บันทึกการต่อสู้คดี ม.112 ของ “ฮ่องเต้” กรณีอ่านแถลงการณ์ในคาร์ม็อบ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์”

ในวันที่ 21 ส.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ฮ่องเต้” ธนาธร วิทยเบญจางค์ บัณฑิตวัย 24 ปี จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ถูกฟ้องในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุจากกรณีอ่านแถลงการณ์และปราศรัยมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ระหว่างกิจกรรมคาร์ม็อบเชียงใหม่ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ที่หน้ากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564

.

ที่มาแห่งคดี: ตำรวจแจ้งข้อหา 2 ครั้ง โดยไปแจ้งที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน แม้ผู้ต้องหาไม่ยินยอม-ไม่มีทนายความ

คดีนี้มี ว่าที่ พ.ต.ท.เฉลิมพล บุญทาวัน เป็นผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ และธนาธรได้เข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียกที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2564 โดยในตอนแรกมีการแจ้งข้อกล่าวหาเฉพาะเหตุการณ์ที่ธนาธรปราศรัยมีเนื้อหากล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

สำหรับกิจกรรมที่ถูกกล่าวหานั้น เกิดขึ้นในสถานการณ์ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมปี 2564 ซึ่งมีการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบอย่างต่อเนื่องในหลายจังหวัด รวมทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเรียกร้องเรื่องการจัดการปัญหาวัคซีนโควิดในขณะนั้น กิจกรรมในวันที่ 15 ส.ค. ใช้ชื่อว่า “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” โดยนัดหมายรวมตัวบริเวณแยกดอนจั่น ก่อนเคลื่อนรถไปยังหน้ากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และไปจัดกิจกรรมดนตรีและปราศรัยที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

ในวันเข้ารับทราบข้อกล่าวหา แม้ผู้ต้องหาจะมาตามหมายเรียก แต่ตำรวจได้นำตัวธนาธรไปยื่นขอฝากขังต่อศาล ก่อนศาลจังหวัดเชียงใหม่จะอนุญาตให้ประกันตัว พร้อมกำหนดเงื่อนไขต่างๆ โดยกำหนดให้ธนาธรไปรายงานตัวต่อผู้กำกับดูแล คือผู้ใหญ่บ้าน ทุกๆ 15 วันด้วย

จากนั้น ระหว่างที่ธนาธรเดินทางไปรายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้านตามนัด เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2564 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย มารออยู่ คือ พ.ต.ท.เกริกชัย กิตติ และ พ.ต.ท.สันติ คำใส จาก สภ.เมืองเชียงใหม่ ทั้งสองแจ้งกับธนาธรว่าจะแจ้งข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาในคดีมาตรา 112 เพิ่มเติม โดยมีการพิมพ์บันทึกข้อกล่าวหาและคำให้การเตรียมไว้ก่อนแล้ว จะให้เขาลงชื่อ โดยไม่ให้เขารอพบทนายความ

ธนาธรได้ปฏิเสธการลงชื่อในบันทึกดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ใหญ่บ้านก็ได้จัดการและลงนาม โดยระบุไว้เองว่า “ผู้ต้องหาไม่ยินยอมลงลายมือชื่อ” และ “ไม่ประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนจัดหาทนายความหรือบุคคลที่เขาไว้วางใจมาร่วมฟังการสอบสวน” และยังระบุว่าเขาไม่มีถ้อยคำอื่นที่จะให้การเพิ่มเติมอีก ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจากเขามีทนายความและต้องการปรึกษากับทนายความก่อน

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงที่พนักงานสอบสวนแจ้งเพิ่มเติมนี้ เป็นกรณีที่ธนาธรถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ของผู้ชุมนุมที่หน้าตำรวจภูธรภาค 5 ระหว่างกิจกรรมคาร์ม็อบวันเดียวกัน ซึ่งเป็นแถลงการณ์เรียกร้องต่อผู้พิทักษ์สันติราษฎร (สะกดตามแถลงการณ์) ในจังหวัดเชียงใหม่ให้อยู่เคียงข้างประชาชน โดยบางส่วนของแถลงการณ์มีเนื้อหากล่าวถึงสถาบันกษัตริย์

ต่อมาวันที่ 19 พ.ย. 2564 พนักงานอัยการได้สั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยฟ้องใน 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยจัดการชุมนุมรวมกลุ่มกันเกินกว่า 20 คน อันเป็นความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค และข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งแยกเป็น 2 กระทง ได้แก่ กรณีการอ่านแถลงการณ์ที่หน้าตำรวจภูธรภาค 5 และการปราศรัยที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

หลังการฟ้องคดี ศาลจังหวัดเชียงใหม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลย แต่ยังคงเงื่อนไขการให้ไปรายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้านทุก 15 วันไว้เช่นเดิม ทำให้ในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา ธนาธรมีภาระต้องไปรายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้านเดือนละ 2 ครั้ง จนในช่วงหลังเขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเตรียมไปเรียนต่อในกรุงเทพฯ เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา จึงได้ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนการรายงานตัวกับผู้ใหญ่บ้านเป็นทางออนไลน์แทน และศาลมีคำสั่งอนุญาต

.

ภาพจาก Mob Data Thailand

.

