คุยกับ “ก็อต-อ๊อด” สองจำเลยคดีคาร์ม็อบอุตรดิตถ์ เมื่อศาลลงโทษจำคุก 2 เดือน

คดีคาร์ม็อบอุตรดิตถ์แปลกกว่าจังหวัดอื่นๆ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 2 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

แปลกขึ้นไปอีก, เมื่อจำเลยรายหนึ่งไม่ได้แม้แต่ไปร่วมกิจกรรมด้วยซ้ำ แต่ตำรวจกล่าวหาว่าเขาเป็นผู้โพสต์ข้อความในเพจ “อุตรดิตถ์ปลดแอก” เชิญชวนให้คนมาเข้าร่วมการชุมนุม และแม้ในการต่อสู้คดี พยานโจทก์ที่เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังให้ความเห็นไว้ว่ารูปแบบการชุมนุมลักษณะขับขี่รถไปตามท้องถนน เป็นที่โล่งแจ้ง ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 ต่ำ และไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อหลังกิจกรรม แต่ศาลยังคงวินิจฉัยว่าเท่ากับมีความเสี่ยงอยู่ดีและสามารถแพร่โรคได้เช่นกัน จึงเห็นว่ามีความผิด

อนุรักษ์ แก้ไข และ ทองแสง ไชยแก้ว เป็นสองจำเลยที่ถูกฟ้องในคดีนี้ คนหนึ่งเป็นคนทำสวนขายผลไม้ ส่วนอีกคนเป็นคนทำงานด้านการเรียนรู้ของเยาวชนและชุมชน ทั้งสองคนยังได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น

คดีนี้เป็นคดีคาร์ม็อบเพียงคดีเดียวที่ศาลพิพากษาโทษในลักษณะนี้ ในจังหวัดอื่นๆ แนวโน้มส่วนใหญ่ยังเป็นการยกฟ้องคดี หรือหากเห็นว่ามีความผิด ก็ลงโทษปรับ หรืออย่างแย่กว่านั้น ก็ให้รอลงอาญาไว้ หลายคดีอัยการสั่งไม่ฟ้องตั้งแต่ต้น

คำถามมากมายเกิดขึ้นกับทั้งสองคนระหว่างกระบวนการพิจารณาดำเนินไป และคำพิพากษาที่ติดตามมา แม้จะจัดกิจกรรมอย่างระมัดระวัง ในรูปแบบคาร์ม็อบแล้ว ทำไมจึงยังเป็นความผิด, ก่อนหน้ากิจกรรมที่ถูกกล่าวหาก็มีการจัดชุมนุมและจัดคาร์ม็อบในช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในอุตรดิตถ์เช่นกัน แต่ทำไมจึงมี “การเลือก” ดำเนินคดีต่อเหตุครั้งนี้เพียงครั้งเดียว และทำไมถึง “เลือก” ดำเนินคดีเฉพาะสองคนนี้, จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่ตำรวจเบิกความ ทำไมไม่ตรงกับที่พบจริงๆ, สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอยู่ตรงไหนในสมการคำพิพากษาของศาลที่เกิดขึ้นนี้

ชวนพูดคุยทำความรู้จักและรับฟังคำถามของ “ก็อต” และ “อ๊อด” ประชาชนอุตรดิตถ์ทั้งสองคน ผู้กำลังเผชิญและต่อสู้กับกระบวนการทางกฎหมาย (และการเมือง) ที่เกิดขึ้น

.

.

ก็อต: “มันคงเป็นอะไรที่ไม่ถูกต้องมากจริงๆ นี่เอาคนค้ายาไปบำบัด แต่เอาคนขับรถไปติดคุก”

อนุรักษ์ แก้ไข หรือ “ก็อต” ในวัย 26 ปี จบการศึกษา ปวส. จากวิทยาลัยในจังหวัดอุตรดิตถ์ เคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งหนึ่ง ก่อนลาออก และหันไปประกอบอาชีพส่วนตัว โดยทำสวนและส่งขายผลไม้ด้วยตนเอง

ก็อตเล่าว่าความสนใจทางการเมืองของเขา เริ่มมาตั้งแต่ตอนเรียนหนังสือ เพราะชอบทำกิจกรรรมฝึกทักษะการเป็นผู้นำและการพัฒนาตนเองเป็นทุนเดิม เขาติดตามข่าวสารทางการเมือง แต่ยังไม่เคยได้ร่วมการเคลื่อนไหว ในจังหวัดอุตรดิตถ์เอง ก็ไม่ค่อยมีกิจกรรมทางการเมือง เท่าที่จำได้เคยมีกลุ่มคนเสื้อแดงจัดกิจกรรมในช่วงก่อนๆ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่บ่อยนัก จนกระทั่งในช่วงการเคลื่อนไหวปี 2563-64 ที่ได้เกิดกลุ่ม “อุตรดิตถ์ปลดแอก” ซึ่งทำกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่ขึ้น

