ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนจำคุก 2 ปี “พรชัย” คดี ม.112 เหตุโพสต์คลิปพูดถึงปฏิรูปสถาบันฯ ก่อนศาลยะลาสั่งให้ประกันตัว

4 ต.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 4 ศาลจังหวัดยะลา “พรชัย วิมลศุภวงศ์” หนุ่มปกาเกาะญอ วัย 40 ปี เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 กรณีที่ถูกฟ้องข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการถูก วัชรินทร์ นิวัฒน์สวัสดิ์ สมาชิกกลุ่มพิทักษ์สถาบันฯ กล่าวหาที่สถานีตำรวจบันนังสตา ว่าโพสต์คลิปวิดีโอตนเองพูดถึงการปฏิรูปกษัตริย์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายขยายพระราชอำนาจ และการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งโพสต์ข้อความและรูปภาพลงในเฟซบุ๊ก รวมทั้งหมด 3 โพสต์ ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 2563

หลังจากการสืบพยานผ่านพ้นไป วันที่ 15 ธ.ค. 2565 ศาลจังหวัดยะลาพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดจากกรณีโพสต์คลิปวิดีโอจำนวน 1 โพสต์ ส่วนข้อความอีก 2 โพสต์นั้นยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย คงเหลือความผิดกรรมเดียว พิพากษาจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา โดยอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์

จำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้น กรณีพูดถึงการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ใน 2 ประเด็นหลัก โดยสรุปได้ว่า

1. ประเด็นที่ศาลชั้นต้นตีความขยายเจตนารมณ์ของ รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 6 “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” มาพิจารณาประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพื่อลงโทษจำเลย เนื่องจากคำว่า “ละเมิดมิได้” ตามมาตรานี้ ไม่รวมถึงการติชมพระมหากษัตริย์อย่างสุจริต การตีความกฎหมายดังกล่าวของศาลขัดต่อหลักการประชาธิปไตย และหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 

การตีความของศาลเช่นนี้จะทำให้การแสดงออกซึ่งความคิดเห็น เปรียบเปรยหรือวิพากษ์วิจารณ์การใช้พระราชอำนาจ หรือการกระทำใดของพระมหากษัตริย์จะเป็นความผิดไปทั้งสิ้น 

2. ประเด็นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเข้าองค์ประกอบของมาตรา 112 นั้น จำเลยโต้แย้งว่าการกระทำของจำเลยเป็นเพียงการวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นอย่างสุจริตถึงการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เท่านั้น และไม่มีเจตนาในการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ

.

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ชี้ “อำนาจอันละเมิดไม่ได้” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 เป็นที่มาของมาตรา 112 การละเมิดกษัตริย์ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ดังนี้แม้วิพากษ์วิจารณ์ก็ผิด ต่างจากหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป

คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยใน 2 ประเด็น ได้แก่

1. ประเด็นที่ศาลชั้นต้นนำ ม.6 รัฐธรรมนูญ มาวินิจฉัยประกอบ ม.112 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เมื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 2 บัญญัติไว้ว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ส่วนมาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” ซึ่งเจตนารมณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา 112 โดยจำเลยเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 มิได้ห้ามบุคคลวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ ห้ามเฉพาะการกล่าวโทษหรือฟ้องร้อง และมาตราดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่กำหนดฐานะของพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่กฎหมายที่กำหนดฐานความผิดหรือบทลงโทษทางอาญา จึงไม่ใช่บทบัญญัติที่เกี่ยวพันหรือจะนำไปเชื่อมโยงกับความผิดใด ๆ ที่อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาที่จะใช้และตีความมาตรา 112 นั้น 

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 การพิจารณาถึงบุคคลที่ถูกกระทำต่อคือ พระมหากษัตริย์ ซึ่งอุทธรณ์ของจำเลยก็ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในสถาบันที่อยู่คู่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาทุกฉบับ โดยเมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญจากเนื้อหาสาระแล้ว หมายถึงกฎเกณฑ์ที่กำหนดสถานะและความสัมพันธ์ขององค์กรที่ใช้อำนาจสูงสุดในรัฐต่อกันหรือต่อประชาชน เนื้อหามีทั้งรูปแบบของรัฐ ประมุขของรัฐ องค์กรที่ใช้อำนาจสูงสุด รวมถึงสิทธิเสรีภาพ ถือเป็นสิ่งที่รับรู้โดยทั่วไป ศาลชั้นต้นย่อมสามารถนำหลักการที่กำหนดในรัฐธรรมนูญมาเป็นเหตุผลในคำพิพากษาได้ 

เมื่อพิจารณาจากข้อวินิจฉัยที่สรุปได้ว่าบทบัญญัติ มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ถือว่าองค์พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้อันเป็นการคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ 