จำเลยตัดสินใจรับสารภาพในกรณีปราศรัย แต่ขอต่อสู้กรณีอ่านแถลงการณ์และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

จากนั้น ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดสืบพยานในคดีนี้ช่วงวันที่ 16-19 พ.ค. 2566 ก่อนเริ่มการสืบพยาน จำเลยได้แถลงขอให้การรับสารภาพตามฟ้องในกรณีการปราศรัยที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ไม่ขอต่อสู้ในกระทงนี้ แต่ยังขอต่อสู้ว่ากรณีการอ่านแถลงการณ์ที่หน้ากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ไม่เข้าข่ายองค์ประกอบมาตรา 112 และกิจกรรมไม่เป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

การสืบพยานโจทก์ดำเนินไปทั้งหมด 6 ปาก ซึ่งศาลทำการสืบพยานเสร็จในวันเดียว คือ 16 พ.ค. 2566 ก่อนให้นำพยานฝ่ายจำเลย จำนวน 3 ปาก เข้าเบิกความในวันที่ 19 พ.ค. 2566 จนเสร็จสิ้น

ก่อนการสืบพยาน ฝ่ายอัยการโจทก์ยังได้ยื่นบัญชีพยานหลักฐานเพิ่มเติม เป็นไฟล์คลิปวิดีโอการกล่าวปราศรัยของจำเลย ศาลได้รับไว้ โดยเปิดให้คู่ความตรวจสอบ นอกจากนั้นระหว่างเริ่มสืบพยาน ฝ่ายโจทก์ได้ขอเปิดคลิปวิดีโอพยานหลักฐาน เฉพาะในส่วนที่จำเลยอ่านแถลงการณ์ที่หน้าตำรวจภูธรภาค 5 ซึ่งมีความยาวประมาณ 3 นาที

ในภาพรวมของการสืบพยานฝ่ายโจทก์ เบิกความคล้ายคลึงกันว่า ประโยคหนึ่งในแถลงการณ์ที่จำเลยอ่าน สื่อถึงพระมหากษัตริย์ และเข้าใจได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาท-ดูหมิ่นสถาบันฯ ทั้งการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีการขออนุญาตต่อเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และไม่มีมาตรการป้องกันโรค ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในส่วนของการต่อสู้คดีของฝ่ายจำเลย จำเลยระบุว่าตนเป็นเพียงผู้อ่านแถลงการณ์ที่ได้รับมาเท่านั้น และเนื้อหาในแถลงการณ์ดังกล่าวเป็นข้อเรียกร้องต่อทางตำรวจ และวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มผู้มีอำนาจซึ่งเป็นชนชั้นนำโดยรวม โดยไม่ได้เจาะจงตัวบุคคลใด ทั้งองค์ประกอบของมาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองทั้ง “สถาบันพระมหากษัตริย์” แต่คุ้มครองเฉพาะบุคคลใน 4 สถานะตามที่บัญญัติในตัวบท  

นอกจากนั้นจำเลยยังไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว แต่เป็นผู้เข้าร่วม ซึ่งได้มีมาตรการระมัดระวังในการแพร่ระบาดของโรคแล้ว โดยฝ่ายจำเลยนำพยานนักวิชาการทางกฎหมายและภาษาไทย เข้าเบิกความถึงความเห็นต่อแถลงการณ์ที่จำเลยอ่านด้วย

.

ภาพจาก Mob Data Thailan

.

ผู้กล่าวหาเข้าแจ้งความ เห็นว่าจำเลยกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ในขณะปราศรัย

พยานโจทก์ปากที่ 1 ว่าที่ พ.ต.ท.เฉลิมพล บุญทาวัน ผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ พยานรับราชการสารวัตรสืบสวน สภ.แม่ปิง ในวันที่ 11 ส.ค. 2564 เพจเฟซบุ๊กของพรรควิฬาร์ได้โพสต์เรื่องการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ “ล้านนาต้านศักดินาทัวร์” ตัวพยานจึงถูกเรียกไปสังเกตการณ์การชุมนุม เพราะในช่วงดังกล่าวนั้น มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และมีข้อเรียกร้องต่อทางตำรวจให้ปฏิบัติตาม

ในวันที่ 15 ส.ค. 2564 วันเกิดเหตุ ชุดความมั่นคงของ สภ.แม่ปิง จัดประชุมชี้แจงการปฏิบัติงาน จากนั้นจึงลงพื้นที่เฝ้าระวังในช่วงเวลาประมาณ 12.20 น. โดยตอนบ่ายเริ่มมีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาและไม่ได้แจ้งการชุมนุม ลักษณะการรวมตัวมีการปิดเลนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ และเปิดให้ใช้สัญจรเพียงทางหลัก

ต่อมา ผู้กำกับ สภ.แม่ปิง ในขณะนั้น ได้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้ผู้ชุมนุมนั้นชุมนุมโดยสงบ การปราศรัยของผู้ชุมนุมเริ่มต้นขึ้นเวลาประมาณ 15.15 น. ผ่านรถที่ติดตั้งเครื่องขยายเสียง ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 มีผู้เข้าร่วมโดยรวมประมาณ 500 คน ใช้รถยนต์ส่วนตัวประมาณ 150 คน รถจักรยานยนต์ประมาณ 300 คน โดยบริเวณที่จัดกิจกรรมนั้นเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ผู้เข้าร่วมการชุมนุมอยู่ห่างกันพอสมควร

เหตุที่ผู้ชุมนุมไปยังตำรวจภูธรภาค 5 เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ในเวลาประมาณ 16.00 น. ผู้กำกับ สภ.แม่ปิงได้ชี้แจงต่อผู้ชุมนุมอีกรอบเมื่อผู้ชุมนุมได้มาถึง และการปราศรัยก็อยู่ในลักษณะกีดขวางการจราจร ไม่มีการแจ้งการชุมนุมและขอใช้เครื่องขยายเสียง