ก็อตเล่าว่าตั้งแต่ในปี 2563 ท่ามกลางการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ เขาก็สนใจไปร่วมการชุมนุม โดยเริ่มติดตามการชุมนุมที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ ก่อนมีวันว่างที่ได้ไปฟังปราศรัยในการชุมนุมที่กลุ่มอุตรดิตถ์ปลดแอกจัดขึ้น ทำให้ได้รู้จักสมาชิกของกลุ่ม และได้ไปร่วมกิจกรรมเป็นระยะ แต่เขาไม่ใช่แกนนำใดๆ

“สิ่งที่ทำอย่างแรกคืออยากไปดูว่าเขาทำอะไรกัน อันดับต่อมาก็ติดตามข่าวกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น ผมก็แค่ไปเข้าร่วม แต่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับทางกลุ่ม” ก็อตบอก

เขาจำได้ว่าเคยไปร่วมกิจกรรมชุมนุมทั้งที่ลานอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ลานอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 รวมถึงกิจกรรมคาร์ม็อบที่จัดขึ้นต่อเนื่องในช่วงปี 2564 อันเป็นที่มาที่ทำให้ถูกดำเนินคดีแรกในชีวิต  ส่วนกับทองแสง จำเลยที่ 2 นั้น ก็อตบอกว่าเคยรู้จักกันตั้งแต่ไปร่วมกิจกรรม “อุตรดิตถ์ติดยิ้ม” ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมืองมาก่อนแล้ว

“ตอนนั้นกลุ่มประกาศจัดคาร์ม็อบ ผมทราบกำหนดการก็ไปเข้าร่วมตามปกติ เพราะก็ชอบขับรถในเมืองอยู่แล้ว โดยทราบว่าจะเริ่มจัดเวลาประมาณ 17.00 น. ก็เลยเดินทางไปเข้าร่วม ปรากฏว่ามีผมไปถึงสถานที่จัดกิจกรรมเป็นคันแรก ก็เห็นน้องๆ ที่ทำงานบอกว่า ‘ยังไม่มีรถที่ติดป้ายของกลุ่มเลย ขอติดบนรถพี่ได้หรือไม่’ ผมก็ไม่ติดอะไร ก็เลยอนุญาตไป แต่ก็แจ้งกันก่อนว่าจะไปในเส้นทางไหนบ้าง ก็เลยเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งแรกที่มีการร่วมกันทำงานจริงๆ ดูมีบทบาทกับกลุ่ม เลยทำให้ถูกดำเนินคดีไปด้วย”

ก็อตเล่าว่า การเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของเขา ไม่ได้เคยคิดหรือประเมินไว้เลยว่าจะถูกดำเนินคดี และไม่นึกว่าเพียงแค่การติดป้ายกลุ่ม “อุตรดิตถ์ปลดแอก” และขับรถออกนำขบวนคาร์ม็อบเป็นคันแรก แทบไม่ได้ลงจากรถมา ก็ทำให้เขาถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว

“ข้อเท็จจริงคือรถของผมอยู่หลังสุด แล้วรถผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่นๆ เขาก็จอดด้านหน้ารถของผม และต่อกันไปเรื่อยๆ โดยก่อนจะมีการเริ่มเคลื่อนขบวนมีรถยนต์จอดอยู่ประมาณ 6 คัน และรถจักรยานยนต์อีก 10 กว่าคัน เท่านั้นเอง แต่ในวันสืบพยาน เจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความถึงจำนวนรถที่มาเข้าร่วมเกินไปกว่าความเป็นจริง

“ตอนที่มีรถผู้ร่วมกิจกรรมมากขึ้น จริงๆ น่าจะประมาณกลางๆ ทาง เพราะมีคนที่ตามมาสมทบในภายหลัง และในตอนก่อนเริ่มเคลื่อนขบวนตามข้อเท็จจริงมีคนเพียง 20 คน แต่เจ้าหน้าที่ก็เบิกความว่ามีคนเข้าร่วมประมาณ 50 – 70 คน ตั้งแต่ต้น ซึ่งมันเกินไปจากความเป็นจริงมาก” ก็อตเล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาเห็น เปรียบเทียบกับที่ตำรวจนำมากล่าวหา

เรื่องตลกต่อมาคือ แม้มีผู้เข้าร่วมหลายคน และผู้จัดกิจกรรมจริงๆ แล้วยังเป็นเยาวชนอยู่ แต่ตำรวจได้ “เลือก” เขาให้เป็นผู้ถูกดำเนินคดี

.

