วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก: คุยกับ “คะติมะ-พรชัย” 2 นักเคลื่อนไหว ผู้ต่อสู้กับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมของรัฐ

สหประชาชาติกำหนดให้ทุกวันที่ 9 สิงหาคม เป็น “วันชนเผ่าพื้นเมืองโลก” (International Day of the World’s Indigenous People) เพื่อเตือนใจว่ายังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่มีเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตเป็นของตนเอง แต่กลับถูกผลักไสออกไปอยู่ชายขอบ ได้รับสิทธิไม่เท่าเทียมกับคนส่วนใหญ่ของสังคม โดยเฉพาะเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย 

ถึงแม้รัฐบาลไทยจะรับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง (Declaration on the Rights of Indigenous Peoples) มาตั้งแต่ปี 2550 แต่ปัญหาของกลุ่มพี่น้องชนพื้นเมืองที่คาดว่ามีอยู่ในไทยกว่า 3 ล้านคน ก็ยังไม่มีท่าทีลดน้อยลงและหมดไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับการนโยบาย ‘ทวงคืนผืนป่า’ ที่ภาครัฐดำเนินนโยบายทวงพื้นที่ ซึ่งทับซ้อนอยู่กับที่ทำกินและอยู่อาศัยของชุมชนที่มีมาก่อนหน้า, สิทธิของแรงงาน, การเข้าถึงสัญชาติ, การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา เป็นต้น และที่ผ่านมาชนพื้นเมืองในไทยต้องพบเจอกับความสูญเสียที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมนับครั้งไม่ถ้วน อาทิ กรณีอุ้มหาย “บิลลี่” พอละจี ที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และกรณีวิสามัญฆาตกรร “ชัยภูมิ” ป่าแส ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีชนพื้นเมืองอีกหลายคนที่ยังคงลุกขึ้นมาปกป้องชุมชนของตัวเอง เรียกร้องหาความเท่าเทียม พยายามปูทางสร้างอนาคตที่ดีกว่าการเป็น “พลเมืองชั้นสอง” กระทั่งเข้าร่วมเรียกร้องประชาธิปไตย จนเผชิญกับการคุกคามและการถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองติดตามมา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนย้อนมองเรื่องราวของ 2 นักเคลื่อนไหวสายเลือดชนพื้นเมือง ปกาเกอะญอและลีซู ที่กำลังยืนหยัดเพื่ออีกหลายคนอย่างกล้าหาญ  

.

.

คะติมะ หลีจ๊ะ – หญิงลีซูผู้เรียกหาความเป็นธรรมบน ‘พื้นที่ทำกิน’ จากการกีดกันของรัฐ

คะติมะ หลีจ๊ะ” คือ หญิงชนเผ่าลีซู วัย 36 ปี เจ้าของรางวัล ‘ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน’ จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เธอทำงานด้านสิทธิชุมชนและสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์มานานกว่า 10 ปี คะติมะอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านสันป่าเหียง ตำบลเมืองคอง ในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ในชุมชนที่เธออยู่ ยังต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้มานานหลายสิบปี พื้นที่หลายแปลงถูกเจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าทับซ้อนกับเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า จนนำมาซึ่งการคุกคาม การดำเนินคดี และความสูญเสียต่อคนในชุมชน ซึ่งคะติมะเอง ก็เคยถูกเจ้าหน้าที่คุกคามหลายต่อหลายครั้งเช่นเดียวกัน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555 พ่อของคะติมะถูกยิงเสียชีวิต จากปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดิน ความสูญเสียที่เกิดขึ้นครอบครัวของเธอ ผ่านมาหลายปี ก็ยังไม่ได้รับแม้แต่ความเป็นธรรม ก่อนหน้านี้พี่น้องลีซูในชุมชนสันป่าเหียง มักจะต้องเผชิญกับการถูกกล่าวหาว่า “บุกรุกพื้นที่ป่าของรัฐ” ทั้งๆ ที่พวกเขาอาศัยมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว ทั้งหมดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้หญิงสาวชาวบ้านธรรมดาอย่างคะติมะ เข้าร่วมเรียกร้องการแก้ไขปัญหากับเครือข่ายประชาชนที่ทำงานด้านที่ดินและด้านชาติพันธุ์ และก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของชุมชน คอยแก้ไขสถานการณ์และรับมือกับเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น

ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านเกิดขึ้นเรื่อยมา ตัวอย่างเช่น ในปี 2563 ชายวัย 50 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ใช้พานท้ายปืนยาวทุบตีจนศีรษะแตก ขณะกำลังทำการเพาะปลูกในพื้นที่ทำกินของตนเอง ทำให้ชายคนดังกล่าวต้องเข้ารับการเย็บแผล จำนวน 5 เข็ม จากเหตุการณ์นี้ คะติมะได้ไปอ่านแถลงการณ์ประณามกรณีทำร้ายร่างกายดังกล่าวในนามเครือข่ายลีซูแห่งประเทศไทย และยังได้ร่วมกับชาวบ้านไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อนายอำเภอเชียงดาว เรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีนี้ และขอให้มีการรังวัดที่ดินทำกินของชาวบ้านในหมู่บ้านที่เกิดเหตุร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพื่อความชัดเจนในการใช้พื้นที่ทำกิน

จากการเคลื่อนไหวครั้งนั้น เธอถูกเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบเดินทางมาพบถึงบ้าน โดยได้มาสอบถามข้อมูลส่วนตัวหลายเรื่องของคะติมะ ทั้งวันเดือนปีเกิด สถานะการสมรส เบอร์โทรศัพท์ บุคคลที่อาศัยอยู่ในบ้าน ชื่อพ่อแม่และพี่น้องทั้งหมด อาชีพของคนในครอบครัว ฯลฯ โดยไม่ได้บอกเหตุผลที่ชัดเจนถึงการมาเยือนในครั้งนั้น 

.

.

ไม่นานมานี้ เราได้ติดต่อกลับไปเพื่อพูดคุยกับเธออีกครั้งถึงสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว คะติมะเล่าว่า ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐมีความตึงเครียดมากขึ้นจากกลางปีที่แล้วหลายเท่าตัว จนถึงขั้นที่ว่าต้องพกวิทยุสื่อสารติดตัวกันทุกคนเวลาไปทำไร่ และต้องมีคนคอยเฝ้าต้นทางเลยทีเดียว 

“พวกเราอยู่ด้วยความหวาดกลัว จะไปทำไร่ก็ต้องไปมากกว่า 10 คนขึ้นไป ต้องมีคนคอยดูต้นทาง ทุกคนต้องพกวิทยุสื่อสารไปด้วย เพราะกังวลว่าอาจจะถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดี” 

คะติมะเล่าว่าที่ทุกคนตื่นกลัวกันเช่นนี้ เพราะล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เยาวชนชาวลีซูในชุมชนถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไปพร้อมกับเยาวชนไทใหญ่อีก 2 คน ขณะพวกเขากำลังดายหญ้าคาเพื่อเตรียมพื้นที่จะปลูกข้าว เยาวชนทั้งสามถูกตั้งข้อหาบุกรุกป่าไม้ พื้นที่ 11 ไร่ มีของกลางเป็นเครื่องตัดหญ้า 1 เครื่อง คะติมะย้ำว่า “ไม่ใช่เลื่อยยนต์ตัดไม้” พ่อแม่ของทั้งสามคนไม่มีเงินจะประกันตัว ตอนนี้ทั้งหมดจึงถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่

“เรากลับมาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่นานก็มีเจ้าหน้าที่เดินทางเข้ามาพูดคุยกับผู้นำของหมู่บ้าน ซึ่งเรามีเพียงผู้นำทางศาสนาเท่านั้น จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ไปดูพื้นที่ที่เกิดเหตุ แห่กันไปพร้อมรถยนต์ 10 กว่าคันได้ ทำให้ทุกวันนี้ชาวบ้านทุกคนต้องใช้ชีวิตบนความหวาดกลัว จนชาวบ้านบางคนก็ไม่กล้าทำกิน เพราะไม่แน่ใจแล้วว่าที่ดินแปลงไหนถูกต้องตามกฎหมาย สามารถทำกินได้

