ผอ.สถานพินิจฯ กทม. สั่งไม่อนุญาตให้ทนายเข้าเยี่ยม “หยก” ระบุไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้ง แม้ระบุชัดว่าเป็นทนายในคดีอื่น ขณะ ผอ.บ้านปรานี สั่งงดเยี่ยมญาติต่อเนื่อง 5 วัน หลังมีกิจกรรม #เดินเพื่อเพื่อน

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2566  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งว่าผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี ไม่อนุญาตให้ผู้ไว้วางใจและที่ปรึกษาทางกฎหมายในคดีอื่นของ “หยก” เยาวชนวัย 15 ปี ที่ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 เข้าเยี่ยมและฝากอาหารให้กับเธอได้ ซึ่งในขณะนี้หยกได้ถูกฝากขังเป็นผัดที่ 2 แล้ว

ในคดีนี้ หยกถูกจับกุมจากกรณีที่เข้าไปไลฟ์สดในบริเวณที่เกิดเหตุศิลปินอิสระพ่นสีข้อความขีดทับเลข 112 บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระราชวัง ได้ทำการควบคุมตัวหยกไปพร้อมกับศิลปินคนดังกล่าวด้วย ก่อนที่จะค้นประวัติของเธอและพบว่าเธอมีหมายจับจาก สน.สำราญราษฎร์ ในคดีมาตรา 112 อยู่ 

ทั้งนี้ ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวที่ สน.พระราชวัง หยกเปิดเผยว่าตนเองถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุกคามโดยตรวจค้นตัวเธออย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งเธอได้แต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมาย สำหรับเตรียมฟ้องกลับในคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มดังกล่าวคุกคามเธอแล้ว แต่มิได้แต่งตั้งที่ปรึกษาทางกฎหมายในคดีตามมาตรา 112 แต่อย่างใด

ต่อมาในวันเดียวกัน ตำรวจ สน.พระราชวัง จึงได้ควบคุมตัวหยกไปยัง สน.สำราญราษฎร์ เพื่อให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ โดยหยกปฏิเสธกระบวนการที่เกิดขึ้น จนกระทั่งในวันถัดมา (29 มี.ค. 2566) เธอถูกควบคุมตัวเพื่อไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยเธอได้ปฏิเสธกระบวนการ และไม่ขอมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย ตลอดจนไม่ขอเซ็นเอกสารใดๆ และไม่ยื่นขอประกันตัว ทำให้ศาลมีคำสั่งให้ออกหมายควบคุมตัวหยกไว้ในความดูแลของสถานพินิจฯ หรือบ้านปรานี

ผอ.ศูนย์ฝึกฯ บ้านปรานี ออกประกาศกะทันหัน เรื่องดให้บริการเยี่ยมญาติ ระบุเหตุผลเนื่องจากมีกลุ่มมวลชนจัดกิจกรรม “เดินเพื่อเพื่อน” มาที่บ้านปรานี

ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ทางกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ได้ประกาศทำกิจกรรม “เดินเพื่อเพื่อน” โดยเป็นการทำกิจกรรมเดินรณรงค์เรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม จากบริเวณหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กรุงเทพฯ ไปยังบ้านปรานี ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เริ่มตั้งแต่เวลา 16.00 น. ของวันที่ 3 พ.ค. 2566

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2566 กัญญาภัทร สุทธิบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี ได้ออกประกาศแจ้งงดบริการเยี่ยมญาติของผู้ต้องขังในบ้านปรานี โดยมีใจความสำคัญระบุว่า “เนื่องจากมีกลุ่มมวลชน จะมีกิจกรรม ‘เดินเพื่อเพื่อน’ ซึ่งจะทำการเดินขบวนจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมายังบ้านปรานี ในวันที่ 3 พ.ค. 2566 ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนในความดูแลของบ้านปรานี จึงขอประกาศงดเยี่ยม ตั้้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 2566 – 7 พ.ค. 2566”

ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งข้อเท็จจริงจากผู้ไว้วางใจและที่ปรึกษากฎหมายในคดีอื่นของหยกว่า ในวันดังกล่าว ผู้ไว้วางใจและที่ปรึกษากฎหมายได้พยายามขอเข้าเยี่ยมหยก โดยในตอนแรกไม่สามารถผ่านเข้าประตูหน้าบ้านปรานีได้ จึงได้ใช้เวลาเจรจาอยู่สักครู่หนึ่งกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย จึงจะได้เข้าไป

เมื่อที่ปรึกษาทางกฎหมายในคดีอื่นกรอกเอกสารขอเข้าเยี่ยมหยก กลับพบว่าเจ้าหน้าที่ไม่ยอมให้เข้าพบตัวผู้ต้องหา และแจ้งให้ทนายรอดำเนินการสักครู่หนึ่ง

ผอ.สถานพินิจฯ กรุงเทพมหานคร ออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ทนายความของ “หยก” เข้าพบตัวผู้ต้องหา ระบุไม่ใช่ทนายความตามที่ศาลแต่งตั้ง แม้ระบุชัดว่าเป็นทนายความในคดีอื่นที่หยกเป็นผู้เสียหาย 

