การต่อสู้ของ “พรชัย”: จากคนบนดอย คนจร พ่อค้า ผู้ชุมนุม และผู้ถูกดำเนินคดี ม.112

เขาน่าจะเป็นผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ที่ถูกกล่าวหาในสองพื้นที่ซึ่งมีระยะทางห่างไกลกันมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

คดีหนึ่งอยู่ที่ สภ.แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ อีกคดีหนึ่งอยู่ที่ สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา ระยะทางระหว่างสองสถานีตำรวจห่างกันเกือบ 1,800 กิโลเมตร หากขับรถต่อเนื่องโดยไม่หยุดพัก จะใช้เวลาเกือบ 24 ชั่วโมงในการเดินทางพอดี ทั้งสองคดียังเป็นกรณีที่ประชาชนสองรายผู้เคยสังกัดกลุ่ม กปปส. เป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหาไว้

พรชัย วิมลศุภวงศ์ หนุ่มปกาเกอะญอวัย 38 ปี คือผู้ที่ได้รับ “รางวัล” ที่ว่านี้ เขาถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 ถึง 2 คดี โดยยังไม่นับคดีจากการร่วมชุมนุมทางการเมืองในกรุงเทพฯ อีกรวม 5 คดี

ในคดีที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น เขาเคยถูกตำรวจเข้าจับกุมจากที่พักย่านนนทบุรีเมื่อต้นปี 2564 และนำตัวเดินทางไปดำเนินคดีจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 4 ข้อความ ที่ สภ.แม่โจ้ ก่อนเขาจะคุมขังระหว่างสอบสวนโดยไม่ได้รับการประกันตัวเป็นเวลารวม 44 วัน และยังติดเชื้อโควิด-19 จากในเรือนจำ หลังถูกปล่อยตัวต้องพักรักษาตัวอยู่หลายสัปดาห์ และยังต้องเดินทางมาต่อสู้คดีที่เชียงใหม่อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดศาลจังหวัดเชียงใหม่ทำการสืบพยานเสร็จสิ้นไปเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 และกำหนดนัดวันฟังคำพิพากษาในวันที่ 13 มี.ค. 2566 นี้

ขณะคดีที่จังหวัดยะลา พรชัยถูกตำรวจจาก สภ.บันนังสตา เดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหาถึงในเรือนจำกลางเชียงใหม่ ก่อนจะต้องเดินทางไปต่อสู้คดีที่ศาลจังหวัดยะลา จนเมื่อเดือนธันวาคม 2565 เขาถูกศาลจังหวัดยะลาพิพากษาจำคุก 3 ปี จากกรณีโพสต์คลิปวิดีโอเล่าถึงสถานการณ์และข้อเรียกร้องทางการเมืองในช่วงเดือนตุลาคม 2563  โดยที่เห็นว่าเขาให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา และพรชัยยังได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี

จากชีวิตบนดอย หนทางผกผันมาเป็นคนจรหมอนหมิ่นในเมืองหลวง ดิ้นรนแสวงหาหนทางชีวิต จนค่อยๆ มีที่อยู่ที่ยืน ก่อนตามมาด้วยความสนใจทางการเมือง ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และความพยายามเรียกร้องสิทธิอันเท่าเทียมของกลุ่มชาติพันธุ์ จนกลายเป็นหนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาแห่งยุคสมัยนี้

ชวนรู้จักกับ “พรชัย” อีกหนึ่งผู้กำลังต่อสู้ทั้งในสนามชีวิตและสนามของกฎหมายให้มากยิ่งขึ้น

.

.

