25 ก.ย.2561 ที่ศาลปกครองกลาง นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นายณัฐวุฒิ อุปปะ และนายนิมิมิตร์ เทียนอุดม ผู้ฟ้องคดี we walk เดินมิตรภาพ ของเครือข่าย People Go Network เดินทางมาฟังการพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีที่ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พ.ต.อ.ฤทธินันท์ ปุ้ยพันธวงศ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง, พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี และพล.ต.ต.สมหมาย ประสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1,3 และ4 เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1- 7 ต่อศาลปกครองว่าพวกตนถูกปิดกั้นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย ช่วงวันที่ 19-21 ม.ค.2561 แม้ว่าพวกเขาจะได้ทำการแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมายแล้วก็ตาม
เวลา 14.00 น. ศาลออกนั่งพิจารณาคดี ตุลาการเจ้าของสำนวนได้สรุปข้อเท็จจริงและประเด็นคดีให้องค์คณะตุลาการศาลปกครองและคู่กรณีฟัง โดยองค์คณะเห็นว่ามีประเด็นพิจารณาในคดีนี้ทั้งหมด 3 ประเด็น คือ
- ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โต้แย้งว่าคดีนี้ไม่อยู่ในบังคับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธิพิจารณาคดีปกครอง ตามข้อ 13 ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4คน จึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง เนื่องจากเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 จึงต้องพิจารณาว่าผู้ฟ้องมีสิทธินำคดีนี้มาฟ้องศาลปกครองหรือไม่
- การที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 คนขอให้มีคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ จนกว่าจะเสร็จสิ้นการชุมนุม ศาลต้องออกคำบังคับหรือไม่
- ผู้ถูกฟ้องคดีในฐานเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะได้ปิดกั้นการชุมนุมอันสงบปราศจากอาวุธถือเป็นการละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และถ้าหากเป็นการละเมิดเสรีภาพในการชุมนุม สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ต้องชดใช้ค่าเสียหายหรือไม่
สรุปข้อเท็จจริงในคดี People Go
องค์คณะตุลาการได้สรุปข้อเท็จจริงความว่า เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นผู้จัดการชุมนุมและที่เหลือเป็นผู้ร่วมการชุมนุมในนามเครือข่ายประชาชน People Go Network ได้ร่วมจัดกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตถึงจังหวัดขอนแก่น เพื่อยืนยันสิทธิของประชาชนใน 4 ประเด็น ได้แก่เรื่องหลักประกันสุขภาพ นโยบายไมทำลายความมั่นคงทางอาหาร กฎหมายที่จะไม่ลดทอนสิทธิมนุษยชนสิทธิชุมนุม และรัฐธรรมนูญต้องมาจากการมีส่วนร่วมและรับฟังอย่างรอบด้าน
นอกจากนั้นผู้ฟ้องคดีได้แจ้งการชุมนุมต่อพ.ต.อ.ฤทธินันท์ ปุ้ยพันธวงศ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 แล้วเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2561 โดยใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ต.อ.ฤทธินันท์จึงได้ทำหนังสือตอบกลับผู้แจ้งจัดการชุมนุมตามมาตรา 11 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่ภายหลังพ.ต.อ.ฤทธินันท์ได้รับแจ้งจากฝ่ายสืบสวนและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงฝ่ายทหารว่าผู้จัดกิจกรรมมีการขายเสื้อที่มีข้อความ “ช่วยกันคนละชื่อ ปลดอาวุธ คสช.” และมีการร่วมกันลงชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2558
พ.ต.อ.ฤทธินันท์จึงมีหนังสือถึงเลิศศักดิ์ ว่าตามที่ตนได้รับรายงานมาเห็นว่าพฤติการดังกล่าวไม่ใช่การชุมนุมตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ แต่เป็นการมั่วสุมหรือเป็นชุมนุมทางการเมือง ซึ่งขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หากเลิศศักดิ์ต้องการชุมนุมต่อให้ดำเนินการขออนุญาตผู้มีอำนาจต่อไป ทั้งนี้เลิศศักดิ์ได้ทำหนังสือถึงพ.ต.อ.ฤทธินันท์ยืนยันการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามกฎหมาย
ต่อมาในวันที่ 20ม.ค.2561 ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 คนและเครือข่ายรวมประมาณ 100 คน ได้เดินออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่มีตำรวจประมาณ 200 นาย ตั้งแถวหน้ากระดานปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินออกไป ผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งว่าไม่สามารถเปิดทางให้เดินออกไปได้จนทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนทยอยกลับ จน 16.00น. ผู้ชุมนุมเดินออกจาก มธ.ทางประตูอื่นและเดินไปขอพักที่วัดลาดทรายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวันต่อมาผู้ชุมนุมเดินออกจากวันลาดทรายในเวลา 6.00น.เพื่อเริ่มทำกิจกรรมวันที่สอง ตำรวจและทหารได้ตั้งด่านบริเวณทางเข้าวัดตรวจบัตรประชาชนและซักประวัติทุกคนที่ผ่าน และตรวจรถยนต์และตรวจสำเนาทะเบียนรถทุกคันและมีการกักรถกระบะที่ใช้คนสัมภาระและน้ำดื่มเพื่อตรวจค้น
ผู้ฟ้องคดีทั้ง 4 คนเห็นว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เป็นการปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธและยังมีการควบคุมตัวผู้ฟ้องคดีที่ 3 และยังปฏิเสธไม่ให้มีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบปากคำโดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมทางอญา อีกทั้งยังมีการกดดันเจ้าของสถานที่ไม่ให้พวกเขาใช้สถานที่พักในตอนกลางคืนด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2-4 ในฐานะเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมและเจ้าพนักงานในสังกัดมีลักษณะเป็นปฏิบัติการทางปกครอง และเป็นการละเมิดการปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยต่อผู้ฟ้อง
ทั้งนี้ผู้ถูกฟ้องทั้งหมดเห็นว่าการกระทำของพวกตนเป็นการดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว ไม่มีการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องและผู้ร่วมชุมนุม จึงไม่เป็นการละเมิดตามมาตรา 240 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้โต้แย้งว่าการชุมนุมของผู้ฟ้องคดีไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพในขอบเขตของรัฐธรรมนูญและมาตรา 6 วรรคสอง ในพ.ร.บ.ชุมนุมฯ เนื่องจากเป็นการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปเป็นการขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 การกระทำตามคำสั่งนี้จึงไม่อยู่ในบังคับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธิพิจารณาคดีปกครอง ตามข้อ 13 ผู้ฟ้องคดีจึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้อง
ตัวแทน People Go แถลง เชื่อมั่นรัฐธรรมนูญมากกว่าคำสั่งหัวหน้าคสช.
นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้ฟ้องคดีที่ เป็นตัวแทน แถลงต่อศาลด้วยวาจาเพิ่มเติมว่าที่ข้อเท็จจริงระบุว่าในเหตุการณ์วันที่ 20 ม.ค. ตนออกจากมหาวิทยาลัยได้นั้น ที่จริงแล้วตนติดอยู่ในมหาวิทยาลัยกับผู้ชุมนุมรวมประมาณ 50 คน จนถึง 18.00 น. ที่เจ้าหน้าที่ได้ถอนกำลังออกไปแล้ว
นอกจากนั้น พวกเขาเห็นว่าเสรีภาพการชุมนุมเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเครื่องมือของประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาของประชาชน พวกเขาได้พยายามทุกวิถีทางในการยืนหนังสือ ประชุมร่วมกับหน่วยงานรัฐ แต่ไม่ได้รับการแก้ไข และพวกเขาเชื่อว่าพวกตนมีเสรีภาพในการชุมนุมและเคารพกฎหมายจึงมีการแจ้งจัดการชุมนุมและเจ้าหน้าที่มีหน้าที่รับแจ้งรวมถึงอำนวยความสะดวก แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น ในการแจ้งการชุมนุม พวกตนได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบชัดเจนว่าจะเดินทางไปที่ไหน พักที่ไหน ได้แจ้งรายละเอียดทั้งหมด
พวกเขาแถลงอีกว่า พวกเขามีคำถามว่าระหว่างคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 กับรัฐธรรมนูญจะต้องยึดถืออะไรเพราะพวกเขาเชื่อมั่นในรัฐธรมนูญ ในการเดินของพวกเขาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขอนแก่นได้ชุมนุมกันโดยสงบและปราศจากอาวุธ ไม่ได้ก่อความวุ่นวายแต่พวกเขาพบว่าพวกเขาไม่สามารถเข้าที่พักได้ตามแผนเพราะการกดดันของเจ้าหน้าที่ได้สร้างความหวาดกลัวแก่วัด แก่กรรมการวัด และผู้เข้าร่วมชุมนุม และพวกเขายังได้เห็นว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองทำให้พวกเขาสามารถเดินไปจนถึงขอนแก่นได้ เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่าถ้าไม่มีคำสั่งศาลพวกเขาก็ต้องยึดตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558
ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่าองค์คณะควรยกฟ้อง
ตุลาการศาลปกครองผู้แถลงคดีได้มีความเห็นว่าผู้ฟ้องได้แจ้งการชุมนุมต่อผู้ถูกฟ้องที่ 2 แล้วและได้ทำหนังสือตอบกลับโดยไม่ได้แจ้งให้แก้ไขการชุมนุม มาตรา 7-8 หรือขัดมาตรา 11 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และผู้ถูกฟ้องที่ 2-4 เป็นเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมไม่ได้อาศัยอำนาจคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 3/2558 การที่ผู้ถูกฟ้องปิดกั้นเส้นทาง ติดตามควบคุมและไม่ให้เข้าพักในสถานที่ที่ผู้ชุมนุมไป เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการใช้อำนาจปกครองคดีจึงอยู่ในอำนาจศาล ดังนั้นข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องที่ 3 ที่ว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองจึงฟังไม่ขึ้น
ตุลาการผู้แถลงคดีได้แถลงต่อว่าผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งจัดการชุมนุมแล้วและผู้ถูกฟ้องได้สรุปสาระการชุมนุม เห็นว่าผู้ฟ้องกับพวกได้ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธและได้แจ้งจัดการชุมนุมตามมาตรา 10 ในพ.ร.บ.ชุมนุมฯแล้วโดยผู้รับแจ้งไม่ได้สั่งให้ผู้ฟ้องแก้ไขการชุมนุมการชุมนุมนี้จึงเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ 2560 จึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องได้ละเมิดและก่อความเสียหายหรือไม่
ประเด็นการละเมิดนี้ ตุลาการฯ เห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 3 ได้สั่งการให้ตำรวจควบคุมฝูงชนสกัดไม่ให้ประชาชนออกจาก มธ. มีการจัดน้ำดื่มและรถสุขาให้กับผู้ชุมนุม และเห็นว่าการชุมนุมดังกล่าวอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์.และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และเป็นทางเข้าออกของมหาวิทยาลัย หากเดินทางออกไปอาจมีผลต่อการจราจรผู้ถูกฟ้องจึงมีอำนาจตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และแม้ว่าจะมีการให้เจ้าหน้าที่ติดตามการชุมนุมก็เป็นไปเพื่อรายงานสถานการณ์ ไม่ปรากฏว่าได้ขัดขวางการหรือให้ทำยุติการชุมนุม
ตุลาการฯ แถลงอีกว่า นอกจากนั้นในวันที่ 20 จากการตั้งด่านตรวจค้นก็ไม่พบสิ่งผิดกฎหมายและไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหาย และยังเห็นว่าตำรวจมีหน้าที่รักษาความปลอดภัย การปฏิบัติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4จึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ส่วนผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ภาค 2 และภาค 3 ผู้ถูกฟ้องที่ 5-7 ได้ดำเนินการและออกมาตรการบรรเทาทุกข์ ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องที่ 5-7 ปิดกั้นการชุมนุม จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ชุมนุมฯเช่นเดียวกัน
ดังนั้นจึงฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องที่ 2-7 ได้กระทำตามอำนาจตามกฎหมายไม่ได้ปิดกั้นการชุมนุม จึงไม่เป็นการละเมิด ดังนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงไม่ต้องชดใช้ เห็นควรให้พิพากษายกฟ้อง
นัดฟังคำพิพากษาศุกร์ที่ 28 กันยายนนี้
ทั้งนี้กระบวนการในวันนี้เป็นการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ซึ่งเป้นการสรุปข้อเท็จจริงในคดี โดยเปิดโอกาสให้คู่ความแถลงต่อศาลเป็นครั้งสุดท้าย และตุลาการผู้แถลงคดีได้ให้ความเห็นต่อองค์คณะ ผู้ต้องจัดทำคำพิพากษาเท่านั้น หลังการพิจารณาคดีตุลาการหัวหน้าคณะจะนัดประชุมปรึกษาเพื่อพิพากษาคดีนี้ และจะอ่านผลคำพิพากษาในวันที่ 28 ก.ย.2561 เวลา 13.30 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 14
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กว่าจะเดินถึงเสรีภาพ: ประมวลคดี We Walk…เดินมิตรภาพ
อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ‘We walk เดินมิตรภาพ’
We Walk ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ
คดี We Walk และ คดี We Want to Vote Movement : คำถามที่รัฐไทยต้องตอบผู้รายงานพิเศษของ UN