กลไกพิเศษของสหประชาชาติ ได้รับการร้องเรียน กรณีของ “หยก”นักกิจกรรมเยาวชน วัย 15 ปี ถูกคุมขังโดยมิชอบ ในคดีหมิ่นกษัตริย์ ม.112 

TW : Sexual harassment 

เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2566 “หยก” นักกิจกรรมเยาวชน วัย 15 ปี อนุญาตให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องเร่งด่วน (an urgent appeal) ต่อคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (United Nations Working Group on Arbitrary Detention; UN WGAD) ในการรายงานว่าเธอถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  จากเหตุเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2565 ในขณะอายุ 14 ปี โดยมีอานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งในขณะนี้ หยกได้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จังหวัดนครปฐม เป็นระยะเวลาเกิน 1 เดือนแล้ว 

.

คำร้องเร่งด่วนตั้งข้อสังเกตว่าการแสดงหมายจับของตำรวจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่สัมพันธ์กับเหตุที่มีการควบคุมตัวหยกและบังเอิญ เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566

ในคำร้องเร่งด่วนระบุว่า หยกถูกจับกุมจากกรณีที่เข้าไปไลฟ์สดในบริเวณที่เกิดเหตุ “บังเอิญ” ศิลปินอิสระพ่นสีข้อความขีดทับเลข 112 บนกำแพงพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2566 ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พระราชวัง ได้ทำการควบคุมบังเอิญไป ก่อนที่หยกจะติดตามไป สน.พระราชวังเพื่อทำการสังเกตการณ์การจับกุมตัวศิลปินคนดังกล่าว ซึ่งในขณะนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้มีการระดมกำลังทำการจับกุมตัวหยก กระชากหยกเข้าไปในห้องสอบสวน และแจ้งเธอว่า “เรา … ร่วมกับเขา [บังเอิญ] เราต้องถูกจับกุม” ถึงแม้ว่าหยกจะไม่ได้มีส่วนร่วมกับบังเอิญเลยก็ตาม การจับกุมดังกล่าวเกิดขึ้นโดยไม่ได้มีการแจ้งหยกก่อนทำการจับกุม อีกทั้งไม่ได้มีการแสดงหมายจับ

ในห้องสอบสวน เจ้าหน้าที่ได้ทำการค้นตัวหยกโดยไม่ได้รับความยินยอมจากหยก มีการใช้ความรุนแรงโดยมีเจ้าหน้าที่นั่งทับตัวหยก ขณะที่เจ้าหน้าที่คนอื่นได้มีการสัมผัสร่างกายหยกอย่างไม่เหมาะสม มีการสอดมือเข้าไปในเสื้อของเธอเพื่อเข้าถึงไอแพดที่เธอใช้ทำการไลฟ์สด

การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดกับมาตรา 69 วรรค 3 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ซึ่งบัญญัติว่าการจับกุมหรือควบคุมเด็กต้องกระทำโดยละมุนละม่อม โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และไม่เป็นการประจานเด็ก และห้ามมิให้ใช้วิธีการควบคุมเกินกว่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือเพื่อความปลอดภัยของเด็กผู้ถูกจับหรือบุคคลอื่น

ภายหลังทำการจับกุมตำรวจกลับแจ้งว่าเธอมีหมายจับของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ลงวันที่ 28 ก.พ. 2566 ซึ่งเป็นหมายจับที่สืบเนื่องมาจากเหตุเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2565 จึงมีข้อสังเกตว่า การแสดงหมายจับของเจ้าหน้าที่ไม่ได้สัมพันธ์กับพฤติการณ์ของการควบคุมตัวบังเอิญ และหยกในวันที่ 28 มี.ค. 2566 แต่อย่างใด

ถึงแม้ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2566  หยกจะได้รับหมายเรียกเป็นจำนวน 2 ครั้ง จาก สน.สำราญราษฎร์ แต่เธอก็ได้ยื่นหนังสือให้กับ สน.สำราญราษฎร์ ขอเลื่อนการเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาไปเป็นวันที่ 9 เม.ย. 2566 แล้ว เนื่องจากเธออยู่ในระหว่างการสอบกลางภาคในระดับชั้นมัธยมปีที่ 3 และมีความจำเป็นจะต้องไปรายงานตัวที่โรงเรียนเพื่อทำเรื่องศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมปลายปีที่ 4 แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังคงขอให้ศาลเยาวชนฯ ออกหมายจับเธอ ขัดกับมาตรา 67 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ซึ่งบัญญัติให้ศาลต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเด็กเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องอายุ เพศ และอนาคตของเด็ก หากการออกหมายจับมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของเด็กอย่างรุนแรงโดยไม่จำเป็น ให้พยายามเลี่ยงการออกหมายจับ โดยใช้วิธีติดตามตัวเด็กด้วยวิธีอื่นก่อน 