จากบ้านบนดอย

พรชัยบอกว่าชื่อปกาเกอะญอของเขา คือ “พอแช” เขาเกิดและเติบโตในครอบครัวยากจนในหมู่บ้านบนดอย ที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน พรชัยบอกตรงไปตรงมาว่าเขา “พูดไทยไม่ชัด” เพราะเติบโตมาในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาของตัวเอง เขาเรียนรู้ภาษากะเหรี่ยงมาก่อนภาษาไทยกลาง

พรชัยเล่าว่าชีวิตวัยเด็กของเขา ก็เหมือนกับเด็กในชนบทสมัยก่อนทั่วๆ ไป ที่มีพี่น้องมาก เติบโตมาโดยต้องช่วยครอบครัวทำไร่ทำนา เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย และดิ้นรนกับชีวิตที่เข้าไม่ถึงโอกาสในหลายๆ ด้าน

“ผมมีพี่น้องรวม 6 คน จริงๆ เรามีแฝดด้วยนะ แต่สมัยก่อน มันไม่มีหมอ ไม่มีโรงพยาบาล ป่วยก็ตายไปก่อน เราเป็นคนที่ 5 มีน้องอีกหนึ่งคน”

ด้วยปัญหาความไม่เข้าใจกับครอบครัว และต้องการแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้น ตั้งแต่เริ่มย่างเข้าวัยรุ่น ยังไม่ทันจบชั้นมัธยมต้นดี พรชัยตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านมา โดยเข้าไปเป็นเด็กวัดอยู่ในตัวอำเภออยู่ช่วงหนึ่ง

“ชีวิตช่วงนั้น ก็ค่อนข้างทุกข์ทรมาน ครอบครัวเราไม่ได้มีฐานะ แล้วผมมีปัญหากับพ่อ ก็เลยออกจากบ้านมา ไปอยู่กับพระอาจารย์ ไปเป็นเด็กวัด แต่เราก็เรียนไม่จบนะ ออกมาตอนจะขึ้น ม.3 แต่ตอนหลังไปเรียน กศน. ต่อ ให้จบ ม.3 ที่ตัวอำเภอแม่ลาน้อย

“แม้เราจะออกจากบ้านมา แต่วัฒนธรรมความเป็นปกาเกอะญอก็ยังมีอยู่ เราออกมาทำอะไร เราอยากให้เขาเห็นว่าเราไม่ใช่พลเมืองชั้นสอง เราไม่ได้เป็นพลเมืองแบบที่ต้องอยู่แต่กับกฎกติกาที่เขาสร้างให้เราอยู่ เช่น คุณเป็นคนบนดอยน่ะ ต้องใส่ชุดชาติพันธุ์นะ ใส่ชุดอื่นไม่ได้ หรือต้องพูดภาษาแบบไหน จะรู้อะไรมากไม่ได้ ต้องอยู่กินแบบไหน”

พรชัยบอกว่า ในชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนน้อย ปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติหรือการถูกดูถูก เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เขายกตัวอย่างการเข้าถึงหน่วยงานของรัฐ อย่างบริการสาธารณสุข

“เวลาเข้าไปใช้บริการ เวลาจะสื่อสารกับหมอพยาบาลเพื่อใช้สิทธิ เขาถูกทำให้อยู่ในสภาพตามยถากรรม ไม่มีสิทธิร้องขออะไรมากกว่านั้น หรืออย่างสถาบันการเงิน ที่เอารัดเอาเปรียบ ปล่อยกู้ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ชาวบ้านก็เป็นหนี้กัน รวมถึงวัฒนธรรมการใช้ชีวิต เวลาเราเข้าไปอยู่ในเมือง หรือเราทำมาหากิน เราถูกมองแบบเหมือนเป็นคนต่างถิ่น แบบด้อยค่าไป เห็นว่าเป็นพวกด้อยพัฒนากว่า”

.