พยานเบิกความต่ออีกว่า จำเลยได้อ่านแถลงการณ์ในเวลาประมาณ 16.25 น. และได้กล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดความมั่นคงได้บันทึกเอาไว้ และได้ยื่นเอกสาร ทั้งยังมีกิจกรรมปามะเขือเทศใส่หน้ารูปพลเอกประยุทธ์ ก่อนเดินทางต่อไปยังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

ทนายจำเลยถามค้าน พยานตอบว่าได้เข้าไปดูเพจพรรควิฬาร์ ไม่ได้เป็นผู้ติดตามเพจ แต่มีเจ้าหน้าที่ สภ.แม่ปิง ชุดความมั่นคง กดติดตามไว้ เจ้าหน้าที่ชุดความมั่นคงมีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิบัติงานสืบสวน ป้องกันและปราบปราม เพื่อความคล่องตัวและความสะดวกในการติดตามกรณี ตั้งมานานแล้วก่อนมีการชุมนุม

เมื่อมีการประกาศจัดกิจกรรม พยานไม่ได้ส่งข้อความไปเตือนให้แอดมินเพจทราบ เกี่ยวกับกฎหมายการชุมนุม   พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ก่อตั้งและใครเป็นหัวหน้ากลุ่มพรรควิฬาร์ และไม่ทราบว่ากลุ่มล้านนาต้านศักดินา เป็นคนละกลุ่มกับพรรควิฬาร์ ทั้งยังไม่ทราบว่าใครเป็นคนโพสต์ประชาสัมพันธ์ในเพจพรรควิฬาร์

พยานทราบว่าข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม สื่อถึงช่วงเกิดเหตุที่ประชาชนไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาล หลังวันเกิดเหตุ ไม่ได้มีข้อมูลว่ามีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุม

พยานรับว่ารถส่วนตัวที่เข้าร่วมขบวน จะขับตามกันเป็นขบวน แม้มีกลุ่มผู้ชุมนุมบางคนลงจากรถมา แต่ก็โดยสวมหน้ากากอนามัย และไม่ถึงขนาดนั่งอยู่กับที่จนแออัด ทั้งช่วงเวลาดังกล่าวอากาศปลอดโป่ง ทางตำรวจก็ไม่ได้เชิญเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้มาคัดกรองผู้เข้าร่วม ทั้งตัวพยานก็ไม่ได้มีอาการที่เสี่ยงติดเชื้อโควิด-19

ในการอ่านแถลงการณ์ของจำเลย พยานระบุว่าใช้เวลาอ่านประมาณ 7 นาที เนื้อหาหลักเป็นการโจมตีการทำงานของรัฐบาลและตำรวจ โดยอ้างว่าตำรวจไม่ได้ออกมาปกป้องผู้ชุมนุม ส่วนการแสดงออกโดยปามะเขือเทศใส่ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น ไม่มีสัญลักษณ์ใดที่หมายถึงสถาบันกษัตริย์

พยานรับว่าข้อความในแถลงการณ์ทั้งหมด เป็นการสื่อถึงชนชั้นนำในสังคม ไม่ได้เจาะจงถึงใครคนใดคนหนึ่ง และพยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ร่างเนื้อหา แต่เห็นว่าผู้ชุมนุมได้ปรินซ์เอกสารมายื่นกับเจ้าหน้าที่ โดยมีผู้แทนของผู้บัญชาตำรวจภูธรภาค 5 มารับ ทั้งยังแจกกับประชาชนทั่วไป

พยานเบิกความว่าข้อความที่จำเลยแถลงได้มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวไว้ และผู้กล่าวหาได้ไปแจ้งความตามมาตรา 112 ต่อจากนั้นผู้ชุมนุมก็ได้เคลื่อนพลไปหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์

.

ภาพจาก Mob Data Thailand

.

พยานนักวิชาการกฎหมาย อ่านแถลงการณ์แล้วมองว่าเข้าข่าย ม.112 แม้ไม่ได้เจาะจงตัวบุคคล

พยานโจทก์ปากที่ 2 ผศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ นวานุช คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ เบิกความว่าวันที่ 27 ต.ค. 2564 สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้เรียกพยานไปถามความคิดเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ ว่าข้อความที่จำเลยอ่านในแถลงการณ์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ โดยให้ดูคลิปที่จำเลยอ่านแถลงการณ์และปราศรัย

พยานเห็นว่าในช่วงหนึ่งของแถลงการณ์ที่มีการกล่าวถึงความผิดของสถาบันกษัตริย์นั้น เข้าข่ายตามมาตรา 112 พยานเห็นว่าข้อความพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ ในลักษณะที่ว่าเห็นแก่อำนาจและผลประโยชน์ มากกว่าเสรีภาพของประชาชน นับเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และยังให้ความเห็นต่อคำปราศรัยของจำเลยที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ในลักษณะเดียวกัน

ทนายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความว่าได้ดูจากคลิปที่จำเลยอ่านแถลงการณ์อย่างน้อยประมาณ 20 นาที ไม่เกิน 1 ชั่วโมง มีลักษณะใกล้เคียงกับการปราศรัยบางส่วน นอกจากนั้น พนักงานสอบสวนได้ให้พยานอ่านเอกสารแถลงการณ์ด้วย

พยานรับว่าข้อเรียกร้องตามแถลงการณ์นั้นเรียกร้องต่อตำรวจเป็นหลัก ในส่วนของความไม่พอใจต่อรัฐบาล นายทุน สถาบันที่มีอำนาจต่างๆ กล่าวแบบไม่ได้เจาะจง เว้นแต่ข้อความว่าสถาบันกษัตริย์ ในส่วนนี้เจาะจงเป็นการระบุชัดเจนถึงสถาบัน ไม่ใช่ตัวบุคคล

อัยการโจทก์ถามติง ในความเห็นส่วนตัวพยาน สถาบันกษัตริย์ดังกล่าวนั้น หมายรวมถึงในหลวง รัชกาลที่ 10 เป็นลักษณะที่ทำให้พระองค์ท่านถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง

.

