ปากคำพยานคดี “คาร์ม็อบอุตรดิตถ์” รูปแบบกิจกรรมไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ รายหนึ่งเพียงขับรถนำขบวน รายหนึ่งไม่ได้ไปชุมนุมด้วย

วันที่ 25 ต.ค. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์นัดฟังคำพิพากษาในคดีคาร์ม็อบของกลุ่มอุตรดิตถ์ปลดแอก เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 คดีมีจำเลย 2 ราย ได้แก่ อนุรักษ์ แก้ไข อายุ 26 ปี และ ทองแสง ไชยแก้ว อายุ 30 ปี ที่ถูกฟ้องด้วยข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง และประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุตรดิตถ์

คดีนี้มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 3-4 และ 31 ส.ค. 2565 ข้อต่อสู้สำคัญของจำเลยในคดีนี้ ได้แก่ การชุมนุมและแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่เกิดขึ้นเป็นการใช้สิทธิการชุมนุมตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ อีกทั้งรูปแบบกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นกิจกรรมคาร์ม็อบ (CARMOB) ซึ่งไม่มีการรวมกลุ่มของประชาชน อาศัยยานพาหนะส่วนบุคคล ร่วมแสดงสัญลักษณ์ไปในเส้นทางเดียวกันเมื่อจบกิจกรรมก็ทำการแยกย้าย ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 พยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจังหวัดยังเบิกความว่าการชุมนุมมีความเสี่ยงต่ำ ระดับเดียวกันกับคนไปเดินจ่ายตลาดในชีวิตประจำวัน ทั้งยังไม่มีรายงานการติดเชื้อจากกิจกรรมนี้

อีกทั้ง อนุรักษ์ เป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนหนึ่งไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนทองแสง ระหว่างเกิดเหตุในคดีนี้ เขาไม่ได้อยู่ในกิจกรรมคาร์ม็อบแต่อย่างใด โดยไปประกอบอาชีพพนักงานบริษัทอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร และไม่ได้มีส่วนในการโพสต์ข้อความในเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” เชิญชวนให้คนมาเข้าร่วมการชุมนุมในกิจกรรมดังกล่าวด้วย จึงไม่ใช่ผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยการใช้ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริมตามที่ถูกฟ้องแต่อย่างใด

ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุจากการชุมนุมทางการเมือง กรณีของทองแสงนับเป็นกรณีเดียวที่ถูกฟ้องโดยจำเลยไม่ได้ไปร่วมการชุมนุม แต่ตำรวจกล่าวหาในลักษณะว่าเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นไปชุมนุม และอัยการยังมีคำสั่งฟ้องต่อมา

ก่อนฟังคำพิพากษา ชวนทบทวนการต่อสู้คดีนี้ ผ่านปากคำพยานที่ทั้งสองฝ่ายนำขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาล โดยฝ่ายโจทก์มีพยานทั้งหมด 5 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด ส่วนฝ่ายจำเลยมีพยาน 3 ปาก นอกจากจำเลยทั้งสอง ยังมีนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนขึ้นเป็นพยาน

.

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขชี้คาร์ม็อบมีความเสี่ยงต่ำ ระดับเดียวกับการเดินตลาดใช้ชีวิตประจำวัน

พยานฝ่ายโจทก์คนแรกที่พนักงานอัยการนำเข้าเบิกความคือ นายกิตณัฏฐกร คำแก้ว นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ถูกพนักงานสอบสวนในคดีนี้เรียกมาให้การเกี่ยวกับการชุมนุมและความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด-19

พยานระบุขณะนั้นราวช่วงวันที่ 15 ส.ค. 2564 มีประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้โควิด-19 เป็นโรคระบาด โดยการแพร่กระจายจากการสัมผัสระยะใกล้ชิดประมาณ 1 เมตร เมื่อไม่มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย การป้องกันจะสามารถทำได้โดยไม่ไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย ฯลฯ รักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร และใช้แอลกอฮอร์ล้างมือทำความสะอาดบ่อยๆ

พนักงานสอบสวนให้พยานดูภาพถ่ายการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 สอบถามว่ากรณีดังกล่าวมีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อหรือไม่ พยานมีความเห็นว่าเสี่ยง แต่มีระดับความเสี่ยงต่ำ โดยระดับความเสี่ยงจะมี 2 ระดับด้วยกัน คือความเสี่ยงสูงกับความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงสูงหมายถึงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยในระยะน้อยกว่า 1 เมตร เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 5 นาที โดยไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน หรืออีกกรณีการอยู่ในห้องหรือในรถยนต์ที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศร่วมกับผู้ป่วย เป็นระยะเวลา 15 นาที ส่วนกรณีอื่นๆ นอกจากนี้ที่ไม่เข้าเกณฑ์ความเสี่ยงสูง ก็จะเป็นความเสี่ยงต่ำ

ภาพที่พนักงานสอบสวนได้ให้พยานดู พยานได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้ ผู้ชุมนุมมีลักษณะอยู่ใกล้กันน้อยกว่า 1 เมตร แต่ที่บอกว่าความเสี่ยงต่ำเนื่องจากอยู่ในสถานที่โล่งและสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่หากว่าตามภาพดังกล่าวมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มาร่วมชุมนุมก็มีโอกาสติดต่อกันได้ แต่ถ้าสวมใส่หน้ากากอนามัย ก็จะมีความเสี่ยงต่ำในการแพร่เชื้อ

เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงวันที่ 15 ส.ค. 2564 ในจังหวัดอุตรดิตถ์มีข้อมูลผู้ติดเชื้อในจังหวัด 2 ราย แต่มีผู้ติดเชื้อจากต่างจังหวัดเข้ามารักษาตัวในจังหวัด 65 ราย โดยพยานได้ส่งตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ช่วงเดือน ส.ค. 2564 ให้กับพนักงานสอบสวนด้วย เอกสารดังกล่าวมีตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลาย ส.ค. 2564

ทนายจำเลยได้ถามค้านว่าระดับความเสี่ยงต่ำที่พยานกล่าวถึงนั้น อยู่ในระดับเดียวกับการสวมใส่หน้ากากเดินออกไปตลาดในชีวิตประจำวัน ไม่จำเป็นต้องมีการชุมนุมก็มีความเสี่ยงอยู่ในระดับดังกล่าว ซึ่งพยานรับว่าใช่

อีกทั้งในการตอบคำถามค้าน พยานยังได้เบิกความว่า ตัวเลขการติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดอุตรดิตถ์ช่วงเดือน ส.ค. 2564 เป็นการติดเชื้อจากชุมชนเดียวกัน หรือภายในที่ทำงานเดียวกัน หรือภายในครอบครัวเดียวกัน ไม่พบว่ามีการติดเชื้อจากการชุมนุมแต่อย่างใด

.

