บันทึกการต่อสู้คดี ม.116 ของ “ป่าน” หลังถูกกล่าวหาเป็นแอดมินเพจ “ทะลุฟ้า” โพสต์ชวนชุมนุม ‘ไล่ล่าทรราช’ ปี 64

ในวันที่ 22 พ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา มีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ กตัญญู หมื่นคำเรือง หรือ “ป่าน ทะลุฟ้า” ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีเพจ “ทะลุฟ้า” โพสต์เชิญชวนไปร่วมชุมนุม 2 โพสต์ ในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2564

ทบทวนไทม์ไลน์คดี

คดีนี้มี แน่งน้อย อัศวกิตติกร จาก “ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์” (ศชอ.) เป็นผู้กล่าวหา โดยเข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กล่าวหาว่า กตัญญูเป็นแอดมินของเพจ “ทะลุฟ้า” และได้โพสต์ข้อความ 2 ข้อความ เมื่อวันที่ 10 และ 12 ส.ค. 2564 เชิญชวนไปร่วมการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้า ได้แก่ #ม็อบ11สิงหา “ไล่ทรราช” และ #ม็อบ13สิงหา “ศุกร์13ไล่ล่าทรราช” ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 

โดยการชุมนุมทั้งสองครั้ง ผู้ชุมนุมพยายามจะเคลื่อนไปยังบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 1) และครั้งหลังยังเกิดเหตุการณ์ที่ ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย หรือ “ลูกนัท” ถูกเจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางของเข้าที่ตาจนตาบอดด้วย

หลังจากนั้น กตัญญูถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งติดต่อทางโทรศัพท์ถึง 2 ครั้ง อ้างว่า เธอมีหมายจับในคดีที่ บก.ปอท. ในวันที่ 27 ก.ย. 2564 กตัญญู พร้อมทนายความจึงได้เดินทางไปที่ บก.ปอท. เพื่อตรวจสอบหมายจับที่ตำรวจอ้าง และแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนี หลังรอคอยอยู่ 1 ชั่วโมง กตัญญูและทนายความตัดสินใจเดินทางกลับ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตอบคำถามเรื่องหมายจับหรือหมายเรียกได้ ก่อนกลับกตัญญูขอให้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานว่าได้มาแสดงตัวแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตอบเพียงแค่ว่า “ให้รอผู้การฯ ก่อน”

ต่อมา กตัญญูได้ทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ศาลได้ออกหมายจับเธอตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 โดยที่เธอไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน กตัญญูพร้อมทนายความจึงเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. ในวันที่ 12 มาตรา ค. 2565 

พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหา จากพฤติการณ์ที่แน่งน้อยแจ้งความไว้ ได้แก่ “ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

กตัญญูให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา จากนั้นพนักงานสอบสวนได้อนุญาตให้ประกันตัว โดยวางหลักประกันเป็นเงิน 150,000 บาท โดยเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์

ทั้งนี้ กตัญญูได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตนเคยเดินทางมาติดตามหมายเรียกคดี พร้อมกับทนายความแล้ว เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2564 แต่ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ บก.ปอท. คนใดให้ความชัดเจนได้ โดยตนได้ขอลงบันทึกประจำวันไว้เพื่อเป็นหลักฐาน แต่ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่รับจดแจ้งบันทึกแจ้งไว้ แต่กลับมีการขอออกหมายจับ การกระทำของเจ้าหน้าที่จึงไม่ชอบธรรมสอดคล้องตามหลักกฎหมาย ทั้งตนก็มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีเหตุที่จะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น จนทำให้ต้องออกหมายจับแต่อย่างใด

ต่อมา เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ได้ยื่นฟ้องกตัญญูต่อศาลอาญา ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดย ร.ต.อ.ทองสุข พิธรรม พนักงานอัยการผู้เรียงฟ้อง บรรยายฟ้องระบุว่า กตัญญูกับพวกได้ร่วมกันโพสต์ภาพและข้อความลงในเพจเฟซบุ๊ก “ทะลุฟ้า-thalufah” ตั้งค่าเป็นสาธารณะ รวม 2 โพสต์ ดังนี้

1. วันที่ 10 ส.ค. 2564 โพสต์ข้อความ “#ม็อบ11สิงหา ไล่ล่าทรราช 15.00 น. เป็นต้นไป เจอกันอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เกาะพญาไทประกาศเดินไปบ้านประยุทธ์ #ทะลุฟ้า #ม็อบ11สิงหา #ประยุทธ์ออกไป #ปฏิวัติประชาชน” และใต้ข้อความปรากฏภาพบุคคลยืนคล้องแขน ภายในภาพมีข้อความคล้ายกัน

2. วันที่ 12 ส.ค. 2564 โพสต์ข้อความ “รวมพล! ศุกร์ 13 ไล่ล่าทรราช #ม็อบ13 สิงหา อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฝั่งเกาะพญาไท 15.00 น. เป็นต้นไป เราจะเดินคล้องแขนไปบ้านประยุทธ์ พบการต่อสู้ทุกรูปแบบจากประชาชน แม้การต่อสู้ครั้งที่ผ่านมาคนเราจะน้อย และพวกเราทะลุฟ้าจะยังอยู่แค่จุดเริ่มต้น เพราะตํารวจควบคุมฝูงชนเข้ามาสลายการชุมนุมนอย่างป่าเถื่อนเยี่ยงอสุร้ายในกายคน เพื่อปกป้องพวกทรราช ขอพี่น้องประชาชนจงออกมาเพิ่มกําลังคน ร่วมกันและต่อสู้อย่างสันติอหิงสา เพื่อประจันหน้ากับพวกทรราช และทวงถามถึงประชาธิปไตย #ทะลุฟ้า #ประยุทธออกไป #ปฏิวัติประชาชนชน” และใต้ข้อความปรากฏภาพบุคคลยืนเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตํารวจ ภายในภาพมีข้อความคล้ายกัน

อัยการระบุว่า โพสต์ทั้งสองเป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยหนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา 

อย่างไรก็ตาม คำฟ้องของอัยการไม่ได้บรรยายรายละเอียดว่า ทั้งสองโพสต์เป็นการทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินอย่างไร

หลังศาลอาญารับฟ้องคดี ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันกตัญญูในระหว่างพิจารณา โดยให้วางหลักทรัพย์จำนวน 25,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

ภาพรวมการสืบพยาน: พยานโจทก์ทุกปากรับ โพสต์ชวนชุมนุมทั้ง 2 โพสต์ตามฟ้อง ไม่มีข้อความยุยงประชาชนให้ทำผิดกฎหมาย ฝ่ายจำเลยยืนยัน ไม่ได้เป็นแอดมินเพจ “ทะลุฟ้า” – ไม่ได้โพสต์ ทั้งพยานหลักฐานโจทก์ไม่ปรากฏใบหน้าผู้ไลฟ์สดชัดเจน 

ในการพิจารณาคดี มีการสืบพยานโจทก์ระหว่างวันที่ 5-8 ก.ย. 2566 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 8 ก.ย. 2566 อัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งสิ้น 16 ปาก และฝ่ายจำเลยได้นำพยานเข้าสืบจำนวน 1 ปาก เป็นเจ้าหน้าที่จาก iLaw ผู้เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์

