อัยการภาค 1 มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี
7 ส.ค. 2561 อัยการจังหวัดธัญบุรีนัดสมาชิกเครือข่าย People Go Network ทั้ง 8 คน มาเพื่อฟังคำสั่งอัยการในคดีที่พวกเขาถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 จากการร่วมกันจัดกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” อัยการที่รับผิดชอบสำนวนแจ้งกับทนายความที่รับมอบอำนาจมาฟังคำสั่งแทนว่า อธิบดีอัยการภาค 1มีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีนี้ และทางอัยการได้ส่งความเห็นถึงผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ทั้งตำรวจก็มีความเห็นไม่ฟ้องเช่นเดียวกัน
เพิ่มเติม (เวลา 15.20 น.) : ตามเอกสารคำสั่งอัยการระบุว่าข้อเท็จจริงปรากฏเมื่อวันที่ 18 ม.ค.2561 สภ.คลองหลวง ได้รับหนังสือแจ้งการชุมนุมจากผู้ต้องหาที่ 1 คือเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ต่อมาทหารและตำรวจสืบสวนของสภ.คลองหลวง ได้ร่วมกันตรวจสอบและติดตามพฤติการณ์ของการชุมนุมดังกล่าว พบว่ามีการจำหน่ายเสื้อยืดมีข้อความสื่อความหมายที่เกี่ยวข้องในทางการเมือง มีการเชิญชวนผู้มาร่วมกิจกรรมให้ช่วยกันซื้อเสื้อที่มีข้อความด้านหน้าเสื้อว่า “ช่วยกันคนละชื่อ ปลอดอาวุธ คสช.” และชวนประชาชนร่วมลงชื่อ ยกเลิกคำสั่ง/ประกาศ คสช. ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าว มีลักษณะเป็นการชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองตามคำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งไม่ให้มั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. และต่อมาในวันที่ 20 ม.ค. 2561 ผู้ต้องหาทั้งแปด ซึ่งเป็นแกนนำชุมนุมและผู้ชุมนุมอีก 150 คน ได้จัดการชุมนุมปราศรัยเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล โดยมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นปราศรัย จึงมีการแจ้งความร้องทุกข์ให้มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาทั้งแปดเป็นคดีนี้
ทั้งนี้คำวินิจฉัยของอัยการได้ให้เหตุผลที่มีคำสั่งไม่ฟ้องว่าการทำกิจกรรม ‘We walk เดินมิตรภาพ’ นี้ เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มิได้กระทบความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อีกทั้งผู้ต้องหาที่ 1 ได้แจ้งการชุมนุมและวัตถุประสงค์ของการชุมนุมต่อผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายแล้ว โดยการชุมนุมไม่ได้มีกิจกรรมเกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด การกระทำของผู้ต้องหาทั้งแปดจึงยังไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา
ในคดีนี้มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 8 คน จากกิจกรรม We walk ได้แก่ 1. เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา 2. อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3. นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 4. สมชาย กระจ่างแสง มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 5. แสงศิริ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 6. นุชนารถ แท่นทอง 7. จำนงค์ หนูพันธ์ จากเครือข่ายสลัม 4 ภาค และ8. อุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรทางเลือก
เครือข่าย People Go Network ยื่นขอผู้ตรวจการฯ เสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่ง คสช. หัวหน้า คสช. 3/58 ขัดรัฐธรรมนูญ
สมาชิก 8 คนที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีขณะเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ภาพโดย People Go Network
ขณะเดียวกันทั้ง 8 คน วันนี้ได้เดินทางไปที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ตึกศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ เพื่อยื่นคําร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีคําสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามการมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 26 และมาตรา 44 โดยขอให้ผู้ตรวจการพิจารณาตรวจสอบและมีความเห็นถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลวินิจฉัย และให้ผู้ตรวจการเสนอแนะต่อหัวหน้า คสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการใช้คำสั่งดังกล่าว ตัวแทน 20 คน ของเครือข่าย People Go Network ได้เข้าพบและยื่นหนังสือต่อ สงัด ปัดทวี รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