.

ก็อตเล่าว่าตอนที่ตำรวจเอาหมายเรียกมาส่ง เขายังได้สอบถามเมื่อเห็นข้อหา “ชุมนุมมั่วสุมเกิน 20 คน” ว่าตำรวจติดตามผู้ต้องสงสัยมากี่คน ตำรวจบอกว่ามีเขาเพียงคนเดียว เขาก็งงว่าจะไปมีเขาคนเดียวได้อย่างไร ในเมื่อมีคนเข้าร่วมขับรถตั้งหลายคน ตำรวจจึงบอกว่า “เบื้องบน” สั่งมาให้ดำเนินการแบบนี้

“ที่ผมแปลกใจตอนแรก คือทำไมถึงมีกูคนเดียวว่ะ มันดูขัดแย้งกับข้อกล่าวหาที่ทางเจ้าหน้าที่ตั้งมา ผมไปถึงที่ สภ. คนเดียว และมีพี่ทนายตามมา ส่วนใหญ่การพูดคุยเจรจาจะเป็นส่วนของทนายความ ส่วนผมก็นั่งฟัง แต่ก็ได้ถามถึงประเด็นที่ถูกหมายเรียกคนเดียว เจ้าหน้าที่ก็ตอบกลับมาทำนองว่ายังไงก็ต้องเอามาก่อนคนเดียว เพราะมองว่าเป็นรถแกนนำ ซึ่งผมยังไม่ทราบเลยว่าไปเป็นแกนนำตอนไหน”

ขณะเดียวกัน การสืบพยานในศาลที่เกิดขึ้น ยังสร้างความรู้สึกหลายอย่างของก็อตต่อกระบวนการยุติธรรม โดยทำให้เกิดคำถามมากมายต่อเจ้าหน้าที่รัฐ

“ความรู้สึกต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างแรกเลย คือทำไมแค่นี้ถึงโดน ซึ่งมันก็ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่ใหญ่เหมือนที่นักกิจกรรมคนสำคัญๆ เขาทำกัน ถ้าหากผมจัดกิจกรรมแบบนั้นแล้ว โดนดำเนินคดีก็จะไม่ติดใจเลย แต่กับแค่นี้ก็ต้องมาขึ้นโรงขึ้นศาล

“แล้วสงสัยว่าทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงเบิกความไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในวันเกิดเหตุ เช่น อ้างว่ามีการเคลื่อนขบวนผู้ร่วมชุมนุมเยอะมาก ซึ่งมันไม่จริงเพราะเวลาดังกล่าวจำนวนน้อยกว่าที่เจ้าหน้าที่เบิกความ แล้วยังเบิกความต่อในเรื่องการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด ซึ่งข้อเท็จจริงคือเมื่อมาถึงสถานที่ก่อนยุติการชุมนุม ผมได้ลงมาพูดคุยกับผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นนั้น จริงๆ ไม่นาน ยังไม่ได้ดับเครื่องยนต์รถเลยด้วยซ้ำ เพียงแจ้งว่าการชุมนุมจบแล้วแยกย้ายกันกลับ จากนั้นก็นำป้ายที่ติดรถออก แล้วไปคืนกับน้องในกลุ่มที่ให้ป้ายมา ก็สิ้นสุดแค่นั้น

“หรืออีกครั้งที่เจ้าหน้าที่เบิกความไปว่าผู้ชุมนุมมีการลดแมสและพูดคุยกัน ซึ่งก็ไม่จริงอีก ไม่มีการลดแมสเลยในที่ชุมนุมเพราะมันก็ต้องป้องกันตัวเองอยู่แล้ว ประกอบกับภาพหลักฐานอะไรก็ไม่มี เลยเกิดความสงสัยว่าทำไมเจ้าหน้าที่ถึงเบิกความไปแบบนั้น

“เหมือนผมโดนกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง เพราะว่าการที่ออกไปขับรถ มันก็รถของใครของมัน ไม่มีกิจกรรมอะไรที่ต้องลงมามีปฏิสัมพันธ์ หรืออย่างเจ้าหน้าที่เบิกความว่ารถจักรยานยนต์ขับใกล้ชิดกันน้อยกว่า 1 เมตร แล้วถ้าเป็นกรณีที่ต้องติดไฟแดงจะทำอย่างไร ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่ต้องมาอยู่ใกล้กัน” ก็อตระบายความเห็นและคำถามของเขาต่อการต่อสู้คดีที่เกิดขึ้น