ส่วนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการสืบเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญที่จะคุ้มครองมิให้ผู้ใดกระทำละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์นั่นเอง เฉกเช่นเดียวกันกับรัฐธรรมนูญกำหนดถึงสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ในหมวด 3 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย…” เป็นการรับรองสิทธิของประชาชน หากมีใครทำละเมิดสิทธิดังกล่าวโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ ย่อมกระทบสิทธิที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ส่วนผู้ที่ทำละเมิดจะเป็นการทำด้วยประการใดที่ถือว่าเป็นการกระทบสิทธินั้น ผู้มีหน้าที่ในการบัญญัติกฎหมายต้องไปดำเนินการให้สอดคล้องกับสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญา เช่น ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดต่อชีวิต หรือทรัพย์สิน เหล่านี้เป็นการออกกฎหมายให้สอดรับกับสิทธิและหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ การให้เหตุผลความสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

.

2. ประเด็นว่าจำเลยมีความผิด ม.112 ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ ตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คำกล่าวของจำเลยเป็นการติชมโดยสุจริต

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จากถ้อยคำดังกล่าวของจำเลยสรุปได้ว่าเป็นการกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เป็นการหาว่าพระมหากษัตริย์ปฏิบัติผิดรัฐธรรมนูญ ไม่วางตัวเป็นกลางทางการเมือง การกล่าวอ้างของจำเลยทั้งหมดจึงเป็นการหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ การกระทำของจำเลยย้อมเข้าองค์ประกอบความผิดแล้ว

ส่วนที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ทำนองว่าเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตโดยอ้างฎีกาที่ 51/2503 ลักษณะเป็นการอ้างถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตจึงไม่มีความผิดนั้น เห็นว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ในหมวดที่ 3 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบัญญัติอยู่ในลักษณะ 11 ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง โดยความผิดฐานหมิ่นประมาทบัญญัติไว้ตั้งแต่ มาตรา 326 ถึงมาตรา 333 

จากข้อวินิจฉัยข้างต้นเรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไว้วางหลักเกณฑ์ที่จะคุ้มครองทั้งพระมหากษัตริย์และปวงชนชาวไทยไว้ และเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ดังกล่าวถึงมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครอง ซึ่งในส่วนของพระมหากษัตริย์อยู่ในลักษณะที่ 1 ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แยกต่างหากจากความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม มาตรา 326-333 

และเนื่องด้วยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของราชอาณาจักรไทยตามรัฐธรรมนูญ การล่วงละเมิดย่อมเป็นการกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการแยกให้เห็นถึงความร้ายแรงที่เกิดขึ้นอย่างชัดแจ้ง เพราะเมื่อเป็นประมุขและเป็นที่เคารพสักการะ 

การละเมิดต่อองค์กษัตริย์ย่อมก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ราษฎรโดยทั่วไป อาจทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ต่างกับการละเมิดต่อปัจเจกชน เป็นเรื่องระหว่างบุคคล จึงมีบทบัญญัติมาตรา 333 ประมวลกฎหมายอาญาให้สามารถยอมความได้ กรณีไม่อาจนำมาตรา 326 ของประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

.

หลังจากศาลจังหวัดยะลาอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใส่กุญแจมือและควบคุมตัวจำเลยเข้าไปในห้องขังใต้ถุนศาลทันที ก่อนทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างฎีกาและศาลจะมีคำสั่งอนุญาต เนื่องจาก “จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาโดยตลอด ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี” โดยจำเลยเพิ่มวงเงินประกันจากชั้นอุทธรณ์จำนวน 112,500 บาท รวมเป็นเงินประกันทั้งหมด 337,500 บาท ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

พรชัยขณะนั่งรถโดยสารกลับจากศาลจังหวัดยะลา หลังจากได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา

สำหรับ “พรชัย” เกิดที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอยู่อาศัยทำงานที่กรุงเทพฯ การถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งที่ศาลจังหวัดยะลาและศาลจังหวัดเชียงใหม่ สร้างความลำบากในการเดินทางและค่าใช้จ่ายของเขาเป็นอย่างยิ่ง 

ทั้งนี้ศาลจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างฎีกา โดยไม่ได้ส่งให้ศาลฎีกาเป็นผู้สั่ง ทำให้จำเลยได้รับอิสรภาพในเวลาไม่นานนักในระหว่างรอฟังคำสั่ง

.

อ่านเรื่องราวชีวิตของพรชัย การต่อสู้ของ “พรชัย”: จากคนบนดอย คนจร พ่อค้า ผู้ชุมนุม และผู้ถูกดำเนินคดี ม.112

X