15 ธ.ค. 2565 เป็นอีกวันที่ พรชัย วิมลศุภวงศ์ หนุ่มปกาเกอะญอวัย 38 ปี จะต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังศาลจังหวัดยะลาอีกครั้ง เพื่อฟังคำพิพากษาในคดีที่เขาถูกฟ้องในข้อหาตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) หลังจากการสืบพยานโจทก์และจำเลยผ่านไป เมื่อวันที่ 4 – 6 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา
คดีนี้พรชัยถูก นายวัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ แจ้งความไว้ที่ สภ.บันนังสตา โดยถูกกล่าวหาว่าได้ไลฟ์สดวิดีโอพูดเกี่ยวกับข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กอีก 2 ข้อความ ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563
ก่อนที่จะถูกแจ้งข้อกล่าวหาเป็นคดีนี้ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2564 พรชัยเพิ่งถูกจับกุมโดยหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นคดีของ สภ.แม่โจ้ เหตุจากการถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก 4 ข้อความ เขาถูกคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ในช่วงแรก หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว กระทั่งในวันที่ 12 มี.ค. 2564 ขณะถูกคุมขัง ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.บันนังสตา และเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาพรชัยในเรือนจำ ซึ่งพรชัยยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหามาตั้งแต่ชั้นสอบสวน
หลังจากที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาลจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564 เขายังต้องเดินทางไปรายงานตัวตามนัดต่างๆ ทั้งของเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการในคดีที่จังหวัดยะลา จนกระทั่งพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 มีคำสั่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565
คดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่ง ที่ผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ซึ่งไม่ใช่แกนนำการชุมนุม ต่อสู้ในประเด็นการอภิปรายในที่สาธารณะถึงปัญหาบทบาทและสถานะอำนาจของสถาบันกษัตริย์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทบทวนการต่อสู้คดีนี้ ก่อนฟังคำพิพากษาของศาลจังหวัดยะลาในวันที่ 15 ธ.ค. 2565 เวลา 9.00 น.
.
3 โพสต์ที่ถูกฟ้องหมิ่นกษัตริย์ – 1 วิดีโอ 2 ข้อความ
สำหรับเนื้อหาคำฟ้องคดีนี้มี คมสัน รัตนศิริพงษา สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 เป็นผู้เรียงฟ้อง กล่าวหาพรชัยใน 3 กรรม จากการไลฟ์สดและโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ได้แก่
1. การโพสต์คลิปวิดีโอในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 โดยสรุปมีเนื้อหากล่าวถึงข้อเรียกร้องของคณะราษฎรที่จัดกิจกรรมชุมนุมที่หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 โดยมีการกล่าวถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเขาเห็นว่ารัฐสภาไม่ยอมแตะต้อง และไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ และยังกล่าวถึงปัญหาสถานะอำนาจของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน
2-3. ภาพและข้อความที่โพสต์เมื่อวันที่ 17 และ 18 พ.ย. 2563 มีเนื้อหากล่าวถึงบทบาททางการเมืองของรัชกาลที่ 10
.