.

ตำรวจ 3 ปากเบิกความทำนองเดียวกันจำเลยที่ 1 นำขบวน และจำเลยที่ 2 น่าจะเป็นแอดมินเพจ อุตรดิตถ์ปลดแอก

ต่อมาอัยการได้นำพยานเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.เอกพงศ์ ปริษาวงศ์ รองผู้กำกับการสืบสวน สภ.เมืองอุตรดิตถ์, ส.ต.อ.กันตพัฒน์ ศัลยพงษ์ ผู้บัญชาการหมู่สืบสวน สภ.เมืองอุตรดิตถ์ และ ร.ต.อ.สง่า สุทธิอาจ รองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองอุตรดิตถ์ ขึ้นเบิกความในทำนองเดียวกันเกี่ยวกับการสืบสวนติดตามและการสังเกตการณ์การชุมนุมมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2564 ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการติดตามความเคลื่อนไหวหรือการรวมกลุ่มของบุคคลที่เสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่จังหวัดอุตรดิตถ์มาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 13 ส.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับรายงานว่าพบ เฟซบุ๊กเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” ได้เชิญชวนให้ทำกิจกรรมคาร์ม็อบ CARMOB คือการรวมกลุ่มของประชาชนโดยใช้รถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซต์ มาขับในการชุมนุมเพื่อต่อต้านการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นัดหมายวันที่ 15 ส.ค. 2564 เวลา 17.00 น. บริเวณหน้าลานพระยาพิชัยดาบหัก ส.ต.อ.กันตพัฒน์และร.ต.อ.สง่า อ้างว่ามีข้อมูลว่าผู้ดูแลเฟซบุ๊กเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” คือ นายทองแสง ไชยแก้ว

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดตามความเคลื่อนไหวการรวมกลุ่มในครั้งนี้ทั้งทางออนไลน์และลงพื้นที่จริง โดยวันที่ 15 ส.ค. 2564 ชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 10 นาย นำโดย พ.ต.ท.เอกพงศ์ ร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ได้เดินทางไปที่หน้าลานพระยาพิชัยดาบหัก ปรากฏว่าก่อนเวลานัดหมายประมาณ 15.00 น. ไม่พบการรวมกลุ่ม โดยในเฟซบุ๊กเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” ได้แจ้งเลื่อนกิจกรรมเนื่องจากฝนตก โดยไม่ระบุสถานที่และเวลาใหม่

หลังจากมีการแจ้งเลื่อนนัดหมายดังกล่าว ทางตำรวจได้กระจายกำลังขับรถทั่วบริเวณเมืองอุตรดิตถ์ และต่อมาทราบว่าเฟซบุ๊กเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” ได้มีการประกาศจุดนัดหมายรวมตัวใหม่บริเวณข้างมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เวลา 17.00 น. ของวันที่ 15 ส.ค. 2564 อีกทั้งยังมีการโพสต์ลิ้งค์แอพพลิเคชั่น Clubhouse ชื่อห้อง “อุตรดิตถ์ปลดแอก” ชื่อเดียวกับเฟซบุ๊กเพจ ให้ประชาชนเข้าไปพูดคุยกันด้วย ตำรวจได้ติดตามไปภายในแอพพลิเคชั่น พบมีผู้ใช้ชื่อ “อ๊อดเอง” เป็นคนสร้างห้อง มีรูปภาพเป็นนายทองแสง ไชยแก้ว

ภายในแอพพลิเคชั่น Clubhouse มีการพูดคุยเกี่ยวกับกิจกรรมคาร์ม็อบ โดยทางตำรวจมี ส.ต.อ.กันตพัฒน์ เข้าร่วมอยู่ในกลุ่มดังกล่าว ซึ่งกลุ่มดังกล่าวไม่ต้องเป็นสมาชิกก็สามารถเข้าร่วมได้ การพูดคุยเกี่ยวกับกิจกรรมมีการนัดแนะเส้นทาง วิธีการแสดงสัญลักษณ์ในกิจกรรม การชู 3 นิ้ว การบีบแตร ขณะที่มีการเคลื่อนขบวนและรวมกลุ่ม

เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้เดินทางไปยังบริเวณจุดนัดหมายเพื่อสังเกตการณ์เวลาประมาณ 17.00 น. มีทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซต์ทยอยเข้ามาจอดเรียงกันเป็นขบวน รวมแล้วมีรถยนต์ประมาณ 10 คัน รถมอเตอร์ไซต์ประมาณ 20 คัน คนราว 70 คน โดยมีผู้ลงมาจากรถเพื่อพูดคุยกันเป็นหลายๆ กลุ่ม ไม่มีการเว้นระยะห่างกัน ส่วนมากสวมใส่หน้ากากอนามัย หลังรวมตัวกันประมาณ 30 นาที ได้มีรถยนต์กระบะสีขาว มาจอดบริเวณหัวขบวน โดยมีป้ายไวนิล “อุตรดิตถ์ปลดแอก” ติดไว้ที่กระโปรงรถตามภาพถ่ายพยานหลักฐานในคดี

