อัยการสั่งฟ้อง “ฮ่องเต้” คดี ม.112-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุปราศรัยในคาร์ม็อบ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ก่อนศาลให้ประกันตัว

19 พฤศจิกายน 2564 เวลา 9.00 น. ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ นายธนาธร วิทยเบญจางค์ หรือ “ฮ่องเต้” อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแกนนำกลุ่มพรรควิฬาร์ ได้เดินทางเข้ารายงานตัวต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ หลังเจ้าหน้าที่ศาลติดต่อให้เข้ารายงานตัว เนื่องจากพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นฟ้องคดีของผู้ต้องหาแล้ว

สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2564 ธนาธรเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพียงข้อหาเดียว เหตุจากการปราศรัยในระหว่างกิจกรรมคาร์ม็อบ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 64 โดยพนักงานสอบสวนทำการขอฝากขังธนาธรต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่  ทั้งที่เดินทางมาตามหมายเรียก ก่อนศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นนายประกัน และกำหนดให้เข้ารายงานตัวต่อผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งถูกตั้งเป็นผู้กำกับดูแล เป็นระยะ

ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ระหว่างที่ธนาธรกำลังเข้ารายงานตัวต่อผู้ใหญ่บ้านตามคำสั่งศาลอยู่นั้น ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย บังคับเข้าแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อเขา จากการอ่านแถลงการณ์ที่หน้าตำรวจภูธรภาค 5 ในการชุมนุมวันเดียวกัน และยังแจ้งข้อกล่าวหาว่าร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มอีกด้วย

ธนาธร พร้อมทนายความและนายประกันเดินทางถึงศาลจังหวัดเชียงใหม่ตามเวลานัด โดยรออยู่บริเวณศาล จนกระทั่งเวลาประมาณ 11.00 น. มีเจ้าหน้าที่ศาลเรียกให้เข้าไปอยู่ในห้องขังเพื่อควบคุมตัวใต้ถุนศาล หลังจากนั้นทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาโดยใช้สัญญาประกันเดิมในชั้นสอบสวน

หลังจากธนาธรถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องขังใต้ถุนศาล ผู้พิพากษาได้อ่านฟ้องให้ธนาธรฟัง และถามคำให้การจำเลยผ่านจอภาพคอนเฟอเรนซ์ เขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ระหว่างการรอปล่อยตัวชั่วคราวมีเพื่อนนักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนจากสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มารอให้กำลังใจ และรอคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลด้วย

จนกระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวธนาธร โดยใช้หลักประกันเดิม คือใช้ตำแหน่งอาจารย์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมแล้วธนาธรถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องขังนาน 5 ชั่วโมง 

ศาลยังกำหนดให้จำเลยเข้ารายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้าน ที่ถูกตั้งเป็นผู้กำกับดูแลทุกๆ 15 วัน หรือเดือนละ 2 ครั้งอีกด้วย และกำหนดวันนัดพร้อมคดีต่อไปในวันที่ 21 มีนาคม 2565 เวลา 9.00 น. 
.

เปิดคำฟ้อง ม.112-ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ธนาธร เหตุปราศรัยในคาร์ม็อบ

สำหรับคำฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ บรรยายโดยสรุปว่า จำเลยกับพวกร่วมกันจัดการชุมนุมรวมกลุ่มกันเกิน 20 คน อันเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยจำเลยกับพวกเป็นแกนนำ หรือผู้จัด หรือผู้รับผิดชอบให้มีการจัดการชุมนุมทางการเมือง ได้โพสต์เชิญชวนทางเฟซบุ๊กให้ประชาชนทั่วไปมาร่วมการชุมนุม “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์ คาร์ม็อบเชียงใหม่ ยกระดับการชุมนุม เรียกร้องให้ตำรวจเป็นผู้พิทักษ์ของประชาชน ในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ที่หน้าสำนักงานตำรวจภูธรภาค 5 เพื่อยื่นข้อเสนอแก่ผู้บัญชาการและไปบันเทิงต่อที่ลานประตูท่าแพ” 

กระทั่งวันที่ 15 สิงหา มีการรวมกลุ่มของบุคคลเกินกว่า 20 คน และจัดกิจกรรมชุมนุมบริเวณด้านหน้าตำรวจภูธรภาค 5 และใช้ยานพาหนะเคลื่อนขบวนไปตามท้องถนนจนมาสิ้นสุดด้านหน้าลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

ขณะเดียวกัน อัยการฟ้องว่าจำเลยยังได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยการอ่านแถลงการณ์ประกาศข้อเรียกร้องต่อผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ประจำการอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ที่ 1 บริเวณหน้าตำรวจภูธรภาค 5 ท่ามกลางประชาชนจำนวนมากที่มาร่วมกันชุมนุมทางการเมือง โดยมีสาระสำคัญโจมตีรัฐบาลและเรียกร้องให้ตำรวจเป็นผู้พิทักษ์ของประชาชน  โดยมีตอนหนึ่งของแถลงการณ์ มีข้อความที่มีความหมายทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าข้อความที่จำเลยอ่านดังกล่าวสื่อถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบัน โดยทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองในการบริหารประเทศ และทรงเห็นแก่อำนาจและผลประโยชน์ส่วนพระองค์ยิ่งกว่าชีวิตและเสรีภาพของประชาชน

หลังจากนั้น จำเลยกล่าวคำปราศรัยที่บริเวณหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ท่ามกลางประชาชนจำนวนมากที่มาร่วมชุมนุม จำเลยได้กล่าวคำด่าและเปรียบเทียบ และทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจทันทีว่าข้อความที่จำเลยกล่าวสื่อถึงพระมหากษัตริย์ 

การกระทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

.

อ่านเรื่องราวเพิ่มเติม เมื่อ “ฮ่องเต้” โดนข้อหาหมิ่นกษัตริย์

.

X