ยกฟ้อง“ฐนกร”ไลค์เพจ-เสียดสีคุณทองแดง-แชร์ผังราชภักดิ์ ไม่ผิด112-116-พรบ.คอมฯ หลังสู้คดี 5 ปี

13 ม.ค. 64 ศาลจังหวัดสมุทรปราการ อ่านคำพิพากษายกฟ้อง ฐนกร (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ถูกฟ้องในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการกดไลค์เพจและโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง และข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ประกอบ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์แผนผังทุจริตการสร้างอุทยานราชภักดิ์ 

10.50 น. ณ ห้องพิจารณา 21 ศาลเริ่มอ่านคำพิพากษา ก่อนหน้านี้ฝ่ายจำเลยต้องตามนายประกันมาทำสัญญาประกันของศาลจังหวัดสมุทราปราการ เนื่องจากหลังจากคดีถูกโอนย้ายมาจากศาลทหารกรุงเทพ ยังไม่ได้เปลี่ยนสัญญาประกัน ทำให้การอ่านคำพิพากษาเริ่มขึ้นอย่างล่าช้า ในวันนี้มีประชาชนทั่วไปและผู้สื่อข่าวจากประชาไท เข้าร่วมสังเกตการณ์ 

ศาลอ่านคำพิพากษา มีเนื้อหาโดยย่อดังนี้

 

การกดไลค์เพจที่ภาพปกถูกกล่าวหาว่าเข้าข่ายหมิ่นกษัตริย์

ศาลพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า แม้การกดไลค์อาจแปลว่าชื่นชอบได้ แต่พยานโจทก์ตอบคำถามค้านทนายจำเลย ว่าเดิมทีเฟซบุ๊กเพจมีเพียงปุ่มไลค์ ไม่มีปุ่มติดตาม เพิ่งมามีปุ่มกดติดตามเมื่อประมาณปีที่แล้ว เนื่องจากเนื้อหาในเพจมีข้อมูลข่าวสารเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองและรัฐบาลในสมัยนั้น และจำเลยเบิกความว่ากดไลค์เพื่อติดตามข่าวสาร การกดไลค์จึงอาจไม่ได้แปลว่าชื่นชอบเพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้พยานโจทก์ยังตอบคำถามค้านว่า รูปโปรไฟล์และรูปปกของเพจ เจ้าของเพจสามารถเปลี่ยนภาพได้ตลอด โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมายืนยันว่าภาพถูกเปลี่ยนแปลงไปเมื่อไหร่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ในส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ การกดไลค์ของจำเลยอาจทำให้เพื่อนจำเลยได้มองเห็นภาพหน้าปกและภาพโปรไฟล์ของเพจ อย่างไรก็ตามภาพที่ปรากฏเป็นการแสดงผลแบบสุ่ม ไม่มีผลโดยตรงเพื่อที่จะทำให้คนอื่นมองเห็นภาพ ต่างจากการกดแชร์ซึ่งเป็นการกระทำที่ต้องการทำให้เพื่อนได้เห็นภาพ

การกระทำของจำเลยที่ไปกดไลค์เพจ “ยืนหยัด ปรัชญา” จึงไม่เป็นความผิด

การโพสต์เสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง

การพิมพ์ข้อความว่า “อ่านคอมเมนท์แล้วซาบซึ้งจังครับ” ตีความได้สองความหมายคือรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ กับอาจจะเป็นการประชดประชัน ซึ่งฐนกรได้พิมพ์แสดงความเห็นต่อข้อความที่ว่า “รู้หรือไม่ สุนัขทรงเลี้ยง คุณทองแดง สุวรรณชาด คือสุนัขประจำรัชกาลที่ 9” และ “ดีมากๆ เลยจ้า ขนาดเราเป็นคน เรายังอยากเป็นหมาขึ้นมาทันทีทันใดเลย ใครห้ามด่าคุณทองแดง แม้จะเป็นหมา ก็ต้องเรียกคุณนะจ้า” อันเป็นข้อความและความเห็นที่ฐนกรคัดลอกมาจากบัญชีเฟซบุ๊กอื่น ซึ่งประโยคแรกเป็นการแสดงความเทิดทูน ส่วนประโยคถัดมาเป็นการแสดงความประชดประชันคนที่ชื่นชอบคุณทองแดง ทั้งสองข้อความไม่ได้เข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าฐนกรซึ่งโพสต์ความเห็นต่อข้อความดังกล่าวว่า “อ่านคอมเมนท์แล้วซาบซึ้งจัง” จะเห็นด้วยและซาบซึ้งจริงๆ หรือจะเขียนเพื่อการประชดประชัน ก็ไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีการพิมพ์ว่า “อ่านคอมเมนท์แล้วซาบซึ้งจัง” เนื่องจากข้อความทั้งหมดเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น ไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริง จึงไม่ได้เป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ

ประโยคที่ว่า “รู้หรือไม่ สุนัขทรงเลี้ยง คุณทองแดง สุวรรณชาด คือสุนัขประจำรัชกาลที่ 9” บนพื้นหลังสีเหลืองที่ฐนกรทำ เป็นที่ทราบกันดีว่ารัชกาลที่ 9 มีสุนัขทรงเลี้ยงชื่อคุณทองแดงและทรงโปรดคุณทองแดงประชาชนทราบเรื่องนี้โดยทั่ว จึงไม่ถือเป็นการนำเข้าซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ

การโพสต์ผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ 

มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า การโพสต์ผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือไม่ ศาลเห็นว่า การที่ประชาชนจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เป็นสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย จำเลยแสดงความเห็นโดยสุจริต ไม่ได้มีข้อความยุยงปลุกปั่น และโจทก์ไม่มีหลักฐานอื่นมายืนยันเกี่ยวกับการทำผัง

ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โจทก์นำสืบไม่ได้ว่า โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ไม่มีการทุจริต แม้ว่า พล.อ.ธีระชัย นาควานิช จะออกมาให้สัมภาษณ์เช่นนั้น แต่พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า อาจมีการทุจริต ตามที่ปรากฏในพยานวัตถุเป็นคลิปวิดิโอ พยานโจทก์ พลตรีวิจารณ์ จดแตง ก็ได้เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงในส่วนนี้ ทั้งยังมีคลิปให้สัมภาษณ์สื่อของพลเอกอุดมเดชซึ่งพูดเรื่องการทุจริตอีกครั้ง จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยโพสต์เรื่องเท็จ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยแก่จำเลย

พิพากษายกฟ้องทุกข้อหา

 

ความเป็นมาของคดี 

ฐนกร พนักงานโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ถูกทหารจับกุมตัวจากที่ทำงาน เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 58 และถูกนำไปควบคุมตัวโดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 รวม 7 วัน ในระหว่างวันที่ 9-14 ธ.ค. 58  ญาติและทนายความได้ตามหาตัวทั้งที่เรือนจำชั่วคราวแขวงถนนนครไชยศรีและกองกำกับการ 2 กองปราบฯ แต่ไม่พบตัวนายฐนกรและไม่ทราบว่านายฐนกรถูกควบคุมตัวอยู่ที่ใด 

หลังควบคุมตัวครบ 7 วัน ทหารได้นำตัวฐนกรไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปรามดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 116 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14(2) จากการกดไลค์เพจเฟซบุ๊ก, โพสต์ข้อความเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง และโพสต์ผังการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ 

พนักงานสอบสวนทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา โดยไม่มีทนายความหรือผู้ที่ฐนกรไว้วางใจเข้าร่วม แม้ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้แนะนำตนต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามไว้ และขอให้พนักงานสอบสวนแจ้งทนายความเพื่อเข้าร่วมระหว่างการสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาด้วย แต่ไม่ได้รับการติดต่อแต่อย่างใด ชั้นจับกุมและสอบสวนฐนกรให้การรับสารภาพ 

จนกระทั่งถูกนำตัวมาฝากขังครั้งแรกที่ศาลทหารกรุงเทพในวันที่ 14 ธ.ค. 58 ในการฝากขังทุกครั้ง ทนายได้พยายามยื่นคัดค้านฝากขังและยื่นประกันตัว แต่ศาลไม่อนุญาต โดยหลักทรัพย์สูงสุดที่เคยยื่นคือเงินสดมูลค่า 900,000 บาท ทั้งนี้ในการฝากขังครั้งที่ 5 ก่อนยื่นคำร้องฝากขัง พ.ต.ท.ภานุภัค สืบปรุ พนักงานสอบสวน ยังได้นำหมายจับศาลสมุทรปราการ ลงวันที่ 9 ธ.ค. 58 มาแสดงให้ฐนกรว่าเป็นบุคคลตามหมายจับดังกล่าวหรือไม่ และได้อ่านข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) จากการโพสต์ภาพแผนผัง “เปิดปมการทุจริต อุทยานราชภักดิ์” ซึ่งนายฐนกรได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและไม่ให้การใดๆ ในชั้นพนักงานสอบสวน

ฐนกรถูกฝากขังในชั้นสอบสวนครบ 7 ผัด ก่อนถูกอัยการทหารยื่นฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 59 ภายหลังรับฟ้องศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัวด้วยหลักทรัพย์มูลค่า 500,000 บาท 



คำฟ้องของโจทก์

อัยการศาลทหารยื่นฟ้องนายฐนกรต่อศาลทหารกรุงเทพ  ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ.2550 มาตรา 14 คำฟ้องของอัยการกล่าวหาว่า ฐนกรกระทำความผิดรวม 3 กรรม ดังนี้

