เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ มีนัดคุ้มครองสิทธิในคดีของ พรชัย วิมลศุภวงศ์ หนุ่มปกาเกอะญอวัย 37 ปี ในคดีข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ “นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เหตุเนื่องจากถูกนายเจษฎา ทันแก้ว อดีตการ์ดของกลุ่ม กปปส. กล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความและรูปภาพลงในเฟซบุ๊กจำนวน 4 ข้อความ
พรชัยได้ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และประสงค์จะต่อสู้คดี โดยได้มีทนายความที่แต่งตั้งในคดีแล้ว ศาลได้กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีต่อไปวันที่ 11 เมษายน 2565 เวลา 9.00 น.
สำหรับคดีนี้ พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยไม่มีตัวจำเลย ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 ต่อมาพรชัยยังไม่สามารถเดินทางไปรายงานตัวได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 พรชัยได้เข้ารายงานตัวต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่เพื่อฟังคำสั่งฟ้อง เจ้าหน้าที่ศาลได้เรียกให้พรชัยเข้าไปอยู่รอในห้องขังใต้ศาล เพื่อสอบคำให้การและรอการปล่อยตัวชั่วคราว ผู้พิพากษาได้สอบถามพรชัยผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์จอภาพว่าจะให้การรับสารภาพหรือต่อสู้คดี ซึ่งพรชัยให้การปฏิเสธ
ในขณะเดียวกัน ทนายความและนายประกันได้ยื่นขอปล่อยชั่วคราว โดยใช้วงเงินประกัน 150,000 บาท ซึ่งเป็นหลักประกันเดิมจากชั้นฝากขัง จากกองทุนดา ตอร์ปิโด และศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว
.
“พรชัย” ถูกฟ้อง ม.112-116-พรบ.คอมฯ กรณีโพสต์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊ก 4 ข้อความ
สำหรับการฟ้องคดีนี้ มี นายเลิศศักดิ์ เลิศสิทธิ์สมบูรณ์ พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้เรียงคำฟ้อง ได้บรรยายคำฟ้องโดยสรุปว่า ขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามรัฐธรรมนูญพ.ศ. 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 3 บัญญัติว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” และมาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”
อัยการบรรยายฟ้องต่อไปว่า เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ต่อเนื่องกันตลอดมา จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยได้พิมพ์ข้อความและลงรูปภาพเข้าไปเผยแพร่ในระบบอินเทอร์เน็ตผ่านทางโปรแกรมเฟซบุ๊กที่ปรากฏเป็นรูปภาพจำเลยหลายครั้ง เป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นเท็จ และโดยมีเจตนาให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน โดยพิมพ์ข้อความและลงรูปภาพพาดพิงพระมหากษัตริย์ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นคำด่าและเปรียบเทียบ รวมจำนวน 4 ข้อความ
อัยการระบุว่า การกระทำของจำเลย ทำให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจทันทีว่าข้อความที่จำเลยพิมพ์ดังกล่าวสื่อถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันที่ไม่วางพระองค์เป็นกลาง และไม่ได้ใช้พระราชอำนาจผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองในการสั่งการให้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามกฎหมาย ข้อความที่จำเลยพิมพ์ทั้งหมดดังกล่าวเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง
อัยการยังระบุว่า จำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเกิดความแตกแยก และเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และออกมาร่วมชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อประท้วงก่อความไม่สงบในบ้านเมืองถึงการกระทำดังกล่าว อันเป็นการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศรัทธาและเคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และเป็นการทำด้วยวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
อีกทั้งยังเป็นการยังเป็นการทำให้ประชาชนเกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และทำให้ประชาชาติไม่เป็นปึกแผ่น อันกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
นอกจากนี้ อัยการยังระบุในตอนท้ายว่า หากจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โจทก์ขอคัดค้าน เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูงและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร เกรงว่าจำเลยจะหลบหนีและไปก่อคดีเช่นเดียวกับคดีนี้ซ้ำอีก
ทั้งนี้ พรชัย ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 64 โดยไม่เคยมีหมายเรียกมาก่อน ในกรณีที่มีอดีตการ์ด กปปส. ไปแจ้งความกล่าวหาไว้ที่ สภ.แม่โจ้ ทำให้เขาถูกควบคุมตัวที่เรือนจำกลางจังหวัดเชียงใหม่หลังศาลไม่ให้ประกันตัวระหว่างฝากขัง รวม 44 วัน ก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะอนุญาตให้ประกันตัว
นอกจากนั้น พรชัยยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา เดินทางเข้าแจ้งข้อกล่าวหาคดีมาตรา 112 และมาตรา 116 อีกคดีหนึ่ง ระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ ซึ่งคดีนี้อยู่ระหว่างอัยการเตรียมสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดยะลาแล้วเช่นกัน
.
ดูฐานข้อมูลคดี คดี 112 “พรชัย” หนุ่มปกาเกอะญอ โพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงกษัตริย์-ประยุทธ์ ถูกอดีตการ์ด กปปส.แจ้งความที่เชียงใหม่