7 ปี รัฐประหาร: ทบทวนผลลัพธ์คดียุค คสช. ภาพสะท้อน ‘นิติสงคราม’ ที่กฎหมายคืออาวุธทางการเมือง

ดาวน์โหลดรายงานฉบับไฟล์ PDF >> 2021 TLHR Report_7 years after the coup

 

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ดูจะนับได้ว่าเป็นการรัฐประหารครั้งที่สร้างมรดกตกทอด และปัญหาสืบเนื่องสำหรับการฟื้นฟูเพื่อจะหวนคืนกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยของสังคมไทยมากที่สุดครั้งหนึ่ง เมื่อเทียบกับการรัฐประหารในช่วงหลายทศวรรษหลังที่ผ่านมา

แม้ในทางรูปแบบคณะรัฐประหาร คือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะยุติบทบาทการครองอำนาจรวมระยะเวลา 5 ปี 1 เดือน 23 วัน หลังจัดการเลือกตั้งและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 แต่ในความเป็นจริงเครือข่ายอำนาจของ คสช. และกองทัพ ไม่ได้สิ้นสุดบทบาทตาม แต่กลับสืบทอดอำนาจต่อไป ทั้งยังออกแบบกลไกทางการเมือง รัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ เพื่อค้ำจุนการรักษาอำนาจต่อมา

อีกทั้ง ในช่วง คสช. คณะรัฐประหารยังมีการใช้กลไกของสิ่งที่ดูเสมือน “กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรม” เข้ามาเป็นเครื่องมือในการปราบปรามการต่อต้านหรือการเคลื่อนไหวคัดค้านของประชาชนอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดคดีความจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองจำนวนมาก ซึ่งจนถึงปัจจุบันหลายคดีก็ยังไม่ได้สิ้นสุดลง ทั้งเครื่องมือในรูปแบบดังกล่าวยังคงถูกใช้สืบต่อมาอย่างเข้มข้น กระทั่งอาจเข้มข้นยิ่งขึ้นอีก หลังการเคลื่อนไหวชุมนุมช่วง #เยาวชนปลดแอก เมื่อกลางปี 2563 เป็นต้นมา รูปแบบการใช้กฎหมายและสถาบันทางกฎหมายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามทางการเมือง จึงเป็นอีกสิ่งสืบเนื่องสำคัญจากยุค คสช. 

ในโอกาสครบรอบ 7 ปี การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนสำรวจบางส่วนของคดีความทางการเมืองจากยุค คสช. เพื่อพิจารณา “ผลลัพธ์” ทางคดี ว่าเมื่อระยะเวลาผ่านไปหลายปีแล้ว คดีความที่คณะรัฐประหารหรือเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหา/กล่าวอ้างเอาไว้ว่าเป็น “ความผิด” นั้น แนวโน้มผลลัพธ์ของคดีเป็นเช่นไร โดยเฉพาะในคดีข้อหาหลักๆ ที่มักถูกนำใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อพอชี้ให้เห็นถึงปลายทางของสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกล่าวหาทางกฎหมาย ว่ามิได้อยู่ที่ผลลัพธ์ทางคดี แต่อยู่ในระหว่างกระบวนการดำเนินคดีที่เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการปกครอง และการรักษาอำนาจทางการเมือง

 

 

กระบวนการใช้ “นิติสงคราม” และ “การดำเนินคดีปิดปาก” ในยุค คสช.

“การปฏิบัติของฝ่ายเราที่ผ่านมาตลอด 3 ปีกับกลุ่มต่อต้าน คสช. พบว่าเมื่อฝ่ายรัฐบาลแจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว แต่กลุ่มต่อต้าน คสช. ยังคงเคลื่อนไหวต่อไม่ยุติการเคลื่อนไหว แต่ทางฝ่ายรัฐบาลกลับไม่เคยแจ้งความซ้ำในทันทีแต่อย่างใด ดังนั้น หากครั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลดำเนินการแจ้งความซ้ำ และจะแจ้งความซ้ำทุกครั้งที่กลุ่มต่อต้าน คสช. ออกมาเคลื่อนไหว ก็อาจจะส่งผลทำให้แกนนำกลุ่มฯ เกิดความกดดัน และเป็นการจำกัดเสรีในการปฏิบัติของฝ่ายต่อต้าน คสช. ทำให้ระดับความรุนแรงในการปราศรัยปลุกระดมถูกลดระดับลง…

“ทั้งนี้การแจ้งความดำเนินคดีซ้ำนั้น ควรที่จะมุ่งหวังเพียงเพื่อเพิ่มความกดดันและสร้างความยุ่งยากสับสนให้กับแกนนำฯ มากกว่าที่จะมุ่งหวังเพื่อควบคุมตัวแกนนำไปขังไว้ในเรือนจำ เนื่องจากที่ผ่านมาการคุมขังแกนนำนั้นมักเป็นจุดล่อแหลมของฝ่ายรัฐบาลที่จะถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนในไทย และต่างประเทศ หรือนักวิชาการ สื่อต่างๆ รวมตัวกันออกมากดดันรัฐบาลให้ปล่อยตัวในภายหลัง อันจะส่งผลเสียกับฝ่ายรัฐบาลมากกว่า”

ข้อความส่วนหนึ่งในเอกสารที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ฝ่ายกฎหมายของ คสช. (ในขณะนั้น) นำส่งเป็นพยานหลักฐานในคดีแกนนำ “คนอยากเลือกตั้ง” ที่ถนนราชดำเนิน (RDN50) 

 

ในช่วงสถานการณ์หลังรัฐประหาร 2557 เมื่อมีการเริ่มตระหนักถึงปัญหาการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากขึ้น ภาควิชาการและภาคประชาสังคมได้มีการพยายามอธิบายถึงรูปแบบการดำเนินการลักษณะนี้ ในเชิงแนวคิดเพื่อใช้ทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

เริ่มตั้งแต่การนำเสนอแนวคิดเรื่อง “การฟ้องปิดปาก” หรือการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านการมีส่วนร่วมของสาธารณะ (SLAPP: Strategic Lawsuit Against Public Participation) แนวคิดนี้พยายามอธิบายถึงรูปแบบหนึ่งของการคุกคามโดยการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ (Judicial Harassment) ชี้ถึงการดำเนินคดีที่มีลักษณะเป็นยุทธศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหยุดยั้ง กลั่นแกล้ง ข่มขู่ หรือปิดกั้นการใช้สิทธิทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม และการสมาคม เกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ โดยผู้ฟ้องคดีไม่ได้มุ่งเอาชนะคดี แต่มุ่งลดทอนทรัพยากร และข่มขู่ให้ผู้ถูกฟ้องยอมยุติบทบาท

หรือการนำเสนอแนวความคิด “นิติสงคราม” (Lawfare) ซึ่งพยายามอธิบายถึงลักษณะของรัฐและผู้กุมอำนาจ ที่หันมาใช้ “กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรม” เป็นเครื่องมือในการจำกัดปราบปรามศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แทนที่จะใช้อาวุธยุทโธปกรณ์เข้าทำสงคราม หรือใช้เครื่องมือนอกกฎหมายอื่นๆ เช่น การฆาตกรรม การอุ้มหาย การคุมขังโดยไม่ใช้กฎหมาย เป็นต้น  รวมทั้งยังใช้กระบวนการสื่อและความเห็นสาธารณชนเข้าสนับสนุนและด้อยค่าให้ฝ่ายต่อต้านคัดค้านกลายเป็น “ศัตรู” หรือ “ผู้ละเมิดกฎหมาย” และก่อให้เกิดผลกระทบในการลดทอนศักยภาพในการเคลื่อนไหวคัดค้านของประชาชน ขณะเดียวกันก็สามารถอ้างอิงได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการใช้กฎหมายที่มีความชอบธรรม