ซึ่งต่อมา ตำรวจ สน.พระราชวัง ก็ได้ควบคุมตัวหยกไปยัง สน.สำราญราษฎร์ เพื่อให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำ โดยหยกปฏิเสธกระบวนการที่เกิดขึ้น จนกระทั่งในวันถัดมา (29 มี.ค. 2566) เธอถูกควบคุมตัวเพื่อไปที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยเธอได้ปฏิเสธกระบวนการ และไม่ขอมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย ตลอดจนไม่ขอเซ็นเอกสารใดๆ และไม่ยื่นขอประกันตัว ทำให้ศาลมีคำสั่งว่าการจับกุมตัวหยกเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และให้ออกหมายควบคุมตัวหยกไว้ในความดูแลของสถานพินิจฯ หรือบ้านปรานีเรื่อยมา โดยอ้างว่าการกระทำของหยกอาจเป็นภัยร้างแรงต่อผู้อื่น หรือเกรงว่าจะหลบหนี ถือว่ามีเหตุสมควรให้ควบคุมตัวหยก

ในประเด็นนี้ คำร้องเร่งด่วนรายงานว่า นอกเหนือจากความไม่ชัดเจนว่าศาลอ้างอิงพยานหลักฐานใดในการตัดสินว่าหยกอาจเป็นภัยร้างแรงต่อผู้อื่น หรือเกรงว่าจะหลบหนี คำสั่งของศาลยังขัดกับพ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ อยู่สองประการ 

หนึ่ง มาตรา 73 บัญญัติให้ศาลตรวจสอบว่าการจับและการปฏิบัติต่อเด็กเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหากย้อนกลับไปดูข้อเท็จจริงข้างต้น อาทิ หยกถูกกระชากเข้าห้องสอบสวน ถูกค้นตัวโดยไม่ได้รับความยินยอม ถูกนั่งทับระหว่างถูกค้นตัว ถูกจับและล้วงโดยเจ้าหน้าที่อย่างไม่เหมาะสม เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเป็นการจับและปฏิบัติต่อหยกอย่างไม่ละมุนละม่อม ขัดกับมาตรา 69 วรรค 3

สอง ในการพิจารณาออกคำสั่งควบคุมหรือคุมขังเด็ก มาตรา 74 วรรค 2 บัญญัติให้ศาลคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิและประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ และการควบคุมหรือคุมขังเด็กให้กระทำเป็นทางเลือกสุดท้าย ในกรณีของหยก ศาลได้พิจารณาทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่เป็นการคุมขังหยกแล้วหรือยัง

นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 29 มี.ค. 2566 ศาลได้บันทึกไว้ว่าผู้ต้องหาปฏิเสธไม่ขอลงลายมือชื่อในใบแต่งที่ปรึกษากฎหมายดังกล่าว และหยกได้มีความประสงค์ให้มีผู้ไว้วางใจเข้ามาฟังในห้องพิจารณาคดีด้วยเท่านั้น ไม่ได้มีที่ปรึกษาทางกฎหมายตามที่ศาลได้ระบุในคำสั่งผัดฟ้องดังกล่าว 

ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าว หยกได้ปฏิเสธที่จะลงลายมือชื่อในฐานะผู้ต้องหา แต่ได้ปรากฏลายมือชื่อของบุคคลลงนามในช่องที่ปรึกษาทางกฎหมาย ซึ่งจนถึงวันนี้หยกก็ได้ยืนยันว่าเธอไม่เคยแต่งตั้งที่ปรึกษาทางกฎหมายในคดีนี้ และในรายงานกระบวนพิจารณาก็ไม่ได้ระบุว่ามีการแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายเป็นผู้ใด ซึ่งปัจจุบันหยกได้ถูกฝากขังเป็นผัดที่ 2 แล้ว และตามกฎหมาย อัยการจะขอฝากขังหยกได้นานที่สุดคือวันที่ 26 มิ.ย. 2566 นอกจากว่าจะมีการสั่งฟ้องคดีต่อไป กล่าวคือ หลังจากครบกำหนดฝากขัง 30 วันแรก อัยการสามารถขอผัดฟ้องได้มากสุด 4 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 15 วัน

.

ซึ่งในคำร้องเร่งด่วน มีใจความโดยสรุปว่า การจับกุมและควบคุมตัวหยกจากเหตุไลฟ์สดบริเวณวัดพระแก้วเมื่อมีนาคม 2566 เป็นการจับกุมหรือควบคุมตัวโดยพลการ เนื่องจากเป็นการจับกุมที่ไม่ได้เป็นไปตามกระบวนการภายใต้ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ซึ่งข้อ 9 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights; ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี บัญญัติว่า การจำกัดเสรีภาพของประชาชนต้องเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย

อีกทั้ง การดำเนินคดีและการลิดรอนเสรีภาพของหยก เป็นการละเมิดสิทธิในการพิจารณาคดีด้วยความยุติธรรม สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก และหลักการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมืองและความเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองตามข้อ 14 ข้อ 19 และข้อ 26 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเช่นกัน