โจทก์พยายามนำสืบว่า จำเลยเป็นแอดมินเพจทะลุฟ้าซึ่งได้โพสต์ข้อความจำนวน 2 โพสต์ เชิญชวนคนให้ไปร่วมชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 11 และ 13 ส.ค. 2564 ซึ่งการชุมนุมใน 2 วันดังกล่าวก็เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ผู้ชุมนุมมีการก่อความวุ่นวาย เผาทำลายทรัพย์สินทางราชการและทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจนได้รับบาดเจ็บ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการ ‘ยุยงปลุกปั่น’ ตาม มาตรา 116 (3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์ทุกปากต่างรับว่า ข้อความเชิญชวนให้มาร่วมชุมนุมในทั้ง 2 โพสต์นั้นไม่ปรากฏข้อความที่ยั่วยุให้ประชาชนออกไปใช้ความรุนแรงหรือทำผิดกฎหมาย

ด้านจำเลยมีข้อต่อสู้ว่า ตนไม่ได้เป็นแอดมินเพจและไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความเชิญชวนในทั้ง 2 โพสต์ดังกล่าว ทั้งภาพถ่ายที่โจทก์อ้างว่าพบเห็นจำเลยในที่เกิดเหตุ ก็เป็นเพียงภาพที่เห็นแค่องค์ประกอบบางส่วน เช่น ภาพด้านข้างของบุคคลที่สวมหน้ากากอนามัย และภาพข้อมือที่ทำการถือโทรศัพท์ ซึ่งหน้าจอโทรศัพท์ก็ดำมืดจนไม่สามารถมองเห็นข้อความใด ๆ ได้ รวมถึงข้อความเชิญชวนให้มาชุมนุมในทั้ง 2 โพสต์ ก็ไม่ได้มีข้อความใดที่เป็นการยั่วยุ หรือยุยงให้ประชาชนออกไปทำผิดกฎหมาย เป็นเพียงข้อความที่ชวนให้ไปชุมนุมโดยสงบและสันติ นอกจากนี้ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันเกิดเหตุ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการประกาศยุติการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าแล้ว และยังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งเป็นคนละที่กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นสถานที่ที่กลุ่มทะลุฟ้านัดชุมนุมด้วย

ผู้กล่าวหาเบิกความ แจ้งความ ม.116 เพราะชุมนุมสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่รับว่าตัวโพสต์เป็นการชวนให้ไปชุมนุมกันอย่างสันติ

แน่งน้อย อัศวกิตติกร ผู้กล่าวหาในคดี เบิกความว่า ตนเห็นการโพสต์ของเพจทะลุฟ้า เชิญชวนให้คนไปชุมนุมขับไล่ทรราช โดยจะมีการรวมตัวกันในวันที่ 11 ส.ค. 2564 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เกาะพญาไท และอีกวันคือวันที่ 12 ส.ค. 2564 เวลาเกือบบ่าย 2 เป็นโพสต์ข้อความคล้าย ๆ กัน คือเชิญชวนไปอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในวันที่ 13 ส.ค. 2564 พยานไม่ทราบว่าโพสต์วันที่เท่าไหร่ แต่พยานเห็นในวันที่ 15 ส.ค. 2564

หลังวันที่ 15 ส.ค. 2564 พยานก็เข้าไปดูคลิปและพบเห็นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง ๆ ทั้งวันที่ 11 และ 13 ส.ค. 2564 โดยมีภาพความรุนแรง มีการเผารถตำรวจ มีการปราศรัยเชิญชวนให้มาชุมนุม ด่ารัฐบาล 

โพสต์ที่เชิญชวนให้คนไปชุมนุม เปิดเป็นแบบสาธารณะ ซึ่งตอนนั้นมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ห้ามมิให้ชุมนุมทำกิจกรรม 

จากนั้นวันที่ 30 ส.ค. 2564 พยานจึงไปแจ้งความไว้ที่ ปอท. เพื่อร้องทุกข์ว่าการกระทำแบบนี้มันขัดกับรัฐธรรมนูญ ผิดกฎหมาย คล้ายมาตรา 116 ที่สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง

พยานไม่ทราบว่าจำเลยเป็นใคร และไม่ทราบว่าแอดมินเพจทะลุฟ้าคือใคร

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า เมื่อเห็นข้อความดังกล่าวทั้ง 2 โพสต์ก็ไม่ได้อยากจะไปร่วมชุมนุม เหตุผลไม่ใช่เพราะว่าพยานไม่เห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่มทะลุฟ้า แต่เพราะกลัวโควิดเลยไม่อยากไป แต่พยานรับว่าไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 63

พยานเคยเป็นประธานศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์ (ศชอ.) แต่ตอนนี้ลาออกมาแล้ว กลุ่มดังกล่าวทำหน้าที่หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการไปแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชน

พยานทราบว่า ‘ทรราช’ เป็นคำที่ใช้เรียกผู้นำเผด็จการ เช่น จอมพลถนอม จอมพลประภาส และทราบว่าทรราชที่ผู้ชุมนุมหมายถึงคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยึดอำนาจมา

หลังรัฐประหารมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งพยานได้ไปลงชื่อรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ด้วย แต่พยานไม่แน่ใจว่าตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้รับรองสิทธิในการแสดงความคิดเห็นไว้ และมาตรา 44 ยังรับรองเสรีภาพการชุมนุมไว้ด้วย ซึ่งการชุมนุมเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย

ผู้ชุมนุมไม่ยอมรับว่าประยุทธ์มีความชอบธรรมในการบริหารประเทศ จึงออกมาเรียกร้องให้ลาออก โดยการเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่เท่าที่พยานจำได้คือผู้ชุมนุมไม่ได้ต้องการแค่ให้นายกฯ ลาออก

ในโพสต์ที่ 2 ก็มีข้อความว่า ขอพี่น้องจงออกมาร่วมกันต่อสู้อย่างสันติอหิงสา จึงเป็นการเชิญชวนให้ไปชุมนุมกันอย่างสงบและสันติอหิงสา

พยานไม่ทราบว่า เมื่อพยานเห็นโพสต์ดังกล่าวในวันที่ 15 ส.ค. 2564 ประยุทธ์ก็ไม่ได้ลาออกและมีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมคนอื่นด้วยหรือไม่

พยานทราบว่า กฎหมายอาญา มาตรา 112 มีการแก้มาแล้วหลายครั้ง ในการชุมนุมมีการเรียกร้องให้แก้ไข 112 แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ไม่มีการแก้ไขแต่อย่างใด

พยานรู้จักกลุ่มทะลุฟ้า และทราบว่าเป็นกลุ่มที่เรียกร้องประชาธิปไตยและการแก้ปัญหาปากท้อง แต่พยานไม่ทราบว่า ในวันเกิดเหตุจะมีการเทผลไม้เพื่อแสดงให้เห็นว่าราคาผลไม้ตกต่ำหรือไม่ เนื่องจากในวันดังกล่าวพยานไม่ได้เห็นเหตุการณ์ แต่มาเห็นคลิปทีหลังในวันที่ 15 ส.ค. 2564

ทนายจำเลยถามพยานว่า การชุมนุมที่ไม่เสี่ยงต่อการแพร่โรคสามารถทำได้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ควรชุมนุม ถึงจะอ้างว่ามีการป้องกันก็ไม่ควร และตามประกาศ ถึงแม้จะไม่ได้บอกว่าห้ามชุมนุม พยานก็ไม่เห็นด้วยที่จัดให้มีการชุมนุม

.