ตำรวจผู้รับหนังสือข้อเรียกร้องแทน เพียงเปิดดูคร่าวๆ ไม่ทราบว่าผิดกฎหมายหรือไม่

พยานโจทก์ปากที่ 3 พ.ต.ท.สุรชัย ท่างาม ในวันเกิดเหตุพยานเป็นร้อยตำรวจเวรที่ภูธรภาค 5 มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย เวลาประมาณ 16.00 น. ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนมาอยู่ที่บริเวณหน้าตำรวจภูธรภาค 5 โดยตัวพยานทราบเรื่องนี้จากโซเชียลมีเดียว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามายื่นหนังสือข้อเรียกร้อง และพยานได้รับคำสั่งมาจากผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ให้มารับหนังสือแทน

เมื่อได้ยินเสียงประกาศจากผู้ชุมนุม พยานจึงเดินออกไปยังบริเวณที่ชุมนุมกับตำรวจอีก 2 นาย โดยพยานได้เข้าไปพูดคุยกับจำเลยซึ่งทราบชื่อในภายหลัง สาเหตุที่ตอนนั้นพยานคุยแค่กับจำเลย เพราะเวลานั้นมีเพียงจำเลยที่ถือไมค์ พยานก็ยืนฟังปราศรัย แต่จำเนื้อหาไม่ได้ เพราะคนเยอะประมาณ 100 คน มีความแออัด ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัยบ้าง ไม่สวมบ้าง

เมื่อมีการมอบหนังสือให้พยานและถ่ายรูปร่วมกันแล้ว มีการให้สัมภาษณ์สื่อร่วมกัน มีใจความว่า พยานจะนำหนังสือไปให้ผู้บัญชาการ ขณะเดียวกันตอนพูดคุยจำเลยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย และจำเลยได้ถามพยานว่าจะได้คำตอบจากผู้บัญชาการภาค 5 เมื่อใด พยานตอบไปว่าไม่ทราบเหมือนกัน และพยานก็ไม่ทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้ขออนุญาตการชุมนุมแล้วหรือไม่ เนื่องจากเป็นเรื่องของ สภ.แม่ปิง พยานเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้แค่เพราะว่าเป็นผู้รับหนังสือข้อเรียกร้องจากจำเลยเท่านั้น

ทนายจำเลยถามค้าน พยานอยู่เพียงแค่จุดที่รับหนังสือเท่านั้น จำไม่ได้ว่าการจราจรติดขัดหรือไม่ มีการอ่านแถลงการณ์กี่นาที เพราะผ่านมานานแล้ว  โดยตามภาพถ่ายจากเอกสาร ช่วงอ่านแถลงการณ์ จำเลยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย แต่ตอนยื่นหนังสือ เขาสวมหน้ากากอนามัย

พยานยืนฟังที่จำเลยพูดตลอดและจำไม่ได้ว่าสื่อถึงตำรวจหรือไม่ เพราะเหตุการณ์ผ่านมานานแล้ว ตอนรับหนังสือร้องเรียนมา พยานก็เปิดดูคร่าวๆ เท่านั้น จำไม่ได้ว่าเกี่ยวกับอะไร ผิดกฎหมายหรือไม่

.

พยานผู้ขับรถผ่านที่ชุมนุม เห็นว่าการชุมนุมทำให้การจราจรติดขัด

พยานโจทก์ปากที่ 4 จุลพันธุ์ พิมพิสาร อาชีพทนายความ พยานเบิกความว่า พยานได้รับเชิญจาก สภ.เมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2564 ให้ไปให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 112 โดยให้ความเห็นในฐานะประชาชนทั่วไป

วันเกิดเหตุ ตัวพยานเองขับรถผ่านบริเวณที่ชุมนุมหน้าตำรวจภูธรภาค 5 เพราะจะเดินทางไปสนามบิน พบว่าขบวนมีรถหลายคัน ทำให้เกิดรถติด เดินทางไม่สะดวก หากพยานทราบว่ามีกิจกรรมนี้ ก็จะไม่ใช้เส้นทางนั้น พยานยังได้ดูคลิปที่ตำรวจนำมาให้ดู ซึ่งเป็นการปราศรัยที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เห็นว่าเข้าข่ายมาตรา 112

.

ภาพจาก Mob Data Thailand

.

เจ้าหน้าที่สืบสวนติดตามกิจกรรมที่ลานสามกษัตริย์ เห็นว่าการปราศรัยกล่าวถึงสถาบันฯ

พยานโจทก์ปากที่ 5 พ.ต.ท.ตรีเพชร ป่าหวาย พนักงานสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ช่วงเกิดเหตุนั้นมีการจัดชุมนุมเยอะ อาทิบริเวณประตูท่าแพ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

เวลาประมาณ 13.00 น. ของวันเกิดเหตุ พยานทราบว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมมา โดยได้รอฟังข่าวอยู่ที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ เพราะผู้ชุมนุมยังคงอยู่ในเขตดูแลของ สภ.แม่ปิง โดยทราบว่าผู้ชุมนุมไปยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และจะเคลื่อนขบวนไปต่อกันที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ พยานทราบแล้วไปรอที่จุดหมาย โดยขณะนั้นมีประกาศห้ามชุมนุมอยู่เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามมีการชุมนุมเกินกว่า 20 คน