“ก่อนหน้านี้หน่วยงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว มีการรังวัดที่ดินที่สามารถทำกินให้กับชาวบ้านในหมู่บ้านแล้ว แต่คนที่มาจับกุมชาวบ้านเราเป็นเจ้าหน้าที่ชุดดำ บอกว่าตนเองเป็นหน่วยปราบปราม เขาไม่สนใจข้อตกลงที่เราเคยทำร่วมกันกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเลย พวกเขาหน้าด่าชาวบ้านว่า ‘พวกตัดไม้ทำลายป่า พวกคุณคิดอยากจะตัด ก็ตัดได้เลยใช่ไหม’ 

“พวกเขาไม่ยอมรับฟังอะไรจากชาวบ้านเลย แค่ถามรายละเอียดในคดีว่าโดนข้อหาอะไรบ้าง ขออ่านบันทึกการจับกุมได้ไหม เขายังไม่ให้เลย ไม่ให้อะไรเลย 

“สถานการณ์ตอนนี้ตึงเครียดนะ ที่ผ่านมาเราไม่ต้องใช้วิทยุสื่อสาร เราไม่ต้องกังวลว่าวันนี้ไปทำไร่แล้วจะถูกจับไหม แต่ตอนนี้ถ้าไปไร่ทีก็ต้องไปไม่ต่ำกว่า 10 คน ต้องมีคนคอยดูต้นทางให้ เวลานั่งรถกระบะไป-กลับก็ไม่มีใครกล้านั่งข้างหลัง ต้องนั่งอัดกันอยู่ด้านหน้าทั้งหมด เหตุการณ์แบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นที่นี่มาก่อน แต่ตอนนี้เลวร้าย จนเริ่มคล้ายกับหมู่บ้านเปียงหลวงที่ ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ ถูกยิงเสียชีวิตเข้าไปทุกที 

กังวลว่าสถานการณ์จะเลวร้ายไปมากกว่านี้ ในหลายพื้นที่ก็พบเจอปัญหานี้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นอำเภอปาย ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอเวียงแหง และ อำเภอแม่แตง ในจังหวัดเชียงใหม่ เหมือนว่าพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองต้องเจอกับปัญหานี้กันแทบจะทุกพื้นที่เลย 

“ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารแอดไลน์จากเบอร์ส่วนตัวของเรามา คอยส่งข้อความมาถามว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ คิดว่าเขากำลังจับตามองความเคลื่อนไหวพวกเราอยู่ นอกจากนี้ก็ยังมีบุคคลน่าสงสัยที่ระบุตัวตนไม่ได้เข้ามาในชุมชนบ่อยมาก มาซักถามชาวบ้านเกือบทุกหลังคาเลยนะ 

เราก็เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกับคุณ ที่ควรได้รับสิทธิการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานเหมือนคนทั่วไป เพราะเป็นปัจจัยแรกในการอยู่รอดบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำ ไฟฟ้า ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ซึ่งหลายๆ อย่างที่ว่ามานี้เราเข้าไม่ถึง เพราะเราอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เราอยู่ในป่า เราถูกรัฐห้ามไม่ให้ทำแทงก์น้ำ ทำถนน ที่สำคัญคือเราถูกกีดกันให้ออกจากพื้นที่ทำกิน เขากำลังจะทำให้เราอดตาย กำลังบีบให้คนในชุมชนย้ายไปอยู่ที่อื่น ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินทำให้เรามีชีวิตอยู่อย่างมั่นคง อย่างภาคภูมิใจในความเป็นคนเหมือนกับคนอื่นๆ 

“รัฐบาลยอมรับปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมืองมานานแล้ว แต่ล่าสุดรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมออกมาพูดกับสื่อมวลชนว่า ‘ประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง’ ไม่มีได้ยังไง พวกเราจัดงานวันชนพื้นเมือง ทุกวันที่ 9 สิงหามาตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา เราร่วมกันร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง เราอยากให้ทุกคนยอมรับว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมือง เราไม่ใช่ชนกลุ่มน้อย เราไม่ได้เป็นแค่กลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น ยอมรับและให้ความเท่าเทียมกับเราสักที”

.

.