สารวัตรสืบ บช.น. ระบุ ตรวจสอบจากภาพเชื่อ จำเลยเป็นคนไลฟ์สด แต่ไม่ทราบว่าใครโพสต์เชิญชวนชุมนุม ขณะอีกนายตรวจสอบพบแอดมินเพจ ‘ทะลุฟ้า’ 2 คน แต่ไม่ใช่จำเลย

พันตำรวจตรีณรงค์ฤทธิ์ พุ่มพวง ขณะเกิดเหตุ เป็นสารวัตรสืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เบิกความระบุว่า ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำหน้าที่สืบสวนและพิสูจน์ทราบบุคคลที่ทำการถ่ายทอดสดในเพจทะลุฟ้าว่าเป็นใคร พยานทำการตรวจสอบเพจทะลุฟ้า และพบว่ามีการโพสต์เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2564 เพื่อเชิญชวนให้คนมาชุมนุมกันในวันที่ 13 ส.ค. 2564

เมื่อถึงวันชุมนุมพยานได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนให้ถ่ายภาพเหตุการณ์ในวันชุมนุม และแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ตรวจสอบมุมกล้องต่าง ๆ ว่า พบคนที่ถ่ายทอดสดหรือไม่ ปรากฏว่า พบคนที่คล้ายกับกตัญญู จำเลยในคดีนี้ ทำการถ่ายทอดสดเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 ประมาณ 3 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 15.00 – 17.00 น. 

เมื่อทราบข้อมูลจากที่ชุมนุม พยานได้ทำการตรวจสอบเทียบกับข้อมูลทะเบียนราษฎร์ และโซเชียลมีเดียต่าง ๆ และได้จัดทำรายงานการสืบสวนส่งผู้บังคับบัญชา ซึ่งในช่วงที่มีการชุมนุมก็จะมีการเก็บข้อมูลและทราบมาตลอดว่ากลุ่มไหนชื่ออะไร มีใครเป็นสมาชิกบ้าง

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า เพจเฟซบุ๊กสามารถมีแอดมินได้หลายคน และพยานไม่ได้มีหน้าที่พิสูจน์ทราบว่าใครเป็นแอดมินเพจทะลุฟ้า พยานทราบเพียงว่าใครเป็นคนถ่ายทอดสด แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นคนโพสต์เชิญชวนตามฟ้อง นอกจากนี้ ตามรายงานการสืบสวน ในแต่ละการชุมนุมมีคนที่ทำการถ่ายทอดสดแตกต่างกันไป 

ภาพถ่ายที่อ้างว่าเป็นจำเลยในที่เกิดเหตุ เป็นภาพที่ชุดสืบสวนถ่ายมาจากการชุมนุมในวันที่ 13 ส.ค. 2564 ซึ่งภาพทั้งหมดไม่ได้เห็นเป็นใบหน้าของจำเลยอย่างชัดเจน เป็นภาพที่เห็นแค่องค์ประกอบบางส่วน เช่น ภาพถ่ายจากระยะไกล, ภาพด้านข้างของบุคคลที่สวมหน้ากากอนามัย และภาพข้อมือขณะถือโทรศัพท์ ซึ่งพยานอ้างว่าเป็นภาพขณะทำการถ่ายทอดสด แต่ตามภาพก็ไม่ได้เห็นข้อความหรือภาพใด ๆ บนจอโทรศัพท์ เพราะมันดำมืดไปหมด นอกจากนี้ พยานไม่ได้มีการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ในการพิสูจน์ทราบใบหน้าจำเลยจากภาพทั้งหมดแต่อย่างใด

กลุ่มทะลุฟ้าเป็นกลุ่มที่เรียกร้องประชาธิปไตยและการแก้ปัญหาปากท้อง เช่น การพูดถึงปัญหาพืชผลทางการเกษตรที่มีราคาตกต่ำจากการบริหารประเทศที่ผิดพลาดของรัฐบาล และตามรายงานการสืบสวน เหตุการณ์ในวันที่ 13 ส.ค. 2564 ไม่ได้เกิดความรุนแรงใด ๆ 

พยานไม่ทราบว่า มีการจับกุมผู้ชุมนุมในวันที่ 13 ส.ค. 2564 แต่ภายหลังอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้อง ทั้งนี้ พยานทราบว่า ประชาชนสามารถชุมนุมและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ ตามที่มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ 

.

พันตำรวจตรีชัยวัฒน์ จงเจริญ สารวัตรสืบสวน บช.น. อีกนาย เบิกความระบุว่า พยานได้รับมอบหมายให้ดูแลคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง เกี่ยวกับคดีนี้ เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564 พยานได้ส่งลิงค์ข่าวไปยังเพจทะลุฟ้า เพื่อตรวจสอบว่าในขณะนั้นมีใครเข้าใช้งานบ้าง จากนั้น มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 2 IP Address ตอบกลับมา พยานจึงติดต่อไปยังผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ทางผู้ให้บริการก็ให้เบอร์โทรศัพท์มา 2 เลขหมาย ซึ่งเจ้าของเบอร์โทรทั้งสองเป็นแอดมินเพจทะลุฟ้า 

บช.น.จะส่งเจ้าหน้าที่ติดตามกลุ่มทะลุฟ้าโดยตลอด หากเพจทะลุฟ้าโพสต์ว่าจะทำอะไร และในวันที่มีการชุมนุมตามที่เพจโพสต์เชิญชวนตามฟ้อง พยานได้ลงพื้นที่และพบเจอการเผาหุ่นฟาง พ่นสีสเปรย์ ที่ถนนบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากนั้นพยานได้จัดทำรายงานการสืบสวนส่งผู้บังคับบัญชา ก่อนผู้บังคับบัญชาจะส่งให้ ปอท. ต่อไป

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ต.ชัยวัฒน์ รับว่า รายงานการสืบสวนที่พยานจัดทำ ยืนยันชื่อบุคคลที่เป็นแอดมินเพจทะลุฟ้าได้ 2 คน แต่ไม่ใช่กตัญญู จำเลยในคดีนี้ โดยพยานไม่ได้ตรวจสอบว่า บุคคลทั้งสองเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วยหรือไม่ รวมทั้งไม่ทราบว่า ใครเป็นแอดมินเพจทะลุฟ้าบ้าง

ทนายจำเลยถามพยานว่า สิ่งที่พยานทำคือการหลอกเอาข้อมูลผ่านช่องทางการใช้อินเทอร์เน็ต หรือ Phishing ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ใช่การหลอกเอาข้อมูล แต่เป็นการตรวจสอบข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อหาแอดมิน ไม่ใช่การหลอกเอาข้อมูลไปทำผิด ทั้งนี้ พยานจำไม่ได้ว่า ข่าวที่พยานส่งลิงค์ไปในเพจเป็นข่าวแบบไหน แต่มีหน้าข่าวอยู่จริง 

.