ทั้งสองแนวคิด ดูเหมือนพยายามให้คำอธิบายต่อสถานการณ์การใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะการไม่พิจารณากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมว่าเป็นสิ่งสร้างความเป็นธรรมในสังคมอย่างบริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่กลับสามารถเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในทางการเมืองหรือการทหาร ที่ใช้ในการปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์ การต่อต้านคัดค้าน การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง หรือการมีส่วนร่วมในเรื่องสาธารณะ

การดำเนินคดีในลักษณะนี้เกิดขึ้นโดยไม่ได้สนใจ “ผลลัพธ์” ของคดี ว่าจะทำให้เกิดความเป็นยุติธรรมหรือความเป็นธรรมขึ้นในสังคมหรือไม่ หรือฝ่ายไหนจะชนะคดี แต่กลับเป็น “ยุทธศาสตร์” หรือ “อาวุธ” ในการกำกับควบคุมสังคม สร้างความได้เปรียบให้ฝ่ายผู้มีอำนาจ และลดทอนความชอบธรรม ข่มขู่ปราบปราม หรือหน่วงรั้งการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่คัดค้านผู้มีอำนาจเอาไว้ ด้วยภาระต่างๆ ที่ต้องเจอในกระบวนการดำเนินคดี

การต่อสู้คดีที่เกิดขึ้น ถึงที่สุดอาจไปถึงชั้นศาล และศาลระดับต่างๆ มีคำพิพากษายกฟ้องคดีทั้งหมด โดยการยกฟ้องไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อเนื้อหาสาระของโครงสร้างอำนาจ และผู้ใช้อำนาจยังคง “ชนะ” เมื่อสามารถลดทอนพลังการเคลื่อนไหวคัดค้าน ปิดกั้นการชุมนุมรวมตัวในห้วงจังหวะต่างๆ เอาไว้ได้ หรือทำให้ผู้คนหยุดยั้งการออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือออกมาชุมนุม ทำให้การเคลื่อนไหวคัดค้านไม่เติบโตขึ้น ผ่านการดำเนินคดีในห้วงขณะนั้น 

ในมุมมองนี้ ระบบสายพานของกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในเครื่องมือทางการเมือง บทบาทของตำรวจ อัยการ ศาล หรือเรือนจำ กลายเป็น “พลรบ” สำหรับใช้ในการสงครามชนิดนี้ ไม่ว่าโดยการควบคุมบงการ หรือการยินยอมพร้อมใจก็ตาม และไม่ว่าในเชิงปัจเจกบุคคลจะมีความเห็นอย่างไรต่อการใช้อำนาจเช่นนี้

ในยุค คสช. เกิดการนำ “กฎหมาย” ทั้งประกาศ-คำสั่ง คสช. ที่คณะรัฐประหารประกาศออกมาเอง, กฎหมายอาญาบางมาตราที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 หรือกฎหมายที่ออกใหม่โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง มาใช้แจ้งความดำเนินคดีต่อประชาชนผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะการเลือกใช้กับ “กลุ่มเป้าหมาย” ที่เจ้าหน้าที่รัฐเห็นว่ามีบทบาททางการเมืองหรือมีส่วนในการเคลื่อนไหวต่างๆ  และยังเน้นใช้บังคับเจาะจงต่อฝ่ายทางการเมืองที่อยู่ตรงกันข้าม

ทั้งยังมีการใช้ศาลทหารซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม มาพิจารณาคดีของพลเรือน โดยที่กระบวนการในศาลทหารเป็นไปอย่างเนิ่นนาน จากรูปแบบการนัดความที่ไม่ต่อเนื่อง ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาเกิดภาระทางคดีนานหลายปี จนในคดีที่มีการต่อสู้คดี ถูกหน่วงรั้งไปอย่างยืดเยื้อ ไม่ได้สิ้นสุดลงโดยง่าย แม้ช่วงเวลาของ คสช. จะผ่านไปแล้วก็ตาม

ข้อความจากเอกสารในคดีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งเกิดขึ้นในยุค คสช. ดังกล่าว ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการคิดถึงการใช้ “กฎหมาย” ในลักษณะดังกล่าวของผู้ดำเนินคดีได้อย่างชัดเจน มันชี้ให้เห็นถึงการคิดเชิง “ยุทธศาสตร์” ว่าการดำเนินคดีจะช่วยทำอย่างไรให้ “ฝ่ายรัฐบาล” ได้เปรียบ และทำอย่างไรให้ “กลุ่มต่อต้าน” กดดันยุ่งยากสับสน และการเคลื่อนไหวลดระดับลง การดำเนินคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น จึงถูกคิดในลักษณะเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองการทหาร ไม่ใช่กระบวนการทางกฎหมายแบบที่ควรจะเป็นภายใต้ระบบนิติรัฐ 

อาจกล่าวว่ารัฐไทยในช่วงของ คสช. กระทั่งสืบเนื่องถึงปัจจุบัน คิดถึงการทำ “นิติสงคราม” เพื่อกดดันปราบปรามข่มขู่ผู้เคลื่อนไหวคัดค้านอย่างเข้มข้น

 

 

คดีมาตรา 116: กว่า 62 % ศาลยกฟ้อง/อัยการสั่งไม่ฟ้อง

ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กลายเป็นข้อกล่าวหาทางการเมืองสำคัญในยุค คสช. ทั้งด้วยความเป็นข้อหาที่ถูกบัญญัติไว้แต่เดิมในหมวดความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร และตัวบทก็เปิดช่องให้ตีความได้อย่างกว้างขวาง ทำให้ข้อหานี้ถูก คสช. นำมาใช้กล่าวหาต่อพฤติการณ์แสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนมากกว่ายุคสมัยการรัฐประหารใดๆ ก่อนหน้านี้ รวมทั้งยังสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่หลังรัฐประหาร จนถึง คสช. สิ้นสุดบทบาท มีผู้ถูกแสดงออกทางการเมืองซึ่งถูกกล่าวหาดำเนินคดี ในข้อหาตามมาตรา 116 อย่างน้อย 126 คน ในจำนวน 50 คดี

7 ปี ผ่านไป พบว่ามีคดีที่ศาลยกฟ้องไปแล้วจำนวนทั้งหมด 16 คดี (แยกเป็นพิพากษาโดยศาลพลเรือน 15 คดี และศาลทหาร 1 คดี) คดีที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดจำนวน 10 คดี (แยกเป็นอัยการพลเรือน 6 คดี และอัยการศาลทหาร 5 คดี) และอีก 1 คดีที่ศาลทหารเห็นว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตั้งแต่ต้น จึงสั่งให้จำหน่ายคดี

นอกจากนั้นยังมีอีก 4 คดี ที่ศาลยกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 116 แต่ลงโทษในข้อกล่าวหาอื่นๆ แทน อาทิ ชุดคดีการแสดงออกเกี่ยวกับรูปแบบของรัฐในคดีสหพันธรัฐไท ที่ศาลลงโทษตามข้อหาอั้งยี่เป็นหลัก

รวมแล้วมีจำนวนคดีทั้งหมด 31 คดี ที่ศาลและอัยการพิจารณาเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้มีความผิดตามมาตรา 116 ทำให้เห็นได้ว่าคดีที่มีการกล่าวหากันในช่วงนี้มีมากกว่าร้อยละ 62 จากจำนวนคดีทั้งหมดเท่าที่ทราบ ที่ถึงที่สุดแล้ว ไม่ได้เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา 

ในส่วนคดีที่ศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิด สามารถแยกได้เป็นคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ โดยจำเลยให้การรับสารภาพ มีทั้งหมด 3 คดี (แยกเป็นศาลพลเรือน 2 คดี และศาลทหาร 1 คดี) และคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ โดยจำเลยต่อสู้คดี ทั้งหมด 5 คดี (เป็นศาลพลเรือนทั้งหมด)

ทั้งนี้ในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษนี้ มี 3 คดี เป็นคดีที่มีการกล่าวหาด้วยข้อหามาตรา 116 ไปพร้อมกับมาตรา 112 เนื่องจากเป็นการแสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ทำให้การต่อสู้คดีลักษณะนี้ในช่วงดังกล่าว เป็นไปอย่างยากลำบาก ขณะที่อีก 3 คดี ก็เป็นการลงโทษโดยจำเลยให้การรับสารภาพ ทำให้ไม่ได้มีการพิจารณาข้อต่อสู้ในเชิงเนื้อหาใดๆ