จากคนไร้บ้านในเมืองหลวง

จากแม่ฮ่องสอน พรชัยเดินทางมาอยู่เชียงใหม่ในช่วงสั้นๆ ไปช่วยทำงานล้างจานในร้านอาหาร เขาบอกว่าเป็นการทำงานแลกข้าวและที่พัก โดยไม่ได้รับเงินเดือนใดๆ  แต่อยู่เชียงใหม่ได้พักหนึ่ง เขาก็ตัดสินใจนั่งรถไฟชั้น 3 เข้ากรุงเทพฯ เพื่อเผชิญชีวิตในศูนย์กลางของประเทศ

“ตอนที่ผมเข้ามากรุงเทพฯ ใหม่ๆ ผมต้องไปนอนอยู่ที่หัวลำโพง ผมนอนอยู่ที่นั่นประมาณเกือบปี ผมไม่มีบ้าน มาแบบไม่รู้จักใคร อยู่แบบคนจรจัดทั่วไปเลย กินอยู่นั่นเลย ตกเย็นก็ไปกินอาหารวัดแถวๆ นั้นแหละ แล้วก็เคยไปนอนอยู่ตรงสะพานลอยแถวๆ หมอชิต แล้วก็ไปนอนแถวทางรถไฟตรงดอนเมือง รวมเป็นแบบนี้ประมาณปีหนึ่ง”

พูดง่ายๆ การตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ ของพรชัย เป็นไปแบบไปตายเอาดาบหน้า ไม่ได้รู้ถนนหนทาง ไม่ได้รู้ช่องทางทำมากิน ไม่ได้รู้จักกับใครที่จะไปขอความช่วยเหลือ ไม่ได้รู้ว่าควรไปซุกตัวนอนในห้องหับใด และไม่ได้รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ชีวิตหนึ่งปีแรกในกรุงเทพฯ ของเขา กลายเป็นคนไร้บ้านโดยสมบูรณ์

แล้วก็มีจุดเปลี่ยนเล็กๆ ในชีวิต เมื่อมีพี่ชายคนหนึ่งที่นอนไร้บ้านด้วยกันอยู่แถวหัวลำโพง ชักชวนเขาไปทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย

“มีคืนหนึ่ง คนที่ทำงาน รปภ. อยู่บริษัทหนึ่ง เขากลับมาแบบเมาโซเซ โวยวายว่าบริษัทเอาเปรียบเขา หักค่าชุด หักค่าแรง ไม่เหลือสักบาท ผมก็เลยถามว่าพี่ไปอยู่บริษัทไหน แล้วก็เขาชวนไปหาบริษัทใหม่กัน ไม่อยู่บริษัทเดิม เขาก็บอกได้ประมาณวันละ 400 ไม่ต้องเรียนสูงอะไร ผมก็เลยไปกับเขา ก็เลยได้เป็น รปภ. อยู่หลายปี” 

พรชัยทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยของบริษัทที่จัดหา รปภ. ให้สถานที่ต่างๆ เขาบอกว่าเคยไปอยู่มาหมด ทั้งในหมู่บ้านจัดสรร คอนโด โรงงาน หรือโรงแรม

“แล้วก็มีวันหนึ่งตอนทำงาน รปภ. โบกรถอยู่พอดี มีคนของบริษัทหนึ่งที่ขายตรงตามบ้าน เข้ามาชวนซื้อนั่นซื้อนี่ ผมเห็นเขาแต่งตัวใส่สูทผูกไทด์ ผมก็เลยเข้าไปถามเขา ว่าเขารับคนทำงานไหม ต้องเรียนสูงไหม เขาบอกว่าลองไปสมัครดู แค่เดินเก่ง พูดนำเสนอได้ก็พอ เป็นบริษัทที่เดินขายเครื่องนวดตามบ้าน ผมก็เลยลองไปสมัครดูตามที่เขาบอก แล้วเขารับผมเฉยเลย เขาก็ฝึกอบรมเกี่ยวกับการขายให้เราฟรี แล้วก็ให้ไปเดินขาย เคาะประตูตามบ้าน”