รอง ผบก.น.1 ชี้ว่า เหตุการณ์ความวุ่นวายหลังการชุมนุม มาจากโพสต์เชิญชวนของ “ทะลุฟ้า” แต่รับว่า ในโพสต์มีข้อความ “ต่อสู้อย่างสันติอหิงสา” 

พันตำรวจเอกวิชัย แดงประดับ ขณะเกิดเหตุเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เบิกความระบุว่า พยานมีหน้าที่ในการสืบสวน สอบสวน และป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา โดยรับผิดชอบพื้นที่ สน.พญาไท, สน.นางเลิ้ง และ สน.สำราญราษฎร์

วันที่ 10 ส.ค. 2564 เพจทะลุฟ้ามีการโพสต์เชิญชวนให้มาขับไล่ทรราช ต่อมาในวันที่ 11 ส.ค. 2564 ก็มีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก มีการก่อเหตุวุ่นวาย ต่อมา วันที่ 12 ส.ค. 2564 มีการโพสต์ชักชวนอีกครั้ง โดยให้มาชุมนุมกันในวันที่ 13 ส.ค. 2564 ซึ่งเป็นข้อความทำนองเดียวกันกับโพสต์แรก โดยในวันที่ 13 ส.ค. 2564 ผู้ชุมนุมมีการสร้างความวุ่นวายเช่นเดิม มีการปราศรัยเพื่อขับไล่รัฐบาล มีการปาของ การใช้ประทัดยักษ์ จนทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังมีการเผาทำลายทรัพย์สินทางราชการ เช่น รถตำรวจ ป้อมจราจร โดยมีการแยกดำเนินคดีผู้ชุมนุมที่ก่อเหตุแล้ว

ในการประกาศเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมทั้ง 2 ครั้ง ก็ไม่ได้มีการขออนุญาตจัดการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่ และในวันเกิดเหตุตำรวจได้แจ้งเตือนเป็นระยะให้เลิกการชุมนุม เพราะเป็นการทำผิดกฎหมาย แต่ผู้ที่เป็นเจ้าของเพจก็ไม่ได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมสลายตัวแต่อย่างใด

การโพสต์เชิญชวนให้คนมาชุมนุมเป็นการละเมิดกฎหมาย เนื่องจากคาดหมายได้ว่าผู้ร่วมชุมนุมจะก่อความรุนแรง โดยทุกคนมีการเตรียมหน้ากากกันแก๊ส เสื้อกันฝน ระเบิดปิงปอง หนังสติ๊ก ลูกแก้ว มาในที่ชุมนุม

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.อ.วิชัย เบิกความว่า พยานทราบว่ากลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองมีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มทะลุฟ้า ทะลุแก๊ส ทะลุวัง พยานไม่ได้ลงพื้นที่ในวันเกิดเหตุ แต่ทราบว่าใครเป็นคนโพสต์เชิญชวนในเพจทะลุฟ้า

ในวันที่ 11 ส.ค. 2564 การชุมนุมเริ่มตั้งแต่เวลา 15.00 น. แต่พยานไม่ทราบว่า กลุ่มทะลุฟ้าประกาศยุติการชุมนุมหลังจากนั้น 1 ชั่วโมง  และไม่ทราบว่าทำไมถึงประกาศยุติการชุมนุม

ทนายจำเลยถามว่า เหตุที่ต้องประกาศยุติการชุมนุม เนื่องจากมีการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ ตามรายงานก็มีการก่อความวุ่นวาย

ในการชุมนุม มีการปราศรัยไล่รัฐบาลประยุทธ์ แต่ไม่มีข้อความใดที่ก่อให้เกิดความไม่สงบ เหตุการณ์เผารถ ทำลายทรัพย์สินต่าง ๆ ที่สามเหลี่ยมดินแดง ก็เกิดหลังจากที่กลุ่มทะลุฟ้าประกาศยุติการชุมนุมแล้ว และอยู่ห่างจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จุดที่มีการสลายการชุมนุมประมาณ 1 กม. 

วันที่ 12 ส.ค. 2564 เพจทะลุฟ้าได้ประกาศเชิญชวนให้มาชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 13 ส.ค. 2564 เพื่อไล่ล่าทรราชเช่นเดิม ซึ่งในโพสต์เชิญชวนมีข้อความว่า “ร่วมกันและต่อสู้อย่างสันติอหิงสา”

ทนายจำเลยถามว่า ความวุ่นวาย ความรุนแรง ที่พยานเบิกความถึงมีอะไรบ้าง พ.ต.อ.วิชัย ตอบว่า ในทุกการชุมนุมจะมีเหตุการณ์ปะทะต่อเนื่อง มีความวุ่นวาย มีการทุบทำลายหรือเผารถตำรวจและป้อมยาม

ทนายจำเลยถามพยานต่อว่า แล้วเหตุการณ์เหล่านั้นเกี่ยวข้องกับจำเลยอย่างไร พยานตอบว่า ไม่รู้ แต่รู้ว่ามาจากการโพสต์เชิญชวน ดังนั้น ต้องมาดูว่าคนโพสต์เล็งเห็นผลไหมว่าจะเกิดเรื่องเหล่านี้

ในคดีนี้มีการแจ้งความในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เพียงข้อหาเดียว

พยานทราบว่า จากเหตุในวันดังกล่าว มีบางคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง แต่คดีที่เกี่ยวข้องกับการทำลายทรัพย์สินสั่งฟ้องทุกคดี อย่างไรก็ตาม ในคดีเกี่ยวกับการทำลายทรัพย์สิน ผู้ที่ถูกดำเนินคดีไม่ใช่กลุ่มทะลุฟ้า

.

ปอท. รับ ไม่รู้ใครเป็นแอดมิน ไม่ปรากฏใบหน้าของผู้ที่ไลฟ์สด ทั้งไม่พบข้อความยุยงปลุกปั่น

พันตำรวจโทธนะ ว่องทรง ขณะเกิดเหตุเป็นสารวัตรสอบสวน บก.ปอท. เบิกความว่า ตนได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบเพจทะลุฟ้า โดยพบว่าในวันที่ 10 ส.ค. 2564 มีการโพสต์นัดหมายชุมนุมในวันที่ 11 ส.ค. 2564 เวลา 15.00 น. ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีข้อความเขียนว่า ไล่ล่าทรราช ต่อมา วันที่ 11 ส.ค. 2564 ได้มีประชาชนมาร่วมชุมนุมตามเวลาที่นัดหมาย และมีการถ่ายทอดสดการชุมนุมในเพจทะลุฟ้าเหมือนทุกครั้ง 

จากนั้น วันที่ 12 ส.ค. 2564 ก็โพสต์เชิญชวนไปชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิอีก โดยมีข้อความว่า ‘ศุกร์ 13 ไล่ล่าทรราช’ และมีการถ่ายทอดสดการชุมนุมเช่นเคย

จากการตรวจสอบพบว่า เพจทะลุฟ้ามีผู้ดูแลหรือแอดมินเพจจำนวน 15 คน แต่พยานไม่สามารถรู้ได้ว่า 15 คนนี้คือใคร จากนั้นพยานได้จัดทำรายงานการสืบสวนและส่งให้ผู้บังคับบัญชา

อัยการถามว่า กตัญญู จำเลยในคดีนี้ เกี่ยวข้องกับเพจทะลุฟ้าอย่างไร พยานตอบว่า ถ้าหากไม่ได้เป็นผู้ดูแลเพจก็จะไม่สามารถทำการถ่ายทอดสดได้ เพราะคนทั่วไปก็ทำได้แค่กดไลค์ คอมเมนต์ และแชร์

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.ธนะ เบิกความว่า พยานไม่ได้ไปสังเกตการณ์การชุมนุม ได้รับแค่รายงานการสืบสวนจาก พ.ต.ต.ณรงค์ฤทธิ์ พุ่มพวง

วิธีการที่จะตรวจสอบว่าใครเป็นแอดมิน ต้องเข้าไปดูจากเฟซบุ๊กของแอดมิน ซึ่งการจะทำได้ต้องมีการตรวจยึดอุปกรณ์ และต้องขอหมายจากศาลเพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนนี้ รวมถึงต้องให้ผู้ถูกตรวจยึดอุปกรณ์ยินยอมด้วย แต่ในคดีนี้ไม่มีการตรวจยึดอุปกรณ์ของจำเลย

พยานทราบว่า การชุมนุมตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2563 มีหลายกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวและมีการโพสต์นัดหมายชุมนุมแตกต่างกันไป แต่ที่ผ่านมาพยานไม่เคยดำเนินคดีมาตรา 116 จากการโพสต์นัดชุมนุมในเฟซบุ๊ก

โพสต์ตามฟ้องมีสาระสำคัญเพียงว่า นัดหมายชุมนุมขับไล่ทรราช ซึ่งก็คือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร ไม่พบข้อความที่มีการยุยง ยั่วยุ ปลุกปั่น และรุนแรง รวมถึงไม่ได้มีการยั่วยุให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย  ในโพสต์ที่ 2 มีข้อความระบุด้วยว่า การชุมนุมเป็นไปด้วยความสันติอหิงสา และการชุมนุมก็ไม่ได้มีการปิดกั้น ถ้ากลุ่มอื่นหรือประชาชนทั่วไปเห็นด้วยกับแนวทางการเคลื่อนไหวก็สามารถมาร่วมชุมนุมได้

กลุ่มที่เคลื่อนไหวในช่วงเกิดเหตุ ได้แก่ กลุ่มทะลุแก๊ส เป็นกลุ่มที่ไปชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง, กลุ่มทะลุวัง จะไปทำโพลสำรวจความเห็นตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ และกลุ่มทะลุฟ้าเรียกร้องเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสะท้อนปัญหาทางการเกษตร

พยานเคยเห็นว่า ในวันที่ 13 ส.ค. 2564 กลุ่มทะลุฟ้ามีการประกาศยุติการชุมนุม เนื่องจากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้ใช้กำลังอาวุธเข้าสลายการชุมนุม แต่หลังจากนั้นจะมีกลุ่มอื่นชุมนุมต่อไปหรือไม่ พยานไม่ทราบ เพราะไม่ได้ลงไปในพื้นที่

เกี่ยวกับการพิสูจน์ทราบว่าใครเป็นผู้ถ่ายทอดสด พยานทราบได้จากการเทียบกับใบหน้าที่พยานได้มาจากรายงานการสืบสวน แต่ในเพจทะลุฟ้าไม่ปรากฏภาพใบหน้าของผู้ที่ทำการถ่ายทอดสด

พยานทราบว่า การถ่ายทอดสดผ่านเพจก็สามารถทำได้โดยง่าย ผู้ที่มีโทรศัพท์มือถือที่ถ่ายรูปได้ และมีอินเทอร์เน็ตก็สามารถถ่ายทอดสดได้

.

รองผู้กำกับ 4 สน. เบิกความ มีการชุมนุม-เหตุวุ่นวาย ในพื้นที่รับผิดชอบ แต่รับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองมีหลายกลุ่ม-แนวทางแตกต่างกันไป ทั้ง 2 สน.ไม่เกี่ยวกับคดีนี้

พันตำรวจโทวิทยากร สุวรรณเรืองศรี รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.พญาไท เบิกความว่า ปี 2564 มีการชุมนุมของกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องทางการเมือง และมีการดำเนินคดีในเขตรับผิดชอบของ สน.พญาไท หลายคดี

วันที่ 11 ส.ค. 2564 มีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยก่อนหน้านั้นมีการโพสต์เชิญชวนในเพจทะลุฟ้า ในวันดังกล่าวมีการดำเนินคดี 3 คดี นอกจากฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มีการทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ โดยขว้างปาหินและยิงหนังสติ๊กใส่เจ้าหน้าที่ 

วันที่ 13 ส.ค. 2564 ก็มีการมาชุมนุมเพราะมีการโพสต์เชิญชวนอีกเช่นเคย มีการนำผลไม้มาเทบนถนน หลังจากนั้นก็เคลื่อนขบวนไปบ้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการดำเนินคดี 2 คดี คือ คดีวางเพลิงเผารถตู้ และคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีจำเลยในคดีนี้เป็นจำเลยด้วย

พ.ต.ท.วิทยากร ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ทราบว่า คดีที่มีเหตุจากวันที่ 11 ส.ค. 2564 จำเลยในทั้ง 3 ไม่ใช่สมาชิกของกลุ่มทะลุฟ้า และคดีที่มีเหตุมาจากวันที่ 13 ส.ค. 2564 ซึ่งกตัญญูถูกดำเนินคดีด้วย พนักงานอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้อง

การชุมนุมทั้ง 2 ครั้ง มีวัตถุประสงค์คือให้ประยุทธ์ลาออก และประท้วงเกี่ยวกับการที่ราคาผลผลิตตกต่ำ โดยพยานไม่ได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุม

พยานทราบว่า ในวันที่ 11 ส.ค. 2564 กลุ่มทะลุฟ้าประกาศยุติการชุมนุมเพราะถูกสลายการชุมนุมหลังเริ่มชุมนุมได้ไม่นาน โดยพยานเคยเห็นโพสต์ประกาศยุติการชุมนุมจากรายงานการสืบสวน

พยานทราบว่ากลุ่มเคลื่อนไหวมีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มทะลุฟ้า ทะลุวัง ทะลุแก๊ส เป็นต้น ซึ่งในการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าก็ไม่ได้มีการปิดกั้น ใครก็สามารถมาชุมนุมได้ และการชุมนุมในช่วงปี 2563-2564 สน.พญาไท ก็ไม่ได้มีการดำเนินคดีกับใครในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

.

พันตำรวจโทโสภณ แย้มชมชื่น รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.ดินแดง เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุมีการโพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนให้มาชุมนุมเรียกร้องปฏิรูปสถาบันในวันที่ 11 และ 13 ส.ค. 2564

วันที่ 11 ส.ค. 2564 กลุ่มทะลุฟ้าได้มาเดินขบวนเรียกร้องที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังจากนั้นก็เคลื่อนขบวนมาที่สามเหลี่ยมดินแดง มีการปาของและประทัดยักษ์เพื่อทำร้ายเจ้าหน้าที่ มีการเผารถตำรวจ การทำลายทรัพย์สินราชการ ต่อมาเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจึงเข้ากระชับพื้นที่ 

โดยในวันดังกล่าวมีประกาศคำสั่งห้ามชุมนุมเกินกว่า 5 คนขึ้นไป ซึ่งผู้กำกับ สน.ดินแดง ก็มาประกาศห้ามไม่ให้มีการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมก็ไม่ฟัง

พ.ต.ท.โสภณ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานทราบล่วงหน้าว่าจะมีการชุมนุมและมีการเตรียมตัว แต่พยานไม่ได้ลงไปในพื้นที่ชุมนุม และไม่ทราบว่า ในวันที่ 11 ส.ค. 2564 กลุ่มทะลุฟ้าได้มีการประกาศยุติการชุมนุมเมื่อเวลา 15.55 น. ส่วนในวันที่ 13 ส.ค. 2564 ก็ไม่ทราบว่ามีการยุติการชุมนุมในเวลาใด แต่ในวันดังกล่าวไม่ได้มีการจับกุมในเขตพื้นที่ สน.ดินแดง 

พยานไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบกลุ่มทะลุฟ้าที่มีการชุมนุม ส่วนเหตุการณ์ทำลายทรัพย์สินทางราชการ การจับกุมในท้องที่พยานส่วนใหญ่เกิดขึ้นในตอนเย็น

พยานเป็นหัวหน้างานสอบสวน พอจะทราบว่า แต่ละกลุ่มมีแนวทางการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมือนกัน

.