โดยภาพรวมแล้ว จึงมีคดีมาตรา 116 ซึ่งไม่มีข้อหาหลักอื่นๆ พ่วง ในช่วง คสช. เพียง 2 คดีเท่านั้น ที่จำเลยต่อสู้คดี และศาลมีคำพิพากษาลงโทษ คิดเป็นเพียงร้อยละ 4 ของคดีทั้งหมด ได้แก่ คดีของ “พลวัฒน์” กรณีโปรยใบปลิวต่อต้านการรัฐประหารที่จังหวัดระยอง และคดีของ 3 จำเลยที่ถูกกล่าวหาเรื่องการติดป้าย “ประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม กูขอแยกเป็นประเทศล้านนา” ที่จังหวัดเชียงราย

 

 

ทั้งนี้ ในคดีโปรยใบปลิวที่จังหวัดระยองเอง คดียังอยู่ในระหว่างการฎีกาคำพิพากษา และคำพิพากษาในคดีนี้ของทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เนื่องจากศาลวินิจฉัยในลักษณะที่รับรองการรัฐประหาร รับรองการเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของ คสช. และทำให้เพียงการโปรยใบปลิวต่อต้านการยึดอำนาจโดยไม่ชอบธรรม กลายเป็นการยุยงปลุกปั่นและสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย

ตัวเลขนอกเหนือจากนั้น เป็นคดีที่ทราบว่ายังดำเนินอยู่ โดยศาลยังไม่มีคำพิพากษา จำนวน 7 คดี และคดีที่ไม่ทราบความเคลื่อนไหวอีก 4 คดี

หากพิจารณาในส่วนคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง พบว่าหลายคดีมีการต่อสู้คดีอย่างยาวนาน โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกต่อต้านการรัฐประหาร เนื่องจากคดีถูกพิจารณาในศาลทหารในช่วงเริ่มแรก โดยที่กระบวนการเป็นไปอย่างล่าช้าเนิ่นนาน จนมีการให้โอนย้ายคดีมายังศาลพลเรือนเมื่อ คสช. ยุติบทบาท ทำให้คดีสามารถสืบพยานจนสิ้นสุดในเวลาต่อมา และศาลพลเรือนมีคำพิพากษายกฟ้อง

อาทิเช่นคดีจาตุรนต์ ฉายแสง แถลงข่าวคัดค้านการรัฐประหารที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ หากนับตั้งแต่วันที่จาตุรนต์ถูกจับกุม จนถึงวันที่ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องคดี ใช้เวลาดำเนินคดีทั้งหมด 6 ปี 6 เดือน กับ 26 วัน

คดีสมบัติ บุญงามอนงค์ โพสต์ต่อต้านการรัฐประหารและเชิญชวนชูสามนิ้วต่อต้าน คสช. นับตั้งแต่วันที่สมบัติถูกจับกุม จนถึงวันที่ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องคดี ใช้เวลาทั้งหมด 6 ปี 1 เดือน กับ 26 วัน ทั้งจาตุรนต์และสมบัติยังถูก คสช. ออกคำสั่งอายัดบัญชีธนาคาร ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของทั้งคู่ด้วย

คดีพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ กรณีจากทำกิจกรรมพลเมืองรุกเดิน โดยเดินเท้าเพียงลำพังเพื่อรณรงค์พลเรือนไม่ต้องขึ้นศาลทหาร นับตั้งแต่เขาถูกจับกุมจนถึงศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องคดี ใช้เวลาทั้งหมด 5 ปี 8 เดือน กับ 21 วัน

 

 

รวมทั้งกรณีซึ่งผลต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีอย่างสำคัญ คือคดีของธเนตร อนันตวงษ์ ผู้ถูกกล่าวหาจากการโพสต์และแชร์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์ คสช. และกองทัพ คดีนี้ใช้เวลาต่อสู้กว่า 4 ปี 6 เดือนเศษ โดยที่ธเนตรต้องถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลาเกือบ 3 ปี 10 เดือน โดยไม่ได้รับการประกันตัว ก่อนที่ศาลอาญาจะมีคำพิพากษายกฟ้องคดีของเขาในช่วงกลางปี 2563 ธเนตรจึงถูกจองจำหลายปีทั้งที่ไม่ได้มีความผิดแต่อย่างใด กระทั่งบิดาเสียชีวิตลงก่อนหน้าเขาได้รับการปล่อยตัว

การกล่าวหาในหลายคดี ยังพบว่าพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาห่างไกลอย่างมากจากองค์ประกอบความผิดที่ควรจะเป็นตามมาตรา 116 แต่ “กระบวนการ” ในยุค คสช. การทำให้คดีเหล่านี้เกิดขึ้นและดำเนินไป เช่น คดีของชัชวาล คำไท้ ผู้สื่อข่าวอิสระในจังหวัดลำพูน ซึ่งถูกกล่าวหาจากการส่งภาพและข่าวชุมนุมต้านรัฐประหารให้สำนักข่าวเผยแพร่ โดยระบุวันคลาดเคลื่อนจากเหตุที่เกิดขึ้นจริง คดีที่เป็นเพียงแค่ความผิดพลาดในการรายงานข่าว แต่กลับต้องต่อสู้กว่า 1 ปี เศษ จนศาลทหารมีพิพากษายกฟ้อง

รวมไปถึงคดีถ่ายรูปกับ “ขันแดง” ที่จังหวัดเชียงใหม่ และคดีเตรียมแจกจ่ายขันแดงของนักการเมืองพรรคเพื่อไทยที่จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นข่าวครึกโครมระหว่างการถูกดำเนินคดี ก่อนที่อัยการทหารในทั้งสองคดีจะมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปอย่างเงียบๆ

หรือในคดีของปรีชา ชายสูงอายุที่เพียงแต่ไปมอบดอกไม้ให้กำลังใจพันธ์ศักดิ์ ซึ่งกำลังทำกิจกรรมพลเมืองรุกเดิน กลับถูกกล่าวหาว่าผิดกฎหมายในหมวดความมั่นคง แม้ต่อมาอัยการทหารไม่สั่งฟ้องข้อหามาตรา 116 แต่ศาลทหารก็ยังพิพากษาลงโทษในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. เรื่องการห้ามชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ

จะเห็นได้ว่ากลุ่มนักการเมืองฝ่ายค้านตกเป็น “เป้าหมาย” ของการกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหามาตรา 116 ในหลายคดี โดยนอกจากคดีที่กล่าวถึงข้างต้น ยังมีคดีส่งจดหมายวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนการลงประชามติ ซึ่งมีนักการเมืองในจังหวัดทางภาคเหนือหลายคนถูกกล่าวหา  ถูกควบคุมตัวไปค่ายทหาร ถูกประโคมข่าวว่าโจมตีว่าเป็นกลุ่มขบวนการอั้งยี่ซ่องโจรร่วมกันบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ กระทั่งถูกคุมขังในเรือนจำอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง หลังต่อสู้คดีเกือบ 4 ปี คดีนี้ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษายกฟ้องในทุกข้อกล่าวหาไปอย่างเงียบๆ เช่นกัน  

เช่นเดียวกับคดีของแกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งถูกฝ่ายกฎหมายของ คสช. เข้ากล่าวหาดำเนินคดีจากการแถลงข่าวในโอกาสครบรอบ 4 ปี การรัฐประหาร ในหัวข้อ “4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาล และ คสช.นำไปสู่ความมืดมนและอันตราย” คดีใช้เวลา 1 ปี เศษ อัยการพลเรือนก็มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้

หรือคดีของวัฒนา เมืองสุข กรณีโพสต์เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐติดตามหาหมุดคณะราษฎรที่หายไป ซึ่งสุดท้าย ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าข้อความเป็นเพียงการตำหนิติชมการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างตรงไปตรงมาโดยสุจริต

