ปี 2565 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป นับเป็นปีแห่งการ “ขึ้นศาล” สำหรับผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง เมื่อคดีจากเหตุการณ์เคลื่อนไหวในช่วงปี 2563-64 ได้ทยอยขึ้นสู่ชั้นศาล และมีนัดหมายสืบพยานอย่างต่อเนื่อง นักกิจกรรมหลายคนต้องใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับศาลต่างๆ เพื่อต่อสู้คดีที่ตนเองถูกกล่าวหา หลายคนต้องเดินทางข้ามภูมิภาคเพื่อไปต่อสู้คดีในพื้นที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน รวมทั้งศาลเองก็ทยอยมีคำพิพากษาในคดีต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีคดีจากการแสดงออกทางการเมืองเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ คือมากกว่า 835 คดี นับได้ว่าปี 2565 สถานการณ์แนวโน้มการดำเนินคดีใหม่มีจำนวนลดลง ทั้งด้วยสถานการณ์การชุมนุมที่ไม่ได้เข้มข้นเท่าสองปีก่อนหน้า ไม่มีการชุมนุมขนาดใหญ่ ไม่มีการชุมนุมหรือกิจกรรมในลักษณะกระจายตัวไปทั่วประเทศเหมือนช่วงการชุมนุมปี 2563 และคาร์ม็อบในปี 2564 ขณะเดียวกันนักกิจกรรมหลายคนยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขการประกันตัวของศาล และยังมีภาระในการต่อสู้คดีจำนวนมาก ทำให้การจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้เป็นไปโดยง่ายนัก
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเริ่มต้นการชุมนุมเยาวชนปลดแอก จนถึงวันที่ 27 ธันวาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองไปแล้วไม่น้อยกว่า 1,888 ราย คิดเป็นจำนวน 1,165 คดี
ตลอดทั้งปี 2565 มีคดีความเพิ่มขึ้นทั้งหมดไม่น้อยกว่า 185 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 141 คน เฉลี่ยแล้วในแต่ละเดือน มีคดีจากการแสดงออกทางการเมืองคดีเกิดขึ้นเดือนละ 15 คดี เท่ากับทุกๆ 2 วันในรอบปีนี้ จะมีการดำเนินคดี 1 คดี ซึ่งก็ถือเป็นอัตราที่เข้มข้นระดับหนึ่ง แม้ไม่มากเท่าในช่วงปี 2564
จากจำนวนคดีทั้งหมดดังกล่าว มีคดีที่สิ้นสุดไปแล้วจำนวน 290 คดี ทำให้ยังมีคดีอีกไม่น้อยกว่า 875 คดี อยู่ระหว่างการต่อสู้ในกระบวนการต่างๆ หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 75 หรือกว่า 3 ใน 4 ของคดีทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นคดีที่อยู่ในชั้นศาลแล้วจำนวน 443 คดี ซึ่งยังต้องติดตามการต่อสู้คดีต่อไป
.
.
คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลยกฟ้อง–อัยการสั่งไม่ฟ้อง รวมกันไม่น้อยกว่า 83 คดี แต่คดีอีกกว่า 82% ยังไม่สิ้นสุด
ในปี 2565 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังดำเนินต่อเนื่องมาในช่วงสามไตรมาสแรกของปี จนคณะรัฐมนตรีเพิ่งมีการประกาศยกเลิกในวันที่ 30 ก.ย. 2565 ทำให้หากนับตั้งแต่การเริ่มต้นแพร่ระบาดของโควิดในปี 2563 สถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศไทยถูกประกาศต่อเนื่องมาเป็นระยะเป็นเวลา 919 วัน หรือ 2 ปี 6 เดือน กับอีก 6 วัน ก่อนยุติลง
พร้อมๆ กับช่วงเวลาของการแพร่ระบาด การเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองที่เป็นไปอย่างเข้มข้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา ก็ทำให้มีการบังคับใช้ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ดำเนินคดีต่อประชาชนที่ออกมาชุมนุมอย่างกว้างขวาง มียอดรวมผู้ถูกดำเนินคดีเท่าที่ทราบข้อมูล ไม่น้อยกว่า 1,468 ราย ใน 663 คดี
ในปี 2565 มีสถิติผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รายใหม่ไม่น้อยกว่า 53 คน คิดเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 121 คดี