การถูกดำเนินคดียังสร้างความกังวลให้แม่ของเขา เนื่องจากแม่เป็นห่วงว่าจะได้รับผลกระทบหรือถูกตัดสินติดคุก และยังทำให้เกิดภาระทางคดี เมื่อเขาต้องทำงานขนผลไม้ไปส่งยังจังหวัดต่างๆ ทำให้ในช่วงสืบพยานหรือฟังคำพิพากษา ต้องหยุดงาน ขาดรายได้ไป

นอกจากนั้น ก็อตยังเคยคิดฝันว่าจะลงสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน ผลของคดีที่เกิดขึ้น หากมีโทษจำคุกจริงๆ จึงไม่แน่ใจว่าจะส่งผลกระทบต่อแผนการนี้หรือไม่อย่างไร

“ตั้งแต่โดนดำเนินคดีไป มีสิ่งที่ผมเปลี่ยนแปลง คือผมจะเปลี่ยนแปลงเพื่อเดินหน้าการเมืองเต็มร้อย ผมไม่ได้ทำอะไรผิด แต่กลับกลายเป็นผู้ผิดไปซะงั้น เลยเกิดความสงสัยขึ้นมากมาย และถูกดำเนินคดีต้องขึ้นโรงขึ้นศาล สูญเสียเวลา การทำมาหากิน ผมไปส่งผลไม้ที่ยะลา ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 วันในการเดินทาง เมื่อแล้วเสร็จก็ต้องเดินทางกลับ โดยใช้เวลาเท่าเดิม

“การที่จะให้ผมติดคุกเพราะเรื่องแบบนี้มันไม่ถูกต้องเลย ถ้าหากจะลงโทษกันจริงๆ ทำไมถึงไม่ไปจัดการกับพวกค้ายาเสพติด คนที่มันทำร้ายประเทศชาติจริงๆ ล่ะ ถ้าจะให้ถึงขนาดติดคุกเลย มันคงเป็นอะไรที่ไม่ถูกต้องมากจริงๆ นี่เอาคนค้ายาไปบำบัด แต่เอาคนขับรถไปติดคุก”

.

กิจกรรมของกลุ่มอุตรดิตถ์ปลดแอก ยืนสงบนิ่ง และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563

.

อ๊อด: “ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ คนก็จะออกมาชุมนุมกันเพื่อให้ตัวเองถูกจับ ถูกดำเนินคดี ต้องมีมูลเหตุหรือแรงผลักดันอะไรบางอย่างที่ทำให้ประชาชนต้องออกมาขนาดนี้”

ทองแสง ไชยแก้ว หรือ “อ๊อด” อายุ 30 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดอุดรธานี เคยเรียนระดับปริญญาตรีด้านชีววิทยาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคอีสาน แต่เรียนไม่จบ เนื่องจากพบว่า “ไม่ใช่ทาง” ที่ตัวเองสนใจ

อ๊อดเล่าว่าหลังได้เริ่มมาช่วยเป็นอาสาสมัครทำงานอยู่ในโครงการ “อุตรดิตถ์ติดยิ้ม” ภายใต้สำนักกิจกรรมกิ่งก้านใบ ซึ่งทำกิจกรรมเกี่ยวกับการสร้างพื้นที่เรียนรู้สาธารณะให้กับเยาวชนและชุมชน เขาก็ไม่ได้กลับไปเรียนอีกเลย ประมาณเกือบ 10 ปีแล้ว แม้จะมีช่วงปี 2564-65 ที่เขาเปลี่ยนไปทำงานบริษัทอยู่ที่สมุทรสาครระยะหนึ่ง แต่ก็ตัดสินใจย้ายกลับมาทำกิจกรรมแบบเดิมในที่สุด ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เขาจึงใช้ชีวิตอยู่ที่อุตรดิตถ์เป็นส่วนใหญ่

“ตอนเป็นเด็ก ผมทำกิจกรรมอยู่แล้ว กับกลุ่มกิ่งก้านใบ เขาเคยมาเวิร์คช็อปเรื่องละคร ตอนนั้นก็เลยได้ใช้ละครในการสื่อสารประเด็นเรื่องเพศศึกษา ผมเคยทำชมรมเกี่ยวกับเพศศึกษาในโรงเรียน กลายเป็นหมอลำเพศศึกษา และเอาละครมาทำร่วมกันกับน้องๆ ในชมรม แล้วก็ชอบทำกิจกรรมมาโดยตลอด”

