อัยการสั่งฟ้องคดี ม.116 “ป่าน” โพสต์ชวนชุมนุมทะลุฟ้า แม้คดีผู้ร่วม #ม็อบ13สิงหา อีกคดีจะสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้องคดีของกตัญญู หมื่นคำเรือง หรือ “ป่าน ทะลุฟ้า” ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากพฤติการณ์เรื่องการโพสต์ชวนเชิญไปร่วมชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้า 2 โพสต์ในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2564 

คดีนี้มี แน่งน้อย อัศวกิตติกร จาก “ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์” (ศชอ.) เป็นผู้กล่าวหา ไว้ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยตำรวจไปขอศาลอาญาออกหมายจับ โดยไม่เคยมีการออกหมายเรียกมาก่อน ทำให้กตัญญูเดินทางเข้าแสดงตัวเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2565 หลังทราบว่ามีหมายจับ

เธอถูกแจ้ง 2 ข้อกล่าวหาดังกล่าว และตำรวจยังให้วางหลักทรัพย์ 150,000 บาท เพื่อใช้ในการประกันตัวในชั้นสอบสวนด้วย โดยเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์

ล่าสุด อัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีของกตัญญูต่อศาลอาญา โดยฟ้องจากข้อความประชาสัมพันธ์ที่โพสต์ในเพจเฟซบุ๊กของ กลุ่ม “ทะลุฟ้า” เมื่อวันที่ 10 และ 12 ส.ค. 2564 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเชิญชวนไปร่วมการชุมนุมสองครั้ง ได้แก่ #ม็อบ11สิงหา “ไล่ทรราช” และ #ม็อบ13สิงหา “ศุกร์13ไล่ล่าทรราช” ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเดินขบวนไปยังบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

อัยการบรรยายฟ้องเพียงว่าโพสต์ทั้งสองข้อความนั้น เป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยหนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ไม่ได้การบรรยายรายละเอียดว่าทั้งสองโพสต์ข้อความเป็นการทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินอย่างไร 

อัยการระบุท้ายคำฟ้องว่า หากจำเลยยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล โดยมี ร.ต.อ.ทองสุข พิธรรม พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้เรียงฟ้อง

ศาลอาญาได้รับฟ้องคดีไว้ ก่อนมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวกตัญญู โดยให้วางหลักทรัพย์จำนวน 25,000 บาท พร้อมกำหนดวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 21 พ.ย. 2565 ทั้งนี้ หลักทรัพย์ประกันตัวได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

.

น่าสังเกตว่าคดีจากการชุมนุม #ศุกร์13ไล่ล่าทรราช หรือ #ม็อบ13สิงหา64 นั้น ล่าสุด พนักงานอัยการศาลแขวงดุสิตได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของผู้เข้าร่วมชุมนุมที่เป็นนักกิจกรรมและประชาชนรวม 13 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปแล้ว โดยกตัญญูก็เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในคดีนั้นด้วย

ขณะเดียวกันเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในคดีของ “นายพล” (นามสมมติ) สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ที่ถูกกล่าวหาในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 จากการโพสต์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุมในลักษณะเดียวกันนี้ อัยการในคดีดังกล่าวได้มีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอฟ้องว่าผู้ต้องหาเป็นแอดมินของเพจ แม้จะมีภาพถ่ายว่าผู้ต้องหาเข้าร่วมการชุมนุม และได้กล่าวเชิญชวนในไลฟ์ แต่ก็ไม่มีข้อความที่มีลักษณะปลุกปั่น ปลุกระดมมวลชนให้มีการกระทำที่กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้น่าจับตาความลักลั่นในการบังคับใช้และตีความข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ซึ่งตั้งแต่ยุค คสช. เป็นต้นมา ถูกเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนกลุ่มผู้สนับสนุนคณะรัฐประหารนำมาใช้กล่าวหาดำเนินคดีกับนักการเมือง นักกิจกรรม และผู้ชุมนุมทางการเมืองฝั่งตรงข้ามจำนวนมาก ทั้งที่แนวโน้มส่วนใหญ่เมื่อต่อสู้คดีแล้ว ศาลจะยกฟ้องเป็นส่วนมาก การใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมือทางการเมืองเช่นนี้ ยังดำเนินอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

.

X