ในปีนี้ คดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2563-64 ทยอยดำเนินถึงชั้นสืบพยานและศาลมีคำพิพากษา พบว่าแนวโน้มส่วนใหญ่ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเป็นหลัก โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตลอดปี 2565 มีคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่น้อยกว่า 47 คดี รวมกับคดีที่ยกฟ้องในปีก่อนหน้า ทำให้มียอดรวมคดียกฟ้องไม่น้อยกว่า 49 คดีแล้ว (หลายคดียังไม่สิ้นสุด อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ หรือรอว่าจะมีการอุทธรณ์คดีหรือไม่)
ในขณะที่มีคดีที่ต่อสู้คดี และศาลพิพากษาในแนวเห็นว่ามีความผิดจำนวน 18 คดี โดยส่วนใหญ่ศาลลงโทษปรับ แต่ก็มีคดีจำนวนหนึ่งที่ศาลลงโทษจำคุกโดยให้รอลงอาญา โดยมีเพียงคดีคาร์ม็อบอุตรดิตถ์เพียงคดีเดียว ที่ศาลลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษา
ขณะเดียวกัน บทบาทของพนักงานอัยการยังมีส่วนสำคัญในการกลั่นกรองคดีที่จะขึ้นสู่ศาล โดยปี 2565 อัยการบางส่วนก็ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้คดีสิ้นสุดโดยไม่ต้องไปถึงการต่อสู้ในศาล จำนวนไม่น้อยกว่า 28 คดี รวมกับคดีที่ยกฟ้องในปีก่อนหน้า ทำให้มียอดรวมคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องมีจำนวน 34 คดี
แม้จะมีทั้งคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องและศาลยกฟ้องดังกล่าว แต่จนถึงวันที่ 25 ธ.ค. 2565 ยังมีคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกไม่น้อยกว่า 547 คดี ที่ยังไม่สิ้นสุดลง และอยู่ระหว่างการต่อสู้คดี หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 82 ของคดีทั้งหมด แม้การชุมนุมที่ผ่านมาแทบทั้งหมดไม่มีรายงานการติดเชื้อในวงกว้างเกิดขึ้น และสถานการณ์ฉุกเฉินจะสิ้นสุดลงไปแล้ว รวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็กลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้วก็ตาม
.
.
คดี 112 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 6 คดี ศาลมีคำพิพากษาไปไม่น้อยกว่า 32 คดี
ปี 2565 สถานการณ์การกล่าวหาในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยังเป็นไปอย่างเข้มข้น เฉลี่ยแล้วพบว่าแต่ละเดือนมีคดีใหม่เพิ่มขึ้นเดือนละ 6 คดี โดยตลอดทั้งปี มีจำนวนคดีเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 72 คดี คิดเป็นผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่ไม่น้อยกว่า 59 คน (บางส่วนเป็นคดีที่ทราบข้อมูลว่าถูกดำเนินคดีเพิ่มเติม แม้จะถูกกล่าวหามาตั้งแต่ช่วงปี 2563-64)
ยอดรวมสถิติผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 ตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นมา ถึงสิ้นปี 2565 มีไม่น้อยกว่า 225 คน ใน 243 คดี มากกว่าครึ่งของคดีทั้งหมดเป็นคดีจากการแสดงออกออนไลน์ รวมทั้งมีจำนวน 111 คดี เป็นคดีที่ “บุคคลทั่วไป” โดยเฉพาะกลุ่มที่เคลื่อนไหวปกป้องสถาบันฯ เป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหาไว้
แนวโน้มในปีนี้ เหตุแห่งการถูกดำเนินคดียังเป็นกรณีจากการโพสต์ แชร์ หรือเผยแพร่ภาพและข้อความทางออนไลน์ ได้แก่ จำนวน 40 คดี, ลำดับต่อมาได้แก่กรณีการกล่าวปราศรัยจำนวน 9 คดี, กรณีการแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์จำนวน 7 คดี, กรณีการถือป้ายข้อความหรือกล่าวถ้อยคำจำนวน 6 คดี และกรณีทำโพล 4 คดี
ขณะเดียวกัน คดีในช่วงปี 2563-64 ก็มีการสืบพยานอย่างต่อเนื่องในช่วงปีนี้ โดยระยะสองปีเศษที่ผ่านมา ยังไม่มีคดีมาตรา 112 แม้แต่คดีเดียวที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ยกเว้นกรณีของอินทิรา เจริญปุระ ในคดี #ม็อบ29พฤศจิกา63 ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องในข้อหามาตรา 112 แต่ฟ้องเฉพาะในข้อหามาตรา 116 หากแต่คดีนี้ผู้ถูกดำเนินคดีคนอื่นๆ อัยการก็ได้สั่งฟ้องในข้อหามาตรา 112 ทั้งหมด จึงไม่ใช่เป็นกรณีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องทั้งคดีแต่อย่างใด
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ศาลได้ทยอยมีคำพิพากษาในคดีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมีคดีที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาไม่น้อยกว่า 32 คดี แยกเป็นคดีที่จำเลยต่อสู้คดี 18 คดี และคดีที่จำเลยรับสารภาพ 14 คดี โดยมีเพียง 5 คดีที่ศาลพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา
แนวโน้มส่วนใหญ่ศาลมีคำพิพากษาในทิศทางเห็นว่ามีความผิด โดยมีคดีที่ศาลลงโทษจำคุกสูงสุดคือ 9 ปี ได้แก่ คดีภัคภิญญา ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส จากการโพสต์เฟซบุ๊ก 3 ข้อความ และมีคดีที่ศาลให้รอกำหนดโทษหรือให้รอลงอาญา รวมจำนวน 10 คดี โดยคดีเหล่านี้ คู่ความยังต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ต่อไป โดยแนวโน้มพนักงานอัยการจะมีการอุทธรณ์คดีทั้งหมด
.
ผลคดีที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ในปี 2565 – คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา 17 คดี (โดยมีผู้ถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีชั้นอุทธรณ์ 2 คน ได้แก่ สมบัติ ทองย้อย และอุกฤษฏ์) – คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยให้รอลงอาญา 8 คดี – คดีที่ศาลให้รอกำหนดโทษ 2 คดี – คดีที่ศาลยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา 5 คดี |
ขณะเดียวกัน แม้จะเริ่มมีแนวทางคำพิพากษาที่ให้รอลงอาญาหรือรอกำหนดโทษอยู่บ้าง แต่การต่อสู้คดีในคดีมาตรา 112 ยังเต็มไปด้วยปัญหาและข้อจำกัด ทั้งอัตราโทษที่สูงเมื่อเทียบกับพฤติการณ์แสดงออก ปัญหาการประกันตัวและเงื่อนไขการประกันตัว ปัญหาการตีความตัวบทอย่างขยายความให้ครอบคลุมไปทั้งอดีตพระมหากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์ แนวทางการพิจารณาที่การต่อสู้ประเด็นเชิงเนื้อหาเป็นไปได้ยาก รวมไปถึงปัญหาแนวคิดและอุดมการณ์ของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต่อประเด็นสถาบันกษัตริย์
.
.
คดี 116 ชะลอตัว เพิ่มขึ้นไม่มากนัก
ตลอดปี 2565 มีคดีข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 คดี คิดเป็นผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่ไม่น้อยกว่า 13 คน
จำนวนคดีมาตรา 116 เพิ่มขึ้นไม่มากนัก เมื่อเทียบกับในช่วงก่อนหน้าซึ่งมีการนำข้อหานี้มาทดแทนการกล่าวหาด้วยมาตรา 112 ทำให้ในคดีหลายคดีถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 116 ในช่วงเริ่มต้นการเคลื่อนไหวปี 2563 กระทั่งหลังการนำข้อหามาตรา 112 มาบังคับใช้อย่างเข้มข้นแล้ว การใช้ข้อหามาตรา 116 จึงลดน้อยลงไป
ปี 2565 ยังคงมีการนำข้อหาตามมาตรา 116 มากล่าวหาคู่กับมาตรา 112 เพิ่มเติมอยู่บ้าง อาทิในคดีทำโพลสำรวจความเห็นต่อขบวนเสด็จ หรือคดีจากการถ่ายรูปสถานที่ต่างๆ ในเมืองพัทลุง นำไปใส่ข้อความทางการเมือง ทั้งสองกรณีนี้ ยังมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกกล่าวหาด้วย
ขณะเดียวกัน ปัญหาเรื่องการบังคับใช้และตีความมาตรา 116 ที่เริ่มถูกใช้อย่างเข้มข้นต่อเนื่องมาจากยุค คสช. ยังคงดำรงอยู่ โดยในปีนี้มีความลักลั่นในการพิจารณาสั่งฟ้องคดีของอัยการเป็นตัวอย่างสำคัญ โดยในคดีหนึ่ง อัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีตามมาตรา 116 กรณีนักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจ “กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG)” กรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุม จนเป็นเหตุให้มีกลุ่มคนก่อความไม่สงบเรียบร้อย ขณะที่ในคดีหนึ่งที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน คือกรณีของ “ป่าน ทะลุฟ้า” ที่ถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจ “ทะลุฟ้า” โพสต์ข้อความเชิญชวนเข้าร่วมชุมนุม อัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดี
.