อ๊อดเล่าย้อนไปถึงความสนใจทางการเมือง ที่มีมาตั้งแต่ช่วงเรียน ม.ปลาย คือการได้อ่านหนังสือ “ความยุติธรรมหายไปไหน: อุ้มหายทนายสมชาย นีละไพจิตร” ทำให้เขาเกิดคำถามในช่วงนั้นว่าอะไรคือการอุ้มหายโดยรัฐ, อุ้มแล้วหายไปไหน, ทำไปทำไม ขณะนั้นในช่วงนั้น อ๊อดจำได้ว่าเริ่มมีการชุมนุมของคนเสื้อแดง โดยมีคนแถวบ้านเดินทางไปร่วมชุมนุม ทำให้เกิดความสนใจว่าเขาไปชุมนุมทำไมกันด้วย

ในช่วงเรียนมัธยม อ๊อดยังบอกว่าเขายังตั้งใจจะสอบชิงทุน “หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน” เผื่อให้ได้มีประสบการณ์ไปศึกษาในต่างประเทศ แต่ก็ไม่เกิดขึ้น เนื่องจากโครงการนี้ถูกยุบเลิกไปหลังเกิดรัฐประหารปี 2549

“ผมเริ่มอ่านหนังสือพวกประวัติศาสตร์ทางการเมือง ช่วงวัยนั้นก็ไม่มีใครที่พูดคุยหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรอก อย่างเรื่องมาตรา 112 ก็เริ่มเห็นผ่านหูผ่านตา เริ่มมีคำถามในใจมา จนถึงช่วงเข้ามหาวิทยาลัย ก็เริ่มไม่เห็นด้วยกับระบบโซตัสและรูปแบบวิธีการสอนที่ใช้อำนาจของอาจารย์ ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ออกจากมหาวิทยาลัยมา”

อ๊อดยังเล่าถึงประสบการณ์การได้ไปที่ประเทศเยอรมนี ทำให้เกิดความคิดเปรียบเทียบกับประเทศไทย ว่าหลายๆ อย่างประเทศเราถึงเป็นแบบนี้ เช่น เรื่องเบียร์ ระบบการขนส่งสาธารณะ หรือการศึกษา มุมมองจากสังคมอื่นๆ เช่นนี้ ทำให้เขาเองอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้นกว่านี้ ทำให้ตัดสินใจลงมือคลุกคลีทำงานด้านเยาวชน-ชุมชน เรื่อยมา

อ๊อดสรุปว่าเขาสนใจการทำงานเชิงความรู้กับผู้คน โดยพยายามสร้างการมีส่วนร่วมในกลุ่มคนรุ่นใหม่และชุมชนในพื้นที่อุตรดิตถ์ที่เขาคลุกคลีอยู่

“เราได้เห็นเด็กๆ ที่หลุดออกนอกระบบ หรือเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียน แต่จริงๆ แล้วพวกเขาเหล่านั้นมีพลัง แทนที่เด็กๆ จะไปทำพฤติกรรมที่ไม่ดี สร้างความรุนแรง ก็ให้เขามาทำเรื่องที่มันสร้างสรรค์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมได้ไปทำงานกับเด็กหลังห้อง ทำกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ ต่อเนื่องมาจนเป็นกลุ่มอุตรดิตถ์ติดยิ้ม”

ระหว่างทาง เขายังติดตามประเด็นอื่นๆ แม้ไม่ได้ทำงานเรื่องนั้นๆ อาทิ ปัญหาเรื่องเหมืองแร่ที่กระทบต่อชุมชน ปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน กระทั่งเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวในช่วงปี 2563 เขาจึงได้เข้าร่วมการทำกิจกรรมกับกลุ่ม “อุตรดิตถ์ปลดแอก” ในที่สุด

.

ภาพการชุมนุมที่ริมน้ำน่าน จ.อุตรดิตถ์ วันที่ 17 ต.ค. 63 (ภาพจากเพจอุตรดิตถ์ปลดแอก)

.