โจทก์ฟ้องจำเลยหมิ่นกษัตริย์ – จำเลยให้การปฏิเสธ ต่างเตรียมนำพยานเข้าสืบ
วันที่ 30 พ.ย. 2565 ศาลจังหวัดยะลานัดตรวจพยานหลักฐานคดีของพรชัย พนักงานอัยการโจทก์แถลง ประสงค์นำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 20 ปาก แต่เนื่องจากฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยได้ตกลงรับพยานกันได้ทั้งหมด 14 ปาก อาทิ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจยึดโทรศัพท์ของจำเลย, เจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจสอบคลิปวิดีโอและเฟซบุ๊ก, เจ้าของหอพัก, บิดามารดาของจำเลย, ผู้ใหญ่บ้านของจำเลย เป็นต้น จึงไม่ต้องนำพยานเหล่านี้เข้าเบิกความ
คงเหลือพยานฝ่ายโจทก์ที่จะต้องเข้าเบิกความ 6 ปาก ได้แก่ 1. วัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ ผู้กล่าวหา 2. พล บุษษะ พยานให้ความเห็น 3. รอมือลี มัสกอตอ พยานให้ความเห็น 4. พ.ต.ท.โกสินทร์ นรสิงห์ เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน 5. พ.ต.ท.วิบูลย์ นนทะแสง เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน และ 6. ร.ต.อ.ซุลกีฟรี ระเซาะ พนักงานสอบสวน
ส่วนฝ่ายจำเลยแถลงขอนำพยานเข้าสืบทั้งหมด 3 ปาก 1. จำเลย 2. ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw และ 3. พยานผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
โดยภาพรวม ฝ่ายโจทก์พยายามนำสืบว่าจำเลยทำการโพสต์คลิปวิดีโอของตนเอง ที่เป็นการด่าทอและเปรียบเทียบ ทำให้ประชาชนทั่วไปพบเห็นและดูคลิปวิดีโอเข้าใจว่ากษัตริย์รัชกาลปัจจุบันไม่วางตัวเป็นกลางและไม่ได้ใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามรัฐธรรมนูญ แต่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง และยังโพสต์ข้อความและรูปภาพอีก 2 ข้อความ ที่เป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ รัชกาลที่ 10 ลงในเฟซบุ๊ก
ส่วนฝ่ายจำเลยต่อสู้ โดยรับว่าตนเองโพสต์คลิปวิดีโอลงในเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหาจริง แต่การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องต่างๆ เช่น การอภิปรายในรัฐสภาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ไม่แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ เรื่องการขยายพระราชอำนาจ และเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการพูดโดยใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ ส่วนข้อความและรูปภาพอีก 2 โพสต์ที่ถูกฟ้องนั้น จำเลยไม่เคยโพสต์และไม่เคยเห็นมาก่อน
.
.
ผู้กล่าวหา: อดีต กปปส. รับว่าภาพที่นำมากล่าวหาได้จากคนในกลุ่มไลน์ “พิทักษ์สถาบัน” ส่งมาให้
เริ่มต้นการสืบพยานโดยอัยการโจทก์นำ วัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ ผู้กล่าวหา ขึ้นเบิกความเป็นคนแรก โดยสรุประบุว่าเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 ตนได้พบเห็นคลิปวิดีโอเป็นภาพจำเลยคดีนี้บนเฟซบุ๊ก เมื่อฟังแล้วเข้าใจว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เสมือนอยู่เบื้องหลังการเมือง เป็นเจ้าของพรรคการเมือง ในฐานะพสกนิกรเมื่อได้ฟังแล้วจึงรู้สึกไม่สบายใจ ผู้ฟังที่ได้ยินอาจเข้าใจผิดได้ว่าสถาบันกษัตริย์อยู่เบื้องหลังทางการเมือง
ต่อมาวันที่ 17 และ 18 พ.ย. 2563 พบว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวได้โพสต์ข้อความอีกครั้ง ซึ่งมีเนื้อหากระทบกระเทือนจิตใจ ทำให้เข้าใจได้ว่าสถาบันกษัตริย์ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ส่งผลให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยเสื่อมศรัทธา ดูแล้วเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย และใช้ข้อความอันเป็นเท็จ เพราะสถาบันกษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมืองและในสถานะที่เคารพบูชา เมื่อพบดังนั้นจึงพยายามแคปภาพหน้าจอและดาวน์โหลดภาพและวิดีโอ รวบรวมข้อมูลไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา
อย่างไรก็ตาม วัชรินทร์เบิกความตอบทนายความถามค้าน รับว่าตนเป็นสมาชิกกลุ่มภาคประชาชนเทิดทูนสถาบันกษัตริย์ โดยมีจุดยืนห้ามไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดสถาบันกษัตริย์ และเคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ในช่วงปี 2557 นอกจากนี้วัชรินทร์ยังรับว่าเป็นสมาชิกกลุ่มไลน์ชื่อ “พิทักษ์ราชบัลลังก์”
ในส่วนของการแคปภาพหน้าจอหนึ่งในโพสต์ตามฟ้องนั้น วัชรินทร์รับว่าตนไม่ได้จัดทำเองทั้งหมด แต่มีเพื่อนส่งมาให้ทางไลน์ “พิทักษ์สถาบัน” ซึ่งมีสมาชิกในกลุ่มเป็นร้อยคน และทางเฟซบุ๊ก เขาจึงคัดลอกภาพมาให้แก่พนักงานสอบสวน โดยรับว่าไม่ได้จัดพิมพ์หรือคัดถ่ายมาจากเฟซบุ๊กโดยตรง ซึ่งจะปรากฏ URL ที่สามารถค้นหาข้อความจากเว็บไซต์ต้นทางได้ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเติมข้อความและเส้นกรอบสีแดงบนรูปภาพโพสต์ที่นำมากล่าวหา ในเอกสารพยานของฝ่ายโจทก์ด้วย
นอกจากนี้ทนายความนำเอกสารให้วัชรินทร์ดูเกี่ยวกับเนื้อหาที่จำเลยพูดในคลิปวิดีโอ ว่าหลังจากรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติแล้ว รัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่งให้แก้ไขเรื่องพระราชอำนาจ แม้มีชัย ฤชุพันธุ์ จะระบุว่าตามหลักการไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ วัชรินทร์รับว่า ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องดังกล่าว และมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์หลายฉบับ
วัชรินทร์ตอบทนาย ไม่ทราบว่า มีการออกพระราชบัญญัติระเบียบการบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ระบุให้การจัดระเบียบราชการในพระองค์เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย และในวรรค 3 ยังระบุให้ส่วนราชการในพระองค์ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายอื่นใด และยังให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการจัดสรรงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนให้แก่ส่วนราชการในพระองค์เพื่อปฏิบัติภารกิจด้านต่างๆ และให้โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน สิทธิหนี้สิน ของแต่ละหน่วยงานให้เป็นหน่วยงานในพระองค์ ซึ่งส่งผลทำให้ไม่สามารถตรวจสอบหน่วยงานได้
นอกจากนี้วัชรินทร์ก็ไม่ทราบว่า พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 โดยเหตุผลของการออกพระราชกำหนดฉบับนี้ คือ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ ทำให้กษัตริย์มีกำลังพลเป็นของตนเอง
ในช่วง พ.ศ. 2563 มีการชุมนุมของคณะราษฎร โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีลาออก 2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย โดยเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 มีการประชุมวิสามัญที่รัฐสภา ซึ่งรัฐสภาเห็นสมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่แตะหมวดพระมหากษัตริย์ ซึ่งวัชรินทร์ไม่มีความเห็นว่าการปฏิรูปสถาบันฯ สามารถทำได้หรือไม่
วัชรินทร์รับว่า คำว่าปฏิรูปหมายถึงการทำให้ดีขึ้น นอกจากนี้สถาบันกษัตริย์สามารถวิจารณ์ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย นอกจากนี้วัชรินทร์ยังตอบทนายว่าแม้ว่าเขาจะฟังข้อความที่จำเลยไลฟ์และข้อความตามคำฟ้องแล้ว ก็ยังมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์เช่นเดิม
ต่อจากนั้นวัชรินทร์ตอบพนักงานอัยการถามติง ถึงเหตุการณ์ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นรัฐบาลโดยการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี พ.ศ. 2557 ซึ่งขณะนั้นรัชกาลที่ 9 เป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง ไม่ใช่รัชกาลที่ 10
.