หลังการยื่นหนังสือนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษาได้แสดงความเห็นต่อรองเลขาธิการฯ ว่าเห็นปัญหาว่ามีประชาชนมากกว่า 400 คน ที่ถูกดำเนินคดีด้วยคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2558 เพราะเห็นว่าพอรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วก็น่าจะยกเลิกไปเลยมาเสนอให้ผู้ตรวจการฯ เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งดังกล่าวมีความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้วก็เห็นว่าผู้ตรวจการมีอำนาจในการเสนอให้หน่วยงานอื่นๆ ยุติการใช้คำสั่งนี้ เพราะเห็นว่าผู้ตรวจการฯ ยังมีความสำคัญและด้วยบทบาทหน้าที่ของผู้ตรวจการที่ต้องออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่านี้
ตัวแทนทีมทนายความ อัมรินทร์ สายจันทร์ จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าการมายื่นหนังสือครั้งนี้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดินที่กำหนดไว้ เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดว่าไม่สามารถยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยได้โดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ สำหรับเหตุผลที่คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ เพราะคำสั่งดังกล่าวออกมาจำกัดเสรีภาพของประชาชนขัดต่อหลักนิติธรรม และข้อความ “ชุมนุมทางการเมือง” ในคำสั่งมีการนำมาใช้ตีความอย่างกว้างขวาง และคำสั่งฉบับนี้ได้ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นการชุมนุมยังเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน นอกจากนั้นคำสั่งดังกล่าวยังกำหนดโทษเอาไว้รุนแรงโดยมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 6 เดือนทั้งที่เป็นเสรีภาพการชุมนุม และคำสั่งดังกล่าวยังไม่มีการถ่วงดุลเลยเป็นการให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้ดุลพินิจเองได้เลย
อัมรินทร์ยังกล่าวต่ออีกว่า แม้ว่าคำสั่งดังกล่าวจะออกมาตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่เขียนว่าคำสั่งต่างๆ ที่ออกมาตามมาตรานี้จะชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่เราคาดหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญและผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อดูคำสั่งแม้จะเป็นตามตัวอักษร ผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง คำสั่งดังกล่าวมีความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอยู่หลายประการ แต่ก็ยังเชื่อมันผู้ตรวจการฯ จะเป็นที่พึ่งของประชาชนว่าจะตรวจสอบในเรื่องนี้และได้ส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และเสนอต่อหัวหน้า คสช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อยุติหรือยกเลิกการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558
อัมรินทร์กล่าวถึงกรณีที่อธิบดีอัยการภาค 1 มีคำสั่งไม่ฟ้องต่อสมาชิกทั้ง 8 คนที่ได้มายื่นคำร้องด้วยกันวันนี้ว่า แม้ในกรณีคดีจากกิจกรรม We walk จะจบไป แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ก็ยังคงอยู่ แต่ในการชุมนุมครั้งต่อๆ ไป การออกมาทำกิจกรรมเพื่สแดงความคิดเห็นของประชาชนต่อปัญหาปากท้องต่อนโยบายรัฐต่างๆ ยังถูกกดทับและปิดกั้นอยู่ด้วยคำสั่งนี้ จึงยังมีความจำเป็นมาใช้สิทธิร้องต่อผูตรวจการฯ ในวันนี้
สงัด ปัดทวี รองเลขาธิการผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ชี้แจ้งว่าหลังจากนี้จะส่งเรื่องให้ท่านผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาอีกที เพราะตนเป็นเพียงหน่วยธุรการ แล้วก็สำนักงานผู้ตรวจการก็ไม่ได้ละเลยบทบาทหน้าที่ ทางผู้ตรวจการก็ได้ส่งเรื่องที่มีการร้องเรียนมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในหลายเรื่อง และผูตรวจการเองก็ไม่ได้ละเลยแม้ว่าจะมีมาตราที่ให้นิรโทษกรรมหมดอยู่ในรัฐธรรมนูญเราก็ได้พยายามต่อสู้ เพราะโดยบทบาทตามรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดให้เป็นองค์กรอิสระและให้ดูแลสิทธิเสรีภาพของประชาชน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง