เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2565 พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่นัดหมาย “ต้น” (สงวนชื่อสกุลจริง) อายุ 26 ปี อดีตพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อฟังคำสั่งในคดีข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กรณีชูป้ายข้อความในกิจกรรมคาร์ม็อบ #มินิด่วนนครพิงค์เชียงใหม่ไล่ประยุทธ์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564
คดีนี้ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2564 พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้เรียกให้ต้นเข้ารับทราบข้อกล่าวหา เหตุจากการชูป้ายข้อความจากในรถยนต์ ในระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบดังกล่าว ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนคดีนี้ให้กับพนักงานอัยการเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 ก่อนที่อัยการจะเลื่อนฟังคำสั่งออกมาในแต่ละเดือน
.
ในวันนี้ ต้นเข้ารายงานตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ตามนัด เจ้าหน้าที่อัยการแจ้งว่า พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่
เวลา 10.00 น. เจ้าหน้าที่อัยการได้ให้ต้นเข้าไปในห้องควบคุมตัวใต้ถุนศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในระหว่างถูกควบคุมตัว ศาลได้สอบถามคำให้การของต้นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ต้นยืนยันปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนที่เจ้าหน้าที่ศาลจะนำสำเนาคำฟ้องมาให้ต้น
คำฟ้องมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ด้วยการนั่งโดยสารรถยนต์เก๋ง ซึ่งแล่นเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ เคลื่อนตัวไปรอบถนนคูเมืองเชียงใหม่ เพื่อแสดงออกวิจารณ์ทางการเมือง และมีการชุมนุมทางการเมืองปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ที่ลานประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ แล้วได้ชูป้ายข้อความกระดาษกล่องลังสีน้ำตาล โดยประการที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง
อัยการโจทก์อ้างว่า จำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเกิดความแตกแยก และเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก เพื่อก่อความไม่สงบในบ้านเมืองถึงการกระทำดังกล่าว อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมศรัทธาและเคารพบูชาของชาวไทย และเป็นการทำด้วยวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต อีกทั้งยังเป็นการกระทำเพื่อให้ประชาชนเกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนขึ้นในราชอาณาจักรไทย และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และทำให้ประเทศชาติไม่เป็นปึกแผ่นอันกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ภายหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดป้ายกล่องลังกระดาษสีน้ำตาล มีข้อความเขียนอยู่ ซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้กระทำความผิดเป็นของกลางส่งพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ท้ายฟ้องระบุว่าหากจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล
คดีมี นายต่อพงษ์ ลิ่มสกุล เป็นพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้เรียงฟ้อง
หลังศาลจังหวัดเชียงใหม่รับฟ้อง ขณะทนายความได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ต้นได้ถูกควบคุมตัวที่ห้องขังใต้ถุนศาลตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. จนถึงเวลา 16.30 น. รวมเวลาถูกควบคุมตัว 6 ชั่วโมงครึ่ง
ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นเงินจำนวน 150,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการในลักษณะเช่นเดียวกันกับความผิดในคดีนี้อีก ขณะที่กำหนดวันนัดพร้อมคดีต่อไปวันที่ 11 พ.ย. 2565
.
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2565 พนักงานอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันของ 2 นักศึกษาหญิงในจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากยืนถือป้ายข้อความคล้ายกันในกิจกรรมคาร์ม็อบ “ด่วนนครพิงค์เจียงใหม่ ไล่ขึดประยุทธ์” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่เช่นเดียวกัน
.