อ๊อดเล่าว่าทางกลุ่มอุตรดิตถ์ปลดแอกเคยจัดชุมนุมในช่วงปี 2563 แต่ก็ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน แต่แน่นอนว่าย่อมมีการติดตามคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ที่ออกเคลื่อนไหว เหมือนในจังหวัดอื่นๆ การได้มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวใหญ่ที่ผ่านมา ยังทำให้เขาสรุปบทเรียนส่วนตัวบางส่วนไว้ด้วย

“สิ่งที่เปลี่ยนก็คือวิธีคิดและการร่วมมือกันทำงานมากขึ้น ผมอยากทำงานที่อุตรดิตถ์กับเยาวชนภายใน 10 ปีนี้ ให้แข็งแรงก่อน ผมเชื่อว่าหากทำงานสร้างรากฐานให้แข็งแรง เราสามารถชนะได้ในภาพใหญ่ ไม่ต้องต่อสู้เรียกร้องจากม็อบเล็กๆ น้อยๆ หากได้ทำงานทางความคิดกับคนรุ่นใหม่ 10 ปีข้างหน้า มันต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติอย่างแน่นอน

“ผมว่ารูปแบบจะต้องปลอดภัย, ต้องสร้างสรรค์จะไม่ใช้ความรุนแรง, เน้นการมีส่วนร่วม เพราะว่าถ้าเราด่าไปที่อีกฝ่าย อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องด่ากลับมาอยู่แล้ว แต่ถ้าวิธีคิดมันเปลี่ยน ทำไงให้ผู้คนมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ต้องอาศัยความสร้างสรรค์อย่างมาก ก็ตั้งใจอยากจะผลักดันเรื่องนี้”

ในช่วงปี 2564 ก่อนหน้าคดีที่เกิดขึ้นนี้ ในพื้นที่อุตรดิตถ์เอง ก็มีการจัดคาร์ม็อบขึ้นประมาณ 3 ครั้งแล้ว ซึ่งอ๊อดไม่เคยได้เข้าร่วม เนื่องจากไปทำงานอยู่นอกพื้นที่ในช่วงนั้น แต่ก็ทราบถึงการที่กลุ่มน้องๆ จัดเตรียมกิจกรรม โดยมีน้องบางคนถูกตำรวจไปหาถึงบ้านก่อนกิจกรรม ทำให้คนอื่นๆ ก็เกิดความกลัว รวมทั้งเจ้าของเครื่องขยายเสียงเองก็เกรงว่าจะถูกดำเนินคดี จึงยกเลิกการให้ใช้เครื่องเสียง กิจกรรมในวันเกิดเหตุจึงไม่มีการใช้เครื่องเสียงใดๆ

นอกจากนั้น ผู้จัดยังมีการตั้งกลุ่มพูดคุยทาง Club House ที่อ๊อดได้เข้าร่วม แต่เขาไม่ได้เป็นคนกำหนดเส้นทาง เนื่องจากเส้นทางที่คุยกันในแอพ กับเส้นทางที่เกิดขึ้นจริงก็ต่างกัน เนื่องจากทราบว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยสกัดรถที่เข้าร่วมตามเส้นทางในวันนั้นอยู่ และมีผู้เข้าร่วมถูกเจ้าหน้าที่เรียกตรวจค้นด้วย

น่าสนใจว่าการจัดกิจกรรมครั้งก่อนๆ ไม่ได้มีการดำเนินคดีเกิดขึ้น แต่ในครั้งวันที่ 15 ส.ค. 2564 ดูเหมือนเจ้าหน้าที่มีการติดตามอย่างเข้มงวด มีชุดตรวจคอยสังเกตการณ์กิจกรรม ทำให้คาดเดาว่าจะมีการดำเนินคดีเกิดขึ้น

“ผมไม่แปลกใจเลย ได้แจ้งคนในครอบครัวว่าอาจจะมีจดหมายหรือเอกสารส่งไปที่บ้าน หากถึงแล้วก็ให้แจ้งตนด้วย แต่มันเป็นความกังวลมากกว่า เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้ติดตามที่ตัวผม แต่ไปติดตามกับคนในครอบครัวแทน ไปหายาย ไปหาคุณพ่อของผมถึงที่บ้านเลย ว่ามีหมายเรียกมาให้ผม ทางเพจอุตรดิตถ์ปลดแอกก็เลยต้องมีการโพสต์ว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปที่บ้าน เข้าไปคุกคาม ไปติดตามเพื่อกดดันคนอื่นๆ แทนที่จะมาดำเนินการกับผม ยอมรับว่ามีอารมณ์โกรธว่าทำไมถึงยังมาคุกคามคนในครอบครัว ทั้งๆ ที่ก็มีหมายมาแล้ว”

คดีนี้เป็นคดีแรกในชีวิตที่อ๊อดถูกกล่าวหา แต่เขาก็เตรียมใจไว้บ้างแล้ว หลังตัดสินใจออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง ว่าคงมีวันที่อาจถูกดำเนินคดีแบบนี้