และหนึ่งประเด็นสำคัญที่คำร้องเร่งด่วนได้เน้นย้ำคือ การควบคุมตัวใดก็ตามภายใต้ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ถือว่าเป็นการ “ควบคุมตัวโดยพลการ” เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีความชัดเจนไม่เพียงพอ เป็นการให้ดุลพินิจผู้บังคับใช้กฎหมายมากจนเกินไปในการตีความตัวบทกฎหมาย ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถรู้ได้ว่าการกระทำใดผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย ความไม่ชัดเจนดังกล่าวขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมาย หรือ “Principle of Legality” ข้อโต้แย้งนี้สอดคล้องกับความเห็นของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ในกรณีอื่นๆ ที่ประเทศไทยได้มีการดำเนินคดีและควบคุมตัวบุคคลภายใต้กฎหมายดังกล่าว

นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 คณะทำงาน UN WGAD พบว่าประเทศไทยลิดรอนเสรีภาพของบุคคลถึง 9 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวด้วยมาตรา 112 และถือเป็นการควบคุมตัว “โดยพลการ” พวกเขาได้รับการปล่อยตัวทั้งหมดในเวลาต่อมา ยกเว้น อัญชัญ ปรีเลิศ ซึ่งศาลอาญากรุงเทพได้พิพากษาโทษจำคุก ถึง 87 ปี เนื่องจากอัปโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงบนสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเจ้าหน้าที่พิจารณาว่าคลิปเสียงเหล่านั้นมีเนื้อหาหมิ่นประมาทต่อราชวงศ์ไทย ทั้งนี้ศาลได้ลดโทษจำคุกลงเหลือ 43 ปี 6 เดือนเนื่องจากเธอรับสารภาพ เธอยังคงอยู่จองจำที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา กลไกตรวจสอบสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายภาคส่วนได้ย้ำข้อกังวลซ้ำหลายรอบต่อการบังคับใช้มาตรา 112 และเตือนว่าการลิดรอนเสรีภาพที่มีมูลเหตุจูงใจมาจากการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นี้ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีที่ประเทศไทยมีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก  และได้เรียกเรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยุติมาตรา 112 พร้อมทั้งปล่อยตัวจำเลยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ทุกคน

.

ผู้ประสานงาน UN ในไทย ทวีต “เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการรับฟัง” หลังฟังปัญหาเยาวชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมือง

อนึ่ง เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2566 กีต้า ซับบระวาล (Gita Sabharwal) ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UN Resident Coordinator in Thailand) ได้ทวีตข้อความหลังได้พูดคุยกับกลุ่มเยาวชนและทนายความ ในเรื่องปัญหาการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและการแสดงออกทางการเมือง ว่า “เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการรับฟัง ที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่จะส่งผลกระทบกับพวกเขาในปัจจุบันหรืออนาคต”

ส่วนทางด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะองค์กรสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีพันธกิจช่วยเหลือและดูแลให้รัฐไทยปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ยังไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองในทางสาธารณะต่อการจับกุมและการคุมขังของ “หยก” ในครั้งนี้ แต่อย่างใด  

.

.

ย้อนอ่านข้อมูลกรณีของหยก

ส่องปฏิกิริยาเรียกร้องปล่อยตัว “หยก” คดี ม.112 ก่อนครบกำหนดผัดฟ้องอีกครั้ง นักกิจกรรมกังวลพ้นสภาพนักเรียนหากถูกขังต่อ

รู้จัก “หยก” เด็กหญิงผู้ถูกดำเนินคดี 112 ที่อายุน้อยที่สุด กับการตระหนักรู้ว่าประเทศไม่ได้เป็นอย่างในนิทานที่ถูกเล่า

ลำดับเหตุการณ์คดีของ “หยก” เด็กหญิงผู้ถูกดำเนินคดี ม.112

“หยก” ถูกควบคุมตัวคดี ม.112 ต่ออีก 15 วัน แม้ผู้ไว้วางใจขอเบิกตัวมาศาล แต่ศาลไม่อนุญาต ระบุไม่ใช่ผู้ปกครอง และ ผตห.ยังมีที่ปรึกษากฎหมาย แม้หยกยืนยันว่าเธอไม่เคยเซ็นแต่งตั้งใคร

ผอ.สถานพินิจฯ กทม. สั่งไม่อนุญาตให้ทนายเข้าเยี่ยม “หยก” ระบุไม่ใช่ที่ปรึกษากฎหมายที่ศาลแต่งตั้ง แม้ระบุชัดว่าเป็นทนายในคดีอื่น ขณะ ผอ.บ้านปรานี สั่งงดเยี่ยมญาติต่อเนื่อง 5 วัน หลังมีกิจกรรม

X