พันตำรวจโทอธิชย์ ดอนนันชัย ขณะเกิดเหตุ เป็นรองผู้กำกับการ (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง เบิกความว่า วันที่ 25-29 ก.ย. 2564 มีการชุมนุมกันที่บริเวณแยกยมราช-นางเลิ้ง เป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ไม่ได้รับอนุญาตจากตำรวจ ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง ได้แจ้งให้ยุติการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่หยุด บางครั้งมีหนังสติ๊ก ขวดน้ำ ลูกแก้ว ขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ละครั้งมีการประกาศชักชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมผ่านทางเพจทะลุฟ้า โดยมีประชาชนมาร่วมชุมนุมตามที่กลุ่มทะลุฟ้าชักชวน ก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง

ต่อมา พ.ต.ท.อธิชย์ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์ที่พยานเบิกความไปทั้งหมดจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตามฟ้องในคดีนี้หรือไม่ นอกจากนี้ พื้นที่รับผิดชอบของ สน.นางเลิ้ง ไม่ได้อยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และพยานก็ไม่ได้ลงพื้นที่ไปในวันเกิดเหตุด้วย

ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะชุมนุมเรียกร้องโดยสงบและสันติ ปราศจากอาวุธ

.

พันตำรวจโทเจริญสิทธิ์ จงอิทธิ ขณะเกิดเหตุ เป็นรองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.ปทุมวัน เบิกความว่า ช่วงปี 2564 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม มีการโพสต์ของเพจทะลุฟ้านัดให้มาชุมนุมกันบริเวณแยกราชประสงค์

วันที่ 11 ส.ค. 2564 มีผู้ต้องหาใช้ก้อนหินไปทำลายป้อมจราจร และทำลายรถจักรยานยนต์ของเจ้าหน้าที่ ต่อมา มีการโพสต์เชิญชวนให้มาชุมนุมกันที่บริเวณแยกราชประสงค์ ในวันที่ 17 ส.ค. 2564 โดยมีมวลชนมาชุมนุมและเคลื่อนขบวนไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีการมั่วสุมกัน และการใช้สีปาใส่ป้าย สตช.

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.เจริญสิทธิ์ รับว่า มีหลายกลุ่มที่ออกมาชุมนุมทางการเมืองโดยมีแนวทางแตกต่างกันไป ในส่วนของกลุ่มทะลุฟ้า แม้จะมีการโพสต์เชิญชวนให้มาชุมนุมทำกิจกรรม แต่ก็ไม่ได้มีการประกาศให้ไปทำร้ายเจ้าหน้าที่ ในท้องที่ของพยานไม่เคยมีการดำเนินคดีกับเพจทะลุฟ้า นอกจากนี้ การชุมนุมช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 ก็ไม่ได้มีการดำเนินคดี มาตรา 116 กับผู้ชุมนุมรายใด

.

3 ปชช. ย่านดินแดง ระบุ ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุม “ทะลุแก๊ส” แต่ไม่รู้จัก “ทะลุฟ้า”

สิทธิชัย นันทเสน อาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างย่านดินแดง เบิกความระบุว่า ช่วงเดือน ส.ค. 2564 พยานได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุม โดยในวันที่ 11 ส.ค. 2564  เวลาประมาณ 15.00 – 22.00 น. มีการชุมนุมตั้งแต่บริเวณแยกประชาสงเคราะห์ มีการจุดประทัด ส่งเสียงดังไปทั่วบริเวณ ขณะนั้นพยานขับรถส่งผู้โดยสารอยู่บริเวณดินแดง และได้เห็นเหตุการณ์เหล่านี้ด้วย แต่ไม่ได้ยินว่ามีการปราศรัยหรือไม่ 

บ้านของพยานอยู่ห่างจากแยกดินแดงประมาณ 500 เมตร พยานจึงได้รับความเดือดร้อนจากเสียงที่ดังจนไม่สามารถนอนหลับได้ ไม่ว่าจะเป็นเสียงประทัด เสียงยิงกัน ทั้งยังกลัวโดนลูกหลงจนอาจได้รับอันตรายด้วย

พยานเห็นว่าการชุมนุมในช่วงนั้นทำไม่ถูกต้อง เพราะมีการใช้อาวุธไม่ว่าจะเป็น หนังสติ๊ก ขวดน้ำมัน ประทัดยักษ์ และอีกหลายอย่าง

พยานขับรถรับส่งผู้โดยสารทั้งวันตั้งแต่ 03.00 – 20.00 น. ซึ่งในเวลาประมาณ 16.00 น. ผู้ชุมนุมก็เริ่มเข้ามาในพื้นที่กันแล้ว โดยมาเป็นกลุ่มแก๊งที่ขี่รถจักรยานยนต์กันมา

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า กลุ่มที่มาชุมนุมตามที่พยานเบิกความไปคือกลุ่มทะลุแก๊ส ซึ่งไม่มีการตั้งเวทีปราศรัย เป็นการขับรถจักรยานยนต์มาทำกิจกรรมกันเป็นกลุ่ม พยานไม่รู้จักกลุ่มทะลุฟ้า และไม่ทราบว่า กลุ่มใดนัดมาชุมนุมในวันดังกล่าว

พยานเบิกความต่อศาลว่า พยานไปให้การเป็นพยานที่ สน.ดินแดง แต่ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนระบุว่า พยานไปให้การไว้ที่ ปอท. 

.

ปัญญา ชวดชุม ประกอบอาชีพค้าขายย่านดินแดง เบิกความระบุว่า วันที่ 11 และ 13 ส.ค. 2564 พยานได้ยินเสียงดังในเวลากลางคืน คาดว่าน่าจะเป็นเสียงประทัด โดยมีเด็กวัยรุ่นรวมกลุ่มกันบริเวณซอยประชาสงเคราะห์ 14 ห่างจากบ้านพยานประมาณ 500 เมตร จากนั้นพากันขับรถจักรยานยนต์เสียงดัง กลางคืนก็มีเสียงประทัด เสียงพลุ ดังมาถึงบ้าน ทำให้พยานไม่กล้าออกไปนอกบ้าน เนื่องจากกลัวว่าจะได้รับอันตราย โดยเหตุการณ์จะเริ่มตั้งแต่ 16.00 น. เป็นต้นไปจนถึงเวลากลางคืน

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน ปัญญารับว่า เหตุการณ์ตามที่พยานเบิกความไป เกิดจากกลุ่มวัยรุ่นที่เรียกตัวเองว่า ทะลุแก๊ส ซึ่งระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว พยานก็ยังสามารถค้าขายได้ และไม่ได้ไปแจ้งความเกี่ยวกับความเดือดร้อนต่าง ๆ นั้น

พยานเบิกความต่อศาลว่า พยานไปให้การเป็นพยานที่ สน.ดินแดง แต่ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนระบุว่า พยานไปให้การไว้ที่ ปอท. 

.

โสภาภรณ์ ปานสัง ประกอบอาชีพเย็บผ้าอยู่ย่านดินแดง เบิกความระบุว่า กลางเดือน ส.ค. 2564 มีการชุมนุมที่บริเวณซอยประชาสงเคราะห์ 14 เขตดินแดง ซึ่งเป็นย่านที่พยานพักอาศัยอยู่ มีผู้ชุมนุมมากันเป็นจำนวนมาก ขับรถจักรยานยนต์มากันเป็นแก๊ง ขณะนั้นพยานไปรับผ้าจากลูกค้าที่ซอยประชาสงเคราะห์ 6 ระหว่างทางได้พบกับกลุ่มผู้ชุมนุม พอกลับถึงบ้านพยานก็ได้ยินเสียงประทัดและเสียงรถจักรยานยนต์ดังขึ้นอีก โดยบ้านของพยานห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 300 เมตร พยานทราบว่ากลุ่มที่มาชุมนุมคือกลุ่มทะลุฟ้า เพราะคนทั้งซอยพูดกัน

การชุมนุมทำให้พยานเดือดร้อน ไม่กล้าออกไปซื้อของ เพราะกลัวโดนลูกหลง  โดยการชุมนุมจะเริ่มในช่วงเย็นประมาณ 16.00 น. จนถึงเวลาประมาณ 22.00 หรือ 23.00 น.

