยวกับมาตรา 112 และกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในประเทศ ไม่ได้เป็นการตอบต่อข้อร้องเรียนกรณีพงษ์ศักดิ์เป็นการเฉพาะ
คณะทำงานฯ มีความเห็นว่า พงษ์ศักดิ์ถูกควบคุมตัวจากการแสดงความคิดเห็นทางสื่อสังคมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์ไทย และอยู่ภายใต้กรอบการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกที่ได้รับการคุ้มครองโดยข้อ 19 ของ UDHR และ ICCPR คณะทำงานฯ ยังเห็นว่ารัฐบาลไทยไม่สามารถอธิบายว่าการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้ ICCPR ข้อ 19 (3) ในกรณีพงษ์ศักดิ์นี้เกิดขึ้นภายใต้ความจำเป็นใด และไม่ได้อธิบายให้เห็นว่าได้มีการชั่งน้ำหนักที่เหมาะสมในการจำกัดสิทธิ โดยถ้าหากพงษ์ศักดิ์โพสต์ข้อความหมิ่นประมาทบุคคลใด การจัดการต่อกรณีนี้สามารถอยู่ในขอบเขตเอาผิดโดยการหมิ่นประมาทในทางแพ่งได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นความผิดทางอาญา
คณะทำงานฯ ยังเห็นว่ากรณีพงษ์ศักดิ์เป็นการละเมิดอย่างรุนแรงต่อบรรทัดฐานระหว่างประเทศเรื่องการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (fair trial) ตั้งแต่การถูกพิจารณาคดีเป็นการลับ โดยที่รัฐบาลเองก็ไม่ได้ให้คำอธิบายว่าเหตุใดข้อยกเว้นต่างๆ ภายใต้ ICCPR ข้อ 14 (1) (เช่นเรื่องความมั่นคงของชาติ หรือผลประโยชน์สาธารณะ) จึงจำเป็นต้องนำมาปรับใช้ในกรณีของพงษ์ศักดิ์นี้ และทำให้ต้องพิจารณาคดีเป็นการลับ
ขณะเดียวกัน คณะทำงานฯ ยังเห็นว่าศาลทหารซึ่งถูกใช้พิจารณาคดีของพงษ์ศักดิ์ ไม่ได้เป็นคณะตุลาการที่มีความเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร เพราะตุลาการศาลทหารถูกแต่งตั้งมาโดยผู้นำของกองทัพและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งยังขาดแคลนความเชี่ยวชาญทางกฎหมาย และอยู่ภายใต้ระบบการบังคับบัญชา โดยคณะทำงานฯ เห็นว่ามีความขัดแย้งอย่างไม่สามารถเข้ากันได้เลย ระหว่างระบบคุณค่าของศาลพลเรือนและศาลทหาร กล่าวคือคุณค่าสำคัญของศาลพลเรือนคือความมีอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับคุณค่าของเจ้าหน้าที่ทหาร ที่ต้องเคารพเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา คณะทำงานจึงเห็นว่าการไต่สวนคดีพลเรือนในศาลทหารจึงขัดต่อ ICCPR และกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ
คณะทำงานฯ ยังพบการละเมิดบรรทัดฐานระหว่างประเทศเรื่องการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมที่รุนแรงอีกหลายประการในกรณีของพงษ์ศักดิ์ ได้แก่ การที่พงษ์ศักดิ์ไม่ได้รับทราบรายละเอียดและเหตุผลของการตั้งข้อกล่าวหาในขณะที่ถูกควบคุมตัวอยู่ การที่พงษ์ศักดิ์ไม่สามารถเข้าถึงทนายความได้ในช่วงการสอบสวนหรือระหว่างที่ถูกควบคุมตัวภายในค่ายทหาร คำรับสารภาพของพงษ์ศักดิ์เกิดขึ้นภายใต้การควบคุมตัวภายในค่ายทหาร ก่อนจะถูกนำตัวมาแถลงข่าวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยไม่ได้มีญาติและทนายความอยู่ด้วย รวมทั้งการตัดสินจำคุกของศาลทหารที่เกินกว่าเหตุ โดยพงษ์ศักดิ์ไม่มีสิทธิในการอุทธรณ์ต่อศาลที่สูงขึ้นไป
คณะทำงานฯ ยืนยันว่าหลักการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมนั้น เป็นสิทธิพื้นฐานที่ยังต้องได้รับการเคารพ แม้ในสภาวะฉุกเฉิน แต่ในกรณีของพงษ์ศักดิ์ คณะทำงานฯ เห็นว่าเขาไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมทั้งระหว่างการประกาศใช้ และหลังจากยกเลิกกฎอัยการศึกแล้ว คณะทำงานฯ จึงสรุปว่าการควบคุมตัวพงษ์ศักดิ์เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ เข้าข่ายทั้งในประเภทที่ 2 และที่ 3
พงษ์ศักดิ์ ผู้ต้องหาที่ถูกศาลทหารพิพากษาโทษจำคุก ุ60 ปี สูงที่สุดในคดีมาตรา 112 เท่าที่เคยปรากฏ (ภาพจากรายงานของ International Federation for Human Rights – FIDH)
