ตำรวจจับ “สายน้ำ-ออย” สองนักกิจกรรม แจ้งข้อหากรณีพ่นสีสเปรย์ไม่เอา 112 ใน 4 คดีรวด ก่อนศาลไม่ออกหมายขัง

วันที่ 6 เม.ย. 2566 “สายน้ำ” นภสินธุ์ และ “ออย” สิทธิชัย สองนักกิจกรรมทางการเมืองวัย 18 และ 25 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดีจากกรณีการพ่นสีสเปรย์ตัวเลข 112 พร้อมขีดฆ่าทับ เครื่องหมายอนาคิสต์ และข้อความ “หยกโดน 112 ตรงนี้” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและเสาชิงช้า โดยมีการนำตัวทั้งสองคนแยกไปสอบในสองสถานีตำรวจที่ไม่ใช่เจ้าของคดี นอกจากนั้นยังมีตำรวจจากอีก 3 สถานีในกรุงเทพฯ ทยอยเข้าแจ้งข้อหากรณีพ่นสีสเปรย์ในพื้นที่ต่างๆ ด้วย

หมายจับของทั้งสองคนออกโดยศาลอาญา ลงวันที่ 1 เม.ย. 2566 มี พ.ต.อ.ทศพล อำไพพิพัฒน์กุล ผู้กำกับการ สน.สำราญราษฎร์ เป็นผู้ร้องขอออกหมายจับ มีนายอำนาจ อาดำ เป็นผู้พิพากษาที่อนุมัติหมายจับ ระบุข้อกล่าวหา 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ 1. ร่วมกันทำลายหรือทำให้โบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วเสื่อมค่า ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ มาตรา 32, 2. ร่วมกันขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ ในที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12

กรณีของออย ถูกชุดของเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการตำรวจนครบาล 8, นครบาล 6 และ สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งระบุในบันทึกจับกุมรวมกัน 16 นาย เข้าจับกุมบริเวณชุมชนในเขตวังทองหลางตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ เวลาประมาณ 05.15 น. โดยในตอนแรกเขาถูกพาตัวไปที่ สน.สำราญราษฎร์ สถานีตำรวจเจ้าของคดี

ต่อมา สายน้ำที่ติดตามไปที่ด้านหน้า สน.สำราญราษฎร์ ในเวลาประมาณ 7.30 น. ก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าแสดงหมายจับในลักษณะเดียวกัน ก่อนจะนำตัวเข้าไปในสถานี โดยตำรวจมีการใช้สายเคเบิลไทร์มัดข้อมือสายน้ำไว้ด้วย เจ้าหน้าที่ได้ทำบันทึกจับกุมทั้งสองคน และสายน้ำปฏิเสธจะลงชื่อในบันทึกจับกุม

จากนั้นตำรวจได้พาตัวออยแยกไปที่ สน.ทุ่งสองห้อง โดยไม่มีใครทราบ ขณะที่พาสายน้ำไปที่ สน.ฉลองกรุง โดยไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเหตุใดจึงต้องพาแยกกันไปสองสถานีตำรวจดังกล่าว โดยมีรายงานว่าสายน้ำยังถูกเปลี่ยนมาใส่กุญแจข้อมือทั้งสองข้างอีกด้วย ก่อนนำออกในภายหลัง

ระหว่างนั้นทนายความได้ติดตามไปที่ทั้งสองสถานีตำรวจดังกล่าว ในตอนแรกตำรวจยังไม่ให้เข้าพบ โดยให้รอพนักงานสอบสวนของ สน.สำราญราษฎร์ ที่เป็นเจ้าของคดีเดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหา

ต่อมา ร.ต.อ.เลิศชาย ผือลองชัย รองสารวัตรสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ได้เป็นผู้แจ้งสองข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยระบุพฤติการณ์ในคดีว่ามี พ.ต.ท.อภิสิทธิ์ หินเธาว์ สารวัตรป้องกันปราบปราม เป็นผู้กล่าวหา จากเหตุในช่วงคืนวันที่ 31 มี.ค. 2566 ซึ่งมีผู้พ่นสีสเปรย์ที่ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นตัวเลข 112 พร้อมขีดฆ่าทับ และภาพเครื่องหมายอนาคิสต์ ทั้งยังมีการพ่นสีสเปรย์ที่ฐานเสาชิงช้า เป็นข้อความ “หยกโดน 112 ตรงนี้” พร้อมสัญลักษณ์ลักษณะเดียวกันกับที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

หลังจากนั้น มีพนักงานสอบสวนจาก 3 สถานีตำรวจ ได้แก่ สน.พญาไท, สน.ดินแดง และ สน.ดุสิต ได้ทยอยเดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งสองคนในคดีจากการพ่นสีสเปรย์ในพื้นที่ต่างๆ โดยมาแจ้งที่ สน.ทุ่งสองห้อง ที่ออยอยู่ก่อน จากนั้นจึงไปแจ้งข้อกล่าวหาสายน้ำที่ สน.ฉลองกรุง แยกเป็นคดีต่างๆ 3 คดี ดังนี้

1. คดีของ สน.พญาไท มี พ.ต.ต.ฤทธิธรรม จันทร์แต้ สารวัตรป้องกันปราบปราม เป็นผู้กล่าวหา ในข้อกล่าวหาทำให้ทรัพย์สาธารณะเสียหายหรือเสื่อมค่า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 และ 35

จากเหตุคืนวันที่ 31 มี.ค. ต่อรุ่งเช้าวันที่ 1 เม.ย. 2566 เช่นกัน กรณีพบการพ่นสีสเปรย์เป็นตัวเลข 112 พร้อมขีดฆ่าทับ และภาพเครื่องหมายอนาคิสต์ รวม 5 จุดในพื้นที่ของสน. ทั้งบริเวณป้อมจราจร, แผ่นป้ายโฆษณา, ตอหม้อทางขึ้นสถานีรถไฟฟ้า, ด้านข้างลิฟท์สถานีรถไฟฟ้า และป้ายรถประจำทาง โดยมีสองจุดที่เป็นทรัพย์สินของสำนักการจราจรและขนส่ง ซึ่งได้มาร่วมร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีด้วย โดยระบุคิดเป็นค่าเสียหาย 250 บาท  

2. คดีของ สน.ดินแดง มี เฉลิมกรณ์ เทพบุญตา จากสำนักงานเขตดินแดง และตำรวจจราจร เป็นผู้กล่าวหา ในข้อกล่าวหาทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 จากเหตุคืนวันที่ 31 มี.ค. 2566 กรณีพบการพ่นสีสเปรย์เป็นตัวเลข 112 พร้อมขีดฆ่าทับ และภาพเครื่องหมายอนาคิสต์ บริเวณกำแพงและตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจร รวมจำนวน 4 จุดในพื้นที่ของ สน.

3. คดีของ สน.ดุสิต มี ร.ต.ท.อำนาจ วัสแสง รองสารวัตรป้องกันปราบปราม เป็นผู้กล่าวหา ในข้อกล่าวหาทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 จากเหตุคืนวันที่ 31 มี.ค. 2566 กรณีพบการพ่นสีสเปรย์เป็นตัวเลข 112 พร้อมขีดฆ่าทับ และภาพเครื่องหมายอนาคิสต์ บริเวณกำแพงและป้อมสัญญาณไฟจราจร รวมจำนวน 2 จุดในพื้นที่ของ สน.

ทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมต่อไป ส่วนตำรวจยังควบคุมตัวทั้งสองคนไว้ เพื่อจะนำตัวไปขออำนาจศาลอาญาในการฝากขังในวันรุ่งขึ้น

.

วันที่ 7 เม.ย. 2566 เวลาประมาณ 10.00 น. ตำรวจได้ควบคุมตัวสายน้ำและออยออกจากสถานีตำรวจ ไปขอฝากขังที่ศาลอาญา โดยมีการใส่กุญแจมือทั้งสองคนขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาไปด้วย

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้ยื่นขอฝากขังเฉพาะในคดีของ สน.สำราญราษฎร์ และ สน.พญาไท โดยยังระบุขอคัดค้านการประกันตัว อ้างว่าผู้ต้องหาเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมีพฤติการณ์เป็นบุคคลเฝ้าระวังพิเศษต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีและมากระทำผิดซ้ำๆ ยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดีในภายหลัง

ขณะที่ทนายความได้ยื่นคำร้องขอคัดค้านการฝากขัง ศาลจึงได้ให้มีการไต่สวนการฝากขัง ก่อนที่เวลาประมาณ 15.26 น. ศาลจะมีคำสั่งไม่ให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งสองคนในทั้งสองคดี โดยเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องออกหมายขัง แต่นัดให้ผู้ต้องหามารายงานตัวในวันที่ 25 พ.ค. 2566

ทำให้ทั้งสองคนได้รับการปล่อยตัว โดยไม่ต้องทำการประกันตัว 

.

X