สองพยานความคิดเห็น: เห็นว่าจำเลยจาบจ้วง หมิ่นกษัตริย์ แต่ไม่ทราบถึงการแก้ไข รธน. เพิ่มพระราชอำนาจ, โอนย้ายทรัพย์สิน-กำลังพล ไปเป็นตามอัธยาศัย
พล บุษษะ ประกอบอาชีพทนายความ และเป็นอาจารย์พิเศษหลักสูตรนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ถูกพนักงานสอบสวน สภ.บันนังสตา ขอมาให้ความเห็นเกี่ยวกับโพสต์ของจำเลยที่ถูกกล่าวหา ซึ่งเมื่อดูแล้วพลเห็นว่าข้อความเป็นการด่า เหยียดหยาม สบประมาท และเป็นการให้ข้อเท็จจริงในทางให้ร้าย ซึ่งเข้าข่ายมาตรา 112 ทั้งทำให้กษัตริย์ได้รับความอับอาย เป็นการด้อยค่า ทำให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ยุ่งเกี่ยวการเมือง ซึ่งไม่เป็นความจริง
ส่วน รอมือลี มัสกอตอ เป็นข้าราชการบำนาญ โดยช่วงเกิดเหตุเขาเป็นประธานกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจแห่งชาติ (กต.ตร.) ของ สภ.บันนังสตา จึงถูกพนักงานสอบสวนเชิญมาให้ความเห็น โดยเมื่ออ่านข้อความแล้วเห็นว่าไม่เหมาะสม เป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ไม่สมควรที่จะพูดต่อสถาบันกษัตริย์ ทั้งข้อความไม่เป็นความจริง
พยานความเห็นทั้งสองตอบทนายความถามค้านถึงเนื้อหาที่จำเลยพูดในคลิปวิดีโอ โดยคล้ายคลึงกันว่า ตนไม่ทราบว่ารัชกาลที่ 10 ทรงรับสั่งให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการลงประชามติ ในเรื่องพระราชอำนาจ และไม่ทราบ ไม่แน่ใจว่าหากกษัตริย์ทรงไปต่างประเทศจะต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนทุกกรณีหรือไม่ และก็ไม่ทราบอีกว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 กรณีกษัตริย์ไปต่างประเทศ ไม่ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทุกรณี
ทนายความถามต่อไปถึงพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 ระบุให้การจัดระเบียบราชการในพระองค์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย และวรรค 3 ของมาตรา 4 ส่วนราชการในพระองค์ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและไม่เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมาตรา 7 กำหนดให้โอนบรรดากิจการอำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้สิน ของหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าวไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ เช่นนี้องค์กรอื่นใดไม่สามารถตรวจสอบได้ใช่หรือไม่
ประเด็นนี้ พล บุษษะ ตอบว่ายังสามารถตรวจสอบได้อยู่ ส่วนรอมือลีตอบว่าทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ แล้วทนายความถามพลต่อไปว่า หน่วยงานใด เขาตอบว่าอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติ แต่รับว่าที่ผ่านมา ระบบรัฐสภาได้ทำการอภิปรายเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว แต่ไม่สามารถอภิปรายได้ เพราะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ
ส่วนรอมือลีตอบว่าการมี พ.ร.บ. ดังกล่าว ส่งผลให้การจัดการทรัพย์สินเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ส่งผลให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารไม่สามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังเบิกความตอบทนายความต่อไปอีกถึง พระราชบัญญัติโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหมไปเป็นหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 ซึ่งส่งผลให้พระมหากษัตริย์มีหน่วยกำลังพลเป็นของตนเอง
ทั้งนี้พยานทั้งสองยังทิ้งท้ายไว้ โดยพลเห็นว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์สามารถทำได้ แต่ต้องมีเจตนาสุจริต ส่วนรอมือลีเห็นว่าการปฏิรูปเป็นการทำให้ดีขึ้นและไม่ใช่การล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ทั้งเมื่อพยานทั้งสองได้อ่านข้อความที่จำเลยพูดในคลิปวิดีโอ พยานทั้งสองก็ยังคงมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อยู่ดี
.
.