เมื่อการควบคุมตัวโดยพลการอย่างเป็นระบบ อาจกลายเป็น “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”
ขณะเดียวกัน ในความเห็นกรณีของพงษ์ศักดิ์ที่ได้รับการเผยแพร่ล่าสุด ทางคณะทำงานฯ ยังได้อ้างอิงถึงรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) ว่าตั้งแต่หลังการรัฐประหาร 2557 มีการดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้คณะทำงานฯ ยังมีความเห็นโดยแสดงความกังวลถึงรูปแบบของการควบคุมตัวโดยพลการในกรณีที่เกี่ยวกับการใช้กฎหมายมาตรา 112 ของไทยทั้งหมด โดยระบุว่ากรณีของพงษ์ศักดิ์เป็นเพียงไม่หนึ่งในกรณีจำนวนมากที่มีการร้องเรียนมาที่คณะทำงานฯ ในไม่กี่ปีนี้ คณะทำงานฯ จึงเห็นว่าภายใต้บางสถานการณ์ การแพร่กระจายของการคุมขังอย่างกว้างขวางหรืออย่างเป็นระบบ หรือการลิดรอนอิสรภาพอื่นๆ ตามข้อบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างรุนแรง อาจนับเป็น “การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” ได้
คณะทำงานฯ ยังประเมินว่าท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและสื่อสังคมในฐานะวิธีการสื่อสาร การควบคุมตัวบุคคลที่ใช้สิทธิในการมีเสรีภาพในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ มีแนวโน้มจะยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกว่ารัฐบาลไทยจะปรับกฎหมายมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ความเห็นในลักษณะนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรายงานของคณะทำงานฯ ในกรณีก่อนหน้านี้ โดยอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (crimes against humanity) ถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และถือเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ ซึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวเนื่องกับอาชญากรรมนี้ด้วย
ท้ายที่สุด ในรายงานความคิดเห็นของคณะทำงานฯ ที่ผ่านมาทุกฉบับ ได้เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว ทั้งสมยศ ปติวัฒน์ ภรณ์ทิพย์ และพงษ์ศักดิ์ โดยทันทีพร้อมให้การชดเชยเยียวยาจากการควบคุมตัวโดยพลการที่กระทำต่อบุคคลเหล่านั้นอีกด้วย
ในรายงานกรณีของพงษ์ศักดิ์ คณะทำงานฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขกฎหมายที่ขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งในกรณีมาตรา 112 และกฎหมายอื่นๆ ที่อนุญาตให้นำพลเรือนขึ้นพิจารณาในศาลทหาร โดยเรียกร้องให้ปรับให้สอดคล้องกับพันธกรณีของไทยต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยถ้าหากรัฐบาลต้องการความช่วยเหลือทางเทคนิคเพิ่มเติมสำหรับการปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง ทางคณะทำงานฯ ก็ยินดีที่จะเดินทางมาเยือนประเทศไทยด้วย
นอกจาก 4 กรณีดังกล่าวนี้ ยังมีกรณีผู้ถูกควบคุมตัวโดยมาตรา 112 ร้องเรียนไปยังคณะทำงานฯ มากกว่านี้ แต่คณะทำงานฯ ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยออกมา โดยอาจยังอยู่ในขั้นตอนการส่งข้อร้องเรียนไปยังรัฐบาล หรือรอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ร้องเรียน จึงน่าติดตามต่อไปว่าคณะทำงานฯ จะมีความเห็นในกรณีใดอีกหรือไม่ และความคิดเห็นขององค์กรระดับนานาชาติที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จะมีผลต่อการควบคุมตัวผู้ต้องหามาตรา 112 ที่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย รวมทั้งกรณี “ไผ่” ที่เกิดขึ้นล่าสุด หรือไม่
อ่านเพิ่มเติม
เว็บไซต์คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการแห่งสหประชาชาติ
ปฏิญาณสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR)
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)
รู้จัก ‘แซม พงษ์ศักดิ์’ : จุดเริ่มต้นคือการตั้งคำถาม จุดจบ? คือโทษจำคุก 60 ปี (สำนักข่าวประชาไท)
13 ประเด็นสำคัญในคดี 112 สมยศ พฤกษาเกษมสุข (สำนักข่าวประชาไท)