ศาลลงโทษ “ฮ่องเต้” คดี ม.112-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปราศรัยกิจกรรม “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” จำคุก 1 ปี 7 เดือน ยกฟ้อง 1 กระทง ก่อนให้ประกันระหว่างอุทธรณ์

วันที่ 21 ส.ค. 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ฮ่องเต้” ธนาธร วิทยเบญจางค์ บัณฑิตวัย 24 ปี จากสาขาวิชาปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ถูกฟ้องในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุจากกรณีอ่านแถลงการณ์และปราศรัยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ระหว่างกิจกรรมคาร์ม็อบเชียงใหม่ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ที่หน้ากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564

คดีนี้จำเลยถูกฟ้องแยกเป็น 3 กระทง ใน 2 ข้อกล่าวหาด้วยกัน ได้แก่ ข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 จากกรณีการอ่านแถลงการณ์ถึงผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ บริเวณหน้าตำรวจภูธรภาค 5, ข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 จากกรณีการปราศรัยที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ และข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยจัดการชุมนุมรวมกลุ่มกันเกินกว่า 20 คน อันเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ก่อนเริ่มการสืบพยาน จำเลยได้ตัดสินใจให้การรับสารภาพในข้อกล่าวหามาตรา 112 จากการปราศรัยบริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ แต่ขอต่อสู้คดีในข้อกล่าวหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมาตรา 112 จากกรณีการอ่านแถลงการณ์ ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ โดยต่อสู้ว่าเนื้อหาในแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นข้อเรียกร้องต่อทางตำรวจ และวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้มีอำนาจซึ่งเป็นชนชั้นนำโดยรวม ไม่ได้เจาะจงตัวบุคคลใด ทั้งองค์ประกอบของมาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองทั้ง “สถาบันพระมหากษัตริย์” แต่คุ้มครองเฉพาะบุคคลใน 4 สถานะตามที่บัญญัติในตัวบท  

>> บันทึกการต่อสู้คดี ม.112 ของ “ฮ่องเต้” กรณีอ่านแถลงการณ์ในคาร์ม็อบ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์”

.

เวลา 9.30 น. จำเลยและครอบครัวเดินทางมาฟังคำพิพากษา ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุปเฉพาะส่วนที่เป็นการพิเคราะห์ของศาล เนื่องจากคู่ความทุกฝ่ายทราบข้อเท็จจริงในคดีโดยละเอียดตลอดการสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้ว

สำหรับข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 กรณีคำปราศรัยบริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพนั้น เมื่อโทษขั้นต่ำไม่เกินกว่า 5 ปี จึงไม่จำเป็นต้องสืบประกอบ

ส่วนข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พิเคราะห์แล้ว รับฟังได้ว่าพยานโจทก์หลายปากเบิกความยืนยันว่ามีการประกาศเชิญชวนร่วมกิจกรรมชื่อ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ผ่านเฟซบุ๊กของ “พรรควิฬาร์”, “ลำพูนปลดแอก” และเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลย

กิจกรรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก มีรถยนต์และจักรยานยนต์ประมาณ 300 คัน ผู้ชุมนุมประมาณ 500 คน ผู้ชุมนุมสวมใส่หน้ากากอนามัยบ้าง ไม่สวมใส่บ้าง บางช่วงของการชุมนุมมีกิจกรรมที่รวมตัวใกล้ชิดกัน จากวิดีโอพยานหลักฐานของโจทก์ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวมีการประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามการชุมนุมเกินกว่า 20 คนที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

ประกอบกับพฤติการณ์ของจำเลยที่มีการประกาศเชิญชวนการชุมนุมผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว มีการเดินทางร่วมไปกับรถที่ใช้ในการชุมนุม มีการอ่านแถลงการณ์ จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นแกนนำร่วมจัดกิจกรรมดังกล่าว

ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม ผู้ชุมนุมสวมใส่หน้ากากอนามัย ผู้ชุมนุมบางส่วนไม่ได้ลงจากรถ และจำเลยไม่ใช่ผู้โพสต์เชิญชวนการชุมนุมดังกล่าวในเพจที่ประกาศจัดกิจกรรมนั้น ฟังได้ในทำนองเดียวกับฝ่ายโจทก์ จำเลยจึงมีลักษณะเป็นแกนนำร่วม พยานหลักฐานของจำเลย ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้

เห็นว่าจำเลยมีความผิดฐาน ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกินกว่า 20 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการกระทำเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้จำคุก 1 เดือน

ส่วนข้อกล่าวหามาตรา 112 จากการอ่านแถลงการณ์บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 นั้น เห็นว่าพยานโจทก์ 2 ปาก ที่เป็นนักวิชาการด้านกฎหมาย และนักวิชาการด้านภาษาไทย ให้การยืนยันว่าส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ที่จำเลยอ่านนั้น เป็นการพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ และอาจหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ได้นั้น

ศาลเห็นว่าคำว่า “สถาบันกษัตริย์” ในแถลงการณ์ดังกล่าว ไม่ได้ระบุเจาะจงถึงตัวบุคคลหรือองค์พระมหากษัตริย์ ยังไม่ชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนากล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์หรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้องในกระทงความผิดนี้

รวมแล้ว เห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในกระทงที่ให้การรับสารภาพ ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุให้ลดโทษ เหลือโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และ มีความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้จำคุก 1 เดือน รวมลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี 7 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี ได้แก่ นายรุ่งวิทย์ วิภาดาพรพงษ์

หลังฟังคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลได้ใส่กุญแจมือควบคุมตัวจำเลย และนำตัวลงไปยังห้องขังใต้ถุนศาล ก่อนทนายความจะยื่นขอประกันตัวจำเลยในชั้นอุทธรณ์

เวลา 15.15 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา ให้วางหลักทรัพย์ 150,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยยังมีเงื่อนไขให้ไปรายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้าน ที่ถูกตั้งเป็นผู้กำกับดูแล โดยก่อนหน้านี้จำเลยได้ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนการรายงานตัวทางอิเล็กทรอนิกส์แทน เนื่องจากเดินทางไปศึกษาต่อในกรุงเทพฯ

.

ทั้งนี้ ธนาธรปัจจุบันจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และได้เริ่มศึกษาในสาขาวิชาปรัชญา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงภาคการศึกษาปัจจุบัน เขามีบทบาทในฐานะสมาชิกของกลุ่มพรรควิฬาร์ หรือ “แมวดำ” ซึ่งทำกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงปี 2563-65 ทำให้ธนาธรถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกรวมแล้ว 10 คดี (สิ้นสุดไปแล้ว 2 คดี) โดยส่วนใหญ่เป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีคดีมาตรา 112 คือคดีนี้จำนวน 1 คดี

อ่านเรื่องราวของธนาธรเพิ่มเติม เมื่อ “ฮ่องเต้” โดนข้อหาหมิ่นกษัตริย์

X