ตำรวจนครบาล – สืบสวน – สอบสวน
หลังจากพยานความเห็นเบิกความผ่านไป พนักงานอัยการได้นำพยานซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งทำหน้าที่สืบสวนและพนักงานสอบสวนเข้าเบิกความต่อ
พ.ต.ท.วิบูลย์ นนทะแสง กองกำกับการสืบสวน 4 กองบัญชาการตำรวจนครบาล เบิกความโดยสรุปว่า ก่อนจะได้รับคำสั่งให้สืบสวนคดีนี้ ก็ทราบมาก่อนแล้วว่าจำเลยมีพฤติกรรมร่วมชุมนุมกับกลุ่มคณะราษฎรมาก่อน ในการชุมนุมแต่ละครั้งมักจะมีการตั้งเวทีปราศรัย โจมตีการทำงานของรัฐบาล บางคนพูดจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์ จากพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่าจำเลยน่าจะกระทำความผิดตามที่ผู้กล่าวหาแจ้งความจริง และได้เข้าไปตรวจสอบเฟซบุ๊กตามฟ้อง โดยนำโปรไฟล์ของจำเลยเปรียบเทียบข้อมูลทะเบียนราษฎรเห็นว่าเป็นคนเดียวกัน
อย่างไรก็ดี พ.ต.ท.วิบูลย์ ตอบทนายความถามค้าน ว่าจำเลยไม่ได้เป็นแกนนำกลุ่มคณะราษฎร เพียงแต่เป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมเท่านั้น อีกทั้งไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างแกนนำและจำเลย แต่เชื่อว่าจำเลยรับหน้าที่ตามคำสั่งของแกนนำ นอกจากนี้ พ.ต.ท.วิบูลย์ ยังเข้าไปตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลยพบข้อความการกระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งตรงกันกับเอกสารในคดีนี้
ต่อมา พ.ต.ท.โกสินทร์ นรสิงห์ ขณะเกิดเหตุรับราชการอยู่ที่กองกำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดยะลา โดยผู้บังคับบัญชาสั่งให้ร่วมสืบสวนคดีนี้ พยานได้ตรวจสอบรูปหน้าจำเลยจากรูปในเฟซบุ๊กกับข้อมูลทะเบียนราษฎร ทราบว่าเป็นจำเลยในคดีนี้ ในเฟซบุ๊กดังกล่าวมีการโพสต์ข้อความและรูปภาพในทำนองดูหมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งไม่เป็นความจริง
พ.ต.ท.โกสินทร์ ตอบทนายความว่า ตนไม่ใช่ผู้จัดทำเอกสารโจทก์ที่นำมาใช้เป็นพยานในคดีนี้ โดยได้เข้าไปดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของจำเลย และก๊อปปี้ลิงค์โพสต์แล้วนำมาใส่ในรายงานสืบสวนเพื่อยืนยันว่าเป็นโพสต์ตามรูปภาพดังกล่าว นอกจากนี้ พ.ต.ท.โกสินทร์ ยังเป็นผู้ตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลย ไม่พบการผูกเบอร์โทรศัพท์กับเฟซบุ๊ก ไลน์ เน็ตแบงค์ หรืออื่นๆ
ต่อมา ร.ต.อ.ซุลกีฟลี ระเซาะ พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีนี้ เบิกความว่าเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2563 ได้มีนายวัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ มาแจ้งความว่าพบเหตุการณ์กระทำความผิดผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีการไลฟ์สดลงในเฟสบุ๊ก เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 ซึ่งมีข้อความเป็นการอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และยังมีการโพสต์ข้อความและพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 โดยวัชรินทร์ได้นำแฟรชไดฟ์บันทึกคลิปเสียงมามอบให้
จากนั้นพยานได้เข้าไปในเฟซบุ๊กดังกล่าวได้โหลดคลิปเสียงไว้ ซึ่งเป็นคลิปเดียวกันกับที่วัชรินทร์กล่าวอ้าง ต่อมาได้คัดถ่ายข้อมูลทะเบียนราษฎรของนายพรชัย มาเทียบเคียงกับรูปโปรไฟล์เฟซบุ๊ก พบว่าเป็นบุคคลเดียวกัน จึงได้รายงานผู้บังคับบัญชาและทำการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องในคดี