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า ไม่เคยเห็นกลุ่มทะลุฟ้ามาก่อน ไม่ทราบว่ามีหน้าตาเป็นอย่างไร นอกจากนี้ เหตุการณ์ตามที่พยานเบิกความเกิดขึ้นช่วงกลางดึกบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 

.

แกนนำ ศชอ. เชื่อ คนโพสต์ชวนชุมนุมมีเจตนาให้คนออกมาก่อความวุ่นวาย แต่รับว่า มีข้อความ “ต่อสู้อย่างสันติอหิงสา” ผู้โพสต์ก็อยากให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสันติ 

นพดล พรหมภาสิต แกนนำ ศชอ. ผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโพสต์ เบิกความระบุว่า ขณะพยานไปทำธุระที่ ปอท. มีเจ้าหน้าที่เอาข้อความมาให้ดูและถามความเห็น โดยเป็นข้อความจากเพจทะลุฟ้าที่โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ในลักษณะว่าจะมีการชุมนุมในวันที่ 11 ส.ค. 2564 และอีกโพสต์คือเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2564 มีลักษณะเช่นเดียวกัน คือ เชิญชวนให้คนมาร่วมชุมนุมขับไล่ทรราช เป็นการทำม็อบต่อเนื่อง 11-13 ส.ค. 2564

พยานจำข้อความทั้งหมดไม่ได้ จำได้คร่าว ๆ คือ ชวนกันไปขับไล่ทรราช ซึ่งในความรู้สึกของพยานเป็นการก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เนื่องจากเป็นการเชิญชวนคนให้ไปรวมตัวกัน ซึ่งช่วงนั้นโควิดระบาดรุนแรง และมีการห้ามไม่ให้ออกมาชุมนุม

ในวันเกิดเหตุมีการรวมตัวกัน เกิดความรุนแรง ความวุ่นวาย มีการเผารถตำรวจ การใช้ประทัดยักษ์ ดังนั้น คนที่โพสต์เชิญชวนก็น่าจะมีเจตนาให้คนออกมาก่อความวุ่นวาย

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน นพดลเบิกความว่า กิจกรรมหนึ่งที่พยานทำในนาม ศชอ. คือ รวมตัวกันไปแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชน โดยไม่ได้รับมอบหมายจากสำนักพระราชวัง เป็นการรวมตัวไปกันเอง รวมถึงไปเป็นพยานในศาลด้วย ซึ่งในคดีเหล่านั้นพยานเห็นว่าจำเลยทำผิด จึงทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์

ทนายจำเลยถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่า มาตรา 34 และ มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้รับรองเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมไว้ พยานไม่ขอตอบ แต่เบิกความว่า สิ่งที่ผู้ชุมนุมกลุ่มต่าง ๆ ทำ ถ้าเป็นประโยชน์ พยานก็เห็นด้วย แต่สิ่งที่พยานเห็นมันมีแต่ความแตกแยก เกิดความไม่สงบ พยานจึงไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทะลุแก๊ส ทะลุฟ้า ทะลุวัง และกลุ่มอื่น ๆ 

ทนายจำเลยถามอีกว่า คำว่า ‘ทรราช’ ใช้เรียกผู้นำเผด็จการที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหาร ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็นใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ขอตอบ

พยานไม่รู้จักกลุ่มทะลุฟ้า ไม่ทราบว่าใครเป็นแกนนำ หรือมีใครเป็นสมาชิกบ้าง รวมถึงไม่ทราบว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มคือ ให้นายกฯ ลาออก และให้มีการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม 

พยานอ่านข้อความในโพสต์ชวนชุมนุมตามฟ้องแล้วก็ไม่ได้อยากไป และโพสต์วันที่ 12 ส.ค. 2564 ซึ่งมีข้อความว่า ขอพี่น้องจงมาร่วมกันและต่อสู้อย่างสันติอหิงสา เพื่อเผชิญหน้ากับทรราช พยานอ่านแล้วก็ทราบได้ว่า ผู้โพสต์อยากให้การชุมนุมเป็นไปอย่างสันติ

พยานไม่ได้ไปในที่เกิดเหตุ แต่ทราบจากข่าวที่มีการนำเสนอไปทั่วโลก พยานไม่ทราบว่า ผู้ร่วมชุมนุมมาจากหลายกลุ่ม แต่เชื่อว่าเป็นกลุ่มเดียวกันทั้งหมด และความวุ่นวายเกิดขึ้นบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ไม่ใช่ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 

พยานทราบว่า ในการชุมนุมต่าง ๆ ใครก็สามารถไลฟ์สดได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นสื่อหรือสำนักข่าวที่มีชื่อเสียง

พยานไม่เคยเห็นโพสต์ยุติการชุมนุมในวันที่ 11 ส.ค. 2564 เวลา 15.50 น. ในเพจทะลุฟ้า ส่วนที่ทนายจำเลยถามว่า เหตุที่ประกาศยุติการชุมนุมเพราะการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่รัฐใช่หรือไม่นั้น พยานเห็นว่า เจ้าหน้าที่ทำไปตามกฎหมาย เป็นไปตามหลักสากล และไม่พบเห็นความรุนแรงตามที่ผู้ชุมนุมเล่า

ข้อความนัดชุมนุมที่พยานได้ดูทั้ง 2 โพสต์ พยานเห็นว่า คำว่า ทรราช เป็นการยุยงให้ก่อความวุ่นวาย เนื่องจากมีนัยยะของการขับไล่

.

คณะพนักงานสอบสวนเชื่อ จำเลยเป็นแอดมินเพจ ‘ทะลุฟ้า’ จึงมีความเห็นสั่งฟ้อง ม.116 แม้ไม่มีข้อความยุยงให้ประชาชนทำผิดกฎหมาย

พันตำรวจตรีหญิงสิตานัน โฉมวันดี รองสารวัตร (สอบสวน), พันตำรวจโทสุพัฒน์ โชติไกรสิทธิ์ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) และพันตำรวจโททศพร ศรีสัจจา สารวัตร (สอบสวน) กก.2 บก.ปอท. คณะพนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า แน่งน้อย อัศวกิตติกร ได้เข้ามาแจ้งความที่ ปอท. เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2564 ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มทะลุฟ้า กรณีโพสต์เชิญชวนให้มาชุมนุม 2 โพสต์ คือ โพสต์วันที่ 10 และ 12 ส.ค. 2564 

หลังสอบสวนพยานที่เกี่ยวข้องในคดีหลายปากและรวบรวมพยานหลักฐาน คณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่า เพจทะลุฟ้ามีการโพสต์เชิญชวนประชาชนให้ออกมาชุมนุมจริง และเชื่อว่า จำเลยเป็นแอดมินเพจทะลุฟ้า เนื่องจากมีพยานยืนยันว่า ในขณะชุมนุมจำเลยได้ใช้บัญชีเพจทะลุฟ้าถ่ายทอดสดการชุมนุม คณะพนักงานสอบสวนยังมีมติให้ออกหมายจับจำเลยเพื่อยับยั้งไม่ให้โพสต์เชิญชวนคนให้มาร่วมชุมนุม และมีมติควรสั่งฟ้องในวันที่ 12 ม.ค. 2565 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยเข้ามามอบตัว