ต่อมาผู้กำกับ สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้ขึ้นรถกระบะ แล้วใช้เครื่องขยายเสียงประกาศต่อผู้ชุมนุมว่าการชุมนุมนี้ยังไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ผู้ชุมนุมโห่ร้องและไม่ได้ยุติการชุมนุม จากนั้นมีแกนนำขึ้นมาปราศรัยโจมตีรัฐบาล โดยจำเลยปราศรัยในลำดับที่ 3 มีการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์  ส่วนเรื่องอื่นๆ พยานจำไม่ได้เพราะตนอยู่เพียงรอบๆ บริเวณเท่านั้น โดยในบริเวณที่มีการชุมนุม พยานเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอยู่ด้วย

พยานได้เบิกความว่า จำเลยได้ปราศรัยชวนทำกิจกรรมปามะเขือเทศจากเกษตรกร บนภาพของหน้าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีการเอ่ยชื่อในหลวงรัชกาลที่ 10 ในส่วนนี้พยานไม่ขอเบิกความว่าจำเลยได้พูดอะไร

ก่อนการชุมนุมยุติเวลาประมาณ 19.00 น. เพราะหมดกิจกรรมและฝนตก ในวันดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบันทึกวิดีโอไว้ และเห็นว่าเข้าข่ายมีความผิดมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จากนั้นพยานได้รับหนังสือจากตำรวจภูธรภาค 5 ให้ดำเนินคดีต่อผู้จัดในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ทนายจำเลยถามค้าน พยานติดตามเรื่องนี้จากโซเชียลมิเดีย คือเฟซบุ๊กเพจพรรควิฬาร์ พยานระบุว่าทราบว่าจำเลยเป็นแอดมินเพจดังกล่าวด้วย แต่ไม่มีพยานหลักฐาน เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน โดยพยานไม่เคยทำคดีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และไม่ได้ทำเรื่องขอให้กระทรวงดิจิทัลฯ ช่วยตรวจพิสูจน์

พยานยังไม่ได้ให้หน่วยงานด้านสาธารณสุข มาให้ความเห็นว่ากิจกรรรมนี้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิดหรือไม่ พยานรับว่ากิจกรรมคาร์ม็อบ คือการใช้รถในการชุมนุมเป็นหลัก และใช้เครื่องขยายเสียง  ตามภาพถ่ายในคดี การชุมนุมมีการเว้นระยะห่างกันแล้วในระดับหนึ่ง สถานที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ได้หนาแน่น ผู้เข้าร่วมคนอื่นๆ เองก็ไม่ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ใดๆ เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์

อัยการโจทก์ถามติง พยานเบิกความว่าตนรับหน้าที่เพียงแต่สังเกตการณ์กิจกรรมเป็นหลัก เพื่อไม่ให้มีการกระทบกระทั่งกัน ส่วนรถคันที่พยานคิดว่าเป็นแกนนำคือคันที่มีเครื่องขยายเสียง ซึ่งจำเลยเป็นคนถือไมค์ ส่วนเรื่องการแจ้งการชุมนุมนั้น พยานไม่ทราบรายละเอียด

.

รองสารวัตรสืบสวนยืนยันการจัดชุมนุมไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน

พยานโจทก์ปากที่ 6 ร.ต.อ.ธนกฤต นิธิกุลกาญน์ กองกำกับการสืบสวนสอบสวนของตำรวจภูธรภาค 5 เบิกความถึง ในขณะที่เกิดเหตุ พยานเป็นรองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ ในช่วงเกิดเหตุมีประกาศห้ามชุมนุมหรือรวมกลุ่มเกิน 20 คน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน โดยกิจกรรมตามฟ้องนี้ ไม่ได้การแจ้งขออนุญาตจัดกิจกรรมจากเจ้าพนักงาน 

.

.

“ฮ่องเต้” เข้าร่วมกิจกรรมจริง แต่ไม่ได้เป็นคนจัด ข้อเรียกร้องคือให้ตำรวจไม่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม

พยานจำเลยปากที่ 1 ธนาธร วิทยเบญจางค์ หรือ ฮ่องเต้ อายุ 23 ปี กำลังเตรียมศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่สาขาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเพิ่งจบการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี คณะมนุษย์ศาสตร์ สาขาปรัชญาและศาสนา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีการศึกษา 2566 

ในช่วงเกิดเหตุนั้น มีข่าวโยกย้ายผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 มาจากกรุงเทพฯ ซึ่งปรากฏว่าเป็นคนๆ เดียวกับตำรวจที่ควบคุมฝูงชนและเกี่ยวข้องกับสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงในกรุงเทพฯ พยานทราบข่าวจากพี่น้องเสื้อแดงและได้ชวนพยานมาร่วมจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจไม่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม โดยจะมีขบวนรถประมาณ 5 สาย หลักๆ คือจะเป็นคนเสื้อแดงที่มาเข้าร่วม

ในวันเกิดเหตุ วันที่ 15 ส.ค. 2564 มีรุ่นพี่นักศึกษามารับพยานที่บ้านเวลาประมาณ 11.00 น. ไปยังถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง เส้นขาเข้าเชียงใหม่ และรุ่นพี่ที่ไปรับ ก็เข้าร่วมการชุมนุมด้วยเช่นกัน เมื่อไปถึงก็มีมวลชนเสื้อแดงเริ่มตั้งขบวนแล้ว หน้าขบวนจะมีรถติดตั้งเครื่องขยายเสียงอยู่ แต่เป็นของผู้ใดไม่ทราบ