จากนั้น จึงเริ่มเคลื่อนขบวนไปตามถนนในเมืองอุตรดิตถ์วนไปตามเส้นทางต่างๆ ในเมือง วนออกไปนอกเมืองแล้วกลับเข้ามาภายในเมืองอีกครั้ง จนขบวนรถได้มาแยกย้ายที่บริเวณสี่แยกโรงเรียนอุตรดิตถ์ มีรถยนต์หัวขบวนกับรถอีกบางส่วนมาจอดรวมตัวกันบริเวณลานพระยาพิชัยดาบหัก จอดพูดคุยกันสักพักแล้วก็แยกย้ายกลับ ตลอดกิจกรรมทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวไว้ มีการส่งมอบให้กับพนักงานสอบสวนในคดี

จากการติดตามทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตั้งแต่การรวมตัวที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์เป็นต้นมา ระหว่างการเคลื่อนขบวนมีการลดกระจกมาชู 3 นิ้ว มอเตอร์ไซต์หลายคันจอดติดไฟแดงก็มีการพูดคุยกัน ซึ่งน่าจะเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 แม้จะมีการสวมใส่หน้ากากตลอด ตำรวจจึงได้ทำรายงานการสืบสวนเสนอไปยังผู้กำกับการ สภ.เมืองอุตรดิตถ์

ตำรวจได้ทำการตรวจสอบทะเบียนรถยนต์กระบะนำขบวน พบว่าเจ้าของคือนายอนุรักษ์ แก้ไข ทั้งตรวจสอบเฟซบุ๊กของอนุรักษ์เฟซบุ๊ก ยังพบว่ามีการใช้รถยนต์คันดังกล่าวตลอด เฟซบุ๊กอีกทั้งปรากฏคอมเมนต์ในเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” โดยนายอนุรักษ์ว่า “ครั้งหน้าจะมานำขบวนเหมือนเดิมครับ กลัวที่ไหน”

ส่วนทองแสง จำเลยที่ 2 ตำรวจได้ตรวจสอบเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” พบว่าเพจเฟซบุ๊กได้เริ่มเคลื่อนไหวประมาณเดือน ต.ค. 2563 จากนั้นมีการนัดชุมนุมและมีการมาขออนุญาตชุมนุมที่ สภ.เมืองอุตรดิตถ์ โดยระบุว่า นายทองแสง เป็นผู้ดูแลเพจ หลังจากนั้นมีการมาขออนุญาตชุมนุมอีกครั้งราววันที่ 18 พ.ย. 2563 โดยทองแสงระบุที่อยู่คือเฟซบุ๊กเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” จากการตรวจสอบพบว่าหากเฟซบุ๊กเฟซบุ๊กเฟซบุ๊กหากเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” มีการโพสต์ข้อความ จะมีการแชร์มาที่เฟซบุ๊กส่วนตัวของทองแสงอย่างทันที ห่างจากเวลาโพสต์เพียงนิดเดียว นอกจากนี้เมื่อมีคนมาคอมเมนต์สอบถามในเพจ ทองแสง ก็จะเข้าไปตอบคำถาม

นอกจากนี้เรื่องการพูดคุยในแอพพลิเคชั่น Clubhouse มีการใช้ชื่อว่า “อุตรดิตถ์ปลดแอก” มีทองแสงเป็นคนพูดคุยในกลุ่ม โดยใช้ชื่อว่า “อ๊อดเอง” ใช้รูปของทองแสง และชื่อเล่นของทองแสงก็คือ “อ๊อด” เฟซบุ๊ก

ส่วนการตรวจสอบเฟซบุ๊กว่าใครเป็นผู้ใช้หรือเป็นผู้ดูแลนั้น ทางตำรวจระบุว่าไม่สามารถทำได้ เพราะเซิร์ฟเวอร์อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้แจ้งกลับมาที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองอุตรดิตถ์ ในเรื่องดังกล่าว

พ.ต.ท.เอกพงศ์ ปริษาวงศ์ รองผู้กำกับการสืบสวน ยังได้เบิกความอีกว่า เขาได้ทำการตรวจสอบว่าจำเลยทั้งสองไม่มีการขออนุญาตการชุมนุมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด และเขาเองได้สอบถามไปยังสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์เรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงดังกล่าว ก่อนจะรายงานการสืบสวนทั้งหมดให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และจากการปรึกษากับผู้บังคับบัญชาเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการจัดกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่ห้ามการรวมตัวเกินกว่า 20 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต จึงได้ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสอง

.

ทนายความถามค้านพยานตำรวจ 3 นาย ที่ดำเนินคดีเพราะเชื่อข้อสันนิษฐานจากหลักฐานแวดล้อม 

หลังจากการเบิกความของตำรวจแต่ละปาก ทนายความจำเลยได้ขึ้นไปถามค้านเพื่อตรวจสอบน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยาน และพยานเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสามได้ตอบคำถามมีเนื้อหาโดยสรุปว่า

เหตุที่เชื่อว่าทองแสง เป็นผู้ดูแลเฟซบุ๊กเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก”นั้น ไม่ได้มีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจนจากบริษัทเฟซบุ๊กหรืออื่นๆ เป็นเพียงข้อสันนิษฐานจากหลักฐานแวดล้อม เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้โดยตรงว่าใครเป็นผู้ใช้งานเฟซบุ๊กใดหรือใครเป็นผู้ดูแลเพจใด และไม่สามรถตรวจสอบได้ว่าโพสต์ที่มีการเชิญชวนให้เข้าร่วมการชุมนุมนั้นใครเป็นผู้โพสต์ ส่วนเฟซบุ๊กเพจที่เป็นสาธารณะนั้นใครก็สามารถแชร์หรือคัดลอกข้อความมาจากเพจสาธารณะนั้นได้ อีกทั้งตำรวจยอมรับว่าเฟซบุ๊กเพจสามารถมีผู้ดูแลได้หลายคนและไม่อาจยืนยันได้ว่าผู้โพสต์ในเพจกับผู้แจ้งจัดการชุมนุมเป็นคนเดียวกันจริงหรือไม่