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ต.หญิง สิตานัน เบิกความว่า พยานไม่เคยได้รับการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการตรวจพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ และคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยตามมาตรา 116 จากการโพสต์ข้อความ แต่พยานก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ใครคือแอดมินเพจทะลุฟ้า

ในขณะที่มีการจับกุมจำเลยมา ปอท. จำเลยก็ให้ความร่วมมืออย่างดี และไม่มีการตรวจยึดอุปกรณ์อะไร

โดยปกติถ้าเจ้าหน้าที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องขอให้ศาลมีคำสั่ง ถ้าศาลไม่มีคำสั่ง หรือผู้ต้องหาไม่ยินยอมก็ไม่สามารถเข้าถึงได้

พยานสอบปากคำ พ.ต.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ซึ่งได้ให้การว่า จำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุ แต่พยานไม่ทราบว่า พ.ต.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ไม่ได้ลงพื้นที่ในวันที่ 11 และ 13 ส.ค. 2564 และทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวมาจากผู้ใต้บังคับบัญชา นอกจากนี้ พ.ต.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ไม่ได้ส่งคลิปวิดีโอมาเป็นหลักฐานว่าจำเลยทำการถ่ายทอดสด มีเพียงภาพนิ่งเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ได้ปรากฏภาพใบหน้าของจำเลยอย่างชัดเจน และไม่ปรากฏภาพหน้าจอโทรศัพท์อย่างชัดเจนว่ามีการถ่ายทอดสดอยู่

จากการตรวจสอบและติดตามสถานการณ์การชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 หรือช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. 2564 ทุกการชุมนุมก็ประกาศให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ โดยมีกลุ่มที่เคลื่อนไหวชุมนุมหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มทะลุแก๊ส ซึ่งชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง เป็นกลุ่มที่ขี่รถจักรยานยนต์กันไปเป็นขบวนใหญ่ แตกต่างจากกลุ่มทะลุฟ้าที่มักจะชุมนุมโดยตั้งเวทีปราศรัย และเรียกร้องประชาธิปไตย

ด้าน พ.ต.ท.สุพัฒน์ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานทราบว่าจำเลยเป็นแอดมินเพจทะลุฟ้าจากการสอบปากคำ พ.ต.ต.ณรงค์ฤทธิ์ ที่ได้ลงพื้นที่และมีภาพถ่ายมายืนยันว่า บุคคลที่ทำการถ่ายทอดสดในเพจทะลุฟ้าเป็นจำเลยจริง

ในวันที่จำเลยเข้ามามอบตัว พยานไม่ได้ทำการตรวจยึดอุปกรณ์สื่อสารของจำเลยไว้ตรวจสอบ ซึ่งถ้าตรวจสอบก็อาจจะรู้ได้ทันทีว่าจำเลยเป็นแอดมินหรือไม่

พยานได้ร่วมสอบ พ.ต.ต.ชัยวัฒน์ ซึ่งในการตรวจสอบเพื่อยืนยันว่าใครเป็นแอดมิน พ.ต.ต.ชัยวัฒน์ ได้สร้างลิงค์ข่าวปลอมขึ้นมาและส่งไปยังกล่องข้อความของเพจทะลุฟ้า ซึ่งสามารถดึงข้อมูลของแอดมินที่กดอ่านข่าวได้ แต่เพจทะลุฟ้าไม่สามารถดึงข้อมูลของ พ.ต.ต.ชัยวัฒน์ ได้

พ.ต.ท.สุพัฒน์ ยังตอบทนายจำเลยสอดคล้องกับ พ.ต.ต.หญิง สิตานัน ว่า ข้อความในทั้งสองโพสต์ตามฟ้อง ไม่มีข้อความที่ยั่วยุให้ประชาชนออกไปใช้ความรุนแรงหรือทำผิดกฎหมาย และในโพสต์ที่ 2 ยังมีข้อความว่าจะชุมนุมโดย ‘สันติอหิงสา’ ด้วย พยานทราบด้วยว่า รัฐธรรมนูญ 2560 รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมไว้

และ พ.ต.ท.ทศพร ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานเป็นผู้สอบสวน รอง ผกก.(สอบสวน) สน.ดินแดง, สน.นางเลิ้ง และ สน.ปทุมวัน พบว่า การชุมนุมในพื้นที่ทั้ง 3 สน. มีการโพสต์ชักชวนชุมนุมจากเพจทะลุฟ้า แต่ไม่ได้มีดำเนินคดีจำเลยในคดีนี้แต่อย่างใด และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ สน.ดินแดง ก็ไม่ได้เกี่ยวกับเหตุการณ์ในคดีนี้ที่เกิดขึ้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 

.

จนท. iLaw ยืนยัน จะตรวจหา IP Address ต้องไปขอคำสั่งศาล ส่วนที่ ตร. ส่งลิงค์ข่าวไปยังเพจ ‘ทะลุฟ้า’ คือการ Phishing

วรัญญุตา ยันอินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เบิกความในฐานะพยานจำเลยว่ตนเคยทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบแอปพลิเคชัน, การเขียนโปรแกรมเกี่ยวกับ AI, Machine Learning และการตรวจสอบสปายแวร์เพกาซัส ปัจจุบันทำงานกับ iLaw ซึ่งทำงานจับตากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

พยานและ iLaw ได้ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และเขียนบทความเผยแพร่เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเมื่อเราพบการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ก็ต้องมีการเก็บข้อมูลว่าเกิดขึ้นเวลาใด เกิดขึ้นที่ไหน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการแคปภาพหน้าจอ ซึ่งจะไม่ค่อยหน้าเชื่อถือ เพราะไม่มี url จึงไม่สามารถเข้าถึงได้เรื่อย ๆ ดังนั้นพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือคือควรปรินท์จากหน้าเว็บไซต์ เพื่อเก็บข้อมูลให้ครบถ้วน

ถ้าจะตรวจหาผู้กระทำความผิดต้องไปตรวจสอบจาก IP Address โดยขอไปทางผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็จะรู้ที่อยู่ของผู้ที่โพสต์ จากนั้นจึงไปขอหมายค้นเพื่อตรวจยึดอุปกรณ์มาตรวจสอบหาหลักฐานที่กระทำผิด เช่น เวลาที่เราจะโพสต์รูป รูปนั้นก็ต้องมีอยู่ในเครื่อง รวมไปถึงประวัติการเข้าชม และข้อมูลต่าง ๆ ที่เข้าถึงผ่านอินเทอร์เน็ต หากพบว่าเครื่องนี้ใช้ในการกระทำความผิด ก็จะต้องนำไปตรวจ DNA ว่า ใครคือคนที่ทำจริง ๆ 

นอกจากพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ พยานยังรู้จักการหลอกเอาข้อมูลผ่านช่องทางการใช้อินเทอร์เน็ต หรือ Phishing ซึ่งที่พยานเบิกความไปข้างต้นคือการขอความร่วมมือจากตัวผู้ใช้ แต่การ Phishing คือการทำเว็บปลอมขึ้นมา และเพียงแค่กดเข้าไปก็จะได้ข้อมูล IP Address เลย

พยานยืนยันว่า รายงานการสืบสวนที่ พ.ต.ต.ชัยวัฒน์ จัดทำขึ้นเป็นการหลอกเอาข้อมูลผ่านช่องทางการใช้อินเทอร์เน็ต หรือ Phishing

X