1)  ระหว่างวันที่ 19 ก.ย. – 8 ธ.ค. 58 จำเลยได้ใช้เฟซบุ๊กซึ่งเป็นของจำเลย เข้าไปดูและกดถูกใจ (like) แฟนเพจ “ยืนหยัด ปรัชญา” ที่โพสต์รูปภาพและข้อความประกอบซึ่งแสดงถึงความอาฆาตมาดร้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร

(ภาพประกอบตามฟ้อง)

2)  เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 58 จำเลยได้ใช้เฟซบุ๊กซึ่งเป็นของจำเลย โพสต์ข้อความว่า “รู้หรือไม่ สุนัขทรงเลี้ยง คุณทองแดง สุวรรณชาด คือสุนัขประจำรัชกาลที่ 9” “ดีมากๆ เลยจ้า ขนาดเราเป็นคน เรายังอยากเป็นหมาขึ้นมาทันทีทันใดเลย ใครห้ามด่าคุณทองแดง แม้จะเป็นหมา ก็ต้องเรียกคุณนะจ้า” และ “อ่านคอมเมนท์แล้วซาบซึ้งจัง” ในลักษณะประชดประชัน อันเป็นการดูหมิ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระมหากษัตริย์ และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร

(ภาพประกอบตามฟ้อง)

3)  เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 58 จำเลยได้ใช้เฟซบุ๊กซึ่งเป็นของจำเลย โพสต์ภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร และบุคคลผู้มีชื่ออีกหลายคนที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ โดยมีข้อความประกอบภาพสรุปความได้ว่า บุคคลตามภาพมีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ลงในแฟนเพจ “สถาบันคนเสื้อแดงแห่งชาติ (สคช.)” อันเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของรัฐบาลต่อประชาชนทั่วไป อันเป็นความเท็จ เพราะความจริงไม่ปรากฎหลักฐานการทุจริตในโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยเป็นไปเพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศและบุคคลเหล่านั้น และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ


เส้นทางก่อนถึงวันฟังคำพิพากษา

ก่อนกระบวนการสืบพยานในศาลทหารจะเริ่มขึ้น  จำเลยได้ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลเมื่อ 9 มิ.ย. 59 ระบุว่า คดีนี้ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร แต่เป็นคดีอาญาซึ่งจำเลยเป็นพลเรือนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ควรอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลมีคำวินิจฉัยให้คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร โดยให้เหตุผลว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นพลเรือนกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 ซึ่งเป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557

โดยกระบวนการพิจารณานี้กินเวลาล่วงเลยมาจนถึง 26 มิ.ย. 2560 หรือกว่า 1 ปีนับตั้งแต่เริ่มกระบวนการพิจารณาคดีในศาลทหาร

การสืบพยานในศาลทหารใช้เวลากว่า 2 ปี หลังมีคำวินิจฉัยเขตอำนาจศาล สืบพยานโจทก์ไปได้จำนวนเพียงแค่ 5 ปากเท่านั้น คดีก็ถูกโอนย้ายมาอยู่ในการพิจารณาของศาลยุติธรรม ซึ่งศาลจังหวัดสมุทราปราการใช้เวลาอีก 1 ปี หลังคดีถูกโอนย้ายมา สืบพยานโจทก์และจำเลยอีก 10 ปาก ในระหว่างวันที่ 24-26 มิ.ย. และ 30 ก.ย.-1 ต.ค. 63 รวมเวลาที่ฐนกรถูกจับกุมจนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในวันนี้กว่า 5 ปี 1 เดือน โดยถูกคุมขังเป็นเวลารวม 92 วัน เป็นการควบคุมตัวในค่ายทหาร 7 วัน และขังระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดี 85 วัน  

ตลอดเวลาที่ถูกดำเนินคดี หลังได้รับการประกันตัวจากศาลทหาร ฐนกรได้บวชเป็นพระภิกษุเพื่อศึกษาพระพุทธศาสนา จนถึงปัจจุบันบวชมาได้ประมาณ 5 พรรษา ทั้งนี้ ก่อนเริ่มการสืบพยาน ศาลทหารได้ถามพระฐนกรด้วยว่า จะลาสิกขา (สึก) ออกมาในระหว่างพิจารณาคดีได้หรือไม่ เนื่องจากไม่เหมาะสมหากจะให้พระสงฆ์ต้องมาศาล แต่ถ้าหากพระผู้ใหญ่ทางวัดไม่ขัดข้องก็ไม่เป็นไร 

 

ติดตามอ่านประมวลคำเบิกความพยานโจทก์และจำเลยทางเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเร็วๆ นี้

 

X