เจ้าหน้าที่ตำรวจยังได้ตอบคำถามค้านว่า เฟซบุ๊กเพจสาธารณะนั้นใครก็สามารถเข้าไปดู, คอมเมนต์โต้ตอบได้ อีกทั้งกรณีที่มีการติดตามโดยตั้งค่าเป็นรูปดาวไว้ ก็จะได้รับการแจ้งเตือนจากเฟซบุ๊กเพจได้ทันทีที่มีความเคลื่อนไหว และสามารถแชร์ข้อความจากเฟซบุ๊กเพจดังกล่าวได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ดูแลเพจดังกล่าว

กรณีของแอพพลิเคชั่น Clubhouse นั้น ทางตำรวจก็ไม่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าทองแสงเป็นผู้สร้างห้องพูดคุยสนทนาขึ้นมา เพียงแต่ทางตำรวจฟังจำเลยที่ 2 พูดคุยอยู่ภายในห้องดังกล่าว

วันที่มีการชุมนุม ระหว่างการรวมตัวของผู้เข้าร่วมพื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานที่โล่งกว้าง ประชาชนต่างคนต่างเอารถมาจอดเป็นกลุ่มๆ ไม่มีการจัดการหรือใครที่แสดงตัวเป็นหัวหน้าหรือผู้จัดชัดเจน รถยนต์กระบะสีขาวที่มีป้ายข้อความ “อุตรดิตถ์ปลดแอก”ในคดีนี้ก็เดินทางมาหลังจากที่ขบวนเริ่มมีการเรียงกันแล้ว โดยมาจอดลักษณะจอดด้านหน้าขบวน สักพักก็ออกนำขบวนไป

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 3 นายตอบคำถามค้านยืนยันว่า ไม่มีใครเห็นจำเลยที่ 1 และ 2 ที่ถูกฟ้องในคดีนี้ในที่เกิดเหตุเลย พยานหลักฐานที่นำมากล่าวหาจำเลยที่ 1 มาจากการตรวจสอบและทราบภายหลังจากป้ายทะเบียนรถยนต์และการตรวจสอบเฟซบุ๊กของนายอนุรักษ์ ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นก็มาจากข้อสันนิษฐานจากหลักฐานแวดล้อมของทางตำรวจเท่านั้น

.

.

พนักงานสอบสวนขึ้นเบิกความช่วงชุมนุมมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคำสั่งจังหวัดห้ามชุมนุม

พยานโจทก์ปากสุดท้ายที่อัยการนำขึ้นเบิกความต่อศาลได้แก่ พ.ต.ท.เวช เทียบน้ำอ่าง พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุตรดิตถ์ ผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ พยานได้ขึ้นเบิกความโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2564 ได้มี พ.ต.ท.เอกพงศ์ เข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษจำเลยทั้งสองในคดีนี้ และพยานได้ทำการสอบปากคำผู้กล่าวหาไว้ ก่อนจะสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการชุมนุมคาร์ม็อบ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ซึ่งช่วงดังกล่าวมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดซึ่งห้ามการชุมนุมเกินกว่า 20 คน ที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโรค

พยานเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและรวมกลุ่มเกินกว่า 20 คน จึงออกหมายเรียกผู้ต้องหามาแจ้งข้อกล่าวหา ส่วนจำเลยที่ 2 จากการรวบรวมพยานหลักฐาน เห็นว่าพฤติการณ์ตามการสืบสวนเป็นการยุยงส่งเสริมให้เกิดการกระทำความผิดฐานร่วมกันชุมนุม จึงได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหามาแจ้งข้อกล่าวหา

นอกจากนี้พยานได้ทำการตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีการขออนุญาตจัดการชุมนุมในคดีนี้หรือไม่ ได้รับแจ้งว่าไม่มีการขออนุญาต จากนั้นพยานได้ตรวจสอบสถิติผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงที่มีการชุมนุม ตามเอกสารหลักฐานในคดี กรณีสุดท้ายเกี่ยวกับแอพพลิเคชั่น Clubhouse พยานได้รับแจ้งจากตำรวจชุดสืบสวนว่าแอพพลิเคชั่นดังกล่าวเป็นการสนทนาด้วยเสียง หากมีการบันทึกเสียงการพูดคุย จะถูกนำออกจากห้องสนทนาทันที จึงไม่สามารถบันทึกเสียงการสนทนามาส่งต่อศาลได้

พ.ต.ท.เวช ตามคำถามค้าน รับว่าสถานที่เกิดเหตุในคดีนี้เป็นสถานที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ในส่วนผู้มีหน้าที่แจ้งขออนุญาตตามข้อกฎหมาย พยานอ้างว่าไม่จำเป็นต้องเป็นผู้จัดการชุมนุมก็ได้ เพียงแต่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมคนใดคนหนึ่ง ก็สามารถไปขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยพยานเข้าใจว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ใช่ความเข้าใจไปเองของพยาน ส่วนจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตักเตือนว่าการชุมนุมดังกล่าวไม่มีการขออนุญาตหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ

เรื่องการตรวจสอบเฟซบุ๊กว่าใครเป็นผู้ดูแลเพจนั้น พยานได้สอบถามไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับคำตอบว่าไม่สามารถตรวจสอบเรื่องดังกล่าวได้ แต่ให้พิสูจน์ด้วยวิธีการอื่นแทน จึงไม่มีหลักฐานเป็นทางการจากหน่วยงานต่างๆ

ส่วนกรณีผู้ดูแลเพจสามารถมีได้หลายคนนั้น พยานพอทราบ แต่จากการรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่าจำเลยที่ 2 จะมีการแชร์โพสต์จากเพจไล่เลี่ยกับการโพสต์โดยตลอด แต่ไม่ทราบเรื่องการติดตามเพจเฟซบุ๊กที่มีการตั้งค่าเป็นรูปดาว เพื่อให้เห็นทันทีที่มีความเคลื่อนไหวของเพจ

หลังจากนั้นทนายความได้สอบถามเรื่องการบันทึกเสียงการสนทนาใน Clubhouse ว่าตำรวจฝ่ายสืบสวนหลายนายไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือเครื่องอื่นๆ ทำการบันทึกเพื่อนำมาเสนอต่อศาลได้หรือไม่ หรือไม่มีการถ่ายวิดีโอการสนทนาในClubhouse มาส่งให้พยานเลยใช่หรือไม่ พยานระบุว่าไม่ทราบ เนื่องจากเป็นหน้าที่ของฝ่ายสืบสวน แต่ไม่มีการส่งวิดีโอมาให้พยานแต่อย่างใด

.

จำเลยที่ 1 ยืนยันไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เข้าร่วมในฐานะประชาชนคนหนึ่งไม่ใช่ผู้จัด คิดว่าไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ

ในส่วนการสืบพยานฝ่ายจำเลย จำเลยที่ 1 อนุรักษ์ แก้ไข ได้ขึ้นเบิกความว่า ตนรู้จักเฟซบุ๊กเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” ตั้งแต่ประมาณปลายปี 2563 ถึงปัจจุบัน โดยเป็นการติดตามไว้ในรายการโปรดที่จะมีดาวติดไว้ เมื่อเฟซบุ๊กเพจมีการโพสต์จะมีการแจ้งเตือนมาที่เฟซบุ๊กส่วนตัวของพยาน และพยานก็จะทำการแชร์โพสต์ต่างๆ บ่อยครั้ง แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ดูแล รู้แค่ว่าเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” ดังกล่าวมีการโพสต์เรื่องการชุมนุมราว 1-2 ครั้ง ถ้ารวมที่เกิดเหตุในคดีนี้เป็น 3 ครั้ง พยานเคยไปร่วมชุมนุมด้วย และพยานทราบว่าครั้งนั้นมีการขออนุญาตชุมนุมเรียบร้อยแล้ว

เหตุในคดีนี้วันที่ 15 ส.ค. 2564 พยานได้ไปร่วมการชุมนุมคาร์ม็อบ โดยมีเพื่อนพยานชวนไป ซึ่งวันดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยใช้ยานพาหนะส่วนตัวขับเคลื่อนไปตามเส้นทางต่างๆ พยานจึงได้ใช้รถยนต์กระบะสีขาวของพยานไปร่วมกิจกรรม วันดังกล่าวไม่มีการปราศรัย ไม่ได้อยู่รวมกัน เป็นการใช้รถส่วนตัวอยู่ภายในรถตนเอง จึงไม่คิดว่าเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคแต่อย่างใด

พยานไปถึงเวลาประมาณ 17.20 น. ที่บริเวณประตูมหาวทิยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มีการตั้งขบวนอยู่แล้วโดยไม่ได้มีใครมาจัดขบวน ไม่เห็นตำรวจมาห้ามหรือบอกให้เลิกการชุมนุม หรือบอกว่าการชุมนุมไม่ได้รับอนุญาต พยานจึงเข้าใจว่าการชุมนุมครั้งนี้ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

ตอนที่พยานไปถึงมีคนมาสอบถามว่าติดป้ายบนรถพยานได้ไหม พยานก็บอกว่าได้ ที่พยานไปขับรถนำขบวนเพราะเห็นว่าไม่มีใครนำออกขบวนสักที และเห็นว่าเลยจากเวลาที่มีการนัดหมายมาแล้ว พยานไม่ได้รู้เส้นทางด้วยซ้ำ เพียงแต่ขับไปตามถนนที่มองเห็นว่ารถไม่ติด ระหว่างเคลื่อนขบวนไปก็ไม่เห็นว่ามีตำรวจเข้ามาห้าม ระหว่างนั้นก็มีการพูดคุยกันใน Clubhouse มีจำเลยที่ 2 เข้ามาพูดคุยด้วย เห็นว่าเข้าๆ ออกๆ จากห้องสนทนา ส่วนใหญ่จะเป็นการพูดคุยว่าขบวนรถถึงจุดไหนแล้ว จุดสิ้นสุดคือก่อนถึงลานพระยาพิชัยดาบหัก โรงเรียนอุตรดิตถ์ เป็นทางเข้าสนามบาสพอดี

สำหรับจำเลยที่ 2 พยานไม่เคยได้ยินการสั่งการหรือการชี้นำว่าให้ไปเส้นทางใด โดยขณะมีกิจกรรมคนเข้าร่วมพูดคุยใน Clubhouse ราว 40-50 คน มีทั้งคนที่เข้าร่วมกับคนที่ไม่ได้มาร่วมกิจกรรมด้วย พยานเข้าร่วมกลุ่มสนทนาช่วงกลางๆ แล้ว ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้างห้องสนทนา แต่มีการพูดคุยกันตลอดเรื่องเส้นทาง พยานจึงทราบว่ามีทั้งคนเข้าร่วมและไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม แอพพลิเคชั่น Clubhouse ใครกดติดตามไว้ก็สามารถเปิดห้องสนทนาได้ ถ้าไม่มีคนพูดคุยในห้องประมาณ 15-20 นาที ก็จะปิดห้องเอง ถ้าจะพูดคุยกันใหม่ก็ต้องเปิดห้องใหม่มาพูดคุย ห้องที่พูดคุยกันแต่ละครั้งไม่จำเป็นต้องมีคนควบคุมห้อง

พยานเห็นว่าการชุมนุมของประชาชนเป็นไปตามสิทธิส่วนบุคคลตามระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และพยานไม่เคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับการชุมนุมมาก่อน

ด้านอัยการได้ถามค้านพยาน โดยให้พยานยืนยันเฟซบุ๊กส่วนตัวที่ใช้งานและรถกระบะสีขาวในที่เกิดเหตุว่าเป็นของพยาน พยานยอมรับว่าเป็นเฟซบุ๊กและรถยนต์ของพยานจริง แต่ภาพบุคคลที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดทำมานั้น ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นบุคคลใดเพราะเป็นภาพที่ไม่ชัดเจน ส่วนเรื่องการชุมนุมก็รับว่าไม่ได้มีการแจ้งผ่านเฟซบุ๊กเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” ว่ามีการขออนุญาตชุมนุมเรียบร้อยแล้ว

ส่วนเรื่องจำเลยที่ 2 อัยการพยายามสอบถามพยานว่า ทองแสงเป็นหัวหน้าห้องและเป็นผู้เปิดห้องสนทนาใน Clubhouse หรือไม่ แต่พยานไม่สามารถยืนยันเรื่องดังกล่าวได้ เพราะขับรถอยู่ระหว่างร่วมกิจกรรมและยังเข้าไปช่วงกลางๆ ของการสนทนาที่เริ่มไปแล้ว แต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีการพูดคุยชี้นำการสนทนาว่าต้องให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทำตัวอย่างไร เพียงแต่เข้ามาสอบถามว่าขณะนั้น ขบวนรถได้ไปถึงที่ไหนแล้ วจะไปเส้นทางใดบ้าง ซึ่งมีหลายคนในห้องสนทนาสอบถามแบบเดียวกัน

.

จำเลยที่ 2 ยืนยันไม่เกี่ยวกับเพจเชิญชวน ไม่อยู่ในที่ชุมนุม แค่ติดตามกิจกรรมด้วยความสนใจ

ทองแสง ไชยแก้ว จำเลยที่ 2 ขึ้นเบิกความเล่าว่า ช่วงปี 2563 ตนทำงานที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นงานบริษัทของตนเองเกี่ยวกับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนมาจนถึงปัจจุบัน แต่มีช่วงหนึ่งที่พยานได้เดินทางไปทำงานที่จังหวัดสมุทรปราการเป็นการรับจ้างเทรนนิ่งในบริษัทแห่งหนึ่งประมาณ 29 ม.ค. 2564 และกลับมาที่จังหวัดอุตรดิตถ์ประมาณ 13 ก.พ. 2565

พยานรู้จักเฟซบุ๊กเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” ประมาณปี 2563 มีเยาวชนในจังหวัดอุตรดิตถ์ชวนให้ไปทำงานร่วมกัน โดยพยานก็ได้กดติดตามและตั้งเป็นรายการโปรดที่จะมีรูปดาวเฟซบุ๊กเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” ไว้ เช่นเดียวกับเฟซบุ๊กเพจการเมืองอีกหลายเพจด้วยกัน

ส่วนเรื่องที่พยานได้เคยไปแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองอุตรดิตถ์ นั้นเป็นเรื่องจริง แต่พยานไม่เคยเป็นผู้ดูแลเฟซบุ๊กเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” ที่ต้องระบุอ้างชื่อในเอกสารเช่นนั้นเพราะปกติแล้วหากกลุ่มเยาวชนไปแจ้งจัดการชุมนุมจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปติดตามจนถึงขั้นคุกคามที่บ้าน พยานที่ทำงานกับกลุ่มเยาวชนจึงอาสารับหน้าที่การแจ้งชุมนุมสาธารณะแทนเยาวชน

นอกจากเฟซบุ๊กเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” แล้วยังมีเฟซบุ๊กเพจอีกจำนวนมากที่พยานแชร์เนื้อหาที่มีการโพสต์ซึ่งเมื่อมีการแจ้งเตือนจากเฟซบุ๊กเพจต่างๆ ก็แชร์ทันที ซึ่งไล่เลี่ยกับเวลาที่เฟซบุ๊กเพจมีการโพสต์ อีกทั้งปกติแล้วพยานก็ไปคอมเมนต์แสดงความเห็นหรือตอบโต้ในเฟซบุ๊กเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” บ่อยๆ โดยใช้เฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นการทั่วๆ ไป หากทางตำรวจไปไล่ดูก็จะทราบอยู่แล้ว

ส่วนเรื่องแอพพลิเคชั่น Clubhouse พยานสมัครใช้แล้วกดติดตามกลุ่มต่างๆ ไว้ รวมถึงกลุ่ม “อุตรดิตถ์ปลดแอก” ปกติพยานไม่ได้ชวนคุยอะไร ใครเข้าไปก็สามารถพูดคุยกันได้

พยานยืนยันว่าวันที่ 15 ส.ค. 2564 ไม่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัดอุตรดิตถ์และไม่ใช่ผู้ก่อให้มีการชุมนุม ตั้งแต่พยานย้ายไปอยู่จังหวัดสมุทรปราการ ก็ไม่ค่อยทราบข่าวในพื้นที่

ด้านอัยการได้าถามค้านพยาน เกี่ยวกับการแจ้งการชุมนุมจำนวน 2 ครั้ง ของพยาน และพยานก็ระบุว่าเป็นผู้ดูแลเฟซบุ๊กเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” ในเอกสารทั้ง 2 ครั้ง พยานระบุว่าเนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้บอกให้ต้องระบุเนื้อหาดังกล่าวลงไปในเอกสาร จึงจะแจ้งจัดการชุมนุมได้

จากนั้นอัยการก็ได้สอบถามความสัมพันธ์ของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ว่าเป็นเพื่อนกันในเฟซบุ๊กและรู้จักกันมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง พยานระบุว่าเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กกันและรู้จักกันมาประมาณ 5 ปี จากการทำกิจกรรมกับกลุ่มเยาวชนในจังหวัดอุตรดิตถ์ มีการสนทนาผ่านแชทเป็นการทั่วไปในหลายเรื่อง

อัยการได้สอบถามเรื่องแอพพลิเคชั่น Clubhouse ว่าพยานได้ใช้รูปโปรไฟล์เดียวกับเฟซบุ๊กส่วนตัวหรือไม่ พยานระบุว่าไม่แน่ใจเนื่องจากมีการเปลี่ยนรูปไปมาหลายครั้ง ต้องขอดูรูปหลักฐานของทางตำรวจ แต่กลับไม่ปรากฏพยานหลักฐานดังกล่าวในคดี อัยการจึงสอบถามเรื่องการเปลี่ยนชื่อห้องสนทนาจาก “อุตรดิตถ์ปลดแอก” เป็น “ตำรวจอุตรดิตถ์พวกเหี้ย-อุตรดิตถ์ปลดแอก” ว่าพยานเป็นผู้เปลี่ยนใช่หรือไม่ พยานอธิบายว่าปกติแล้ว Clubhouse ไม่สามารถเปลี่ยนชื่อห้องสนทนาได้ และพยานไปกดติดตามไม่สามารถเปลี่ยนชื่อได้ น่าจะเป็นการสร้างห้องสนทนาขึ้นใหม่ซึ่งจะตั้งชื่อเป็นอะไรก็ได้ น่าสังเกตว่าในการนำจำเลยขึ้นเบิกความต่อศาลนี้ ทนายความได้สอบถามประเด็นเรื่องคำพิพากษาคดีคาร์ม็อบในจังหวัดอื่นๆ ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เพื่อจะยื่นเอกสารคำพิพากษาประกอบการพิจารณา ว่าจำเลยทราบเรื่องหรือไม่ แต่ผู้พิพากษาในคดีได้อ้างว่าจำเลยจะทราบถึงคดีอื่นได้อย่างไร ทำให้ไม่ได้ยื่นคำพิพากษาของศาลอื่นๆ ประกอบแต่อย่างใด

