ศาลเชียงใหม่สั่งโอนคดี ม.112 พ่นสีสามขีด ไปศาลเยาวชนฯ หลังเห็นว่าขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 19 ปี สภาพร่างกายจิตใจยังเป็นเยาวชน

วันที่ 8 มิ.ย. 2565 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ มีนัดคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในคดีของ “กรรณิกา” (นามสมมติ) วัยรุ่นอายุ 20 ปี ที่ถูกพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ยื่นฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 เหตุพ่นสีเส้นตรงสามขีดบนฐานตั้งและบนรูปรัชกาลที่ 10 รวมทั้งพ่นข้อความ “ปล่อยเพื่อนกู” และ “ขี้ช้าเผ” บนป้ายและบนถนนในอำเภอแม่แตง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564

ก่อนเริ่มพิจารณา ทนายความจำเลยได้ยื่นคำร้องขอโอนย้ายคดีไปพิจารณายังศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ โดยอ้างเหตุว่าขณะเกิดเหตุนั้นจำเลยยังมีอายุเพียง 19 ปี อีกทั้งหากพิจารณาถึงสภาพร่างกายและนิสัยของจำเลย ประกอบกับอาการป่วยทางสภาพจิตใจที่แพทย์ตรวจวินิจฉัยพบความผิดปกติ ระบุการวินิจฉัยเบื้องต้นเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar affective disorder) ที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของจำเลย จนถึงขนาดจำเป็นต้องลาออกจากการศึกษาเนื่องจากอาการป่วยดังกล่าว จำเลยจึงมีสภาพจิตใจและลักษณะนิสัยเทียบเท่าเยาวชน หากมีการดำเนินคดีในศาลอาญาเยี่ยงผู้ใหญ่ อาจสร้างหวาดกลัวให้จำเลยจดจำเป็นตราบาปในใจ ทั้งยังเป็นการตีตราว่าเคยต้องหาเป็นจำเลยในคดีอาญามาก่อน

หลังจากได้รับคำร้องแล้ว ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณานัดคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้พูดคุยสอบถามจำเลย ถึงประวัติที่อยู่อาศัย และประวัติการศึกษา รวมทั้งสอบถามญาติที่เดินทางมาฟังการพิจารณาคดีที่มีน้าสาวและยายที่จำเลยอาศัยอยู่ด้วย จนในที่สุดผู้พิพากษาระบุว่า เห็นด้วยกับคำร้องของทนายความเรื่องที่จะส่งคดีของจำเลยไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนฯ

หลังจากนั้นศาลได้มีคำสั่งในคดี โดยเห็นว่าขณะเกิดเหตุจำเลยอายุยังไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ มีประวัติการบำบัดรักษาอาการทางจิตมาเป็นระยะ เมื่อจำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าศาล พบว่าจำเลยมีสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ สภาพสติปัญญา เช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชน การดำเนินคดีกับจำเลยในศาลเยาวชนและครอบครัวน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า จึงสั่งให้โอนย้ายคดีไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลจังหวัดเชียงใหม่

ส่งผลให้คดีนี้ในขั้นต่อไป จะรอกระบวนการในการโอนย้ายสำนวนคดีไปตามคำสั่งศาล และรอการนัดหมายทางคดีจากศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป

ทั้งนี้ การโอนย้ายคดีดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.​ 2553 มาตรา 97 ที่ระบุว่า “เพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ บุคคลใดอายุยังไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ กระทำความผิดและเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา ถ้าศาลนั้นพิจารณาโดยคำนึงถึงสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญา และนิสัยแล้ว เห็นว่าบุคคลนั้นยังมีสภาพเช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชน ให้มีอำนาจสั่งโอนคดีไปพิจารณาในศาลเยาวชนและครอบครัวที่มีอำนาจ และให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นเด็กหรือเยาวชน”

ก่อนหน้านี้ ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง มีคดีที่ฝ่ายจำเลยซึ่งอายุไม่เกิน 20 ปี ได้ยื่นคำร้องขอโอนย้ายคดีไปยังศาลเยาวชนฯ ในลักษณะนี้จำนวนอย่างน้อย 3 คดี ได้แก่ คดีของ “ปูน” ธนพัฒน์ ที่ศาลอาญา, คดีของธีรวัช ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ และคดีของ “โอ๊ต” ที่ศาลแขวงเชียงใหม่ โดยทั้งสามคดี ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โอนย้ายคดี  

.

อ่านคดีของกรรณิกา

อัยการฟ้องคดี ม.112 ‘วัยรุ่นหญิงวัย 20 ปี’ เหตุพ่นสี ‘สามขีด’ บนฐาน-รูป ร.10 ที่เชียงใหม่ อ้างเป็นการแสดงความไม่เคารพ

X