นอกจากนี้ ร.ต.อ.ซุลกีฟลี ได้นำคลิปวิดีโอส่งไปให้กองตรวจพิสูจน์หลักฐาน 10 เพื่อตรวจว่ามีการตัดต่อหรือทำขึ้นมาใหม่หรือไม่ และได้รับรายงานกลับมาว่าไม่พบการตัดต่อ ทั้งได้มีหนังสือไปยังกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขอทราบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ แต่ทางกระทรวง ฯ ตอบกลับมาว่า ไม่สามารถตรวจสอบได้ และยังได้ส่งหนังสือขอให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เกี่ยวกับความเชื่อมโยงกับหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลย ที่ได้รับจากธนาคารกรุงเทพ ฯ เมื่อตรวจสอบหมายเลขดังกล่าวพบความเชื่อมโยงกับเฟซบุ๊กดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ร.ต.อ.ซุลกีฟลี ตอบทนายความถามค้านรับว่า ในตอนแรกนายวัชรินทร์ได้นำโพสต์มากล่าวหารวม 18 โพสต์ และคลิปวิดีโออีก 1 คลิป ซึ่งเอกสารในคดีนี้ เป็นเอกสารที่วัชรินทร์จัดทำมาเอง เมื่อดูเอกสารไม่ได้ปรากฏลิงค์ หรือ URL ต้นทาง และก็ไม่ได้เห็นต้นโพสต์ด้วยตนเอง เพราะโพสต์ดังกล่าวถูกลบไปก่อนแล้ว นอกจากนี้ก็ไม่ทราบว่าเอกสารที่วัชรินทร์นำมาจะถูกต้องตามต้นโพสต์หรือไม่ และก็ไม่สามารถตรวจสอบชื่อผู้ใช้งาน หรือ IP address ได้
.
.
จำเลย: ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายขยายพระราชอำนาจ และดึงกษัตริย์ลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมือง จึงโพสต์คลิปพูดถึงการปฏิรูปสถาบัน
พรชัย ขึ้นเบิกความรับว่าตนได้พูดและโพสต์คลิปวิดีโอลงในเฟซบุ๊ก เนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 มีการเปิดประชุมอภิปรายในรัฐสภาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนั้นมี ส.ส. ของรัฐบาล คือไพบูลย์ นิติตะวัน ออกมาคัดค้านว่าการประชุมครั้งนี้ ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ก็ไม่ควรไปแตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ตนไม่เห็นด้วยและต้องออกมาพูดนอกสภา
ตั้งแต่มีการร่วมชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2563 พรชัยได้เข้าร่วมชุมนุมบางครั้ง โดยเหตุที่เข้าร่วมเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ต่อมาปี 2559 มีการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ และนายกรัฐมนตรีมีการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของ คสช. แก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของการเพิ่มพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ และออกกฎหมายเกี่ยวกับพระราชอำนาจอีกหลายฉบับ ซึ่งพรชัยไม่เห็นด้วย
พรชัยเบิกความว่า เนื้อหาในคลิปวิดีโอ สืบเนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับคณะรัฐประหารเป็นผู้จัดทำ มีทั้งหมด 10 ข้อ ทั้งนี้ข้อ 4 กำหนดให้พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพบูชาและเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งพรชัยมองว่าเป็นการเพิ่มพระราชอำนาจของกษัตริย์ และเป็นการโยงอำนาจของกษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งที่รัฐบาลก็รู้อยู่แล้วว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งนโยบายของรัฐบาลจะต้องยึดโยงกับประชาชนเท่านั้น และจะต้องไม่อ้างความสำเร็จของพระมหากษัตริย์ในยุทธศาสตร์ชาติ พรชัยจึงเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีความสามารถในการบริหารงานแผ่นดิน จึงนำเรื่องสถาบันฯ มาอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
นอกจากนี้พรชัยยังเห็นว่าพระราชอำนาจต่างๆ รวมถึงเรื่องการจัดการทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน ดูจะสวนทางกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เผยแพร่ต่อประชาชน เขาจึงพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อให้พระมหากษัตริย์อยู่ในร่องในรอยอย่างถูกต้องและอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกับประชาชน ซึ่งเห็นว่าตนพูดไปตามสิทธิเสรีภาพที่พึงมี
ทั้งนี้พรชัยตอบอัยการถามค้านว่า ขณะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2558 มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขณะนั้นเป็นรัฐบาล คสช. และในช่วงปี 2557-2559 ยังมีในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรีประกาศใช้ปี 2560 ซึ่งปีดังกล่าวรัชกาลที่ 10 ขึ้นครองราชย์แล้ว จึงเข้าใจว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ข้อที่ 4 เป็นการขยายพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์
.