.

.

นักวิชาการฝ่ายจำเลยให้ความเห็น 8 ประเด็น การใช้สิทธิของพลเมืองไม่ควรผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พยานฝ่ายจำเลยที่นำขึ้นเบิกความปากสุดท้าย ได้แก่ ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการตีความ และบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยพยานได้จัดทำคำเบิกความเป็นลายลักษณ์อักษรมายื่น พร้อมกับเบิกความยืนยันเนื้อหาดังกล่าวต่อศาลอีกครั้ง มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

พยานเป็นอาจารย์ที่สอนในรายวิชากฎหมายมหาชน กฎหมายปกครองและกฎหมายวิธีพิจารณาของศาลปกครอง ทำให้มีความสนใจประเด็นข่าวสารทางการเมือง ตลอดจนติดตามการชุมนุมเรียกร้องของประชาชน และนักศึกษาในเรื่องต่างๆ และได้แสดงความเห็นทางกฎหมายและการเมืองผ่านสื่อสิ่งพิมพ์อยู่เสมอ

เกี่ยวกับคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกิดจากกิจกรรมคาร์ม็อบที่กำลังพิจารณาคดีอยู่ในศาลนั้น พยานให้ความเห็นไว้ 8 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่

1. ในรัฐเสรีประชาธิปไตยนั้นยึดถือคุณค่าของหลักนิติรัฐเป็นสำคัญ โดยที่หลักนิติรัฐนั้นจะผูกพันทั้งกับประชาชนและกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเป็นหลักประกันว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจอันสะท้อนหลักการสำคัญของการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่ว่า ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ไม่สามารถกระทำได้ และการดำเนินการที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นเจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการให้กระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพจนประชาชนไม่อาจใช้เสรีภาพได้

2. เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิ่งที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญในมาตรา 44 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” และวรรคสอง “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”

เสรีภาพในการชุมนุมนั้นถือเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของรัฐเสรีประชาธิปไตย เพราะเป็นวิธีการเรียกร้องหรือเสนอความเห็นต่อผู้ปกครองในการที่จะให้ผู้ปกครองตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน หากปราศจากเสรีภาพในการชุมนุมหรือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแล้ว ย่อมส่งผลให้รัฐนั้นดำเนินกิจการไปโดยที่ไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและมาซึ่งการบริหารงานและการปกครองในรูปแบบเผด็จการในที่สุด

ในกรณีต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปตะวันตกหรือสหรัฐอเมริกา จะเห็นได้ว่ามีการยึดถือว่าเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในระดับรัฐธรรมนูญ ในในยามวิกฤตจากภัยของไวรัสโคโรนา รัฐเองยังไม่สามารถห้ามการชุมนุมได้ ทำได้แต่เพียงอำนวยความสะดวกและจัดมาตรการเพื่อป้องกันการระบาดของโรคเท่านั้น

3. การดำเนินมาตรการต่างๆ ของรัฐ ซึ่งรวมถึงกระบวนการนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการนั้น รัฐพึงยึดถือการใช้อำนาจภายใต้หลักแห่งความได้สัดส่วน หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าหลักความพอสมควรแก่เหตุ กล่าวคือ มาตรการต่างๆ ที่รัฐพึงนำมาใช้บังคับกับประชาชนนั้น จะต้องได้สัดส่วนกับสิทธิเสรภาพของประชาชนที่สูญเสียไป โดยมีหลักการสำคัญที่ต้องคำนึงถึงได้แก่

– หลักความเหมาะสม มาตรการที่กฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองออกมาใช้บังคับแก่ประชาชนต้องเป็นมาตรการที่เหมาะสม กล่าวคือ สามารถดำเนินการเพื่อให้เกิดผลตามที่ฝ่ายนิติบัญญัติประสงค์จะให้เกิดขึ้นได้จริงในทางปฏิบัติการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจะกระทำได้ ก็เฉพาะเพียงเพื่อจัดระเบียบแห่งการใช้สิทธิและเสรีภาพเหล่านั้นไม่ให้การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนคนหนึ่งกระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนคนอื่นๆ หรือเพื่อรักษาไว้ซึ่งประโยชน์มหาชนเท่านั้น

– หลักความจำเป็น มาตรการที่กฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองออกมาใช้บังคับแก่ประชาชนต้องเป็นมาตรการที่จำเป็นแก่การดำเนินการเพื่อให้เจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของกฎหมายนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ โดยกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุด

– หลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ มาตรการที่กฎหมายให้อำนาจฝ่ายปกครองออกมาใช้บังคับแก่ประชาชนต้องเป็นมาตรการที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่มหาชนยิ่งกว่าที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เอกชนหรือแก่สังคมโดยส่วนรวม

4. หากพิจารณาบริบทที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันมีผลให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยที่กลไกการตรวจสอบในระบบปกติไม่สามารถทำงานได้  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนา จะเห็นว่ารัฐเองไม่สามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากแต่ยังต้องคงไว้ซึ่งความสมดุลในการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์มหาชนกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยรัฐเองมีทางเลือกในการใช้มาตรการอื่นที่นอกเหนือจากการสั่งห้ามการชุมนุมได้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคัดกรอง หรือมาตรการอื่นทางสาธารณสุข โดยรัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ไม่ใช่การสั่งห้าม