 

 

การกล่าวหาดำเนินคดีข้อหานี้ ยังรวมไปถึงชุดคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2561 โดยเฉพาะในส่วนของแกนนำ ถึงปัจจุบัน ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องคดีไปแล้ว 2 คดี ได้แก่ คดีชุมนุมที่สกายวอล์กมาบุญครอง หรือ MBK39 และคดีชุมนุมที่ราชดำเนินคดี หรือ RDN50 โดยอัยการก็ไม่ได้อุทธรณ์คดีต่ออีก ขณะที่คดีลักษณะเดียวกันอีก 2 คดี ได้แก่ คดีชุมนุมหน้ากองทัพบก ARMY57 และคดีเดินขบวนไปยังหน้าองค์กรสหประชาชาติ UN62 ก็ยังอยู่ระหว่างรอการสืบพยานในชั้นศาล ซึ่งกลายเป็นภาระคดีของนักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหามาจนถึงปัจจุบัน 

รูปแบบของการกล่าวหาในคดีเหล่านี้ โดยมากมีนายทหารที่ทำงานภายใต้คำสั่ง คสช. เป็นผู้กล่าวหา ในช่วงการเริ่มกล่าวหา ฝ่าย คสช. หรือกองทัพ มีการแถลงข่าวหรือให้ข่าวอย่างต่อเนื่อง ในลักษณะโจมตีฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาอย่างครึกโครม กล่าวอ้างว่าการดำเนินคดีนั้นเป็นไปตาม “กฎหมาย” และในช่วงจังหวะของการเริ่มกล่าวหาดำเนินคดีนั้น ก็สามารถถ่วงรั้งลดทอนการเคลื่อนไหวคัดค้านลง ดังเช่นที่เกิดขึันในช่วงการเคลื่อนไหวของคนอยากเลือกตั้ง 

แต่เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหา ประกอบกับพยานหลักฐานในการดำเนินคดี กลับพบว่าจำนวนมากมีลักษณะกล่าวหาเกินจริง และบิดเบือนการใช้กฎหมาย หลังการต่อสู้คดีดำเนินไปอย่างยาวนาน สร้างภาระให้กับผู้ถูกกล่าวหา ในที่สุดศาลมักมีคำพิพากษายกฟ้องคดีอย่างเงียบๆ หลายคดีศาลยังระบุว่าเนื้อหาเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นและติชมโดยสุจริต แต่การยกฟ้องก็เกิดขึ้นโดยไม่ได้มีการชดเชยเยียวยาภาระของจำเลยที่อดทนต่อสู้คดีนานหลายปี ทั้ง คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีส่วนร่วมดำเนินคดีต่างๆ ก็ยังไม่เคยต้องรับผิดชอบใดจากการใช้อำนาจอย่างเป็นระบบเช่นนี้

 

 

คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ: คดีนักการเมืองฝ่ายค้าน-นักวิชาการ-นักกิจกรรม ส่วนใหญ่ยกฟ้อง/สั่งไม่ฟ้อง

ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะตามมาตรา 14 เป็นอีกข้อหาหนึ่งที่ถูกนำมาใช้กล่าวหาการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ถูกประกาศใช้ แม้ในช่วง คสช. จะมีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ในบางส่วน จนกลายมาเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปี 2560 แต่กระนั้นถ้อยคำที่ยังอยู่ในตัวบท ก็ยังเปิดช่องว่างให้ผู้มีอำนาจ หรือเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานต่างๆ นำมาใช้กล่าวหาต่อผู้เผยแพร่ข้อมูล หรือผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์จนถึงปัจจุบัน

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่หลังรัฐประหาร จนถึง คสช. สิ้นสุดบทบาท มีผู้ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง จำนวนอย่างน้อย 197 คน ใน 115 คดี

ในคดีจำนวนมาก เป็นการกล่าวหาข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ่วงไปกับข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ มาตรา 116 ซึ่งมีรวมกันจำนวน 73 คดี เนื่องจากเป็นการแสดงออกบนโลกออนไลน์ ทำให้เหลือคดีที่มีข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นหลักจำนวน 42 คดี คิดเป็นผู้ถูกกล่าวหา 116 คน

หากพิจารณาเฉพาะคดีในส่วนหลังนี้ จะพบว่ามีคดีที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 14 คดี และคดีที่ศาลยกฟ้องจำนวน 6 คดี เท่ากับประมาณร้อยละ 47.6 ของคดีทั้งหมด

โดยมีคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ 7 คดี โดยแยกเป็นคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ 5 คดี และคดีที่จำเลยต่อสู้คดี 2 คดี เท่ากับมีคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษโดยจำเลยต่อสู้คดี เพียงร้อยละ 4.7 เท่านั้น   

นอกเหนือจากนั้น เป็นคดีที่ทราบว่ายังไม่สิ้นสุดและศาลยังไม่มีคำพิพากษาจำนวน 4 คดี และคดีที่ไม่ทราบความเคลื่อนไหวทั้งหมด 11 คดี

คดีในกลุ่มนี้จำนวนมากเป็นคดีการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารงานของ คสช. และการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐองค์กรต่างๆ ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นนักการเมือง นักวิชาการ หรือนักกิจกรรมฝ่ายค้านต่อ คสช. และกองทัพ

กลุ่มคดีที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการจงใจกล่าวหาฝ่ายค้านทางการเมือง โดยเฉพาะแกนนำพรรคอนาคตใหม่และพรรคเพื่อไทย ซึ่งมักมีฝ่ายกฎหมายของ คสช. เป็นผู้แจ้งความกล่าวหา ก่อนที่ต่อมาพบว่าคดีลักษณะนี้แทบทั้งหมดพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี อาทิเช่น คดีของคณะกรรมการพรรคอนาคตใหม่ 3 ราย นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ไลฟ์วิพากษ์วิพากษ์วิจารณ์การดูด ส.ส. ของ คสช. มี พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นตัวแทนของ คสช. แจ้งความกล่าวหา คดีใช้เวลากว่า 1 ปีครึ่ง อัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาด

คดีของปิยบุตร แสงกนกกุล กรณีอ่านแถลงการณ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญที่มีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งมี พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นผู้กล่าวหาเช่นกัน คดีใช้เวลา 1 ปี 3 เดือนเศษ อัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดเช่นกัน

รวมไปถึงคดีของ พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ และประชาชนอีก 5 คน กรณีแชร์ข่าวที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ดื่มกาแฟราคาแพง คดีนี้ก็มี พ.อ.บุรินทร์ เป็นผู้กล่าวหา และต่อมาอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีผู้ถูกกล่าวหาทุกคน

ด้านแกนนำพรรคเพื่อไทยในช่วง คสช. ก็ถูกกล่าวหาจากการโพสต์แสดงความคิดเห็นหลายคดี เช่น วัฒนา เมืองสุข ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 3 คดี ทั้งคดีโพสต์วิจารณ์ศาลกรณีจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์, คดีโพสต์วิจารณ์พล.อ.ประยุทธ์พล.อ.ประวิตรคสช. ไม่ยินยอมคืนอำนาจให้ประชาชนและใช้รัฐธรรมนูญล้างผิดให้ตนเอง หรือคดีโพสต์วิจารณ์รัฐบาลที่ดำเนินคดีกับคนแชร์เพจ “คนไทยยูเค”  โดยเท่าที่สืบค้นจากรายงานข่าว พบว่าอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีแรก และศาลอาญายกฟ้องในคดีที่สองไปแล้ว ส่วนคดีสุดท้ายยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดี

กรณีของพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถูกกล่าวหาในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 2 คดี ได้แก่ คดีโพสต์วิจารณ์ คสช. ห้ามขายนิตยสาร Times หน้าปก พล.อ.ประยุทธ์ และคดีโพสต์วิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจของหัวหน้า คสช. ทั้งสองคดีมี พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจ คสช. มากล่าวหา และสุดท้ายทั้งสองคดี อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องเช่นกัน