พรชัย: หนุ่มปกาเกอะญอ – ผู้ต้องหา ม. 112  ผู้ฝันอยาก ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ เพื่อให้ชนพื้นเมืองหลุดพ้นกับดัก ‘ความพอเพียง’

พรชัย” คือ ชายชาวปกาเกอะญอวัย 37 ปี จากจังหวัดแม่ฮ่องสอน หนึ่งในผู้ชุมนุมของคณะราษฎร 2563 ผู้ที่สนใจติดตามวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ตั้งแต่เข้าร่วมแสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง พรชัยถูกดำเนินคดีแล้วทั้งสิ้น 4 คดี เป็นคดีตามประมวลประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 2 คดี พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จำนวน 1 คดี และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 1 คดี 

ก่อนหน้านี้ เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พรชัยถูกตำรวจจับกุมที่หอพักย่านนนทบุรีตามหมายศาลจังหวัดเชียงใหม่ สืบเนื่องมาจากการโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับกษัตริย์ ทำให้เขาถูกควบคุมตัวและถูกคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่นานกว่า 44 วัน ก่อนจะได้รับประกันตัวในเวลาต่อมา

 “พรชัย” นับว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมืองคนแรกที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ในการต่อสู้ทางการเมืองระลอกปี 2563-64 นี้ เขาเล่าว่าเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับคนธรรมดาคนหนึ่งที่เป็นชนพื้นเมืองด้วย แต่เพราะต้องการให้พี่น้องชาติพันธุ์ทุกคนเข้าใจถึงต้นตอของปัญหาความไม่เท่าเทียมที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ว่าเป็นเพราะการติดหล่มกับดักเรื่อง “ความพอเพียง” เขาจึงจำเป็นต้องลุกขึ้นมาพูดให้ทุกคนได้ยิน   

“ที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์ถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นสอง ติดกับดักอยู่กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พวกเขาเชื่อมั่นมากว่าโครงการในพระราชดำริทั้งหลายที่มีอยู่ รวมถึงสถาบันฯ ที่ถูกปลูกฝังให้เชื่อและภักดีมาอย่างยาวนานจะสามารถดูแลพวกเขาได้ตลอดไป

“ผมจึงเข้าร่วมการเคลื่อนไหวครั้งนี้กับกลุ่มราษฎรที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคมด้วย 3 ข้อเรียกร้อง โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่ต้องการให้มี ‘การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’

“มีคนเคยด่าผมนะว่า ‘ไอ้กะเหรี่ยงล้มเจ้า’ ผมไม่ได้อยากจะล้มเจ้านะ ผมต้องการปฎิรูปสถาบันให้กลับมาอยู่ในร่องในรอยเท่านั้น ผมเป็นชาวปกาเกอะญอคนแรกที่โดน ม.112 ผมถูกชาวบ้านรุมประณาม หลายคนที่เขาไม่เข้าใจ ก็จะด่าผมว่า ‘ทำไมผมต้องเนรคุณเจ้าของแผ่นดินแบบนี้’ ‘นามสกุลเขาก็ให้’ ‘เขาดูแลเธอดีขนาดไหน’ พูดประมาณนี้ 

“ผมก็เลยตอบกลับว่า ผมไม่ได้มีชื่อมีนามสกุลเพราะพระเจ้าแผ่นดินนะ ผมได้สัญชาติตั้งแต่ผมยังไม่เกิดด้วยซ้ำ เพราะพื้นที่ที่ผมอยู่นี่มันไม่ใช่พื้นที่อพยพ นี่คือประเทศไทย แต่บังเอิญว่าประเทศของเรามีวัฒนธรรมที่หลากหลาย คนพื้นเมืองอยู่ห่างไกลไม่มีโอกาสเข้ามาในเมือง มันเลยเกิดการแบ่งแยกวัฒนธรรมที่ชัดเจน อย่างที่ผมพูดไทยไม่ชัด ก็เพราะผมโตบนดอย ผมมีภาษาของตัวเอง ผมพูดภาษากะเหรี่ยง 

.

.

พี่น้องบนดอยถูกปลูกฝังเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันอย่างฝังรากลึกมาก ทำให้พวกเขายอมรับชุดความคิดต่างๆ ไปโดยไม่ตั้งคำถาม โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง นั่นทำให้พี่น้องหลายคนที่ถึงแม้จะเรียนจบสูงถึงระดับชั้นมหาลัย ก็ต้องกลับมาทำเกษตรอยู่ที่บ้านเกิด ไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักทางความคิดความเชื่อนี้ไปได้ ความเชื่อว่าจะต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ปลูกกะหล่ำ ปลูกข้าวโพด มีกินมีใช้  

“ความตั้งใจจริงๆ ผมต้องการเป็นตัวแทนพี่น้องชนเผ่าพื้นเมือง ปราศรัยไปพร้อมกันสองภาษา ทั้งไทย-ปกาเกอะญอ เพื่อสื่อสารไปยังพี่น้องชนเผ่าที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ 6 กว่าล้านคน ให้พวกเขาได้รับรู้และออกมาสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยกัน ไปพูดให้คนฟังได้เยอะมากที่สุด

“การอยู่ด้วยระบบอุปถัมภ์อย่างทุกวันนี้ ยิ่งจะทำให้พี่น้องชาติพันธุ์อย่างเรายากจนขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ลูกหลานเกิดมาก็ยังจะต้องติดกับดักนี้ไม่มีทางจะหลุดพ้นได้ ไม่มีทางที่จะมีโอกาสได้เรียนสูงๆ มีต้นทุนทางสังคมที่มากขึ้น จะต้องจมปลักอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดิม ต้องกลับมาจนเหมือนพ่อเหมือนแม่ จากคนจนต่อยอดเป็นคนจน

“พี่น้องชนพื้นเมืองหลายคนที่ติดตามผมในโซเซียลและคนรอบข้างผม เขาก็เริ่มจะเข้าใจมากขึ้นแล้ว ว่าทำไมเราต้องปฏิรูปสถาบันฯ แม้แต่คนที่เคยด่าผมไว้ สั่งห้ามไม่ให้ผมเข้าหมู่บ้าน ตอนนี้เขาก็เปิดใจและยินดีรับฟังมากขึ้นแล้ว

“ต่อไปนี้ทุกคนต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า ชนเผ่าไม่ว่าจะเป็นลีซอ กะเหรี่ยง มูเซอ ฯลฯ จะต้องไม่ตกเป็นพลเมืองชั้นสองอีกต่อไป อยากให้พี่น้องชนเผ่าลุกขึ้นมาทวงสิทธิของตัวเอง แสดงสิทธิของตัวเอง ไม่ต้องกลัวผู้มีอำนาจที่คอยแต่จะกดขี่และกดทับเรา สถาบันฯ เป็นเรื่องที่บอบบางมากสำหรับผม สำหรับทุกคน โดยเฉพาะพี่น้องชนเผ่า แต่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยเราควรจะสามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่องอย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง การปกครอง รวมถึงสถาบันหลักอย่างสถาบันกษัตริย์ เราก็ควรพูดถึงได้ ไม่ต้องกลัว การออกมาพูด

_____________________________________________________________

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

คะติมะ หลีจ๊ะ

> ทหารไปถามข้อมูลถึงบ้าน ‘หญิงลีซูนักปกป้องสิทธิ’ หลังเรียกร้องกรณีป่าไม้ทำร้ายชาวบ้าน

พรชัย 

> จับกุมหนุ่มแม่ฮ่องสอน แจ้งข้อหา ม.112-116 ก่อนศาลไม่ให้ประกัน ระบุ “ข้อความ” ที่โพสต์เป็นเรื่องร้ายแรง

> ปอท.แสดงหมายค้น – สภ.บันนังสตา จ.ยะลา แจ้งข้อหา ม.112-116 หนุ่มแม่ฮ่องสอนในเรือนจำเพิ่มอีกคดี

> บันทึกทนายความ: การเข้าเยี่ยม “พรชัย” หนุ่มปกาเกอะญอ ผู้ถูกคุมขังในคดี ม.112

> บันทึกเยี่ยม ‘พรชัย’ ผู้ต้องขัง ม.112 : “ต้องสู้ให้ถึงที่สุดเพื่อตัวเราและลูกหลาน ขออย่ายอมแพ้”

>“ผมขอเป็นเทียนเล่มหนึ่ง”: ‘พรชัย’ ผู้ต้องขัง ม.112 เชียงใหม่ ประกาศอดข้าว-อดน้ำ หากล้มป่วยขออย่ายื้อชีวิต

>“พรชัย” ผู้ต้องขัง ม.112 ปวดท้องหนัก จนตัดสินใจยุติการอดข้าว-อดน้ำ

>“พรชัย” หายโควิดจากเรือนจำ แต่ถูกกล่าวหาคดีใหม่ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุร่วม #ม็อบ6มีนา หน้าศาลอาญา

X