.
จับตาปี 2566 การต่อสู้คดีในศาลยังคงอยู่
ในปี 2566 ที่กำลังจะมาถึง สถานการณ์การสืบพยานและการตัดสินพิพากษาของศาลในคดีต่างๆ จะยังเป็นประเด็นสำคัญที่สืบเนื่องต่อไป เมื่อคดีจำนวนมากยังอยู่บนสายพานของกระบวนการพิจารณาคดี โดยเฉพาะในชั้นศาลที่ตารางการสืบพยานคดีต่างๆ จ่อรอคดีตลอดทั้งปี
ภาระที่เกิดขึ้นจากการถูกกล่าวหาดำเนินคดี ยังคงเป็นประเด็นปัญหาสำหรับนักกิจกรรมและประชาชนที่เผชิญกับกระบวนการเหล่านี้ อาทิ วันเวลาในแต่ละวันที่ต้องใช้ในการเดินทาง รอคอย และอยู่ในกระบวนการต่างๆ, ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือรายได้ที่เสียไปขณะมาต่อสู้คดี, โอกาสต่างๆ ที่สูญไปในชีวิต, เสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุม ที่ถูกจำกัดควบคุมภายใต้เงื่อนไขการประกันตัว, ภาวะทางจิตใจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการที่เกิดขึ้น รวมไปถึงกระบวนการยุติธรรมยังต้องใช้ทั้งงบประมาณและบุคลากรจำนวนมากในการจัดการคดีความเหล่านี้
ในปีหน้า การสืบพยานในคดีมาตรา 112 ในศาลต่างๆ ยังมีความเข้มข้น รวมทั้งสถานการณ์คำพิพากษาที่จะทยอยออกมาอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะคดีที่ขึ้นไปถึงชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ที่อาจส่งผลทำให้มีประชาชนถูกคุมขังจากการมีคำพิพากษาเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งส่งผลต่อแนวทางการตีความกฎหมายต่อไป
ยังไม่ต้องพูดถึงสถานการณ์การจับกุมดำเนินคดีหรือการออกหมายเรียกในคดีใหม่ๆ ที่น่าจะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ในสังคมที่ประเด็นปัญหาเรื่องสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์เป็นใจกลางความขัดแย้งทางการเมืองประเด็นหนึ่ง
ขณะที่สถานการณ์การใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ก็ยังน่าจับตา เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลง กฎหมายที่ถูกใช้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ อย่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ถูกกลับมาบังคับใช้ ท่ามกลางปัญหาการตีความที่ยังมีอยู่มาแต่เดิม ทั้งเรื่องการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ความหมายของผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ปัญหาการดูแลการชุมนุมสาธารณะของเจ้าพนักงานที่มีการใช้อำนาจเกินขอบเขต เป็นต้น
ในขณะที่สถานการณ์การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ทำให้ประเด็นการเรียกร้องให้มีการยุติการดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง หรือการ “นิรโทษกรรม” คดีทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ ก็น่าจะมีความสำคัญในฐานะนโยบายที่จะนำไปผลักดันของพรรคการเมืองต่างๆ หลังการเลือกตั้ง
.