นอกจากนักการเมืองแล้ว นักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์ คสช. และกองทัพ ยังตกเป็นเป้าหมายของการถูกดำเนินคดี อาทิ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ ปอท. กล่าวหาจากการแชร์โพสต์วิพากษ์วิจารณ์การใช้กระเป๋าถือของภรรยา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คดีใช้เวลาเกือบ 2 ปี พนักงานอัยการจึงมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากเห็นไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

หรือคดีของปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคดีของหาญศักดิ์ เบญจศรีพิทักษ์ แกนนำคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ ที่โพสต์ข้อความแซวทหาร ซึ่งจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตระดมทุนในช่วงเวลาเดียวกับที่กลุ่มนักศึกษาจัดกิจกรรมคัดค้านการเลื่อนเลือกตั้ง ทำให้ถูกทหารมณฑลทหารบกที่ 33 แจ้งความกล่าวหา คดีใช้เวลาเกือบ 8 เดือน พนักงานอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้องทั้งสองคดีนี้

 

 

ในส่วนของนักกิจกรรม อาทิ กรณีของเอกชัย หงส์กังวาน เป็นผู้ถูกกล่าวหาในหลายคดีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งถูกลอบทำร้ายร่างกายหลายครั้ง ในช่วงที่เขาเคลื่อนไหวตรวจสอบกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยเอกชัยถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 2 คดี ได้แก่ คดีโพสต์เฟซบุ๊กว่าไทยแพ้สงครามในสมรภูมิร่มเกล้า ซึ่ง พ.อ.บุรินทร์ เป็นผู้กล่าวหา ต่อมาอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ส่วนอีกคดีหนึ่ง คือคดีโพสต์เล่าประสบการณ์เรื่องเพศในเรือนจำ ที่ล่าสุด ศาลอาญามีคำพิพากษาว่าเอกชัยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) โดยเขาจะต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ต่อไป

นอกจากนั้น ยังมีคดีในลักษณะเป็นกลุ่มประชาชนที่แชร์ภาพและข้อความจากเพจทางการเมืองต่างๆ ที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับตา โดยส่วนมากคดีลักษณะนี้ เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำตัวเจ้าของเพจ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเนื้อหาที่ถูกกล่าวหาต่างๆ มาดำเนินคดีได้ แต่กลับมีการกล่าวหาประชาชนที่เพียงแต่กดแชร์ข้อความนั้นๆ จำนวนมากพร้อมกันแทน

คดีในส่วนที่เป็นประชาชนนี้ พบว่ามีทั้งส่วนที่ยินยอมให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ต้องการมีภาระทางคดี และมีทั้งส่วนที่ตัดสินใจต่อสู้คดี ซึ่งต้องใช้ทั้งระยะเวลาและกำลังทรัพย์ หลายรายเป็นประชาชนที่ต้องเดินทางมาจากต่างจังหวัด เนื่องจากคดีดำเนินอยู่ในกรุงเทพฯ ก่อนพบว่าในหลายคดี ศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้องในที่สุด

อาทิเช่น คดีแชร์ข้อความจากเพจ “กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ” มีประชาชน 9 ราย ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) จากการแชร์โพสต์เนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายแก้ปัญหายาเสพติดของ คสช. และวิพากษ์วิจารณ์การดูด ส.ส. ของ คสช. ต่อมาจำเลย 7 ราย ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยอีก 2 ราย ยืนยันต่อสู้คดี จนใช้เวลากว่า 1 ปีครึ่ง ศาลอาญาได้ยกฟ้องคดี เหตุเพราะไม่ปรากฏว่าข้อมูลตามโพสต์เป็นเท็จหรือไม่ ทั้งข้อความก็ไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย​ต่อความมั่นคงของประเทศ

หรือคดีแชร์เพจ “คนไทยยูเค” ซึ่งประชาชน 10 ราย ถูกกล่าวหาจากการแชร์ข้อความเนื้อหาเกี่ยวกับพล.อ.ประยุทธ์ลี้ภัย เพราะจะถูกศาลพิจารณารับฟ้องข้อหากบฏ หลังต่อสู้คดีกว่า 2 ปี ศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้องคดีนี้เช่นกัน โดยทั้งสองคดีนี้ มี พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เป็นผู้ไปกล่าวหาเช่นเดียวกัน

โดยภาพรวม คดีเหล่านี้จึงมีลักษณะการใช้ “กระบวนการดำเนินคดี” เพื่อพยายามสกัดกั้นไม่ให้ประชาชนนำเสนอข้อมูลข่าวสาร หรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองต่อ คสช. และกองทัพ ในพื้นที่โลกออนไลน์ โดยเฉพาะบุคคลที่มีอิทธิพลทางสังคม มีผู้ติดตามมาก อาจตกเป็น “เป้าหมาย” ได้ง่าย หลายกรณีพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีการเฝ้าดูพฤติการณ์บนโลกออนไลน์ของเพจหรือบุคคลโดยเฉพาะ ก่อนเลือกดำเนินการทางคดีอีกด้วย รวมทั้งการดำเนินคดี ก็ส่งผลทำให้เกิดความตื่นกลัวต่อการแสดงความคิดเห็นของผู้คนอื่นๆ ในโลกออนไลน์ได้อีกด้วย

 

 

คดีฝ่าฝืนห้ามชุมนุมทางการเมือง: สัดส่วนคดีสิ้นสุดเพราะยกเลิกความผิด และถูกลงโทษเพราะรับสารภาพ พอๆ กัน

ในส่วนประเภทคดีในข้อหาที่ คสช. “อุปโลกน์” ขึ้นมาเอง เพื่อปิดกั้นการรวมตัวชุมนุมทำกิจกรรมของประชาชน ได้แก่ ข้อหาตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งกำหนดห้ามการชุมนุมทางการตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งถูกใช้บังคับอยู่กว่า 4 ปีครึ่ง หลังรัฐประหารของ คสช. ทำให้การชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร การใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร และนโยบายรัฐต่างๆ ถูกทำให้กลายเป็นความผิดทางอาญา  

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตลอดการบังคับใช้ประกาศ/คำสั่ง คสช. เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมือง มีประชาชนถูกกล่าวหาดำเนินคดีอย่างน้อย 428 คน ในทั้งหมด 67 คดี คดีข้อหานี้ยังถูกสั่งให้ต้องพิจารณาพิพากษาภายใต้ระบบศาลทหาร ทำให้การต่อสู้คดีเป็นไปอย่างยืดเยื้อยาวนาน 

หลัง 7 ปีผ่านไปพบว่ามีคดีที่ศาลยกฟ้อง หรือสั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากประกาศ/คำสั่ง คสช. ถูกยกเลิกไปแล้ว จำนวน 20 คดี โดยผู้กล่าวหาแทบทั้งหมดต้องรับภาระในการต่อสู้คดีอย่างยาวนาน ราว 1-4 ปี กว่าคดีจะสิ้นสุด เช่น คดีการทำกิจกรรมเลือกตั้งที่ลัก (รัก) ที่ใช้เวลา 4 ปีเต็ม กว่าศาลทหารจะสั่งจำหน่ายคดี โดยที่ยังสืบพยานไม่แล้วเสร็จ และไม่ได้มีคำวินิจฉัยในเชิงเนื้อหาที่จำเลยต่อสู้คดี ในช่วง 4 ปี นั้น จำเลยทั้งสี่ก็มีภาระต้องไปที่ศาลทหารเป็นระยะเรื่อยมา

 

 

คดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 9 คดี โดยส่วนหนึ่งเพราะมีการยกเลิกคำสั่ง คสช. จึงไม่ฟ้องในข้อหานี้อีก แต่มีกรณีอย่างคดีทำกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ ที่อัยการพลเรือนเห็นว่าไม่ใช่การชุมนุมเกี่ยวกับการเมือง จึงสั่งไม่ฟ้องคดี หรือคดีการรวมตัวของกลุ่มประชาชนตั้งพรรคแนวร่วมปฏิวัติประชาธิปไตย ที่อัยการทหารสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง

คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ และศาลพิพากษาลงโทษ จำนวน 23 คดี เนื่องจากเป็นข้อหาที่มีโทษไม่สูงนัก และพบว่าศาลทหารพิพากษาลงโทษจำคุกโดยให้รอลงอาญาเป็นหลัก โดยคดีข้อหานี้พบว่าถูกพิพากษาลงโทษจําคุกตั้งแต่ 45 วัน ไปจนถึง 4 เดือน โดยให้รอลงอาญา พร้อมลงโทษปรับตั้งแต่ 2,500 ถึง 5,000 บาท ผู้ถูกกล่าวหาหลายคนไม่ต้องการมีภาระทางคดีในระยะยาว ทำให้ตัดสินใจให้การรับสารภาพมากกว่า แต่การมีโทษจำคุกโดยให้รอลงอาญา ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาอาจเกรงการถูกดำเนินคดีซ้ำอีก ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมหรือทำกิจกรรมทางการเมืองต่อไป

คดีที่ผู้ต้องหายินยอมเข้ารับการอบรม เพื่อให้คดีสิ้นสุด จำนวน 7 คดี โดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ได้เปิดช่องให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ยินยอมเข้ารับ “การอบรม” จากเจ้าหน้าที่ทหาร ให้ถือว่าคดีเป็นอันเลิกแล้วต่อกันได้ ทำให้ประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่นักกิจกรรม ยินยอมเข้ากระบวนการเช่นนี้ เพื่อให้คดีจบลงโดยไม่ใช้เวลามากนัก 

แต่การอบรมพบว่ามีการให้ผู้ถูกกล่าวหาลงนามในบันทึกข้อตกลงจะไม่เคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมทางการเมืองอีกด้วย กลายเป็น “ชนักติดหลัง” ให้กับผู้เข้ารับการอบรมต่อมา กระบวนการในลักษณะนี้ยิ่งทำชี้ให้เห็นถึง “เป้าประสงค์” ของการใช้คำสั่ง คสช. นี้ ว่าอยู่ที่การควบคุมการทำกิจกรรมทางการเมืองต่างหาก

นอกจากนั้น ยังคดีที่จำเลยต่อสู้คดี และศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำนวน 1 คดี ได้แก่ คดีของอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ ซึ่งถูกกล่าวหาจากการถือป้ายชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ โดยคดีนี้มีการต่อสู้ในศาลพลเรือนไปถึงชั้นศาลฎีกา และแม้จะมีการยกเลิกความผิดในข้อหาการห้ามชุมนุมทางการเมืองไปแล้ว แต่ศาลฎีกายังคงพิพากษาลงโทษจำเลย แม้จะลงโทษปรับ 6,000 บาท แต่ศาลกลับตีความว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งให้ยกเลิกความผิดห้ามชุมนุมทางการเมืองนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดีที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิก ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยดังกล่าว เนื่องจากเป็นการนำ “กฎหมาย” ซึ่งถูกบัญญัติไม่ให้เป็นความผิดอีกต่อไป กลับมาลงโทษจำเลย

ขณะเดียวกัน แม้ คสช. จะยุติบทบาทไปแล้ว แต่ก็ยังมีคดีที่ไม่สิ้นสุดอีก 3 คดี เนื่องจากมีการฟ้องร้องข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ไปร่วมกับข้อหาอื่นๆ ทำให้ยังไม่มีการจำหน่ายคดี หรือไม่มีการถอนฟ้องข้อกล่าวหานี้ เช่น ในคดีผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง UN62 อัยการโจทก์ได้ขอให้อัยการสูงสุดถอนฟ้องข้อหานี้ เนื่องจากได้ถูกยกเลิกความผิดไปแล้ว แต่ไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา หรือคดีขอนแก่นโมเดล ที่ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในศาลพลเรือน หลังโอนย้ายมาจากศาลทหาร

นอกเหนือจากนั้น เป็นคดีที่ไม่ทราบความเคลื่อนไหวจำนวน 4 คดี

จะเห็นได้ว่าคดีที่สิ้นสุดโดยศาลยกฟ้อง/จำหน่ายคดี หรืออัยการสั่งไม่ฟ้อง รวมกันทั้งหมดเท่ากับ 29 คดี สัดส่วนพอๆ กันกับคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ หรือคดีที่ยินยอมเข้ารับการอบรม ซึ่งรวมกันมีทั้งหมด 31 คดี

การให้การรับสารภาพและศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิด โดยเฉพาะในคดีทางการเมืองนั้น ไม่ได้เท่ากับว่าผู้ถูกกล่าวหายอมรับว่าได้ “กระทำความผิด” ตามข้อกล่าวหาตรงๆ แต่อย่างใด แต่ภายใต้เงื่อนไขของกระบวนการที่เกิดขึ้นในโครงสร้างเช่นนี้ ทั้งกระบวนการยุติธรรมที่ทหารสามารถออกคำสั่ง ควบคุม แทรกแซงได้ ทั้งยังสร้างภาระให้กับผู้ถูกกล่าวหาในการพิสูจน์ว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ ทำให้ประชาชนผู้ที่ไม่มีต้นทุนทางสังคมพอหลายคน ตัดสินใจอย่างจำยอมในการรับสารภาพ 

โดยภาพรวม แม้ไม่ได้มีประชาชนถูกจำคุกจากการถูกกล่าวหาในข้อหาที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นเองนี้ แต่การใช้ข้อกล่าวหาเช่นนี้ในการปิดกั้น จับกุม ข่มขู่ ป้องปราม หรือปราบปรามผู้แสดงออกทางการเมือง ก็ทำให้การรวมตัวทำกิจกรรมของประชาชนเป็นไปอย่างยากลำบาก ทำให้เกิดการสร้างความกลัวขึ้นในสังคมสำหรับผู้ที่จะตัดสินใจจะออกมาเคลื่อนไหว ส่งผลให้ผู้ถือครองอำนาจได้เปรียบในการทำ “สงคราม” ควบคุมการชุมนุมการเมืองตลอดช่วงยุค คสช.

 

 

คดีมาตรา 112: แนวโน้มผู้ถูกล่าวหายอมรับสารภาพเกือบครึ่ง การต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ใช้ต้นทุนสูง

คดีมาตรา 112 ในช่วงยุค คสช. มีส่วนแตกต่างไปจากข้อหาอื่นๆ ข้างต้น เนื่องจากบริบทของการบังคับใช้ข้อหานี้ โดยเฉพาะตั้งแต่ทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา มีลักษณะของกระบวนการที่มีแนวโน้มจะ “บีบบังคับ” ให้ผู้ถูกกล่าวหายินยอมรับสารภาพ ทั้งการไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณา การสั่งพิจารณาเป็นการลับ ความคลุมเครือกว้างขวางของการตีความกฎหมาย การต่อสู้ในเชิงเนื้อหาคดีที่เป็นไปได้ยาก อัตราโทษที่สูง รวมทั้งแรงกดดันทางสังคม ทำให้จำเลยหลายคนเลือกจะให้การรับสารภาพ เพื่อให้ได้รับการลดหย่อนโทษลง รวมทั้งในช่วง คสช. เจ้าหน้าที่ทหารมีการกระบวนการขู่บังคับนำตัวบุคคลเข้าไปควบคุมและสอบสวนในค่ายทหารก่อนดำเนินคดีอีกด้วย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังรัฐประหาร 2557 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 169 คน แบ่งเป็นผู้ถูกตั้งข้อหาจากการแสดงความคิดเห็นอย่างน้อย 106 คน ในจำนวน 90 คดี และกรณีแอบอ้างสถาบันกษัตริย์เรียกรับผลประโยชน์อีกอย่างน้อย 63 คน 