ต่อมาเวลาประมาณ 14.00 น. เริ่มเคลื่อนขบวน พยานจำสถานที่ไม่ได้ แต่จำได้ว่าเข้าคูเมือง ขบวนรถเคลื่อนตัวไปเรื่อยๆ จนไปที่หน้าตำรวจภูธรภาค 5 ในเวลาประมาณ 16.00 น. มีมวลชนนำหนังสือข้อเรียกร้องที่เป็นแถลงการณ์มาให้พยาน เหตุที่ต้องเลือกพยานเป็นคนอ่าน เพราะพยานเป็นนักศึกษา ขณะที่พยานอ่านแถลงการณ์ก็มีตำรวจและนักข่าวรออยู่ก่อนแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีการห้ามไม่ให้อ่านแต่อย่างใด

ธนาธรระบุว่า เข้าใจว่าผู้ชุมนุมทุกคนสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ มวลชนเองก็เตรียมอุปกรณ์ป้องกันโควิดมาเอง

พยานอ่านแถลงการณ์ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที โดยมีตำรวจมารับเอกสารแถลงการณ์ พยานจึงสอบถามไปด้วยว่าจะมีการตอบรับกลับมาเมื่อไร ตำรวจตอบพยานว่าไม่ทราบ แถลงการณ์นั้นได้มีการแจกจ่ายนักข่าวและประชาชนด้วย และพยานมาทราบทีหลังว่าจะมีกิจกรรมปามะเขือเทศใส่รูป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อ

ในส่วนของความเกี่ยวข้องของพยานและพรรควิฬาร์นั้น ชื่อกลุ่มมีที่มาเหตุแมวของพยานตาย พยานจึงสร้างเพจขึ้นมาเพื่อเรียกร้องสวัสดิการณ์ของสัตว์ มีสมาชิกประมาณ 10 คน โดย “วิฬาร์” หมายถึงแมว สมาชิกคือผู้คนที่เลี้ยงแมวเหมือนกัน มีผู้ดูแลเพจหลายคน

สำหรับโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมการชุมนุม ถูกจัดทำขึ้นโดยกลุ่มอื่น พยานเองไม่ทราบว่าผู้ใด ทางเพจพรรควิฬาร์ถูกชักชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมด้วย จึงมีการโพสต์โปสเตอร์กิจกรรมลงหน้าเพจ โดยมีการเผยแพร่ในเพจกลุ่มประชาคมมอชอด้วย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มนักกิจกรรม การโพสต์โปสเตอร์กิจกรรมถูกทำโดยแอดมินคนอื่น ซึ่งไม่ใช่พยาน แต่พยานได้แชร์ลงสู่เฟซบุ๊กส่วนตัวด้วย กิจกรรมในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดง สำหรับพรรควิฬาร์มีสมาชิกที่เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 4-5 คน     

หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมที่หน้าตำรวจภูธรภาค 5 แล้ว มีการเคลื่อนขบวนไปยังลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เพื่อไปเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุมอีกกิจกรรมหนึ่งซึ่งถูกจัดขึ้นโดยกลุ่มอื่น โดยตอนแรกพยานไม่ทราบว่ามีกิจกรรมต่อเนื่องที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ด้วย เพิ่งได้ทราบขณะที่อยู่หน้าภาค 5 พยานจึงตัดสินใจเข้าร่วมกิจกรรมต่อเนื่องด้วย

ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ มีมวลชนอยู่บ้างแล้วประปราย กิจกรรมเป็นไปในลักษณะฟรีไมค์ โดยมีการนำรถเครื่องเสียงในขบวนต่อเนื่องจากที่หน้าตำรวจภูธรภาค 5 มา ผู้ร่วมชุมนุมสามารถร่วมพูดแสดงออกโดยไม่จำเป็นต้องขึ้นไปอยู่บนรถเครื่องเสียง ทั้งยังมีกิจกรรมดนตรี  และมีเจ้าพนักงานไม่ทราบหน่วยมาตรวจวัดอุณหภูมิด้วย โดยผู้ชุมนุมยังมีการเว้นระยะห่างระหว่างกัน ต่อมาประมาณ 19.00 น. เริ่มมีฝนตกปรอยๆ กิจกรรมจึงถูกยกเลิกไป

ส่วนการที่พยานกล่าวคำพูดในกิจกรรมฟรีไมค์ดังกล่าว เป็นที่มาของคดีนี้ เป็นไปเพราะเกิดความโมโหและสงสารนักศึกษาบางส่วนผู้ถูกจับกุมและดำเนินคดีตามมาตรา 112 ตามที่ปรากฏในข่าว ณ ช่วงนั้น ตัวพยานก็เป็นนักศึกษาเช่นเดียวกัน ประกอบกับการที่พยานเรียนในสาขาปรัชญา ก็ได้มีการเรียนการสอนในวิชาจริยธรรมด้วย จากนั้น พยานกลับมาทบทวนคำพูดของตนเอง และได้สำนึกในการกระทำดังกล่าวแล้ว

อัยการโจทก์ถามค้าน พยานยืนยันว่าไม่ใช่ผู้บริหารเพจของพรรควิฬาร์ตามที่อัยการพยายามถาม เป็นเพียงสมาชิกเท่านั้น และการที่ตนแชร์โพสต์ประชาสัมพันธ์ต่อที่เฟซบุ๊กส่วนตัวนั้น คิดว่าเป็นไปตามสิทธิในการแสดงออกเท่านั้น พยานระบุว่าตนไม่ใช่ผู้ทำการไลฟ์สดในเพจ และไม่ทราบเรื่องการจัดเตรียมมาตรการป้องกันโควิด เนื่องจากเป็นการจัดกิจกรรมกันเองของมวลชน จึงไม่ได้มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่รัฐ

อัยการถามว่าพยานทราบมาก่อนหรือไม่ ว่าในแถลงการณ์ที่พยานอ่านมีถ้อยคำเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ พยานเบิกความไม่ เนื่องจากเอกสารดังกล่าวเพิ่งถูกแจกจ่ายในช่วงกิจกรรม จึงทำให้พยานไม่ได้มีเวลาทำความเข้าใจมากพอ อีกทั้งเนื้อหาในเอกสาร ก็ยังมีการกล่าวถึงอีกหลายสถาบัน ได้แก่ กลุ่มทุน ชนชั้นบริหาร รัฐบาล และตำรวจด้วย พยานจึงเข้าใจว่าเป็นข้อเรียกร้องกับตำรวจและรัฐบาลเพียงเท่านั้น

ส่วนการที่พยานพูดในกิจกรรมฟรีไมค์ พาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พยานรับสารภาพไปแล้วว่าการกระทำหรือคำพูดดังกล่าวไม่สมควร แต่การแสดงออกทั้งสองมีระยะเวลาห่างกันพอสมควร จึงเป็นกิจกรรมคนละช่วงเวลากัน

ทนายจำเลยถามติง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อุปกรณ์ต่างๆ ในกิจกรรมการชุมนุม พยานไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเป็นผู้จัดหา ส่วนเอกสารคำแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง พยานได้อ่านก่อนขึ้นแถลงหน้าตำรวจภูธรภาค 5 ไม่นาน และโดยเนื้อหาหลักเป็นการเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและรัฐบาล เพื่อไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมในการชุมนุมสาธารณะ

ส่วนการที่พยานไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาในการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2564 ณ บริเวณบ้านผู้ใหญ่บ้านนั้น เนื่องจากพยานไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม อีกทั้งพยานก็ไม่มีทนายความอยู่ด้วย จึงไม่กล้าเซ็นเอกสารใดๆ พยานเบิกความเพิ่มเติมว่าตำรวจมีท่าทีไม่ยอม เช่นนั้นพยานจึงยืนยันไม่ยอมลงลายมือชื่อ

.

.

นักวิชาการกฎหมายชี้ ม.112 คุ้มครองเฉพาะบุคคล 4 สถานะ เห็นว่าแถลงการณ์ที่จำเลยอ่าน เพียงแสดงความเห็นต่อชนชั้นนำโดยรวม

พยานจำเลยปากที่ 2 กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดทำความเห็นทางวิชาการประกอบคดีนี้ มีใจความว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดและโทษทางอาญา เป็นกฎหมายที่ใช้เพื่อปกป้องเกียรติยศส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น องค์ประกอบความผิด คือ การกระทำ 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) การดูหมิ่น 2) การหมิ่นประมาท และ 3) การแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อบุคคล 4 สถานะ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต้องมีเจตนาในการกระทำ ได้แก่ เจตนาประสงค์ต่อผลและเจตนาย่อมเล็งเห็นผล

พฤติการณ์ที่จำเลยถูกกล่าวหา คือจำเลยอ่านแถลงการณ์เรียกร้องต่อผู้พิทักษ์สันติราษฎร โดยมีสาระสำคัญเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นการติชมการทำงานของรัฐบาลเป็นหลัก

ลักษณะโดยรวมของข้อความทั้งหมดจึงเป็นการแสดงความอึดอัดคับข้องใจต่อสังคมไทยในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะจำเลยกล่าวถึงความสัมพันธ์เชิงชนชั้นระหว่างประชาชนกับชนชั้นนำทุกภาคส่วนของสังคมไทย ทั้งชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ (นายทุน) ชนชั้นนำทางการเมือง (รัฐบาลและพรรคการเมือง) และชนชั้นนำทางวัฒนธรรม (สถาบันพระมหากษัตริย์) ต่อปัญหาสังคมที่หลากหลาย เนื้อหาสาระโดยรวมจึงมิใช่การยืนยันข้อเท็จจริงต่อบุคคล แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นต่อชนชั้นนำไทยโดยรวม ซึ่งมิใช่ลักษณะของการ “ใส่ความ” 

การวิพากษ์สังคมชนชั้นนำไทยโดยรวม ตลอดจนการวิพากษ์สถาบันพระมหากษัตริย์นั้นนั้นย่อมเห็นได้ชัดว่ามิใช่การมุ่งใส่ความบุคคลใดโดยเฉพาะ ซึ่งในการใช้กฎหมายและตีความกฎหมายนั้นต้องตีความตามวิสัยของวิญญูชน ซึ่งหมายถึงบุคคลทั่วไปที่มีความเป็นกลางทางการเมือง

การตีความข้อเท็จจริงให้คำว่า “สถาบันกษัตริย์” ให้หมายถึง “พระมหากษัตริย์” เพื่อให้เกิดผลเป็นการลงโทษบุคคลนั้น จึงขัดต่อวิธีการใช้กฎหมายอาญาที่ปรากฏอยู่ในตำรากฎหมายอาญาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และไม่ถูกต้องตามความหมายของคำว่า “สถาบัน” อีกด้วย

ดังนั้น คำว่า “สถาบันกษัตริย์” จึงสื่อถึงความเป็นองค์รวมขององคาพยพทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ โดยที่อย่างน้อยที่สุดย่อมต้องรวมถึงรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ แบบแผนประเพณีในราชสำนัก คณะองคมนตรี สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สำนักพระราชวัง เครือข่ายพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และองค์พระมหากษัตริย์ ฯลฯ

การกล่าวถึงปัญหาสังคมไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยอ้างถึงชนชั้นนำโดยรวม ทั้งรัฐบาล นายทุน เจ้าหน้าที่รัฐ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ประกอบกับการที่สถาบันพระมหากษัตริย์มีความหมายที่กว้างขวางกินความ ทั้งองค์กร บุคคล กฎเกณฑ์ และแบบแผนเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ข้อความที่จำเลยอ่านแถลงการณ์จึงมีความหมายที่คลุมเครือและไม่สื่อความหมายถึงบุคคลใด ในลักษณะที่จะเป็นการลดศักดิ์ศรีของบุคคลหรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงของบุคคลใดอย่างเฉพาะเจาะจง

อัยการโจทก์ถามค้าน พยานรับว่า ลักษณะการอ่านแถลงการณ์ของจำเลยเป็นการอ่านต่อหน้าผู้ชุมนุมไม่ได้อ่านต่อหน้าเจ้าหน้าที่โดยตรง ซึ่งเป็นการกล่าวถึงบุคคลที่ 3 แต่เห็นว่าแถลงการณ์นี้ต้องอ่านเนื้อหาทั้งหมดประกอบกัน คิดว่าบุคคลทั่วไปสามารถแยกแยะระหว่างสถาบันฯ และพระมหากษัตริย์ออกได้ ถ้อยคำในแถลงการณ์เขียนชัดเจนว่ากล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ กลุ่มทุน รัฐบาล ตำรวจ

.

นักวิชาการภาษาไทย เห็นว่าการอ่านแถลงการณ์ต้องอ่านภาพรวม ผู้รับสารคือผู้พิทักษ์สันติราษฎร ทั้งคำว่า “สถาบัน” กว้างกว่าตัวบุคคล

พยานจำเลยปากที่ 3 อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่าแถลงการณ์ในคดีนี้นั้น การจะเข้าใจเนื้อหาต้องอ่านภาพรวมทั้งฉบับ และชื่อหัวข้อแถลงการณ์เองก็ระบุถึงผู้รับสารคือ “ผู้พิทักสันติราษฎร” และมีลักษณะเป็นข้อเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

พยานได้จัดทำความเห็นของตนต่อแถลงการณ์ในคดีนี้ โดยเห็นว่าในแถลงการณ์ใช้คำว่า “ผู้พิทักษ์ราษฎร” ประกอบด้วยเนื้อความ 4 ส่วน ได้แก่ ชื่อเรื่อง (บรรทัดบนสุดที่จัดหน้ากึ่งกลางและพิมพ์ตัวหนา) คำขึ้นต้น (บรรทัดต่อมาที่พิมพ์ตัวหนา) เนื้อหาสามย่อหน้าแรก และเนื้อหาที่เหลือ โดยเนื้อหาสามย่อหน้าแรกเป็นการกล่าวถึงปัญหาการบริหารประเทศของรัฐบาล อันเป็นที่มาของการชุมนุมและเสนอข้อเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในเนื้อหาที่เหลือ

จะเห็นได้ว่า ข้อความที่ปรากฏเป็นเพียงความคิดเห็นต่อรัฐบาลในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน เพื่อโน้มน้าวเจ้าหน้าที่ตำรวจให้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนและปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรม

พยานเห็นว่าคำว่า “สถาบัน” คือเป็นสถาบันประเภทหนึ่ง และมีความหมายแตกต่างจากคำว่า “พระมหากษัตริย์” คำประสมต่างๆ ในภาษาไทยที่มีหน่วยคำ “สถาบัน” เป็นส่วนหลัก สามารถจำแนกความหมายออกได้เป็น 2 แง่มุม แง่มุมแรกหมายถึงองค์กรหรือหน่วยงาน เช่นประโยค “มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถาบันการศึกษา” และ “ธนาคารกรุงไทยเป็นสถาบันการเงิน” ในประโยคทั้งสองประโยคนี้ บ่งชี้ถึงองค์กรหรือหน่วยงานที่มีพันธกิจด้านการศึกษาและการเงิน ตามลำดับ

ส่วนแง่มุมที่สองหมายถึงสถาบันทางสังคม ซึ่งหมายถึง “ยอดรวมของรูปแบบ ความสัมพันธ์ กระบวนการ และวัตถุอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อสนองประโยชน์สำคัญๆ ทางสังคมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง” เช่น คำว่า “สถาบันครอบครัว” และ “สถาบันศาสนา” ทั้งสองคำนี้ไม่ได้มีความหมายบ่งชี้ถึงเพียงแค่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถาบันนั้นๆ แต่มีความหมายถึงรวมถึงหน้าที่และแบบแผนการปฏิบัติต่างๆ ของสถาบันนั้นๆ ด้วย

อัยการโจทก์ถามค้าน พยานรับว่าลักษณะการพูดของจำเลยในการชุมนุม ไม่ได้พูดต่อตำรวจแบบสองต่อสอง ในส่วนของข้อเรียกร้องต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หมายถึง ข้อเรียกร้องมุ่งตรงไปที่ผู้รับสารเป็นหลัก ซึ่งก็คือตำรวจ แต่การกล่าวในการชุมนุมเป็นการอ่านต่อบุคคลที่ 3

อัยการถามว่า หากชาวบ้านหรือบุคคลทั่วไปจะเข้าใจว่าสถาบันกษัตริย์และพระมหากษัตริย์ มีความหมายเหมือนกันได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ได้ และตามเนื้อหาในแถลงการณ์ ไม่ได้เป็นการต่อว่า แต่เป็นการอธิบายการทำงานของกลุ่มสถาบันดังกล่าว

.

อ่านเรื่องราวของธนาธรเพิ่มเติม เมื่อ “ฮ่องเต้” โดนข้อหาหมิ่นกษัตริย์

.

X