ต่อมาในเวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่ได้เรียกให้ทนายของหยกเข้าไปพบ และได้ยื่นเอกสารให้อ่าน ระบุว่าเป็นเอกสารปฏิเสธคำร้องขอเข้าพบตัวผู้ต้องหา โดยในคำสั่งมีใจความระบุว่า “ผู้ยื่นคำร้องเป็นทนายความ เคยยื่นคำร้องขอพบเยาวชน โดยแจ้งว่าเป็นที่ปรึก๋่ื่ษาทางกฎหมายของเยาวชน ซึ่งผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เห็นว่าเป็นเพื่อการคุ้มครองสวัสดิภาพและประโยชน์ของเยาวชนให้ได้รับการช่วยเหลือ จึงอนุญาตมาแล้วเป็นจำนวน 10 ครั้ง

“แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ยื่นคำร้องได้ไปดำเนินการให้ศาลแต่งตั้งที่ปรึกษาทางกฎหมายของเยาวชนแต่อย่างใด ปัจจุบันศาลได้มีคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับเยาวชนแล้ว และไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเยาวชน ตามระเบียบกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนว่าด้วยการติดตามเด็กและเยาวชนของบุคคลภายนอก และการพบปรึกษากับที่ปรึกษาทางกฎหมายหรือทนายความ พ.ศ.2565 ข้อ 7 จึงไม่อนุญาต”

ลงนามคำสั่งโดย ปัญญา จันทร์ละออ ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม แม้หยกจะไม่ได้แต่งตั้งที่ปรึกษาทางกฎหมายในคดีมาตรา 112 แต่ในคดีฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำการคุกคามตัวเธอ ก็ได้มีการแต่งตั้งทนายความไว้ในฐานะที่หยกเป็นผู้เสียหาย ซึ่งทางทนายได้สอบถามต่อเจ้าหน้าที่ไปว่า ตนเองได้ยื่นคำร้องและได้รับอนุญาตมาแล้วจากทางสถานพินิจฯ และแจ้งอย่างชัดเจนว่าเป็นทนายความในคดีอื่นที่หยกเป็นผู้เสียหาย ไม่ใช่ในคดีมาตรา 112  หากจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งก็แจ้งรายละเอียดให้ชัดเจนได้หรือไม่

แต่ทางเจ้าหน้าที่ไม่มีใครสามารถตอบทนายของหยกได้ จึงได้ต่อสายโทรศัพท์ถึงชายไม่ทราบชื่อ แต่ปรากฏในหน้าบันทึกเบอร์โทรศัพท์ว่า “ผอ.ปัญญา” ทนายจึงได้สอบถามต่อชายคนดังกล่าวว่าการเข้าเยี่ยมหยกในครั้งนี้มีปัญหาอะไร ถึงไม่สามารถเข้าพบตัวผู้ต้องหาได้

ชายคนดังกล่าวได้ตอบทนายว่า จากการพูดคุยกันในที่ประชุม ทางสถานพินิจฯ ได้ทราบว่ามีการแต่งตั้งทนายให้หยกแล้ว ซึ่งทางทนายได้สอบถามต่อไปว่า หยกทราบหรือไม่ว่ามีการแต่งตั้งที่ปรึกษาทางกฎหมายแล้ว แต่บุคคลในสายไม่ทราบและบอกให้ทนายสอบถามเจ้าหน้าที่คนอื่น 

เมื่อทนายถามต่อว่า เป็นผู้อำนวยการสถานพินิจฯ จะไม่ทราบได้อย่างไร ซึ่งชายคนดังกล่าวได้ปฏิเสธว่าตนเองไม่ใช่ผู้อำนวยการ แต่เมื่อทนายสอบถามชื่อก็ไม่ได้มีการตอบกลับ แต่อธิบายเพียงว่าตนเองเป็นหัวหน้าคดี และขอยุติการสนทนาก่อนจะตัดสายไป โดยที่เจ้าหน้าที่ที่ต่อสายโทรศัพท์ให้ก็ไม่แจ้งว่าใครเป็นผู้สนทนากับทนายความของหยก 

อ่านข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากทนายความของหยก >>> ข้อเท็จจริงเรื่องการไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยมและประกาศงดเยี่ยมญาติของบ้านปรานี

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 29 มี.ค. 2566 ศาลได้บันทึกไว้ว่าผู้ต้องหาปฏิเสธไม่ขอลงลายมือชื่อในใบแต่งที่ปรึกษากฎหมายดังกล่าว และหยกได้มีความประสงค์ให้มีผู้ไว้วางใจเข้ามาฟังในห้องพิจารณาคดีด้วยเท่านั้น ไม่ได้มีที่ปรึกษาทางกฎหมายตามที่ศาลได้ระบุในคำสั่งผัดฟ้องดังกล่าว 

ย้อนอ่านข่าวฝากขังครั้งที่ 2 และการแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายของหยก >>> “หยก” ถูกควบคุมตัวคดี ม.112 ต่ออีก 15 วัน แม้ผู้ไว้วางใจขอเบิกตัวมาศาล แต่ศาลไม่อนุญาต ระบุไม่ใช่ผู้ปกครอง และ ผตห.ยังมีที่ปรึกษากฎหมาย แม้หยกยืนยันว่าเธอไม่เคยเซ็นแต่งตั้งใคร 

ผลของคำสั่งจากผู้อำนวยการสถานพินิจฯ ในวันนี้ ทำให้ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. 2566 – 3 พ.ค. 2566 “หยก” เด็กหญิงที่ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112 จากเหตุขณะอายุ 14 ปี ได้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จังหวัดนครปฐม เป็นระยะเวลารวม 36 วันแล้ว

X