หากพิจารณาเฉพาะคดีที่เกิดขึ้นจากการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น ในจำนวน 90 คดี พบว่ามีคดีที่จำเลยยอมรับสารภาพ ทำให้ถูกศาลพิพากษาลงโทษ จำนวน 42 คดี เท่ากับร้อยละ 46.7 หรือเกือบครึ่งหนึ่งของคดีทั้งหมดเท่าที่ทราบ

นอกจากนั้นยังมีคดีที่จำเลยต่อสู้คดี ก่อนถูกศาลพิพากษาลงโทษจำนวน 15 คดี เมื่อรวมกับคดีที่ศาลลงโทษผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นจำนวน 57 คดี หรือกว่าร้อยละ 63.3 ของคดีทั้งหมด

นอกจากเหนือจากนั้น มีคดีที่ศาลยกฟ้อง 12 คดี และคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง 9 คดี คดีที่ยังไม่สิ้นสุดและศาลยังไม่มีคำพิพากษา 5 คดี  คดีที่ไม่ทราบความเคลื่อนไหว 6 คดี และคดีที่จำเลยเสียชีวิตระหว่างพิจารณา 1 คดี

ในยุค คสช. ทั้งศาลทหารและศาลยุติธรรมมีแนวโน้มที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยในคดี 112 ด้วยอัตราโทษที่สูง จากเดิมกรรมละ 5 ปี เป็นกรรมละ 8-10 ปี ทำให้เกิดกรณีที่ศาลทหารพิพากษาจำคุกด้วยโทษสูงถึง 50 – 70 ปี 

รวมทั้งเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา คดีของ “อัญชัญ” กรณีถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” รวมทั้งหมด 29 กรรม เดิมเธอต่อสู้คดีในศาลทหาร ระหว่างถูกคุมขังเกือบ 4 ปี ก่อนได้ประกันตัว และเมื่อคดีถูกโอนย้ายมายังศาลอาญา เธอได้ตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ทำให้ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกในคดีมาตรา 112 สูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา ได้แก่ จำคุก 87 ปี รับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 29 ปี 174 เดือน

 

 

ในจำนวนนี้ ยังมีคดีที่ศาลไม่ลงโทษในข้อหาตามมาตรา 112 แต่ไปลงโทษในข้อหาตามมาตรา 116 หรือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แทน จำนวน 15 คดี เนื่องจากตั้งแต่ราวช่วงต้นปี 2561 เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการบังคับใช้ข้อหามาตรา 112 ที่ตำรวจไม่แจ้งข้อกล่าวหานี้ และศาลก็หลีกเลี่ยงจะมีคำพิพากษาลงโทษในข้อกล่าวหานี้ด้วย ทำให้มีคดีใหม่ๆ ลดลง และเกิดลักษณะคดีที่โจทก์เคยฟ้องร้องคดีในข้อหามาตรานี้ แต่ศาลกลับลงโทษในข้อหาที่โจทก์ไม่ได้ฟ้องมา หรือการไม่ได้วินิจฉัยใดๆ ถึงข้อหามาตรา 112 เช่น คดีของทนายประเวศ ประภานุกูล, คดีของประธิน ที่จังหวัดขอนแก่น, คดีของบุปผา หรือคดีของสิชล เป็นต้น

ลักษณะการบังคับใช้ที่เปลี่ยนแปลงไปตาม “นโยบาย” ของผู้มีอำนาจเช่นนี้ ทั้งการปรับขึ้นลงของอัตราโทษ การปรับแนวทางการใช้ไปมาตามบริบททางการเมือง หรือการเลือกใช้หรือไม่ใช้กฎหมายตามคำสั่งการ ยิ่งทำให้กฎหมายมาตรานี้ มีลักษณะเป็นเรื่องทาง “การเมือง” อย่างยิ่ง

ในหลายคดีที่มีการต่อสู้คดีตามมาตรา 112 ในช่วง คสช. พบว่าต่อมาศาลยกฟ้องคดี โดยส่วนมากมักเป็นคดีที่จำเลยได้รับการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี และต้องรอจนคดีถูกโอนย้ายจากศาลทหารมายังศาลพลเรือนแล้ว จึงทำให้การสืบพยานในคดีสิ้นสุดลงได้ คดีลักษณะนี้อาทิเช่น

คดีของฐนกร กรณีการกดไลค์เพจที่มีการโพสต์ข้อความที่อาจหมิ่นประมาทกษัตริย์ และการโพสต์ข้อความเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง หลังต่อสู้คดีกว่า 5 ปี ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้พิพากษายกฟ้องคดีนี้ โดยเห็นว่าการกดไลท์เพจไม่ได้แปลว่าชื่นชอบอย่างเดียว และข้อความที่โพสต์เกี่ยวกับสุนัขทรงเลี้ยงก็ไม่ได้เข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ คดีนี้ฐนกรทั้งถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร 7 วัน และถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างฝากขังในชั้นสอบสวน 84 วัน จนหลังการสั่งฟ้องจึงได้รับการประกันตัว โดยเขาได้รับผลกระทบในชีวิต ต้องออกจากงาน และต่อมาไปบวชเป็นภิกษุ ระหว่างการต่อสู้คดีตั้งแต่ชั้นศาลทหาร

คดีของพัฒน์นรี หรือ “แม่จ่านิว” กรณีตอบแชทส่วนตัวว่า “จ้า” ต่อข้อความที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทกษัตริย์ คดีนี้หลังต่อสู้คดีกว่า 4 ปี ศาลอาญาพิพากษายกฟ้องคดี เห็นว่าการตอบรับดังกล่าวต้องการตัดบท ไม่ได้เท่ากับเห็นด้วยใดๆ แต่ระหว่างต่อสู้คดีเธอได้รับผลกระทบทั้งเรื่องการจ้างงานที่ลดลง ความสัมพันธ์กับผู้คน และความหวาดกลัวคนที่มาขู่อาฆาต ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปถึงลูกชาย คือ “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่มีบทบาทการเคลื่อนไหวในช่วง คสช. ด้วย

คดีของบัณฑิต อานียา ที่ถูกกล่าวหาถึงสองคดีในช่วง คสช. ทั้งคดีจากการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในงานประชุมของพรรคนวัตกรรม ปี 2557 และคดีแสดงความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในปี 2558 ตั้งแต่เกิดเหตุจนศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องทั้งสองคดี ใช้เวลามากว่า 5 ปี 9 เดือน และ 4 ปี 2 เดือนเศษ ตามลำดับ

คดีของสราวุทธิ์ ช่างตัดแว่นและนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงราย กรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์รูปสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (ในขณะนั้น) พร้อมข้อความ “ทรงเท่มากพะยะค่ะ” ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหายืนยันว่าไม่ได้โพสต์ข้อความในลักษณะดังกล่าว หลังต่อสู้คดีที่ศาลทหารและศาลพลเรือนเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน ศาลได้พิพากษายกฟ้องคดี เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัย สราวุทธิ์ต้องถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการฝากขังเป็นระยะเวลา 38 วัน ก่อนได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้ดี

หรือคดีของ “แหวน” ณัฏฐธิดา มีวังปลา ถูกกล่าวหาจากการส่งข้อความลงในกลุ่มไลน์ คดีนี้ทำให้เธอถูกคุมขังอยู่กว่า 1 ปีเศษ ก่อนจะได้รับการประกันตัว และรวมแล้วต้องสู้คดีอยู่ 3 ปี 6 เดือน คดีถูกโอนย้ายมายังศาลพลเรือน และศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในที่สุด

คดีเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยมีเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้กล่าวหา ทั้งการนำเสนอข้อกล่าวหาในคดีมาตรา 112 ของสื่อมวลชนต่อสังคม ยังเต็มไปด้วยข้อจำกัด ทำให้หลายคดีแทบไม่มีใครรู้ว่าการกล่าวหาเกิดขึ้นจากข้อความหรือการแสดงออกใด แต่การให้ข่าวของเจ้าหน้าที่รัฐมักกล่าวหาไปล่วงหน้า เพื่อทำลายความชอบธรรม และสร้างภาระในการต่อสู้คดี บางกรณีก็นำไปสู่การควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาอย่างยาวนาน ทำให้ต้องตัดสินใจรับสารภาพในที่สุด การต่อสู้คดีนี้ในช่วง คสช. จึงมีต้นทุนสำหรับผู้ถูกกล่าวหาสูงมาก

