อัยการฟ้องคดีคาร์ม็อบอุตรดิตถ์ เพิ่มอีก 1 ราย แม้ไม่ได้ไปร่วมกิจกรรม อ้างเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นชุมนุม

30 พ.ค. 2565 ที่ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ อัยการมีคำสั่งฟ้องคดีของทองแสง ไชยแก้ว ในข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง และประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดอุตรดิตถ์ เหตุจากกิจกรรมคาร์ม็อบของกลุ่มอุตรดิตถ์ปลดแอก เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ก่อนศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์จำนวน 2 หมื่นบาท

สำหรับ ทองแสง อายุ 29 ปี พื้นเพเป็นคนอุตรดิตถ์ ระหว่างเกิดเหตุในคดีนี้ เขาไม่ได้อยู่ในกิจกรรมคาร์ม็อบแต่อย่างใด โดยไปประกอบอาชีพพนักงานบริษัทอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร แต่ตำรวจ สภ.เมืองอุตรดิตถ์ กลับออกหมายเรียกให้เขามารับทราบข้อกล่าวหา โดยกล่าวหาว่าเขาโพสต์ข้อความในเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” เชิญชวนให้คนมาเข้าร่วมการชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมาย

>> ตร.แจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แอดมินเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” แม้ตัวอยู่ต่างจังหวัด ไม่ได้ร่วมคาร์ม็อบ

.

เวลา 10.00 น. ทองแสงพร้อมด้วยทนายความเดินทางมาถึงศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ ตามเวลาที่นัดหมาย ต่อมาเวลา 11.30 น. เจ้าหน้าที่อัยการเดินทางมาถึงและยื่นคำฟ้องต่อศาล พร้อมแจ้งให้ทองแสงเข้าไปอยู่ในห้องควบคุมตัวใต้ถุนศาลก่อน

ระหว่างนั้นทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โดยวางเงินประกันจำนวน 20,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เนื่องจากการฟ้องคดีของจำเลยอีกรายหนึ่งก่อนหน้านี้ ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ แต่กำหนดหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงินดังกล่าว

ต่อมาเวลา 15.20 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยวางหลักประกัน 20,000 บาท

.

ภาพจากเพจอุตรดิตถ์ปลดแอก

.

สำหรับคำฟ้องในคดีนี้ วีระ ช้างคล้าย พนักงานอัยการจังหวัดอุตรดิตถ์ บรรยายฟ้อง มีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ถึงวันที่ 15 ส.ค. 2564 จำเลยได้ทำการใช้ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริมให้ อนุรักษ์ แก้ไข จำเลยที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากเหตุเดียวกันไปก่อนหน้านี้ กับพวกอีกหลายคนซึ่งหลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันจัดการชุมนุม โดยขับรถยนต์และขับขี่รถจักรยานยนต์จำนวน 70 คน ไปตามถนนสาธารณะสายต่างๆ ภายในเขตอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ อันเป็นการร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีประกาศ หรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 20 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต

พนักงานอัยการจังหวัดอุตรดิตถ์เห็นว่าการที่จำเลยการใช้ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริมการกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง และประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัดอุตรดิตถ์

ตอนท้ายของคำฟ้อง อัยการยังได้ระบุอีกว่า จำเลยกับพวกมีเจตนาจงใจฝ่าฝืนข้อกำหนด คำสั่ง และประกาศที่ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบและไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม ขอศาลได้ลงโทษจำเลยสถานหนักด้วย อย่างไรก็ตาม อัยการไม่ได้คัดค้านการให้ประกันตัว

นอกจากนี้แล้ว ทนายความจำเลยยังได้ยื่นคำร้องขอรวมการพิจารณาคดีของทองแสง เข้ากับคดีของอนุรักษ์ แก้ไข ที่ถูกฟ้องด้วยเหตุเดียวกันไปเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2565 เนื่องจากเป็นคดีที่มีความเกี่ยวข้องกันและพยานหลักฐานก็เป็นชุดเดียวกันด้วย โดยศาลได้อนุญาตให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองเข้าด้วยกันตามคำร้อง และกำหนดนัดพร้อมเพื่อตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 6 มิ.ย. 2565 ต่อไป

ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กรณีของทองแสงนับเป็นกรณีเดียวที่ถูกฟ้องโดยจำเลยไม่ได้มาร่วมการชุมนุม แต่กล่าวหาในลักษณะว่าเป็นผู้ยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นไปชุมนุม

>> ฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หนุ่มติดป้าย “อุตรดิตถ์ปลดแอก” ร่วมคาร์ม็อบ เจ้าตัวคับข้องใจ แต่พร้อมสู้คดี

.

X