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทยจะพบว่าการระบาดของไวรัสโคโรนาไม่เคยมีต้นกำเนิดหรือคลัสเตอร์จากการชุมนุมทางการเมืองเลย ย่อมแสดงให้เห็นว่าการห้ามการชุมนุมนั้นไม่ได้สัดส่วนกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เสียไป

ด้วยเหตุนี้ แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา รัฐก็ไม่อาจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกในลักษณะทั่วไปและอย่างสิ้นเชิงจนถึงขนาดที่ประชาชนไม่สามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ หากแต่ต้องกำหนดเงื่อนไขในการชุมนุมที่ชัดเจนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา โดยที่ประชาชนยังคงใช้เสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกซึ่งความคิดเห็นได้ การห้ามการชุมนุมจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เฉพาะกรณีอย่างเพียงพอว่าการชุมนุมสามารถทำได้หรือไม่

5. จากเหตุผลข้างต้น ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ข้อ 5 ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และข้อ 16 ซึ่งกำหนดให้ใช้ทั่วราชอาณาจักร หากบุคคลใดฝ่าฝืนก็จะมีโทษตามที่ได้กำหนดไว้ ข้อกำหนดดังกล่าวมีผลเป็นการห้ามการชุมนุมสาธารณะในลักษณะทั่วไปและอย่างสิ้นเชิง โดยไม่ได้พิจารณาบริบทเฉพาะกรณีว่าการชุมนุมจะเป็นอันตรายต่อการแพร่ระบาดของโรคหรือไม่ จึงเป็นกฎเกณฑ์ที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถที่จะใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้เลย ด้วยเหตุข้างต้น ข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่อาจใช้เป็นฐานในการจำกัดเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนได้

6. สำหรับพฤติการณ์ของจำเลยนั้นเป็นไปในลักษณะของการขี่รถจักรยานยนต์ แม้จะมีลักษณะของการอยู่หน้าขบวน ก็ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม อีกทั้งการชุมนุมในรูปแบบของคาร์ม็อบนั้นเป็นการชุมนุมโดยที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมอยู่ในรถยนต์ส่วนตัวหรือในรถจักรยานยนต์ ไม่ได้มีลักษณะของการเดินเท้าแออัดกันในพื้นที่ปิด จากข้อกล่าวหาต่อจำเลยพบว่า การชุมนุมนั้นเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะและเป็นพื้นที่เปิด ไม่ได้อยู่ในอาคารปิดหรือมีการใช้เครื่องปรับอากาศ การชุมนุมดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นต้นตอหรือคลัสเตอร์ของไวรัสโคโรนาได้ และยังไม่ปรากฏผู้ติดเชื้อเป็นวงกว้างจากการเข้าร่วมชุมนุมดังกล่าว

7. จากสถานการณ์ของไวรัสโคโรนา ในช่วงเวลาที่จำเลยเข้าร่วมการชุมนุมนั้น พบว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวในวันที่ 29 สิงหาคม 2564 ภายหลังจากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่ามีแนวโน้มลดลง อีกทั้งยังมีการเตรียมมาตรการผ่อนคลาย ตามมติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (2019) โดยจังหวัดอุตรดิตถ์ ถือเป็นหนึ่งในแปดเส้นทางของการเดินรถของบริษัทขนส่งจำกัด ย่อมแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดนั้นมีอัตราลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

8. โดยที่สถานการณ์ของไวรัสโคโรนาในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อันเป็นผลมาจากการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดที่จะพิสูจน์ได้ว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นมีส่วนช่วยลดแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่การระบาดในระลอกที่หนึ่งนั้น รัฐบาลสามารถดำเนินการให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเป็น 0 รายได้ เพราะมาตรการ LOCK DOWN แต่ก็เป็นเพียงการใช้กฎหมายบังคับเอากับพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องมีการพบปะแลกเปลี่ยนและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกัน โดยผลที่ตามมาได้แก่ปัญหาสังคมในทางอื่นไม่ว่าจะเป็นอัตราการเลิกจ้างที่สูงขึ้นหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยเมื่อเทียบกับสัดส่วนของมาตรการแล้ว จะเห็นได้ว่ามาตรการที่ใช้บังคับนั้นไม่ได้สัดส่วนกับสิ่งที่สังคมต้องสูญเสียไป และรัฐไม่อาจเยียวยากลับมาได้ ดังนั้นการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงไม่ได้สัดส่วนกับผลที่ได้รับ

พยานเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย คงเป็นแต่เพียงการใช้สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้ในฐานะพลเมืองคนหนึ่งเท่านั้น

.

จับตาคำพิพากษา 25 ต.ค. 2565

หลังพยานโจทก์และจำเลยได้ขึ้นเบิกความต่อศาลทั้งหมดแล้ว ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ได้กำหนดวันฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 ต.ค. 2565 เวลา 9.00 น.

ประเด็นที่น่าจับตาในคำพิพากษา ได้แก่ ศาลจะพิจารณาเรื่องสิทธิในการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้กับข้อกำหนดที่ห้ามการชุมนุม ทำกิจกรรมหรือหรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เป็นกฎหมายลำดับรองลงมาว่าอย่างไร

อีกทั้งรูปแบบกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นกิจกรรมคาร์ม็อบ ซึ่งไม่มีการรวมกลุ่มของประชาชนอาศัยยานพาหนะส่วนบุคคล ร่วมแสดงสัญลักษณ์ไปในเส้นทางเดียวกันเมื่อจบกิจกรรมก็ทำการแยกย้าย ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 จะถูกศาลตีความหรือไม่อย่างไร

สุดท้ายคือประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ ที่ยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนในการโพสต์ข้อความในเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” จึงไม่ใช่ผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดโดยการใช้ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริมตามที่ถูกฟ้องนั้น ศาลจะวินิจฉัยออกมาเป็นอย่างไร

.

X