ในช่วงแรกที่ถูกดำเนินคดี อ๊อดยังไม่ได้กลับมาอยู่ที่อุตรดิตถ์ ทำให้เขามีภาระต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ มาพบตำรวจและอัยการในช่วงแรก ซึ่งสร้างภาระการเดินทางไกล ค่าใช้จ่ายต่างๆ และการต้องขอลางานประจำในช่วงนั้น ก่อนที่ในชั้นศาล เขาจะออกจากงาน และย้ายกลับมาอยู่ที่อุตรดิตถ์แล้ว

“ตอนแรกที่ถูกคดี ก็เกรงว่าจะมีประวัติติดตัว แต่ลองพิจารณาดีๆ ว่าถ้าเรามีประวัติคดีเพราะว่าเราต่อสู้ทางการเมืองก็ให้มันมีไป เมื่อได้รับหมายก็ทำให้รู้ว่าอยากจะต่อสู้ให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ วิธีการใหม่ๆ มากขึ้นด้วย”

ประสบการณ์การถูกควบคุมตัวทั้งช่วงระหว่างการสั่งฟ้องและหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และต้องรอการประกันตัว ยังนำไปสู่ความรู้สึกสูญเสียอิสรภาพอย่างสำคัญของอ๊อดอีกด้วย

“ก็คิดต่อไปว่าถ้าหากต้องมาอยู่แบบนี้ แต่เป็นระยะเวลานานๆ จะเป็นอย่างไร ต้องนึกภาพว่าเรามีอิสรภาพมาตลอด แต่อยู่ๆ ให้นึกภาพว่าหากตัวเองต้องไปอยู่ในห้องขัง มันนึกภาพไม่ออกจริงๆ คนภายนอกที่ไม่เคยเห็นภาพ หากโดนพรากอิสรภาพไปมันจะรู้สึกยังไง

“ในอีกแง่หนึ่ง การกักขังแบบนี้ก็เป็นการเรียนรู้ชีวิตในอีกแง่มุมเหมือนกัน ยิ่งช่วงเวลาที่มันใกล้ๆ จะค่ำ ฟ้าเริ่มมืด มันก็จะให้ความรู้สึกว่า ‘กูจะได้ออกมั้ยวะ’ ตอนอยู่ข้างนอกก็รู้ว่าจะถูกพรากอิสรภาพไป แต่ก็ยังไม่เข้าใจความรู้สึกว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับตัวเราบ้าง ลึกๆ มันก็กัดกินเราเหมือนกัน แล้วถ้าหากเป็นคนที่ไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะเข้าไปด้านใน ขนาดเราที่เตรียมตัวแล้วยังให้ความรู้สึกแบบนี้

“วันนั้น ผมอ่านหนังสือที่เตรียมมาไป 5 รอบ อ่านแล้วก็อ่านอีก หลับแล้วตื่นมาก็อ่านอีก ซึ่ง 7 ชั่วโมงนอกห้องขังมันก็เร็วถูกไหม แต่ 7 ชั่วโมงในห้องขัง มันทำให้เรารับรู้ความรู้สึกที่ต้องรอคอย สรุปแล้วมันจะออกมาเป็นอย่างไร โทรศัพท์มือถือก็ไม่ให้เอาเข้าไป” อ๊อดบรรยายถึงความรู้สึกถึงเกิดขึ้นหลังลูกกรง

.

.

ขณะเดียวกัน กระบวนการต่อสู้คดีที่เกิดขึ้นในศาล อ๊อดยังจำคำถามของศาลก่อนสืบพยานที่ว่า “จะรับสารภาพเลยไหม” ได้ ซึ่งสำหรับเขามันกลายเป็นคำถามที่แปลกประหลาด ในเมื่อยังไม่ได้มีการสืบค้นหาเหตุผลข้อเท็จจริงอะไรเลย กลายเป็นว่าจำเลยต้องเลือกว่าจะรับสารภาพเลยหรือไม่