ในช่วงนั้น พรชัยบอกว่าตัวเองทำงานหนักมาก แทบจะ 24 ชั่วโมง ทั้งเป็นพนักงานขายของเดินขายตามบ้านในช่วงกลางวัน ตกเย็นเขายังไปเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยอย่างที่เคยทำมาก่อนอยู่ด้วย ก่อนต่อมาจะค่อยๆ เลิกงานอันหลังนี้ไป และทำงานด้านการขายจริงจังมาจนถึงปัจจุบัน

“งานขายตรงนี้ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ ตอนนี้ก็เป็นอาชีพหลักของผมเลย แต่เหลือขายโทรศัพท์เป็นหลัก หรือช่วยขายพวกอสังหาริมทรัพย์ เป็นคล้ายๆ ไปช่วยงานเขา ไม่ได้มีบริษัทอะไรเอง

“สำหรับผม ชีวิตมันเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือเลย ตอนแรกนั้นคือมันไม่น่าจะเป็น ‘คน’ เลยนะ มันไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะโตมาเป็นคนได้แล้ว มันเลื่อนลอยไปหมดแล้ว ผมอยู่ในสภาพที่เป็นคนบ้าไปได้เลย ในจุดที่ผมไปนอนอยู่หัวลำโพงนะ มันเป็นจุดที่ผมไม่น่าจะมีความรู้อะไรได้ ไม่น่าที่ผมจะออกมาพูดอะไรเกี่ยวกับการเมืองในตอนนี้ได้เลย” พรชัยทบทวนความเปลี่ยนแปลงของชีวิตในทศวรรษที่ผ่านมาของเขา

.

.

จากหนังสือชีวประวัติและการฝึกฝนตนเอง

อะไรมีส่วนทำให้ชีวิตเขาพอจะเปลี่ยนแปรไป? พรชัยเอ่ยถึงการเรียนรู้ของตนเอง ด้านหนึ่งคือการอ่านหนังสือ เขาเล่าว่าระหว่างที่ใช้ชีวิตเป็น รปภ. หลายครั้งมีเวลาว่างระหว่างปฏิบัติหน้าที่ค่อนข้างมาก สิ่งที่เขาเริ่มทำคือหยิบจับหนังสือที่วางอยู่ใกล้มือมาอ่าน

พรชัยจำได้ว่าหนังสือเล่มแรกๆ ที่เขาเริ่มอ่าน คือหนังสือของสรยุทธ สุทัศนะจินดา ที่บอกเล่าเรื่องชีวิตของผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ชื่อดังคนนี้ เขาได้อ่านเล่มนี้ เพราะมีมันอยู่ในลิ้นชักโต๊ะที่นั่งปฏิบัติหน้าที่ รปภ. อยู่ โดยสิ่งที่เขาได้จากหนังสือเล่มนั้น คือบทเรียนเรื่องการทำงานหนัก และความสนใจไปถึงหนทางชีวิตของผู้คนอื่นๆ

“จากเล่มนั้น ผมก็เลยสนใจอ่านพวกหนังสือชีวประวัติ หนังสือ How-to ก็อ่านหนังสือที่มีอยู่ตามที่ไปเฝ้ายาม แล้วก็พวกหนังสือแปล อย่างของอับราฮิม ลินคอร์น, สตีฟ จ็อบส์, บิล เกตต์, โทนี่ ร็อบบินส์ ตอนนั้น ผมชอบพวกนี้ เพราะมันได้แนวคิด ได้แรงบันดาลใจ ทักษะในการเรียนรู้ต่างๆ แล้วมันสร้างสรรค์ให้เราทำมาหากินในตอนนั้นได้ด้วย เวลาเราเจอปัญหาอุปสรรค มีคนดูถูกเหยียดหยาม เราก็ได้เรียนรู้จากคนที่เขาทำอะไรสำเร็จมาแล้ว” พรชัยสรุปสิ่งที่เขาพยายามเรียนรู้จากเรื่องราวของคนอื่นๆ