โดยภาพรวม การใช้มาตรา 112 และมาตรการอื่นๆ ในการป้องปราม เช่น การควบคุมตัวในค่ายทหาร หรือการคุกคามถึงบ้าน มีส่วนนำไปสู่การจำกัดควบคุมการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมีความสำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านรัชสมัยที่เกิดขึ้นพอดีในระหว่างช่วง คสช. และทำให้แม้แต่การพูดถึงปัญหาการใช้กฎหมายมาตรานี้ลดระดับเพดานลงจากช่วงก่อนหน้าการรัฐประหาร 2557 

 

 

จากยุค คสช. ถึงการชุมนุมยุค #เยาวชนปลดแอก: นิติสงครามยังคงเข้มข้น

“ในส่วนตัวผมก็ต้องยอมรับว่า คสช. เขาอยู่ได้ยาวถึง 5 ปี ในนามของ คสช. แล้วยังสามารถจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนั้นได้อีก ก็แสดงว่าการขัดขวางของเราไม่ประสบความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ว่าการกระทำของ คสช. ของผู้มีอำนาจในเวลานั้น มีประชาชนกลุ่มหนึ่งไม่ยอมรับ 

“คดีความต่างๆ เหล่านี้ มันก็เป็นการบันทึกไว้ในระบบกระบวนการยุติธรรม หวังว่าวันหนึ่งมันจะกลายเป็นกรณีศึกษา (case study) เล็กๆ หรือมีการนำคำพิพากษามานั่งอภิปรายกันในอนาคต ในเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องการกฏหมาย ในทางรัฐศาสตร์ ก็หวังว่ามันจะเป็นแบบนั้น ให้มันบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เพราะเขามีกำลังมีปืน เราก็แค่มีปากมีเสียง” 

สมบัติ บุญงามอนงค์ ให้สัมภาษณ์ก่อนฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 116 ที่เขาต่อสู้คดีกว่า 6 ปี  

 

ในช่วงเวลาเพียง 9 เดือนเศษ ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 รวมเวลา 9 เดือนเศษ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 635 คน ในจำนวน 301 คดี

ปรากฏการณ์การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุคปี 2563 ที่ทะยานเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกเดือน ทั้งยังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งในเชิงจำนวน พื้นที่เกิดเหตุ หรือช่วงวัยของผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นเยาวชนมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นภาพสะท้อนว่า “นิติสงคราม” ซึ่งดำเนินผ่านการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่ได้ยุติจบลงไปหลังช่วงการอยู่ในอำนาจของคณะรัฐประหาร อีกทั้งยังดูเหมือนจะเข้มข้นมากกว่าในช่วง คสช. เสียอีก

กล่าวได้ว่าพร้อมๆ กับการตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2563 ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวชุมนุมที่ขยายตัวมากขึ้น พร้อมข้อเสนอที่แหลมคมยิ่งขึ้นของการเคลื่อนไหว การกล่าวหาดำเนินคดีก็เป็นไปในอัตราเร่งที่สูงขึ้นอย่างมาก จนรอบหนึ่งปีหลังที่ผ่านมา นับได้ว่ามีคดีทางการเมืองมากพอๆ กับตลอด 5 ปี ยุค คสช. 

ข้อหามาตรา 116 ยังถูกใช้กล่าวหาแกนนำนักกิจกรรมและผู้เข้าร่วมการชุมนุมทั่วไปอย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่ถูกใช้แทนมาตรา 112 ในช่วงแรกของการชุมนุม และในแง่การตีความใช้กฎหมายที่มีปัญหาสืบเนื่องมา ตัวเลขผู้ถูกกล่าวหาในเวลา 9 เดือนเศษ อยู่ที่อย่างน้อย 103 ราย น้อยกว่ายอดในช่วง 5 ปี ของ คสช. ไปไม่มากนัก 

แม้ข้อหาฝ่าฝืนเรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีโทษสูงกว่าด้วยซ้ำ ถูกนำมาใช้จัดการการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องกว้างขวาง ภายใต้ข้ออ้างเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยที่ยังไม่มีการชุมนุมครั้งใดที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคเกิดขึ้น แต่ผู้ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงเวลา 1 ปีเศษหลังประกาศใช้ เพิ่มขึ้นไปกว่า 500 คน มากกว่าผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาห้ามชุมนุมทางการเมืองในช่วง คสช. ตลอด 5 ปี ไปแล้ว

ไม่นานหลังการเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของผู้ชุมนุม ข้อหามาตรา 112 ที่เคยถูกงดเว้นการใช้ไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็ถูกสั่งการให้รื้อฟื้นนำกลับมาใช้ใหม่ จนตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดีทะยานเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพียงครึ่งปี มีผู้ถูกกล่าวหาจากการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ เพิ่มไปมากกว่า 90 รายแล้ว พอๆ กับเท่าที่มีข้อมูลในช่วง 5 ปี ของยุค คสช. มิหนำซ้ำแกนนำนักกิจกรรมที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ยังต้องเผชิญกับข้อกล่าวหานับสิบคดีต่อคน และกลุ่ม “ปกป้องสถาบันฯ” ยังใช้การแจ้งความกล่าวหาในข้อหานี้ เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

ข้อกล่าวหายิบย่อย ที่มีอัตราโทษปรับ อย่าง พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, การใช้เครื่องขยายเสียง, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ถูกนำมาใช้อย่างหยุมหยิมต่อการชุมนุมแสดงออกต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยสงบ หรือถูกพ่วงท้ายไปกับข้อหาหลักอื่นๆ ทำให้บางคดีถูกกล่าวหารวมกันหลาย 10 ข้อกล่าวหา ให้ภาพราวกับเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง 

คดีความเหล่านี้ โดยเฉพาะที่มีการต่อสู้คดี ยังไม่รู้ว่าต้องใช้เวลาอีกเท่าใดกว่าจะสิ้นสุดและจะนำไปสู่ปลายทางเช่นใด แต่การจับกุมคุมขัง ภาระในการต่อสู้คดี การสูญเสียโอกาสในชีวิตในมิติต่างๆ ของประชาชนที่ถูกกล่าวหา ได้เกิดขึ้นภายใต้กระบวนการนิติสงครามที่กำลังดำเนินอยู่แล้ว รวมทั้งทรัพยากรของรัฐจำนวนมากในกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล และเรือนจำ ก็ได้ถูกทุ่มเทนำมาใช้จัดการกับคดีที่เกิดขึ้นการแสดงออกทางการเมืองเหล่านี้

แม้ปัญหาการใช้กฎหมายและปัญหาภายในกระบวนการยุติธรรมจะถูกกล่าวถึงอยู่เสมอมา แต่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และระบอบที่สืบเนื่องตามมาหลังจากนั้นจนถึงปัจจุบัน ได้ทำให้กระบวนการใช้กฎหมายเพื่อค้ำจุนและรักษาอำนาจทางการเมือง ถูกทำอย่างเป็นระบบและกลายเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐหรือผู้มีอำนาจที่เห็นได้ชัดเจนขึ้น 

คดีความต่างๆ ทั้งเก่าและใหม่ที่เกิดขึ้นตลอด 7 ปี ที่ผ่านมา จึงเป็นส่วนหนึ่งของ “ประจักษ์พยาน” ต่อการใช้อำนาจรัฐภายใต้ยุทธศาสตร์เช่นนี้ ซึ่งทั้งหมดยังรอคอยการไต่สวนและพิเคราะห์พยานหลักฐานที่ถูกจารึกไว้เหล่านี้ให้รอบด้าน กระทั่งเพื่อพิจารณาพิพากษาผู้มีส่วนร่วมกันใช้นิติสงครามเช่นนี้ต่อไปในอนาคต

 

 

X