“สิ่งที่ผมรู้สึกในการสืบพยาน หากศาลถามให้ผมพูด ผมก็จะตอบว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่พวกเราเสียเวลากันมากๆ เราเสียเวลากันมาปีหนึ่ง และอีก 2 วัน เพื่อจะถกเถียงหาความจริงที่เป็นของใครของมัน เสียเวลาต่อศาลที่ควรจะได้พิจารณาคดีอื่น หรือเวลาของท่านอัยการที่ควรจะได้ไปทำคดีที่มันมีผลประโยชน์ต่อประเทศชาติ เสียเวลาทนาย ตำรวจ รวมไปถึงทรัพยากรต่างๆ เพียงเพื่อที่เราจะมาโต้เถียงกันว่า ใครถูกหรือใครผิดในความจริงของตัวเอง ภายใต้กฎหมายที่ก็ยังไม่ได้รับความเห็นร่วมจากประชาชนทั้งประเทศ

“สุดท้ายไม่ว่าผลของคดีจะออกมาเป็นเช่นไร มันไม่มีผลประโยชน์อะไรต่อสังคมเลย มันก็เป็นมรดกจากระบอบเผด็จการ หรือหากโจทก์ชนะ สุดท้ายมันก็จะถูกล้มล้างอยู่ดีในวันที่ประเทศเป็นประชาธิปไตย และมันต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะไม่มีใครสามารถกอดรัดเวลาอิหลักอิเหลื่อ กอดเผด็จการครึ่งหนึ่ง และกอดประชาธิปไตยอีกครึ่งหนึ่งได้อยู่แล้ว” 

“ในเมื่อศาลเป็นผู้ถืออำนาจในการตัดสิน ไม่ว่าจะออกเช่นไร เมื่อประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คำพิพากษาของเขาก็จะค้ำเขาไปตลอด ผมก็เลยไม่ได้หวั่นใจมากนัก ถ้าหากเขากล้าหาญมากพอที่จะตัดสินให้ประชาชนที่ออกมาต่อสู้กระบวนการที่มันไม่ยุติธรรม ก็ให้เขาตัดสินไป แต่หากเห็นว่านี่เป็นการมีส่วนร่วมของศาล จะทำให้กฎหมายมันมีความศักดิ์สิทธิ์และเที่ยงตรงจริงๆ แบบใดผิดก็ว่าไปตามผิด ถ้าการชุมนุมมันทำให้คนติดโควิดจริง การเป็นสมาชิกใน Club House การเป็นสมาชิกกลุ่ม ‘อุตรดิตถ์ปลดแอก’ มันทำให้คนคนหนึ่งมีผลต่อผู้คนจริงๆ ก็ตัดสินได้เลย”

“ถ้าพูดกันตามภาษาชาวบ้านก็คือ เขาก็ต้องมีจิตสำนึกที่ต้องมองเห็นภาพรวม ว่ามันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในบ้านเมือง เพราะไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ คนก็จะออกมาชุมนุมกันเพื่อให้ตัวเองถูกจับ ถูกดำเนินคดี ไม่สมเหตุสมผล ดังนั้นมันต้องมีมูลเหตุหรือแรงผลักดันอะไรบางอย่างที่ทำให้คนหรือประชาชนต้องออกมาขนาดนี้”

อ๊อดยังสรุปประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนเหล่านี้ ว่าต้องนำไปสู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในอนาคต โดยเฉพาะการปฏิรูปศาลให้มีความยึดโยงกับประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมากกว่าที่เป็นอยู่

“ทั้งตัวผมเองและเพื่อนๆ ที่ถูกดำเนินคดีอยู่ ศาลที่มาตัดสินผิดถูกอยู่นั้น ไม่ได้มาจากประชาชน บางทีเราก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร อำนาจที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนมันดูเป็นสิ่งที่มืดและน่ากลัว ต่อให้เขาบอกว่าตัดสินด้วยความเที่ยงตรงจริงๆ แต่ก็ยังรู้สึกว่ามันยังเป็นเรื่องของดุลยพินิจไม่มากก็น้อยอยู่ แต่ถ้าหากมีอำนาจหนึ่งซึ่งมีอำนาจที่มากกว่ากดทับเขาอยู่ เขาก็อาจจะจำเป็นต้องเลือกทำตามอำนาจที่มันถูกสั่งมา ซึ่งมนุษย์คนอื่นก็อาจจะเป็นเหมือนๆ กัน

“ดังนั้นเราต้องเอาอำนาจกลับมาอยู่ที่ประชาชน อำนาจที่จะสถาปนาศาลได้ก็ควรที่จะต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่อำนาจที่มาจากอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ หรือใครคนใดมาประธานให้ มันทำให้รู้สึกว่าคำตัดสินของเขาจะเปลี่ยนไปตามอำนาจที่เขาได้รับนั้นมาจากใคร หากได้รับอำนาจมาจากประชาชนเขาก็ต้องเคารพต่อประชาชนเป็นอันดับแรก”

.

X