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง เขาใช้เวลาว่างในระหว่างทำงาน ฝึกฝนทักษะต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตด้วยตนเอง เรื่องพื้นฐานอย่างการหัดเขียนและพูดให้คล่องมากขึ้น ทั้งหัดอ่านให้ได้ซับซ้อนมากขึ้น

“ผมหัดเขียน หัดอ่าน หัดพูด ใช้เวลาหลายปี กว่าที่ผมจะอ่านออกเขียนได้คล่องนะ ตอนแรกเขียนนามสกุลตัวเองยังไม่ได้เลย ที่จบมาวุฒิ ม.3 ยังไม่รู้เลยว่าจบมาได้ยังไง ตอนที่สอบ กศน. จำได้ว่าเขาให้กาอย่างเดียว ผมก็เดาเยอะ ต้องมาหัดเขียนใหม่ แต่พออ่านได้บ้าง แต่อ่านซับซ้อนไม่ได้ ตีความอะไรไม่ได้เลย ต้องมาฝึกเองหมดเลย การอ่านหนังสือนี้ก็ช่วยในส่วนการฝึกอ่าน จากอ่านหนังสือง่ายๆ ก็ยากขึ้น ยากขึ้น”

ในช่วงหลังจากเริ่มทำงานด้านการขาย พรชัยยังขยับไปฝึกทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพิ่มเติม รวมทั้งยังเริ่มไปเรียนหลักสูตรการประกอบอาชีพระยะสั้นต่างๆ เอง แม้เขาจะจบวุฒิ ม.3 แต่เขาบอกว่าลงเรียนหลักสูตรทักษะต่างๆ เพิ่มเติมไปประมาณ 6 หลักสูตรแล้ว

“ผมไปเรียนหลักสูตรระยะสั้น ประมาณ 3 เดือน บ้าง 6 เดือน บ้าง เป็นหลักสูตรสำหรับประกอบอาชีพต่างๆ เช่น หลักสูตรดูแลเด็กและผู้สูงอายุ หลักสูตรการตลาด หลักสูตรทักษะการพูด หรือหลักสูตรสอนเกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์”

ดูเหมือนการพยายามเรียนรู้ของเขาทำให้เขามั่นใจในตัวเองมากขึ้นด้วย พรชัยบอกว่าเดิมนั้น เขาค่อนข้างเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก แต่จนถึงปัจจุบัน เขากลายเป็นผู้ไปร่วมเป็นวิทยากรบอกเล่าถึงชีวิตและประสบการณ์ในเวทีต่างๆ รวมทั้งไลฟ์สดบอกเล่าเรื่องราวข่าวสารในโลกออนไลน์ จนมีผู้ติดตามจำนวนมาก

.

จากความสนใจก่อนชุมนุมทางการเมือง

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองไทยในรอบกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ก็ส่งผลถึงความสนใจของพรชัยเช่นเดียวกับอีกหลายๆ คน ชีวิตในกรุงเทพฯ ทำให้เขาเห็นการชุมนุมทางการเมืองของทั้งคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงในช่วงทศวรรษ 2550 เขาเคยไปสังเกตการณ์ชุมนุมทั้งในช่วงปี 2553 และปี 2556-57 โดยเขาบอกว่าเคยไป “ทำวิจัย” ส่วนตัวเล็กๆ คือไปสอบถามผู้เข้าร่วม ถึงความคิดเห็น สาเหตุที่แต่ละคนมาชุมนุม เพื่อพยายามเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

นอกจากการพบเจอสถานการณ์บ้านเมือง พรชัยยังถูกจุดความสนใจเรื่องราวการต่อสู้ทางการเมืองจากหนังสือชีวประวัติของนักต่อสู้ทั้งในสังคมไทยและเทศด้วย

