คณะทำงานสหประชาชาติเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้หญิงที่ถูกจําคุกในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์โดยทันที

(กรุงเทพฯ กรุงปารีส ) ทางการไทยควรปล่อยตัว นางอัญชัญ ปรีเลิศ ผู้ต้องขังหมิ่นประมาทกษัตริย์โดยทันที คณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (UN Working Group on Arbitrary Detention; WGAD) เรียกร้องในหนังสือความเห็นที่รับรองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 และเผยแพร่เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 นางอัญชัญ อายุ 65 ปี ปัจจุบันต้องโทษจําคุก 43 ปี 6 เดือน ในข้อหาฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (หมิ่นประมาทกษัตริย์)

“ความเห็นของสหประชาชาติเกี่ยวกับกรณีของอัญชัญตอกย้ำถึงความอยุติธรรมสูงสุดที่เธอได้รับและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่เกิดจากการบังคับใช้มาตรา 112 ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทยจะทําลายวงจรการจับกุม การดําเนินคดี และการคุมขัง พร้อมรับฟังเสียงเรียกร้องจากทั้งในประเทศและนานาชาติให้มีการปฏิรูปมาตรา 112”

อดีล ราห์เมน คาน เลขาธิการใหญ่แห่ง FIDH

ความเห็นของ WGAD ออกมาเพื่อตอบสนองต่อ ข้อร้องเรียนที่ยื่นร่วมกัน โดย FIDH และทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ถึงหน่วยงานสหประชาชาติเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ในความเห็นของ WGAD พบว่า การลิดรอนเสรีภาพของอัญชัญด้วยมาตรา 112 นั้นเป็นการคุมขัง “โดยพลการ” และเรียกร้องให้รัฐบาลไทย “ปล่อยตัวเธอทันที” โดยคํานึงถึงอันตรายจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเรือนจำและเพื่อ “ยอมรับสิทธิของเธอในการชดเชยและการเยียวยาอื่นๆ”

WGAD แสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อรูปแบบการคุมขังโดยพลการด้วยมาตรา 112 โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกออนไลน์และผู้ตกเป็น “อันตรายร้ายแรงต่อสังคม” ที่เกิดจากการบังคับใช้มาตรานี้

นอกจากนี้ WGAD ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยนําประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาปฏิบัติตามพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ มาตรา 112 ระบุโทษจำคุกแก่ผู้ที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้ใดที่ละเมิดมาตรา 112 จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี

WGAD ประกาศว่าการจำคุกของอัญชัญเป็นการคุมขังโดยพลการเนื่องจากขัดต่อข้อ 3 8 9 10 และ 19 ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และมาตรา 2 9 14 และ 19 ของพันธสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี บทบัญญัติอ้างอิงของ UDHR และ ICCPR รับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในเสรีภาพ สิทธิในการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม และสิทธิในเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก

WGAD พบว่าการลิดรอนเสรีภาพขออัญชัญขาดหลักการทางกฎหมาย (Legal basis) เพราะมีการจับกุมโดยไม่มีหมายจับที่ถูกต้องซึ่งออกโดยผู้มีอํานาจทางกฎหมายที่อิสระและเป็นกลาง การคุมขังอัญชัญครั้งแรกที่ค่ายทหารโดยไม่นำตัวไปขึ้นศาลได้ละเมิดสิทธิของเธอในการต่อสู้ความชอบธรรมของการควบคุมตัว ซึ่งได้ถูกรับรองภายใต้มาตรา 8 และ 9 ของ UDHR และมาตรา 2 และ 9(3) ของ ICCPR นอกจากนี้ อัญชัญยังถูกควบคุมตัวด้วยมาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ WGAD พบว่า “ละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้ง”

WGAD ยังตัดสินว่า อัญชัญถูกควบคุมตัวอันเป็นผลมาจาก “การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ” WGAD พิจารณาว่าคลิปเสียงเกี่ยวกับสมาชิกของราชวงศ์ไทยที่อัญชัญอัปโหลดบนโซเชียลมีเดีย “อยู่ในขอบเขตของการใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออก” ตามมาตรา 19 ของ UDHR และมาตรา 19 ของ ICCPR

FIDH และ TLHR ยินดีรับฟังความเห็นของ WGAD และย้ำข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวอัญชัญและบุคคลอื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัวตามมาตรา 112 ทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข

อัญชัญเป็นผู้ถูกคุมขังคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ลำดับที่เก้าที่ WGAD ประกาศว่าเป็นไปโดยพลการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 แม้จะมีความกังวลจากนานาชาติอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่ทางการไทยยังคงดําเนินคดีและควบคุมตัวบุคคลด้วยมาตรา 112 ตั้งแต่ระหว่างวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ถึง 20 ธันวาคม 2564 บุคคลรวมทั้งเยาวชนจำนวน 164 คนถูกตั้งข้อหามาตรา 112 โดยนอกจากอัญชัญแล้ว ยังมีอีกห้าคนที่ถูกกักขังด้วยมาตรานี้

นอกจากนี้ FIDH และ TLHR ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขมาตรา 112 เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้ ICCPR และละเว้นการจับกุม ดําเนินคดี และควบคุมตัวเพราะการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสันติและชอบธรรมตามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก

ประวัติ

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 อัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการพลเรือนถูกตัดสินจําคุก 87 ปี ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์จำนวน 29 กระทงเนื่องจากคลิปเสียงที่เธออัปโหลดและเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย ที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์ไทย โทษจําคุกของเธอลดลงเหลือ 43 ปี 6 เดือนเนื่องจากรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้อัญชัญจำคุกที่ทัณฑสถานหญิงกลางในกรุงเทพ

อัญชัญถูกจับกุมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 และถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารเป็นเวลาห้าวัน ก่อนถูกพิพากษา อัญชัญถูกฝากขังเป็นเวลาสามปีกับ 281 วัน ในตอนแรกคดีของเธอถูกพิพากษาโดยศาลทหาร ซึ่งปฏิเสธคําขอประกันตัวหลายรอบ แต่ในที่สุดอัญชัญก็ได้รับการประกันตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 อย่างไรก็ตาม คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ของเธอยังคงอยู่ภายใต้เขตอํานาจศาลของศาลทหารกรุงเทพ จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2562 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งให้ส่งคดีของพลเรือนในศาลทหารไปยังศาลพลเรือน

อ้างอิงจาก: International Federation for Human Rights (FIDH)

.

X