หลังจากเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566 “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ “แบม” อรวรรณ ได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เพื่อรักษาชีวิต หลังจากที่เธอทั้งสองได้เดินทางไปอดอาหารต่อที่หน้าศาลฎีกา เพื่อยืนยันข้อเรียกร้องของทั้งคู่ต่อไป
ต่อมา ในวันที่ 11 มีนาคม 2566 ตะวัน-แบม ได้แถลงการณ์ยุติการอดอาหาร เพื่อที่จะรับการรักษาและนำเอาชีวิตไปสู้ต่อไป
ทั้งนี้ หลังจากได้ออกจากโรงพยาบาล ตะวัน-แบมยังคงดำเนินการรณรงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับผู้ต้องขังทางการเมืองและผลักดันให้พรรคการเมืองมีนโยบายเกี่ยวกับมาตรา 112 และสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ชัดเจน
ตะวัน-แบมได้เริ่มอดน้ำอดอาหารประท้วงเพื่อทวงคืนสิทธิเสรีภาพในการประกันตัวให้กับผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2566 จนถึงวันที่ 11 มีนาคม 2566 รวมทั้งสิ้น 52 วัน
ข้อเรียกร้องของ ตะวัน-แบม มีทั้งหมด 3 ประการ 1) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2) ยุติการดำเนินความกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 3) พรรคการเมืองทุกๆ พรรคต้องเสนอนโยบายเพื่อประกันสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน โดยการยกเลิกมาตรา 112 และ 116
.
บทความนี้เป็นบทความที่ 2 ของซีรีส์ “#HungryForFreedom #หิวอิสรภาพชีวิต: เมื่อผู้ต้องหาคดีการเมืองต้องมาทวงคืนสิทธิในการประกันตัวที่หายไป” หลังจากได้ทำความเข้าใจสิทธิในการประกันตัวภายใต้กฎหมายไทย และที่มาของกฎหมายที่เกี่ยวข้องในบทความแรกแล้ว บทความนี้จะสำรวจสิทธิในการประกันตัวภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่รัฐไทยได้เข้าเป็นภาคี
สิทธิในการประกันตัวภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
ในปี ค.ศ. 1996 รัฐไทยได้เข้าเป็นภาคี ICCPR ทำให้รัฐไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและบทบัญญัติภายใต้กติกาฯ ดังกล่าว โดยข้อ 9 วรรค 3 ของ ICCPR บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิในการประกันตัวไว้ว่า “บุคคลใดที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา จะต้องถูกนำตัวโดยพลันไปยังศาลหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะใช้อำนาจทางตุลาการ และจะต้องมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดีภายในเวลาอันสมควร หรือได้รับการปล่อยตัว มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่าจะมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดีในขั้นตอนอื่นของกระบวนการพิจารณา และจะมาปรากฏตัวเพื่อการบังคับตามคำพิพากษาเมื่อถึงวาระนั้น” (เน้นโดยผู้เขียน)
ในความเห็นทั่วไปที่ 35 เกี่ยวกับเสรีภาพของบุคคล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Human Rights Committee ได้อธิบายไว้ว่า การคุมขังบุคคลก่อนหรือระหว่างการพิจารณาคดี หรือที่เรียกว่า pretrial detention ควรเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่กฎ (“exception rather than the rule”) การคุมขังบุคคลก่อนหรือระหว่างพิจารณาคดีไม่ควรเป็นการปฏิบัติทั่วไป การคุมขังดังกล่าวจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น (necessary) เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้จำเลยหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำ
อีกทั้งบทกฎหมายเกี่ยวกับเหตุสำหรับคุมขังไม่ควรมีความคลุมเครือหรือกว้างจนเกินไป (vauge or expansive) ยกตัวอย่างเช่น เหตุเกี่ยวกับความปลอดภัยสาธารณะ หรือ public security เป็นเหตุที่มีความคลุมเครือและถูกตีความได้กว้าง กฎหมายจึงไม่ควรกำหนดเหตุดังกล่าวเข้าไปในตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุมขังบุคคลระหว่างการพิจารณาคดี (ย่อหน้าที่ 38)
ไม่เพียงเท่านี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้อธิบายไว้อีกว่า การคุมขังบุคคลต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล (individualized determination) พิจารณาพฤติการณ์คดีและปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวเนื่องกับคดีของแต่ละบุคคล ว่าการคุมขังมีความจำเป็น (necessary) เพื่อบรรลุเป้าหมายสามประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้นหรือไม่
ในการพิจารณาว่าการคุมขังจำเป็นหรือไม่นั้น ศาลต้องคำนึงว่ามาตรการอื่นนอกเหนือจากการคุมขัง เช่น การให้ประกันตัว การบังคับใส่กำไล EM (electronic monitoring) หรือการตั้งเงื่อนไขระหว่างการปล่อยตัวชั่วคราว ฯลฯ สามารถนำมาใช้ได้กับผู้ต้องหาได้หรือไม่ หากมาตรการเหล่านี้สามารถนำมาใช้ได้ การคุมขังก็ให้ถือว่าไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป (ย่อหน้าที่ 38)
สำหรับความผิดที่มีโทษสูง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้ความเห็นว่า การคุมขังก่อนหรือระหว่างพิจารณาคดีไม่ควรถือว่าเป็นมาตรการจำเป็นสำหรับความผิดใดความผิดหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงพฤติการณ์คดีและปัจจัยแวดล้อม อีกทั้งศาลไม่ควรสั่งคุมขังบุคคลโดยอ้างอัตราโทษของความผิด การคุมขังบุคคลจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งการที่ความผิดที่บุคคลถูกกล่าวหามีโทษสูง ไม่ได้ตอบคำถามว่าการคุมขังมีความจำเป็นหรือไม่ (ย่อหน้าที่ 38)
เมื่อหันกลับมาดูกฎหมายไทยและการคุมขังผู้ต้องหาทางการเมืองก่อนหรือระหว่างการพิจารณาคดี จะเห็นได้ว่าทั้งตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศมีความคลาดเคลื่อนออกไปจาก ICCPR อย่างชัดเจน ยกตัวอย่างคำว่า “อันตรายประการอื่น” ในมาตรา 108/1(3) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งมีความคลุมเครือและกว้างจนเกินไป บุคคลทั่วไปไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการกระทำใดถือว่าเป็นหนึ่งใน “อันตรายประการอื่น” ที่จะเป็นเหตุให้ศาลไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้
อีกหนึ่งตัวอย่างคือ ศาลไทยมีการนำ “ความหนักเบาแห่งข้อหา” และ อัตราโทษ มาเป็นเหตุผลในการไม่ให้ประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะผู้ต้องหาในคดี “หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” หรือ มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีอัตราโทษ 3 ถึง 15 ปี ถึงแม้ว่าพฤติการณ์คดีของแต่ละบุคคลจะมีความแตกต่างกันก็ตาม แต่ศาลมักอ้างเหตุผลเดียวกันในการไม่ให้ประกันตัว กล่าวคือ ความหนักเบาแห่งข้อหา และอัตราโทษสูง
คำถามที่สำคัญคือ ศาลได้มีการพิจารณาคำร้องขอประกันตัวเป็นรายบุคคล (individualized determination) หรือไม่ หรือศาลมีแนวทางการปฏิบัติ (อย่างไม่เป็นทางการ) ในกรณีข้อหามาตรา 112 ที่เหมือนกันโดยไม่คำนึงถึงพฤติการณ์คดีที่แตกต่างกัน ศาลได้มีการคำนึงหรือไม่ว่าสามารถนำมาตรการอื่นนอกเหนือจากการคุมขังมาใช้กับผู้ต้องหา เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำได้หรือไม่ เพราะหากมาตรการอื่นนอกเหนือจากการคุมขังสามารถนำมาใช้ได้ ICCPR ให้ถือว่าการคุมขังไม่มีความจำเป็น
การควบคุมตัวโดยพลการ หรือ Arbitrary Detention
กรณีที่ผู้ต้องหาไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ขัดกับหลักการภายใต้ ICCPR กฎหมายระหว่างประเทศจะถือว่าการควบคุมตัวดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ หรือ arbitrary detention
คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention) ซึ่งเป็นหน่วยงานของ UN ที่รับผิดชอบประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมตัวโดยพลการที่เกิดขึ้นในทุกๆ ประเทศ ได้เคยมีความเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยอยู่หลายหน โดยมีความเห็นเกี่ยวกับการคุมขังบุคคลภายใต้มาตรา 112 รวมทั้งหมด 9 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ซึ่งคณะทำงานฯ มีความเห็นในทุกๆ กรณีว่า การคุมขังบุคคลภายใต้มาตรา 112 เป็นการคุมขังโดยพลการ
ยกตัวอย่างกรณีการคุมขัง “อัญชัญ” จำเลยคดีมาตรา 112 ที่ถูกศาลลงโทษจำคุก 87 ปี ก่อนศาลลดโทษจำคุกลงเหลือ 43 ปี 6 เดือน ในกรณีนี้ คณะทำงานว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการมีความเห็นว่า การควบคุมคุมขังอัญชัญ เป็นการควบคุมตัวโดยพลการ ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ โดยมี 3 เหตุผลที่ผู้เขียนอยากไฮไลท์ในบทความนี้
หนึ่ง คณะทำงานฯ อธิบายว่า มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา มีความคลุมเครือแล้วกว้างจนเกินไป (vague and overly broad) ไม่ได้มีการนิยามชัดเจนว่าการแสดงออกใดเข้าข่ายหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นการให้ดุลพินิจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการตัดสินว่าการกระทำใดผิดหรือไม่ผิดมากจนเกินไป มาตรา 112 จึงขัดกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย (principle of legality) การคุมขังจับกุมภายใต้มาตรา 112 จึงเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายไปโดยปริยาย คณะทำงานฯ แนะนำให้รัฐไทยยกเลิก (repeal) หรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
สอง คณะทำงานฯ ให้เหตุผลว่า การคุมขังอัญชัญเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก (ข้อ 19 ICCPR) ซึ่งการจำกัดสิทธิดังกล่าวจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อการจำกัดเป็นไปตามกฎหมาย และจำเป็นสำหรับการปกป้องสิทธิหรือชื่อเสียงของผู้อื่น หรือเพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน สาธารณสุข หรือศีลธรรม (ข้อ 19(3) ICCPR)
ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ให้ความเห็นว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่าคลิปเสียงที่อัญชัญแชร์ลงบทเฟซบุ๊กและเว็บไซต์อื่นๆ นั้น มีภาษาที่หยาบคาย หรือเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย อีกทั้งยังไม่ปรากฎหลักฐานว่าการกระทำของอัญชัญส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศอย่างไร โดยเฉพาะไม่ได้มีการยุยงให้ผู้อื่นออกมาใช้ความรุนแรง เพราะเหตุนี้ การคุมขังอัญชัญจึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกโดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ ICCPR กำหนด ทำให้การคุมขังดังกล่าวเป็นการคุมขังโดยพลการ
สาม คณะทำงานฯ อธิบายหลักการเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (fair trial rights) และสิทธิในการประกันตัว (right to bail) ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายไว้แล้วข้างต้น คณะทำงานฯ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการคุมขังอัญชัญระหว่างพิจารณาคดีที่ยาวนานกว่า 3 ปีว่า เป็นการคุมขังโดยพลการ
ในการออกคำสั่งไม่ให้ประกันตัวอัญชัญ ศาลอ้างความรุนแรงของโทษตามมาตรา 112 ในการออกคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ซึ่งคณะทำงานฯ อธิบายว่าการให้เหตุผลดังกล่าวขัดกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เนื่องจากความรุนแรงของโทษตามมาตรา 112 มิอาจเป็นเหตุผลในการไม่ให้ประกันตัวได้ ศาลต้องคำนึงว่ามาตรการอื่นนอกจากการคุมขังสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ ซึ่งคณะทำงานฯ สรุปว่า ศาลไทยไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็น (necessity) ที่จะต้องคุมขังอัญชัญในกรณีดังกล่าว
คณะทำงานฯ แสดงความกังวลว่า ตั้งแต่รัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 (จนถึงปีที่คณะทำงานฯ ได้รับข้อมูลจากผู้ร้อง) มีเพียงร้อยละ 6 ของผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เท่านั้นที่ได้รับการประกันตัว (เป็นข้อมูลสถิติช่วงก่อนระลอกการนำมาตรา 112 กลับมาใช้หลังการชุมนุมปี 2563 เป็นต้นมา)
สรุป
กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ ICCPR ให้ความคุ้มครองสิทธิในการประกันตัว โดยมีหลักการว่า การคุมขังบุคคลก่อนหรือระหว่างการพิจารณาคดี หรือที่เรียกว่า pretrial detention ควรเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่กฎ (“exception rather than the rule”) ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ไม่ให้จำเลยหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำความผิดซ้ำ หากมีมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวได้ ให้ถือว่าการคุมขังไม่มีความจำเป็น
คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ ซึ่งเป็นหน่วยงานของ UN ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรา 112 แล้ว 9 ครั้ง โดยทุกๆ ครั้งคณะทำงานฯ เห็นว่า การคุมขังภายใต้มาตรา 112 เป็นการคุมขังโดยพลการ เนื่องจากมาตรา 112 เป็นกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจน เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อีกทั้งการอ้างความรุนแรงของโทษตามมาตรา 112 โดยศาลไทยในการไม่ให้ประกันตัว เป็นการกระทำที่ลิดรอนสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและสิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาอีกด้วย