ผู้จัดการ iLaw และ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์: การปลอมแปลงแก้ไขภาพแคปหน้าจอเฟซบุ๊กทำได้ไม่ยาก ต้องมีการเก็บหลักฐานอย่างละเอียด
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ และพยานผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ จากโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ซึ่งทำหน้าที่ติดตามการมีส่วนร่วมของประชาชนในการออกกฎหมาย และติดตามบันทึกข้อมูลการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น รวมถึงมาตรา 112 ด้วย โดย iLaw จัดทำวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย
ยิ่งชีพเบิกความต่อศาลถึงหลักการพิสูจน์ตัวตนของบุคคลที่โพสต์เฟซบุ๊ก จะต้องมีหลักฐานประกอบอย่างน้อย 5 ประการ คือ
- หลักฐานที่แสดงถึงโพสต์ต้นฉบับว่าอยู่ที่ไหนในโลกออนไลน์ ซึ่งมีข้อมูลที่ใช้พื้นฐานคือ URL หรือราชบัณฑิตยสถานเรียกว่า ตัวชี้แหล่ง ซึ่ง URL จะปรากฏอยู่ด้านบนสุดเวลาเปิดคอมพิวเตอร์ หากจะเก็บเป็นพยานหลักฐานจะต้องสั่งพิมพ์จาก browser โดยตรงที่จะมี URL ติดมาด้วยในการพิมพ์อยู่เสมอ ซึ่งจะปรากฏอยู่ที่ขอบล่างของกระดาษทุกแผ่นที่สั่งพิมพ์
- ต้องหา IP Address ของผู้โพสต์ข้อความ ทั้งนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีอำนาจตามมาตรา 18 ที่จะส่งหนังสือไปยังผู้ให้บริการเพื่อขอหมายเลข IP address ได้
- เมื่อได้หมายเลข IP address แล้ว สามารถนำไปตรวจสอบกับผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เพื่อสอบถามว่าผู้ใช้หมายเลขนั้นจดทะเบียนโดยชื่อบุคคลใดและอยู่ที่ใด
- เมื่อได้ข้อมูลตามข้อ 3 แล้ว ต้องไปยังสถานที่แห่งนั้น ขอหมายค้นจากศาลเพื่อขอตรวจสอบคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตในบ้านหลังนั้น เพื่อตรวจสอบว่ามีการเข้าใช้งานเว็บไซต์และมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับข้อมูลในการกระทำความผิดหรือไม่
- ตรวจสอบ DNA บนเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อรู้ว่าบุคคลใดใช้คอมพิวเตอร์เครื่องนั้น
ทนายความให้ยิ่งชีพและพยานผู้เชี่ยวชาญดูเอกสารพยานโจทก์ รูปภาพโพสต์ของจำเลยที่ถูกกล่าวหา 3 แผ่น โดยพยานต่างให้การว่าลักษณะภาพดังกล่าวเป็นการถ่าย (แคป) หน้าเฟซบุ๊กมาจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือทั้งหมด ซึ่งไม่มีการระบุ URL ทั้งยังปรากฏว่ารูปภาพมีความผิดปกติ กล่าวคือ ในแผ่นแรกในรูปภาพปรากฏข้อความที่มีเส้นสีแดงขีดใต้ภาพ ซึ่งน่าจะมีการเพิ่มเติมในภายหลัง ส่วนแผ่นที่ 2 เป็นภาพถ่ายจากจอโทรศัพท์เหมือนกัน แต่ขนาดของภาพและขนาดตัวอักษรมีความผิดปกติ เชื่อว่ามีการนำภาพเข้าโปรแกรมอะไรบางอย่างเพื่อทำให้ภาพไม่เหมือนกับต้นฉบับ และแผ่นสุดท้าย ดูแล้วน่าจะมีการตัดรูปภาพบางส่วนออก ทำให้ไม่เห็นแถบเครื่องมือด้านบน
ยิ่งชีพยังเบิกความต่อไปว่าการแก้ไขข้อความในเฟซบุ๊กสามารถทำได้ด้วยโปรแกรมที่หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Word, Power Point หรือ Adobe Photo Shop ดังนี้หากพยานหลักฐานปรากฏ URL จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าเอกสารที่โจทก์นำมา 3 แผ่นข้างต้นที่มีความน่าเชื่อถือน้อย
พยานผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ได้เบิกความแสดงถึงเครื่องมืออิสเปคเตอร์ ซึ่งสามารถแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใหม่ในหน้าจอได้ และสามารถทำได้โดยบุคคลทั่วไป
.
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ – ออกกฎหมายเพิ่มพระราชอำนาจ ทำให้เกิดข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ยิ่งชีพ ยังเบิกความถึง การศึกษาของ iLaw ที่พบว่าบุคคลที่แจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 กับบุคคลอื่น มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มองค์กรแล้วนำเสนอผลงานตนเองว่าแจ้งความได้มากน้อยเพียงใด โดยมีลักษณะแจ้งความในพื้นที่ห่างไกล ข้ามจังหวัด เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับความเดือดร้อน
จากการติดตามการออกกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติในยุคของ คสช. iLaw พบว่าตั้งแต่ปี 2557 – 2552 มีการออกกฎหมายอย่างรวดเร็วในช่วง 2 เดือนครึ่งสุดท้าย โดยออกทั้งหมด 90 ฉบับ เท่ากับว่าใน 1 วันสามารถออกกฎหมายได้ 5-6 ฉบับ เกือบทั้งหมดเสนอโดยคณะรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหาร
สภานิติบัญญัติแห่งชาติยังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เพื่อเปิดช่องให้พระราชทานข้อสังเกตในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ จึงนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ก่อนมีการแก้ไข มาตรา 5, 12, 15, และ 17 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับพระราชอำนาจ นอกจากนี้ยังมีการจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลในส่วนราชกาลพระองค์ ซึ่งมีขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับนี้และไม่เคยมีมาก่อน โดยกำหนดให้ส่วนราชการในพระองค์ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินและไม่เป็นหน่วยงานของรัฐ ทำให้เป็นหน่วยงานที่ได้รับเงินงบประมาณแผ่นดิน แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้
นอกจากนี้สภานิติบัญญัติได้ออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2 ฉบับ ในปี 2560 และ 2561 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 3 ประการ ได้แก่ การยกเลิกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และรวมเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ การบริหารจากเดิมที่เป็นการคลัง และสำนักงานทรัพย์สินในส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแล เปลี่ยนเป็นการดูแลตามพระราชอัธยาศัย และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหน่วยงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้คณะกรรมการทุกคนมาจากการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย
ต่อมาปี 2562 มีการออกพระราชกำหนดโดยคณะรัฐมนตรี โดยไม่ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎร กำหนดโอนค่ายทหาร 2 แห่ง และกองกำลังไปเป็นหน่วยราชการในพระองค์ คือ กรมทหารมหาดเล็กที่ 1 รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ส่งผลให้มีกองกำลังพิเศษขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์ และไม่ได้อยู่ภายใต้ฝ่ายบริหาร
การแก้ไขรัฐธรรมนูญและการออกกฎหมายต่างๆ ข้างต้น ทำให้เกิดความน่ากังวลว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เกินกว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่สามารถตรวจสอบได้ ทำให้เกิดข้อเรียกร้องของกลุ่มคณะราษฎรที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ให้สภารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ทั้งนี้ นอกจากคดีที่จังหวัดยะลาแล้ว พรชัยยังถูกฟ้องคดีมาตรา 112 จากการโพสต์ข้อความ 4 ข้อความที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ในอีกคดีหนึ่ง โดยมี เจษฎา ทันแก้ว อดีตการ์ด กปปส. อีกคนหนึ่งเป็นผู้กล่าวหา คดีมีการสืบพยานเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2565 ที่ผ่านมา และศาลกำหนดนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 13 มี.ค. 2566
.