“ความสนใจเรื่องการเมือง จริงๆ ก็มาจากการอ่านหนังสือเหมือนกัน ผมไปอ่านหนังสือชีวประวัติของเนลสัน แมนเดลา ที่ออกมาเคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองที่แอฟริกาใต้ ผมชอบตรงที่ว่าทุกๆ คราวที่เขาโดนคดี หรือโดนคุมขัง เขาไม่เคยถอย ไม่เคยลดทอนอุดมการณ์ตัวเอง แต่เขาลุกขึ้นได้ทุกครั้ง เขาพูดอย่างถ่อมตัว แต่ใจเขาไม่เคยถอย ผมชอบตรงนั้น

“แล้วผมก็ได้อ่านเรื่องประวัติศาสตร์ อ่านเกี่ยวกับปรีดี พนมยงค์ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ทำให้รู้เรื่องการเมืองไทยมากขึ้น แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้ออกมาทำอะไร เหมือนกับศึกษาไปเรื่อยๆ”

การสะสมความสนใจเหล่านี้เป็นพื้นฐานของพรชัย ที่ทำให้การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวในช่วงปี 2563 ส่งผลเป็นการจุดประกายการเริ่มต้นเคลื่อนไหวที่จริงจังมากขึ้นของเขา

“จนปี 2563 เป็นจุดที่ผมเริ่มออกมาร่วมเคลื่อนไหว ผมไปร่วมครั้งแรกตอนช่วงชุมนุมใหญ่วันที่ 14 ตุลาคม 2563 แล้วก็ไปที่หน้าสยาม วันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่มีการฉีดน้ำความดันสูง ฉีดแก๊สน้ำตา

“ที่ออกมา เพราะผมมองว่าอยากจะเป็นตัวอย่างให้คนชนเผ่ามากกว่า อันนี้คืออยู่ในสำนึก อยากจะทำให้เห็นว่าการออกมาร่วมแสดงออก ไม่ให้คนชนเผ่าถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง ออกมาทำอะไรก็ถูกตำหนิหมด ผมก็เลยอยากมาเป็นตัวอย่างให้เขาเห็นว่า คนบนดอยก็มีส่วนร่วมได้ พยายามสื่อสารว่าคนชนเผ่าสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิต่างๆ ได้”

ท่ามกลางการหลอมรวมประเด็นที่หลากหลายในการเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงปี 2563-64 ดูเหมือนพรชัยจะเป็นตัวแทนหนึ่งของคนที่เข้าร่วม โดยมีประเด็นด้านสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะส่วนหนึ่งของการสร้างประชาธิปไตย อยู่ในจิตสำนึกของการเคลื่อนไหว

“ผมเข้าร่วมการเคลื่อนไหวครั้งนี้กับกลุ่มราษฎรที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย 3 ข้อเรียกร้อง โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่ต้องการให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มีคนเคยด่าผมนะว่า ‘ไอ้กะเหรี่ยงล้มเจ้า’ ผมไม่ได้อยากจะล้มเจ้านะ ผมต้องการปฏิรูปสถาบันให้กลับมาอยู่ในร่องในรอยเท่านั้น”

.

.

จากจำเลยในคดีมาตรา 112 และการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของ “คนแบบเรา”

การถูกดำเนินคดีกลายเป็นราคาที่ต้องจ่ายสำหรับการออกมาเคลื่อนไหวของเขา ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยถูกดำเนินคดีอะไรมาก่อน แต่ช่วงปี 2564 เขาถูกกล่าวหาไปปีเดียวรวมถึง 7 คดี โดยขณะนี้ต้นปี 2566 คดีสิ้นสุดไปแล้ว 2 คดี โดยเป็นคดีที่พรชัยถูกเปรียบเทียบปรับ 1 คดี และคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องอีก 1 คดี

ท่ามกลางการต่อสู้คดีเกือบสองปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 ที่เขาต้องเดินทางขึ้นเหนือลงใต้อย่างต่อเนื่อง พรชัยยังคงยืนยันว่าตัวเองไม่ได้กระทำความผิด และสองคดีที่เขาถูกกล่าวหานี้สะท้อนถึงปัญหาของมาตราในกฎหมายอาญานี้อย่างมาก ไม่ว่าศาลจะพิพากษาออกมาเช่นไร เขาเห็นว่าจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด

“ผมมองว่าคดี 112 ถ้าเอาผมไปติดคุก มันก็ไม่มีประโยชน์ ผมไม่ได้มีอิทธิพลอะไร ผมไม่สามารถจะไปล้มล้างรัฐบาล ล้มล้างสถาบันฯ จะเอาไปติดคุกเพื่ออะไร แต่ผมก็เตรียมใจเผื่อไว้บ้าง เราก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น”

พรชัยเล่าว่าผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีในสองพื้นที่เช่นนี้ ก็ทำให้เขาต้องเสียเวลาทำมาหากิน และต้องใช้เวลาเดินทางไปเชียงใหม่และยะลาหลายครั้ง อย่างช่วงสืบพยาน ก็ต้องไปอยู่ที่ทั้งสองจังหวัดประมาณ 1 อาทิตย์ มีค่าใช้จ่ายต่างๆ พอสมควร แต่ยังดีที่ได้รับความช่วยเหลือเรื่องค่าเดินทางจาก “กองทุนดา ตอร์ปิโด”

ดูเหมือนบทบาทในการเคลื่อนไหวบนโลกออนไลน์ของเขาจะมีทั้งสองด้าน ทั้งด้านที่นำไปสู่การถูกจับตาและถูกดำเนินคดี กับด้านที่ส่งผลต่อการสื่อสารกับผู้ติดตาม โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีพื้นเพใกล้เคียงกัน

พรชัยบอกว่ามีคนปกาเกอะญอหรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มาติดตามเขาในโซเชียลพอสมควร ทั้งเคยมีคนทักมาขอคำปรึกษาเรื่องปัญหาความไม่เป็นธรรมต่างๆ เช่น เรื่องถูกป่าไม้ไล่ที่ทำกิน หรือความขัดแย้งกับหน่วยงานรัฐ

“เขาสนใจว่ามีด้วยเหรอ ปกาเกอะญอที่ออกมาทำอะไรแบบนี้ เขาก็ได้เห็นว่ามีคนทำแบบนี้ ปกาเกอะญอมีความเห็นด้านการเมืองแบบนี้ด้วยเหรอ มันมีคนตื่นตัวเยอะขึ้น แม้ด้วยวัฒนธรรมครอบครัว อาจจะไม่ค่อยให้ลูกออกมาทำแบบนี้ หรือเวลาผมพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับการขาย-การตลาด ก็มีคนมาติดตามฟังเรื่องพวกนี้ด้วยเหมือนกัน

“เป้าหมายในการมาร่วมเคลื่อนไหว ผมอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจากเมืองสู่ชนบท อยากเห็นคนชนบท คนชนเผ่า ชาวปกาเกอะญอ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เข้าถึงโอกาสต่างๆ ทั้งทางการศึกษา วัฒนธรรม สังคม การเข้าถึงการงาน ผมอยากให้มันยกระดับขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แล้วในเรื่องของการเหยียดกัน ไม่ควรจะมีแล้ว แต่เราเป็นพลเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญเหมือนกัน การพูดไทยชัดไม่ชัด ก็ไม่ควรจะมาเหยียดหยามกัน

“ตอนนี้คนชนเผ่าก็เข้ามาทำงานในเมืองเยอะขึ้น ทำงานหาเงินส่งกลับไป แต่ต่อให้เรียนจบอะไร มันก็มักจะถูกให้ไปทำงานที่ต่ำกว่าศักยภาพ ต้องไปเป็น รปภ. ไปทำงานในโรงงาน บางคนมีความรู้นะ แต่ด้วยโอกาส มันไม่เปิดให้คนแบบเรา” พรชัยสรุปถึงเป้าหมายและความหวังในการลงมือลงแรงของเขา

.

X