ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ประกันตัว “พรชัย” คดี ม.112 ชี้การปล่อยตัว ไม่น่าส่งผลต่อการสอบสวน

หลังจากวานนี้ (21 เม.ย. 64) ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายพรชัย (สงวนนามสกุล) หนุ่มปกาเกอะญอวัย 37 ปี ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างสอบสวนมาตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 64

วันที่ 22 เม.ย. 64 เวลาประมาณ 15.10 น. ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวพรชัย ระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้คดีที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาจะมีอัตราโทษสูง แต่ปรากฏจากบันทึกการจับกุมว่า ผู้ต้องหาถูกจับที่หน้าคอนโดมิเนียมที่พักอาศัย มิได้มีพฤติการณ์หลบหนี จากเหตุผลในการขอฝากขังครั้งที่ 4 เนื่องจากรอผลตรวจสอบลายพิมพ์นิ้วมือผู้ต้องหา และรอสอบผู้ใหญ่บ้านถึงความรู้สึกต่อข้อความตามที่ถูกกล่าวหาว่านั้น การปล่อยตัวชั่วคราวจึงไม่เป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน ผู้ต้องหาถูกขังมาตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2564 พิจารณาแล้วคดีนี้ไม่มีเหตุอันสมควรเชื่อตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน ตีวงเงินประกัน 150,000 บาท ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อไป”

ทั้งนี้ เนื่องจากศาลมีคำสั่งในช่วงเย็นแล้ว ทำให้อยู่ระหว่างการประสานงานนายประกัน และจัดเตรียมหลักทรัพย์ประกันตัว รวมทั้งให้ผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอยู่เซ็นเอกสารประกอบคำร้องขอประกันตัว ทำให้ทนายความจะเข้ายื่นหลักประกันใหม่ในวันพรุ่งนี้ (23 เม.ย. 64) ต่อไป 

 

เปิดคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง

สำหรับการยื่นคำร้องครั้งนี้ เป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวนเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 64 ซึ่งศาลจังหวัดเชียงใหม่ให้เหตุผลว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา ข้อความที่ผู้ต้องหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์และพฤติการณ์แห่งคดีถือเป็นเรื่องร้ายแรง พนักงานสอบสวนได้คัดค้าน หากปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาอาจไปกระทำในลักษณะเดียวกันนี้อีก เกรงว่าจะหลบหนียากแก่การติดตามตัวมาศาล” 

และคำสั่งศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 64 ซึ่งระบุว่า “พิเคราะห์ตามคำร้อง ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่มีเหตุเรียกพนักงานสอบสวนและผู้ต้องหามาไต่สวน”

>> ศาลไม่ให้ประกัน “พรชัย” หนุ่มปกาเกอะญอเป็นครั้งที่ 2 แม้ ส.ส. ชาติพันธุ์ใช้ตำแหน่งประกันตัว

คำร้องมีเนื้อหาโดยสรุป 

1.ผู้ต้องหาประกอบอาชีพค้าขายโทรศัพท์มือถือ ต้องให้บริการลูกค้าจำนวนมาก หากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็จะทำให้ผู้ต้องหาไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ เนื่องจากต้องสูญเสียลูกค้าและโอกาสทางธุรกิจ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิในการประกอบอาชีพของผู้ต้องหาอย่างร้ายแรง

2. ในคดีอาญานั้นตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ ต่างรับรองว่าบุคคลย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด และจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ในคดีนี้ ผู้ต้องหาเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด สมควรมีโอกาสได้พิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ การที่ผู้ต้องหาถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน โดยไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว เสมือนว่าผู้ต้องหาต้องได้รับโทษทางอาญาก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด 

การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา โดยอ้างว่าหากปล่อยชั่วคราวอาจไปกระทำในลักษณะเดียวกันนี้อีก เกรงว่าจะหลบหนียากแก่การติดตามตัวมาศาล ทั้งที่ยังมิได้พิสูจน์ว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองจริงหรือไม่ ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยทำนองว่า ผู้ต้องหาได้เป็นผู้กระทำความผิดแล้ว ย่อมถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29

3. การไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวทำให้ผู้ต้องหาต้องเสียโอกาสที่จะแสวงหาพยานหลักฐาน เพื่อต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากคดีนี้มีพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ต้องหาจะต้องร่วมมือกับทนายความ เพื่อตระเตรียมข้อเท็จจริงในการนำเสนอต่อศาลในชั้นพิจารณา แต่จากสถานที่คุมขังขาดความสะดวกอย่างยิ่งในการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพราะเรือนจำฯ มีข้อห้ามมิให้ผู้ใดนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไปในพื้นที่เยี่ยม และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของเรือนจำในปัจจุบัน ทำให้ผู้ต้องหาปรึกษาคดีกับทนายความได้อย่างยากลำบาก

4. การถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2564 ทำให้โรคประจำตัวของผู้ต้องหามีอาการแย่ลงเนื่องจากสถานที่คุมขัง มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม อีกทั้งโรคประจำตัวของผู้ต้องหานั้นต้องได้รับการดูแลรักษาต่ออย่างเนื่อง

5. คำสั่งศาลชั้นต้นซึ่งระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา ข้อความที่ผู้ต้องหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์และพฤติการณ์แห่งคดีถือเป็นเรื่องร้ายแรง..” นั้น คลาดเคลื่อนต่อหลักการวินิจฉัยสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 และคลาดเคลื่อนต่อหลักการควบคุมตัวตามจำเป็นแห่งพฤติการณ์คดี และหลักการสั่งไม่ปล่อยชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 และ 108/1 

การอ้างความร้ายแรงของพฤติการณ์แห่งคดีมาเป็นเหตุเพื่อไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราวจึงเป็นเสมือนการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนไปเสียแล้ว โดยที่ยังมิได้มีการสืบพยานหรือรับฟังข้อต่อสู้ของผู้ต้องหาอย่างเต็มที่

6. ในการฝากขังครั้งที่ 3 พนักงานสอบสวนมิได้มีการคัดค้านการประกันตัว ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงจากการที่ศาลเรียกพนักงานสอบสวนมาชี้แจงเพิ่มเติมถึงเหตุจำเป็นในการฝากขังว่ามีเพียงกระบวนการรอผลตรวจลายพิมพ์นิ้วมือ รอผลการตรวจพิสูจน์โทรศัพท์ของผู้ต้องหาซึ่งทำการตรวจเสร็จแล้ว และสอบปากคำพยานบุคคลเพิ่มเติมอีกเพียง 2 ปาก ก็เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน ไม่จำเป็นต้องมีผู้ต้องหาอยู่ด้วย

นอกจากนั้นการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2564 แล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “พิเคราะห์ตามคำร้อง ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่มีเหตุเรียกพนักงานสอบสวนและผู้ต้องหามาไต่สวน ยกคำร้อง” ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในสำนวนคดีที่ต่างไปจากการขอฝากขังครั้งที่ 1 ซึ่งผู้ต้องหาได้อ้างเหตุจำเป็นเพิ่มเติมไว้ในคำร้องประกอบคำร้องฯ ไว้แล้ว แต่ศาลชั้นต้นกลับไม่ได้พิจารณาเหตุจำเป็นเพิ่มเติมของผู้ต้องหานั้นไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องหาอย่างยิ่ง

 

* เพิ่มเติมข้อมูลวันที่ 23 เมษายน 2564

ปล่อยตัวพรชัย หลังถูกคุมขัง 44 วัน 

23 เม.ย. 64 ทนายความพร้อมนายประกัน ซึ่งเป็นตัวแทนจาก “กองทุนดา ตอร์ปิโด” ได้นำหลักทรัพย์จากกองทุน พร้อมเอกสารเข้ายื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวพรชัยที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่

ต่อมาในช่วงบ่าย ศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท พร้อมนัดให้มารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 25 พ.ค. 64

จนเวลาประมาณ 20.20 น. พรชัยได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำกลางเชียงใหม่ อำเภอแม่แตง โดยไม่ได้มีเจ้าหน้าที่เข้าอายัดตัวในคดีใดต่อ หลังจากก่อนหน้านี้มีความกังวลว่าอาจมีการอายัดตัวเขาในคดีอื่นต่อ เนื่องจากมีคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา เคยเข้ามาแจ้งข้อกล่าวหาเขาไว้ในช่วงที่ถูกคุมขังอยู่

รวมระยะเวลาที่พรชัยถูกคุมขังในเรือนจำมาทั้งหมด 44 วัน

 

X