ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์พิพากษาจำคุก 2 เดือน ไม่รอลงอาญา ฐานเข้าร่วม-ก่อให้เกิดคาร์ม็อบอุตรดิตถ์ ฝ่าฝืนพระราชกำหนดฉุกเฉินฯ

25 ต.ค. 2565 เวลา 9.30 น. ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์นัดฟังคำพิพากษาคดี “คาร์ม็อบของกลุ่มอุตรดิตถ์ปลดแอก” เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 มี อนุรักษ์ แก้ไข อายุ 26 ปี และ ทองแสง ไชยแก้ว อายุ 30 ปี ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดฉุกเฉินฯ, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง และประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุตรดิตถ์

หลังจากการสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 3-4 และ 31 ส.ค. 2565 จำเลยต่อสู้ว่าการชุมนุมคาร์ม็อบเป็นการชุมนุมทางเมืองแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญ ทั้งรูปแบบการชุมนุมเป็นกิจกรรมคาร์ม็อบ (CAR MOB) ซึ่งไม่ใช่การรวมกลุ่มของประชาชนที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่โรค จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง

ย้อนอ่าน > ประมวลการสืบพยานคาร์ม็อบอุตรดิตถ์

.

เวลา 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาที่ 3 นางสาวกุลวณี ตันติประวรรณ ผู้พิพากษา ได้อ่านคำพิพากษาลงโทษจำคุก 2 เดือน จำเลยทั้งสองข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดฉุกเฉินฯ โดยไม่รอลงอาญา สรุปเนื้อหาได้ว่า

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า วันและเวลาเกิดเหตุมีการชุมนุมโดยการขับขี่รถไปตามท้องถนน อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินฯ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุตรดิตถ์ ข้อ 4 ที่กำหนดห้ามจัดกรรมรวมกลุ่มเกินกว่า 20 คน

โจทก์มี พ.ต.ท.เอกพงศ์ ปริษาวงศ์, ร.ต.อ.สง่า สุทธิอาจ และ ส.ต.อ.กันตพัฒน์ ศัลยพงษ์ เป็นพยานเข้าเบิกความในทำนองเดียวกันว่าได้รับคำสั่งให้ติดตามบุคคลที่อาจกระทำความผิด และได้ติดตามเพจอุตรดิตถ์ปลดแอก โดยในเพจได้ประกาศจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ จึงได้ติดตามความเคลื่อนไหว สืบทราบว่า จำเลยที่ 2 เป็นแอดมินเพจ โดยนัดรวมกลุ่มในวันที่ 15 สิงหาคม 2564 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ขณะที่จำเลยที่ 1  ขับรถนำขบวนติดป้ายอุตรดิตถ์ปลดแอก ซึ่งในขณะเคลื่อนขบวนจะมีการติดต่อกันผ่านคลับเฮ้าส์โดยจำเลยที่ 2 เป็นแกนหลักในการพูดคุย โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสามปากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เบิกความโดยไม่มีข้อพิรุธสงสัย ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย เชื่อได้ว่าเบิกความไปตามความจริง

เมื่อกิจกรรมคาร์ม็อบจัดในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ฯ โดยมีการกำหนดห้ามการรวมกลุ่มที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคติดต่อ ซึ่งจังหวัดอุตรดิตถ์เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่ทราบทั่วกัน โดยกิจกรรมคาร์ม็อบเป็นการรวมกลุ่มกันทั่วไป ไม่ได้จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมไว้ให้ชัดเจน จึงเป็นกิจกรรมที่จะต้องขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อไม่ได้ขออนุญาตจึงเป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย บุคคลที่เข้าร่วมก็ผิดกฎหมายด้วย

ตามทางการสืบพยานจำเลยที่ 1 ขับรถนำขบวนเคลื่อนไปตามเส้นทาง ซึ่งจำเลยที่ 1 นำสืบว่าเป็นผู้ขับขี่รถยนต์และเข้าร่วมการชุมนุมจริง จึงเป็นความผิดฐานร่วมชุมนุมฯ และเมื่อได้ความจากการสืบพยานโจทก์ทั้งสามปากข้างต้นว่า เพจอุตรดิตถ์ปลดแอกมีการประกาศชุมนุมหลายครั้ง โดยจำเลยที่ 2 เป็นแอดมินเพจ ซึ่งเมื่อเพจอุตรดิตถ์ปลดแอกโพสต์ข้อความ จำเลยที่ 2 ก็แชร์ข้อความลงในเฟซบุ๊กตัวเองในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน และมีการโต้ตอบคำถามต่างๆ นอกจากนี้ การชุมนุมคาร์ม็อบในวันเกิดเหตุมีการติดต่อกันผ่านคลับเฮ้าส์ โดยจำเลยที่ 2 ที่เชื่อว่าเป็นแอดมินเพจ ก็อยู่ด้วย

ดังนี้เมื่อมีการโพสต์จัดการชุมนุมในเฟซบุ๊กเพจอุตรดิตถ์ปลดแอก และต่อมามีการชุมนุมตามข้อความที่โพสต์ไว้ในเพจ เชื่อว่าหากจำเลยที่ 2 ไม่โพสต์ก็จะไม่มีการจัดกิจกรรมชุมนุมในวันดังกล่าวได้ โดยมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าว จึงต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ จำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง

การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าสามารถเข้าร่วมการชุมนุมได้ไม่ผิดกฎหมายนั้น เห็นว่าจะต้องเข้าร่วมชุมนุมตามกฎหมายที่มีอยู่ จำเลยทราบอยู่แล้วว่าการชุมนุมไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยโจทก์มี นายกิตณัฏฐกร คำแก้ว สาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ เข้าเบิกความว่าแม้การชุมนุมจะมีลักษณะขับขี่รถไปตามท้องถนน เป็นที่โล่งแจ้ง มีความเสี่ยงต่ำ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่และสามารถแพร่โรคได้เช่นกัน

ส่วนจำเลยที่ 2 อ้างว่าไม่ได้เป็นแอดมินเพจอุตรดิตถ์ปลดแอกและไม่ใช่ผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ในวันเกิดเหตุจำเลยไม่ได้เข้าร่วม แต่แย้งกับที่จำเลยที่ 2 เคยขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในการจัดกิจกรรมครั้งก่อน จึงเป็นข้ออ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟัง

พิพากษามีความผิดตามฟ้อง จำคุกจำเลย คนละ 2 เดือน 

.

.

หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลได้ควบคุมตัวจำเลยทั้งสอง ใส่กุญแจมือลงไปขังไว้ห้องคุมขังใต้ถุนของศาลทันที โดยทนายความยื่นขอประกันจำเลยทั้งสองในชั้นอุทธรณ์โดยใช้หลักประกันเดิม คนละ 20,000 บาท ต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งให้เพิ่มหลักประกันอีกคนละ 10,000 บาท 

เวลา 16.10 น. ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งสองในชั้นอุทธรณ์ โดยวางเงินประกันเป็นเงินคนละ 30,000 บาท รวมจำเลยสองคนเป็นเงินจำนวน 60,000 บาท ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมนัดให้รายงานตัวในวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 25 พ.ย. 2565

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้เป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองคดีแรก ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ศาลส่วนใหญ่มีคำพิพากษายกฟ้อง 

.

X